ท้องลม ท้องหลอก (Blighted ovum)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 6 ธันวาคม 2562
- Tweet
- ท้องลมคืออะไร? พบได้บ่อยไหม?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดท้องลม?
- สาเหตุที่ทำให้เกิดท้องลมคืออะไร?
- การตั้งท้องลมมีอันตรายไหม?
- รู้ได้อย่างไรว่าเป็นท้องลมหรือไม่?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์และเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- แพทย์วินิจฉัยท้องลมได้อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรหากท้องลม?
- แพทย์รักษาท้องลมอย่างไร?
- ดูแลตนเองหลังแท้งหรือหลังรักษาท้องลมอย่างไร?
- มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากท้องลมไหม?
- หากเป็นท้องลม ครรภ์ต่อไปจะเกิดอีกไหม?
- ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใด?
- ทารกที่เกิดหลังท้องลมจะปกติไหม?
- ป้องกันตั้งท้องลมอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- แพ้ท้อง (Morning sickness)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- การขูดมดลูก (Fractional dilatation and curettage)
- การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Medical Abortion Pill)
- แท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete miscarriage)
- แท้งสมบูรณ์ แท้งครบ (Complete abortion)
ท้องลมคืออะไร? พบได้บ่อยไหม?
ท้องลม หรือ ท้องหลอก เป็นภาษาพูด เพื่อให้เข้าใจง่าย ภาษาอังกฤษ คือ Blighted ovum หรือ Anembryonic pregnancy หมายถึง มีการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก แต่ไม่มีตัวทารกในถุงการตั้งครรภ์
ในการตั้งครรภ์ปกติ เมื่อไข่ของฝ่ายหญิงได้รับการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชายที่ท่อนำไข่ และค่อยๆเคลื่อนเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูก พร้อมๆกับไข่ที่ผสมแล้ว มีการแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็นทารก แต่หากมีความผิดปกติจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์ที่เกิดจากการปฏิสนธิ ไม่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นตัวทารกในครรภ์ได้ หรือทำให้ทารกเสียชีวิตตั้ง แต่อายุครรภ์น้อยๆ ก็จะเกิดเป็น ‘ท้องลม หรือ ท้องหลอก’
อุบัติการณ์ที่แท้จริงของ ‘ท้องลม’ ไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์อาจตั้งท้องลมและแท้งบุตรไปก่อนที่จะพบแพทย์ อย่างไรก็ตามพบว่า ประมาณ 50% ของการแท้งเองในไตรมาสที่ 1 (3 เดือนแรก) ของการตั้งครรภ์เกิดจากการตั้งท้องลม
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดท้องลม?
การที่หลังจากมีการปฏิสนธิแล้ว ทารกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ปัญหาหลัก เกิดจากมีความผิดปกติของโครโมรโซมของทารก แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจน อาจเป็นมลภาวะในสิ่งแวดล้อม, สารเคมี, ความร้อน, หรือสารพิษที่มีผลต่อตัวอ่อน ดัง นั้นสตรีทุกคนจึงมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์แบบท้องลมได้
แต่อย่างไรก็ตาม การที่บิดามารดามีความผิดปกติด้านโครโมโซมร่วมด้วย (อาจจากโรคต่างๆทางพันธุกรรม หรือจากโรคต่างๆที่มีอยู่) จะยิ่งเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดการตั้งท้องลมมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดท้องลมคืออะไร?
สาเหตุที่ทำให้เกิดท้องลม คือ
1. ความผิดปกติของโครโมโซมของไข่หรืออสุจิ ที่อาจเกิดเองตามธรรมชาติ หรือจากโรคต่างๆ
2. ความผิดปกติของการแบ่งเซลล์หลังจากที่ได้รับการผสมแล้ว ซึ่งอาจจะมีสารพิษอย่างใดอย่างหนึ่งไปมีผลต่อกระบวนการนี้
การตั้งท้องลมมีอันตรายไหม?
