นาโดลอล (Nadolol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 นาโดลอล (Nadolol) เป็นยาในกลุ่ม Beta-blocker ถูกนำมาใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต บำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และใช้เป็นยาป้องกันไมเกรนได้อีกด้วย ยานาโดลอลยังถูกใช้รักษาอาการโรคได้เป็นระยะเวลานานทั้งนี้จะขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเอง

 กลไกการออกฤทธิ์ของยานาโดลอลจะค่อยๆทำให้หัวใจทำงานช้าลง ช่วยลดปริมาณเลือดที่จะต้องสูบฉีดออกจากหัวใจทำให้ความดันโลหิตลดลงตามไปด้วย ซึ่งสามารถใช้ยานี้ในลักษณะของยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อการรักษาก็ได้ (เช่น ยาที่จำหน่ายในต่างประเทศที่ผสมร่วม กับยาขับปัสสาวะที่มียาชื่อการค้าว่า ‘Corzide’)

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานาโดลอลจะเป็นยาชนิดรับประทาน หลังจากดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าร่างกาย ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดประมาณ 30% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14 - 24 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีเกณฑ์ที่แพทย์ต้องนำมาพิจารณาประกอบก่อนสั่งจ่ายยานาโดลอลอยู่บางประการที่เราควรทราบ อาทิเช่น

  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยานาโดลอลมาก่อนหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวประเภทโรคหืด ภาวะหัวใจล้มเหลวที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างมากหรือหัวใจทำงานผิดปกติในลักษณะอื่นๆ โดยอาการโรคดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นหากมีการใช้ยานาโดลอลร่วมด้วย
  • ถ้าเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือขณะนั้นเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาหรือไม่
  • มียาอื่นรับประทานอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่
  • ผู้ป่วยมีกำหนดเข้ารับการผ่าตัดโดยต้องวางยาสลบในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่

 กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการสั่งจ่ายยานาโดลอลจากแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะชี้แจงข้อ มูลเพิ่มเติมในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพื่อประสิทธิผลของการรักษาและทำให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเช่น

  • สามารถรับประทานยานาโดลอลก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ยานาโดลอลอาจทำให้มีอาการวิงเวียน ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้อย่างทันทีโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์เพราะจะนำมาซึ่งอาการเจ็บหน้าอกเหมือนถูกของมีคมทิ่มแทง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางกรณีอาจเกิดอาการหัวใจล้มเหลวหากผู้ป่วยมีโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจทำให้อาการป่วยดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วตามระยะเวลาที่เหมาะสม แต่อาการเจ็บหน้าอกหรือความดันโลหิตสูง ไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • กรณีที่ผู้ป่วยต้องทำหัตถการทางทันตกรรมหรือต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอาการโรคอื่น ควรต้องแจ้งทันตแพทย์/แพทย์ที่รักษาอาการโรคอื่นด้วยว่าขณะนี้ท่านใช้ยานาโดลอลอยู่ด้วย
  • หากผู้ป่วยมีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวร่วมด้วย แพทย์อาจจะต้องปรับการใช้ยานี้ให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป ด้วยตัวยานาโดลอลมักกระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นระหว่างการใช้ยานาโดลอลกับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยจะต้องหมั่นตรวจสอบน้ำตาลในกระแสเลือดตามแพทย์แนะนำว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ อาการน้ำตาลในเลือดต่ำอาจสังเกตจากความผิดปกติของร่างกายเช่น รู้สึกเครียด เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นลม ตาพร่า ปวดหัว  หนาวสั่น และ หิวอาหารมาก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอื่นโดยมิได้มีการสั่งจ่ายจากแพทย์เพราะยาหลายรายการอาจ ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ถึงแม้จะใช้ยานาโดลอลอยู่แล้วก็ตาม

 ทั้งนี้พบว่ายานาโดลอลเป็นยาที่มีอันตรายมากพอสมควรหากใช้ไม่ถูกวิธี จึงต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง

นาโดลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

นาโดลอล

ยานาโดลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • บำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ช่วยคลายความวิตกกังวล
  • ป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน    

นาโดลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานาโดลอลมีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Beta-adrenergic receptor ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ, หลอดเลือด โดยปิดกั้นการทำงานของตัวรับชนิดนี้ส่งผลลดอัตราการเต้นของหัวใจลง พร้อมกับมีการปรับปริมาตรของเลือดที่จะต้องถูกสูบฉีดออกจากหัวใจให้มีปริมาณลดลงจนส่งผลให้ความดันโลหิตของหัวใจทั้งขณะบีบตัวและคลายตัวต่ำลงด้วย นอกจากนี้ยานาโดลอลยังยับยั้งการเต้นของหัวใจที่  เร็วเกินไปพร้อมกับลดการตอบสนองของหัวใจต่อการกระตุ้นให้เกิดการเต้นที่เร็วขึ้น กลไกดังกล่าวเกิดจากการปรับสมดุลเคมีของร่างกายและมีผลต่อหัวใจโดยตรง จนเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

นาโดลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาโดลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 20, 40, 80, 120 และ160 มิลลิกรัม/เม็ด

นาโดลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยานาโดลอลขึ้นกับแต่ละชนิดและความรุนแรงของโรค/อาการ จึงต้อง  อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นรายบุคคลไป ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้ที่ใช้โดย ทั่วไปในการบำบัดรักษา 2 อาการ ดังนี้เช่น

  • สำหรับรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: เช่น
  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาให้รับประทาน 40 - 80 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 160 - 240 มิลลิกรัม/วัน
  • สำหรับรักษาอาการความดันโลหิตสูง: เช่น
  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาให้รับประทาน 40 - 80 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 240 - 320 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดทางคลินิกเรื่องการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุล พินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยานาโดลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรดัง เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานาโดลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยานาโดลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยานาโดลอลให้ตรงเวลา

นาโดลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาโดลอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • วิงเวียน
  • อ่อนเพลีย
  • นอกจากนั้นยังมีอาการข้างเคียงอย่างอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้แต่อาจจะพบได้น้อยแต่อาจรุนแรง เช่น
    • ตาพร่า
    • เจ็บหน้าอก
    • รู้สึกสับสน
    • การหายใจผิดปกติ
    • หัวใจเต้นช้า
    • เส้นเลือดบริเวณข้างลำคอเกิดการขยายตัวมองเห็นโป่งพอง
    • เหงื่อออกตามใบหน้า-นิ้วมือ-เท้า
    • น้ำหนักตัวขึ้น
    • ปวดนิ้วหรือปวดนิ้วหัวแม่เท้าเมื่อสัมผัสกับอากาศเย็น

*ซึ่ง หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้นาโดลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาโดลอล เช่น 

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า (Sinus bradycardia) ผู้ที่มีภาวะช็อกด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีอาการภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยมิได้ปรึกษาหรือมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว
  • การใช้ยากลุ่ม Beta blocker ที่รวมถึงยานาโดลอลไปนานๆอาจทำให้เกิดอาการหัวใจล้ม เหลวได้ หากพบภาวะหัวใจล้มเหลวเริ่มเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอเพื่อติดตามความคืบหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ         

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานาโดลอลด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด      และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

นาโดลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาโดลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น  

  • ห้ามใช้ยานาโดลอล ร่วมกับยาสลบเพราะจะทำให้การตอบสนองของหัวใจต่อยาที่มากระตุ้นเพื่อให้มีการเต้นและมีจังหวะที่เหมาะสมนั้นด้อยลงไป อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยานาโดลอล ร่วมกับยาเบาหวานหรือยาอินซูลินอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลใน เลือดต่ำหรือสูงก็ได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยานาโดลอล ร่วมกับยา Digitalis, Cardiac glycosides สามารถทำให้เกิดภาวะ หัวใจเต้นช้า หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยานาโดลอล ร่วมกับยา Theophylline สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยานาโดลอล มีประสิทธิภาพลดลงและทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยา Theophylline เพิ่มมากขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษานาโดลอลอย่างไร?

ควรเก็บยานาโดลอล:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นาโดลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาโดลอล  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Corgard (คอร์การ์ด) King Pharmaceuticals, Inc.

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/nadolol.html [2022,April23]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/nadolol?mtype=generic [2022,April23]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Nadolol [2022,April23]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/nadolol.html [2022,April23]