การแท้งบุตร (Miscarriage)

สารบัญ

การแท้งบุตรหมายถึงอะไร?

การแท้งบุตร (Miscarriage) หมายถึง การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกที่คลอดออกมาจะมีชีวิตรอด

ในสหรัฐอเมริกาหรือทางยุโรป ใช้เกณฑ์การแท้งเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 สัปดาห์ (ตามวิธีคำนวณอายุครรภ์จากประวัติวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งคนปกติจะตั้งครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์) สำหรับองค์การอนามัยโลกใช้เกณฑ์การตั้งครรภ์ที่น้อยกว่า 22 สัปดาห์ถือเป็นการแท้ง แต่สำหรับประเทศไทย ยังใช้เกณฑ์การตั้งครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ถือว่าเป็นการแท้ง

การที่เกณฑ์อายุครรภ์วินิจฉัยการแท้งต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการเลี้ยงทารกให้มีชีวิตรอดมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในโรงพยาบาลที่มีแพทย์และอุปกรณ์ในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงทารกที่คลอดได้ตั้งแต่อายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ จึงใช้เกณฑ์การแท้งเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ และหากคลอดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ ถือเป็นการคลอดทารกก่อนกำหนด ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษอีกแบบหนึ่ง

การแท้งเองโดยธรรมชาติ ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Miscarriage” ส่วนคำว่า “Abortion” ที่เห็นกันบ่อยๆ เจ้าของภาษาหมายถึง การที่ต้องชักนำให้เกิดการแท้ง หรือนัยเป็นการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทยใช้ทั้ง 2 คำในการสื่อถึงการแท้งเอง หากเป็นการทำแท้งที่ผิดกฎหมายจะใช้คำว่า “Il-legal abortion”

อุบัติการณ์ของการแท้งเองพบประมาณ 10-15% ของการตั้งครรภ์ การแท้งส่วนใหญ่มากกว่า 80% เกิดในไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) ของการตั้งครรภ์

การแท้งบุตรเกิดจากสาเหตุใด?

สาเหตุของการแท้งเองหรือปัจจัยเสี่ยงมีหลายอย่าง เช่น

  1. สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรมากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย
  2. สตรีตั้งครรภ์ที่ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด
  3. สตรีตั้งครรภ์เคยมีการแท้งมาก่อน
  4. การติดเชื้อในร่างกาย หรือ อุ้งเชิงกราน
  5. มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
  6. การขาดฮอร์โมนเพศ เช่น จากมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง
  7. โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  8. อุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกมดลูก
  9. ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosome) ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ในการแท้งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (ครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์)
  10. หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร?

สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คือ

  1. สตรีที่ตั้งครรภ์ขณะอายุมากกว่า 35 ปี หรือ ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี
  2. สตรีที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี (SLE)
  3. สูบบุหรี่
  4. ดื่มเหล้า
  5. มีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร
  6. มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงขณะตั้งครรภ์
  7. ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ
  8. ทำงานหนักมากเกินไป
  9. มีการทำงานของรังไข่ผิดปกติ ทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
  10. มีความผิดปกติของมดลูกแต่กำเนิด
  11. มีเนื้องอกมดลูกบางชนิด

การแท้งบุตรมีกี่ชนิด? และมีอาการอย่างไร?