การตั้งท้องลมเป็นกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติ ทารกที่ผิดปกติจะไม่สามารถดำรง ชีวิตอยู่ได้ จึงมักแท้ง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การแท้งบุตร) ออกมา ซึ่งการตั้งครรภ์ท้องลม มักสิ้นสุดตั้งแต่อายุครรภ์อ่อนๆ (อายุครรภ์น้อยๆ) ดังนั้นเวลาแท้งจึงมีการเสียเลือดไม่มาก มักไม่ก่ออันตราย แต่ทางด้านจิตใจ อาจมีผลกระทบต่อคู่สามีภรรยา เสีย ใจที่ตั้งตาคอยชื่นชมลูกน้อยแล้วไม่สมหวัง อย่างไรก็ตามต้องคิดในแง่ดีไว้ก่อน เพราะทารกไม่ปกติจึงแท้งไป รอตั้งครรภ์ที่ทารกแข็งแรงสมบูรณ์ดี จะดีกว่า
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นท้องลมหรือไม่?
เรารู้ได้ว่าเป็นท้องลมหรือไม่ โดย
1. ประจำเดือนขาด เหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป
2. ตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ พบว่าให้ผลบวกเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป
3. อาการของผู้ที่ตั้งครรภ์แบบท้องลม คือ ระยะแรกอาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เต้านมคัดตึง เหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป แล้วต่อมาอาการเหล่านั้นหายไป
4. รู้สึกว่าท้องไม่โตขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง
5. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด และ/หรือ เลือดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีลิ่มเลือด มีก้อนเนื้อปนออกมาด้วย
6. อาจมีอาการปวดท้องน้อย ก่อนมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์และเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หากรู้ว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปฝากครรภ์ แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเอง, การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์, และการเฝ้าระวังสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตรวจครรภ์เป็นระยะๆ
แต่เมื่อสตรีตั้งครรภ์มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอด หรือมีตกขาวสีน้ำตาล ก็ควรไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
แพทย์วินิจฉัยท้องลมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยท้องลมได้ จาก
ก. จากอาการ โดยจะมีประวัติเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไปในช่วงแรก เช่น ประจำเดือนขาดเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป ตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ พบว่าให้ผลบวก มีอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เต้านมคัดตึง และต่อมาอาการเหล่านี้หายไปในระยะที่ยังไม่ควรจะหายไป สตรีตั้งครรภ์อาจรู้สึกว่าท้องไม่โตขึ้น ทารกในครรภ์ยังไม่ดิ้น หรืออาจมีประวัติตั้งครรภ์แต่มีเลือด ออกทางช่องคลอด และ/หรือ ตกขาวเป็นสีน้ำตาล
ข. จากการตรวจร่างกาย ไม่พบลักษณะของการตั้งครรภ์ เช่น เต้านมไม่ขยายใหญ่ขึ้น คลำไม่ได้มดลูก มดลูกไม่โตขึ้น ตรวจฟังไม่ได้ยินเสียงเต้นของหัวใจทารก เป็นต้น
ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:
- การตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ ในบางครรภ์อาจตรวจพบว่ายังเป็นผลบวกได้ แม้จะไม่มีทารก เนื่องจากฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (beta hCG) ยังคงมีอยู่ในกระแสเลือดและขับออกมาทางปัสสาวะ
- การตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Serum beta hCG) เป็นการตรวจเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ซึ่งในการตั้งครรภ์ปกติ ระ ดับฮอร์โมนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กรณีที่ท้องลมระดับฮอร์โมนนี้จะค่อยๆลดลง ข้อเสียของวิธีนี้ คือต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง และต้องเสียเวลาในรอผลตรวจ
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องดูการตั้งครรภ์ เป็นการตรวจที่สำคัญและจำเป็นมากที่จะช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ สามารถตรวจได้ทั้งทางหน้าท้องและตรวจทางช่องคลอด ซึ่งการตรวจทางช่องคลอดจะเห็นภาพมดลูกและถุงการตั้งครรภ์ (ถุงที่มีตัวอ่อน/ทารกอยู่) ได้ชัดกว่าและเร็วกว่า ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วกว่า โดยในท้องลมจะเห็นเฉพาะถุงการตั้งครรภ์ แต่ไม่มีทารกในถุงการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ที่ควรจะพบทารกได้แล้ว ซึ่งตามปกติ หากตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด จะเห็นถุงการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ที่ประมาณ 5 สัปดาห์ และเห็นตัวทารกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 6 - 7 สัปดาห์ (นับหลังจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย)
อย่างไรก็ตาม บางครั้งที่สตรีตั้งครรภ์ มีประวัติประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ แพทย์จะมีการติดตามการเจริญเติบโตของทารกไปอีกสักระยะ คือประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ แล้วทำการตรวจอัลตราซาวด์ซ้ำ (ดูการเจริญเติบโตของทารก) เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องว่าเป็นการตั้งท้องลมจริงๆ หากตรวจพบว่าถุงการตั้งครรภ์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 2.5 ซม แล้วไม่พบตัวทา รก ซึ่งเมื่อประเมินผลร่วมกับจาก ประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย ก็จะบ่งบอกว่าเป็น’ท้องลม’
ดูแลตนเองอย่างไรหากท้องลม?
เนื่องจากท้องลมไม่สามารถจะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ หลังจากแพทย์ให้การวินิจฉัยแล้ว
- หากไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก (อาการจากการแท้งบุตร) สามารถรอสังเกตอาการอยู่ที่บ้านได้ พักผ่อนให้มาก อย่าเครียด ทำจิตใจให้สบาย
- แต่หากมีเลือดออกมาก ต้องรีบไปโรงพยาบาล คงต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการขูดมดลูก เพื่อทำให้เลือดหยุดไหล
แพทย์รักษาท้องลมอย่างไร?
การตั้งท้องลมเป็นการท้องที่ไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ต่อไปได้ (เพราะทารกเสียชีวิตแล้ว) ต้องยุติการตั้งครรภ์ แนวทางการดูแลรักษาของแพทย์ มีหลายวิธี ได้แก่
- รอให้แท้งออกมาเอง โดยธรรมชาติที่ไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ มักจะมีการแท้งออกมาเองภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังทารก/ตัวอ่อนเสียชีวิตแล้ว
- การใช้ยาเหน็บช่องคลอด ได้แก่ ยา Misoprostal ข้อดี คือไม่เจ็บตัว แต่มีข้อด้อยคือ อาจต้องใช้เวลาหลายวัน หรือบางครั้งอาจมีการแท้งไม่ครบ/การแท้งไม่สมบูรณ์ คือยังมีเศษรก หรือเศษถุงการตั้งครรภ์ค้างอยู่ (Incomplete abortion)
- การขูดมดลูก สามารถทำได้ทุกอายุครรภ์ ข้อดีคือ ไม่เสียเวลา ข้อเสีย คือ ผู้ป่วยเจ็บตัว เสียเลือด อาจมีการติดเชื้อ และต้องทำในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ การรักษาจะใช้วิธีการใด ขึ้นกับผู้ป่วยมีการแท้งเกิดขึ้นหรือยัง, ถ้ามีการแท้งแล้ว มีความรุนแรงของการเสียเลือดหรือไม่, และความต้องการเลือกวิธีรักษาของสตรีตั้งครรภ์เอง
ในกรณีที่ยังไม่มีเลือดออกหรือเลือดออกเล็กน้อย สามารถรอให้แท้งเองได้ หรือเหน็บยาในช่องคลอดกระตุ้นให้เกิดการแท้ง แต่กรณีที่มีเลือดออกมาก ปวดท้องมาก หรือแท้งไม่ครบ แพทย์จะพิจารณาทำการดูดหรือขูดมดลูกเอาชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกออกมา เพื่อให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดโดยเร็ว ลดการเสียเลือด
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวิธีมีทั้งข้อดีและข้อด้อย แพทย์จะพูดคุยกับสตรีตั้งครรภ์และครอบ ครัว ญาติ เพื่อร่วมกันตัดสินใจ
ดูแลตนเองหลังแท้งหรือหลังรักษาท้องลมอย่างไร?