ในที่นี่จะพูดถึงการแท้งที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่

  1. แท้งคุกคาม (Threatened abortion) สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริดกระปรอย เลือดออกไม่มาก ซึ่งการแท้งชนิดนี้ มีโอกาสจะตั้ง ครรภ์ต่อไปได้ประมาณ 50% และมีโอกาสแท้งประมาณ 50%
  2. แท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการปวดท้อง น้อยมากขึ้น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น บางครั้งมีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมด้วย ปากมดลูกเปิดแล้ว ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ต้องสิ้นสุดด้วยการแท้ง
  3. แท้งไม่ครบ (Incomplete abortion) เป็นการแท้งเพียงบางส่วนของทารกหรือของรก อีกส่วนหนึ่งยังเหลือค้างในโพรงมดลูก ทำให้สตรีตั้งครรภ์มีอาการปวดท้องน้อยมากและมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
  4. แท้งครบ (Complete abortion) เป็นการแท้งทารกและรกออกมาโดยสมบูรณ์ สตรีตั้งครรภ์จะให้ประวัติว่าปวดท้องน้อย มีเลือดออก มีชิ้นเนื้อหลุดออกมาแล้วเลือดออกลดลง อาการปวดท้องหายไป
  5. แท้งค้าง (Missed abortion) หมายถึง การที่ทารกในครรภ์เสียชีวิตมานานกว่า 8 สัปดาห์ในครรภ์ สตรีตั้งครรภ์จะให้ประวัติว่าเคยมีอาการของการตั้งครรภ์ มดลูกมีขนาดโตขึ้น แล้วต่อมาอาการคลื่นไส้อาเจียนหายไป และมดลูกมีขนาดเล็กลง
  6. แท้งเป็นอาจิณ (Habitual abortion) หมายถึง การแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป สาเหตุเกิดจากปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence) หรือ การขาดฮอร์โมนเพศ หรือมีความผิดปกติของโครโมโซม
  7. แท้งติดเชื้อ (Septic abortion) หมายถึง มีการแท้งร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้มีไข้ ปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด

อาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจจะมีการแท้งเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?

อาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจจะมีการแท้งเกิดขึ้น ได้แก่

  1. อาการปวดท้องน้อย
  2. ปวดหลังอย่างมาก
  3. มีมูกปนเลือด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด
  4. น้ำหนักลด
  5. รู้สึกว่ามดลูกแข็งตัว/บีบตัวบ่อย
  6. รู้สึกท้องเล็กลงหรือไม่โตขึ้น
  7. อาการที่บ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เต้านมคัดตึง หายไป

มีอาการอย่างไรจึงควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน?

เมื่อตั้งครรภ์ อาการที่ควรต้องไปโรงพยาบาลด่วน คือ

  1. ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด
  2. ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ
  3. มีน้ำใสๆไหลออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ปัสสาวะ และกลั้นไม่ได้

วิธีวินิจฉัยการแท้งของแพทย์ทำอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยการแท้งได้โดย

  1. สอบถามประวัติอาการและประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น สอบถาม ประวัติการขาดประ จำเดือน อาการที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ อาการผิดปกติ ปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น
  2. ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต จับชีพจรว่าปกติหรือไม่ ตรวจดูว่ามีเปลือกตาซีดหรือไม่ (จากมีเลือดออกทางช่องคลอด) คลำบริเวณท้องว่ามีอาการหรือกดเจ็บบริเวณใด คลำว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ คลำมดลูก เพื่อประเมินอายุครรภ์
  3. ตรวจภายใน เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากที่แพทย์ทุกคนที่ดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีเลือด ออกในช่วงเวลาของการแท้ง ต้องตรวจภายในเพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง การตรวจภายในจะสามารถประเมินการเปิดปิดของปากมดลูก ขนาดมดลูกตามอายุครรภ์ ในกรณีที่เป็นแท้งคุกคาม ปากมดลูกจะปิด หากเป็นการแท้งที่ยับยั้งไม่ได้ หรือแท้งไม่ครบ ปากมดลูกจะเปิด เป็นต้น
  4. การตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยแถบตรวจ (Urine pregnancy test) เป็นการตรวจที่สะดวกและรวดเร็ว มีความไวในการทดสอบว่ามีการตั้งครรภ์สูงมาก (ผลตรวจถูกต้องประ มาณ 99%) สามารถตรวจว่าตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ประจำเดือนเกินกำหนดที่จะมาเพียง 1 วัน แต่ข้อควรระวังมากคือ แม้ว่าทารกจะแท้งหรือเสียชีวิตไปแล้ว (ไม่นาน) การตรวจปัสสาวะด้วยแถบตรวจยังคงให้ผลบวกว่ามีการตั้งครรภ์อยู่ ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนในร่างกายยังไม่หมดไป อาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์หลังแท้งจึงจะตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ (ผลตรวจเป็น ลบ)
  5. การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในทางสูติกรรม หากอายุครรภ์น้อยๆ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) จะทำให้เห็นทารกในครรภ์ชัดกว่า หรือการตั้งครรภ์ที่เป็นท้องลม (Blighted ovum) ที่มีเฉพาะถุงการตั้ง ครรภ์ แต่ไม่มีตัวทารก หรือใช้ตรวจกรณีที่สงสัยว่ามีแท้งค้าง แท้งไม่ครบ หรือมีประวัติตั้งครรภ์ มีเลือดออก แต่ตรวจปัสสาวะด้วยแถบตรวจการตั้งครรภ์ยังให้ผลบวกอยู่ หากอายุครรภ์มากสามารถตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง (Transabdominal ultrasound) ได้
  6. การตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Serum beta-hCG) ไม่ได้ตรวจในสตรีตั้งครรภ์ทั่วไปทุกราย เพราะเจ็บตัว เสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลาในการตรวจ จะทำเฉพาะในสตรีตั้งครรภ์บางรายที่สงสัยเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) หรือตรวจในกรณีที่การตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์อ่อนมากๆ ที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด

มีภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งไหม? อย่างไร?

หากเป็นการแท้งเองตามธรรมชาติและแท้งออกมาครบ ไม่ได้ถูกขูดมดลูก ไม่มีการติดเชื้อ มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง โดยหลังแท้งจะมีเลือดออกทางช่องคลอด 2-3 วันแล้วเลือดจะหยุดไหล แต่หากเป็นการแท้งที่ไม่ครบ ต้องได้รับได้รับการขูดมดลูก อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  1. ติดเชื้อ จะสังเกตอาการได้จากมีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริดกระปรอยนานเกิน 7 วัน และ/หรือปริมาณเลือดออกทางช่องคลอดอาจออกมากขึ้น มีอาการปวดท้อง หากเป็นการติดเชื้อรุนแรงสามารถทำให้ช็อกได้ และจะมีอาการไข้สูง
  2. ขูดมดลูกไม่หมด ทำให้เศษรกเหลือค้าง ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
  3. มดลูกทะลุจากการขูดมดลูก
  4. เสียเลือดมาก เกิดภาวะซีด อาจถึงช็อก และเสียชีวิตได้
  5. ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวจากการขูดมดลูก อาจทำให้มีบุตรยากในอนาคต หรือทำให้เกิดการแท้งง่ายในครรภ์ต่อไป

แพทย์มีแนวทางรักษาการแท้งบุตรอย่างไร?

เมื่อมีการตั้งครรภ์และมีเลือดออก แพทย์จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจอัลตราซาวด์ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อการวินิจฉัย หากพบทารกปกติ และผู้ป่วยมีอาการไม่มาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลับไปพักผ่อนต่อที่บ้าน แต่หากมีการเสียเลือดจากมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก หรือแพทย์อาจจำเป็นต้องให้การรักษาตามสาเหตุ ผู้ ป่วยก็จะต้องนอนโรงพยาบาล และการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  1. หากเป็นการแท้งครั้งแรกที่ไม่ทราบสาเหตุ สามารถเฝ้ารอดูอาการในครรภ์ต่อไปได้ แต่หากแท้ง 2 ครั้ง แพทย์ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมต่างๆเพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ
  2. หากมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท และมีการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ต้องทำการเย็บปากมดลูก หรือมีเนื้องอกในโพรงมดลูกที่ทำให้เกิดการแท้งซ้ำ ต้องมีการตัดเนื้องอกออก โดยวิธี Hysteroscopic myomectomy
  3. หากมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศ เช่น โปรเจสเตโรน (Progesterone) ต้องมีการให้ฮอร์โมนเสริม
  4. หากเป็นการแท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำการขูดมดลูกหรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
  5. หากเป็นการแท้งไม่ครบ ต้องทำการขูดมดลูก
  6. หากเป็นการแท้งค้าง แพทย์จะทำการขูดมดลูก และ/หรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมด ลูก

หลังแท้งจะมีอาการอย่างไร?

หากแท้งเองตามธรรมชาติและแท้งออกมาครบ และไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ออกไม่มาก 2-3 วันแล้วเลือดจะหยุดไปเอง ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีไข้

หากแท้งไม่ครบ มีการติดเชื้อ จะมีอาการปวดท้องอยู่ตลอดเวลา มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดนานเกิน 7 วัน บางครั้งอาจมีเลือดออกมาก บางครั้งเลือดที่ออกมา หรือสิ่ง/สารคัดหลั่ง/ตกขาวที่ออกมาจากช่องคลอดจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ ควรต้องรีบไปโรง พยาบาล

หลังแท้งจะกลับมีประจำเดือนปกติเมื่อไหร่?

หลังแท้งบุตร ประจำเดือนจะกลับมาค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอายุครรภ์น้อยๆก่อนแท้ง โดยทั่วไป ในรอบเดือนถัดมามักจะมีประจำเดือนเลยหากไม่ได้ทำหัตถการต่างๆ เช่น การขูดมดลูก

หลังแท้งมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?

ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังแท้งหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน หากต้องขูดมดลูกหรือมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก แนะนำให้งดร่วมเพศอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการต่างๆจะกลับปกติ

อย่างไรก็ตาม พบว่าการตกไข่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 สัปดาห์หลังแท้ง ดังนั้นหากจะมีการร่วมเพศและยังไม่อยากตั้งครรภ์ ควรมีการคุมกำเนิดด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัย และ/หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

หลังแท้งควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?

การคุมกำเนิดหลังแท้ง ทำได้ทุกวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การรับประทานยาเม็ดคุม กำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย (หากไม่มีการติดเชื้อ) เป็นต้น และควรเริ่มการคุมกำ เนิดเร็ว คือ 2 สัปดาห์หลังแท้ง เนื่องจากมีโอกาสตั้งครรภ์เร็วกว่าหลังคลอดบุตรปกติ

หลังแท้งแล้วเมื่อไหร่จึงจะตั้งครรภ์ได้อีก?

การจะกลับมาตั้งครรภ์อีก ขึ้นกับสาเหตุการแท้งและการทำหัตถการ หรือการรักษา เช่น

  • หากแท้งครบไม่ได้มีการขูดมดลูก สามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้เลย หรือแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้คุมกำเนิดหรือเว้นช่วงการตั้งครรภ์ไป 1-3 เดือน
  • แต่หากมีการขูดมดลูก แนะนำให้เว้นช่วงการตั้งครรภ์ไป 1-3 เดือน
  • หรือหากเป็นการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่ต้องผ่าผ่านผนังมดลูกเข้าไป ทำให้มีแผลที่กล้าม เนื้อมดลูก แนะนำให้เว้นช่วงการตั้งครรภ์ไป 6-12 เดือน

ดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันการแท้ง?

สตรีตั้งครรภ์ควรดูแลตนเองอย่างดีในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแท้ง ข้อควรปฏิบัติที่แนะนำ คือ

  1. นอนพักผ่อนให้มากๆ
  2. หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก
  3. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน รับประทานผัก ผลไม้มากๆ
  4. ออกกำลังกายตามความเหมาะสม/ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ
  5. รีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์
  6. หากมีความผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ควรต้องรีบไปพบแพทย์

สามารถป้องกันการแท้งบุตรได้หรือไม่? อย่างไร?

การแท้งจัดเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในกรณีที่ทารกผิดปกติ จะเกิดการแท้งขึ้น เพราะทารกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ การแท้งที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ก็ทำให้การป้องกันการแท้งทำได้ยาก การแท้งที่หาสาเหตุได้ เช่น ขาดฮอร์โมนเพศสามารถให้ฮอร์ โมนเสริมได้ หรือหากมีภาวะปากมดลูกเปิด ก็ต้องมีการเย็บปากมดลูกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ ส่วนการป้องกันทั่วๆไป ได้แก่

  1. ไม่ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่
  2. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
  3. รับประทาน วิตามิน บี 9 (Folic acid)
  4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  5. รักษาสุขภาพจิต

บรรณานุกรม

  1. Fox-Lee L, Schust DJ. Recurrent pregnancy loss. In: Berek JS, ed. Berek& Novak’s Gynecology. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins, 2007: 1276-323.
  2. http://www.americanpregnancy.org/pregnancycomplications/miscarriage [2012,Dec 2].
  3. http://www.webmd.com/infertility-and-reproduction [2012,Dec2].