การดูแลหลังตนเองหลังแท้งหรือหลังรักษาท้องลม เหมือนการดูแลเช่นเดียวกับการแท้งบุตรทั่วไป ได้แก่
หากแท้งเองครบ หรือเหน็บยาในช่องคลอดให้แท้ง ไม่ได้รับการขูดมดลูก การดูแลตน เอง คือ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการทำงานหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานยาบำรุงเลือดตามแพทย์แนะนำ
หากได้รับการขูดมดลูก บางครั้งแพทย์อาจให้ยาปฎิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อ จะมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดไม่เกิน 1 สัปดาห์ สีเลือดจะค่อยจางลง ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง
แต่หากหลังแท้งแล้วยังมีเลือดออกตลอด มีไข้ ปวดท้องน้อย เลือดที่ออกมีกลิ่นเหม็น แสดงว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูก ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การแท้งบุตร
มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากท้องลมไหม?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากที่เกิดจากการรอให้แท้งเอง หรือเหน็บยาทางช่องคลอดให้แท้ง คือ การแท้งไม่ครบ จะมีอาการให้ทราบ คือมีเลือดไหลออกมาเรื่อยๆเกิน 7 วัน หลังแท้ง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การแท้งบุตร)
ส่วนภาวะแทรกซ้อนจากได้รับการขูดมดลูก คือ การติดเชื้อในโพรงมดลูก และมดลูกทะ ลุจากการขูดมดลูก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การขูดมดลูก)
หากเป็นท้องลม ครรภ์ต่อไปจะเกิดอีกไหม?
หากเป็นท้องลม การตั้งครรภ์ท้องถัดไป สามารถเกิดได้ทั้ง 2 อย่าง คือ
- อาจเกิดเป็นท้องลมอีก หากรู้สาเหตุท้องลมที่ชัดเจนที่ไม่สามารถแก้ไขรักษาได้ (แต่ส่วนมากมักไม่ทราบสาเหตุเมื่อมีการตั้งครรภ์แบบท้องลมครั้งแรก)
- และสตรีส่วนมากสามารถตั้งครรภ์ในครรภ์ต่อมาที่เป็นการตั้งครรภ์ปกติ
แต่หากเกิดการแท้งหรือท้องลมบ่อย คือ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป (การแท้งเป็นอาจิณ/การแท้งซ้ำ: Recurrence pregnancy loss) แพทย์อาจพิจารณาหาสาเหตุ เช่น การตรวจโครโมร โซมของพ่อและแม่ (เพราะหากพ่อแม่มีโครโมโซมผิดปกติ อาจมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ผิดปกติมากกว่าคนปกติ) เพื่อให้การรักษา และป้องกันการแท้ง/ท้องลมในครรภ์ต่อๆไป
ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใด?
โดยทั่วไป หลังแท้งในอายุครรภ์อ่อนๆ (เช่น ท้องลม) ไข่ในรอบใหม่จะตกไข่ในประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ถัดมา หากไม่ต้องการตั้งครรภ์ ต้องคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังแท้ง แต่หากต้องการตั้งครรภ์ ก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ แต่โดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำให้คุมกำเนิด หรือ เว้นระยะการตั้งครรภ์ไปประมาณ 3 เดือน
ทารกที่เกิดหลังท้องลมจะปกติไหม?
ในการตั้งครรภ์ต่อมาหลังท้องลม ทารกมีโอกาสที่จะปกติ หรือ ผิดปกติไม่แตกต่างจากการตั้งครรภ์ในบุคคลทั่วไป
ป้องกันตั้งท้องลมอย่างไร?
ยังไม่มีวิธีป้องกัน ‘ท้องลม’ ให้ได้ 100% อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองก่อนตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการดูแลตนเองในเรื่องสำคัญเหล่านี้ จะทำให้เมื่อตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์นั้นๆจะมีโอกาสสมบูรณ์มากที่สุด
ซึ่งการดูแลตนเองก่อนตั้งครรภ์ที่สำคัญ ได้แก่
- การรับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- การพักผ่อนที่เพียงพอ
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงมลพิษในสิ่งแวดล้อม
- และหลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆที่ไม่จำเป็น