แท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete miscarriage)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

แท้งไม่สมบูรณ์หมายถึงอะไร?

แท้งไม่สมบูรณ์ หรือ แท้งไม่ครบ (Incomplete miscarriage หรือ Incomplete abor tion) หมายถึงการแท้งที่มีบางส่วนของ รก ทารก หรือเนื้อเยื่อต่างๆที่เป็นชิ้นส่วนของทารก หลุดออกมาจากโพรงมดลูกบางส่วนเท่านั้น และบางส่วนยังเหลือค้างอยู่ในโพรงมดลูก ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี จึงมีผลให้มีเลือดออกมาก จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพมารดาได้

สาเหตุการแท้งไม่สมบูรณ์มีอะไรบ้าง?

แท้งไม่สมบูรณ์

สาเหตุส่วนใหญ่ของการแท้งในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน มักเกิดจากทารกในครรภ์ มีโครโมรโซมผิดปกติ ส่วนเหตุผลที่ทำให้เกิดการแท้งเป็นบางส่วนหรือแท้งไม่สมบูรณ์นั้น ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด

  • อาจเกิดจากการฝังตัวของรกผิดปกติ ทำให้เกิดการลอกตัวผิดปกติ
  • หรืออาจมีการติดเชื้อซ้ำในรก ทำให้การลอกตัวของรกผิดปกติได้เช่นกัน
  • แต่หากเกิดการแท้งหลัง 3 เดือนไปแล้ว มักเป็นผลจากความผิดปกติของโพรงมดลูก หรือมีการติดเชื้อของมารดา

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดแท้งไม่สมบูรณ์?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งไม่สมบูรณ์จะคล้ายกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งทั่ว ไป ได้แก่

1. มารดาที่อายุมากเกินไป (มากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี)

2. มารดาที่อายุน้อย (น้อยกว่า 15 ปี)

3. สูบบุหรี่

4. ดื่มเหล้า

5. มารดามีการติดเชื้อต่างๆขณะตั้งครรภ์

6. รกเกาะต่ำ

7. มีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ครรภ์เป็นพิษ) หรือ มารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง

แท้งไม่สมบูรณ์มีอันตรายอย่างไร?

อันตรายจากการแท้งไม่สมบูรณ์คือ ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี จึงทำให้มีเลือดออกจากมดลูก (เลือดออกทางช่องคลอด) มาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้ หากให้การรักษาไม่ทัน

สังเกตตนเองอย่างไรว่าเกิดแท้งไม่สมบูรณ์?

เมื่อเกิดแท้งไม่สมบูรณ์ สตรีตั้งครรภ์จะสังเกตได้ว่าตนเอง มีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งปกติไม่ควรมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ จะมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ลักษณะอาการปวดมักเป็นการปวดบีบๆ อาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และมีเลือดออกจำนวนมาก

หลังแท้งไม่สมบูรณ์ สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้หรือไม่?

เมื่อเกิดการแท้งไม่สมบูรณ์เกิดขึ้น จะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ปากมดลูกจะเปิด และมดลูกพยายามบีบตัวให้ชิ้นส่วนของ ทารก รก เนื้อเยื่อต่างๆที่ค้างในโพรงมดลูกออกมา ต้องมีการรักษาหรือต้องเกิดการแท้งโดยสมบูรณ์ (ชิ้นส่วนต่างๆดังกล่าวที่ค้างในมดลูก หลุดออกมาทั้งหมด) ก่อน จึงจะสามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้

แพทย์วินิจฉัยแท้งไม่สมบูรณ์อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยแท้งไม่สมบูรณ์ ได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย: ซึ่งจากการสอบถามประวัติอาการ จะพบว่าสตรีตั้งครรภ์จะมีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก อาจเป็นลิ่มหรือเห็นว่ามีส่วนที่คล้ายเป็นเนื้อเยื่อหลุดออก มาด้วย นอกจากนั้น
    • จะมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ปวดเป็นพักๆ
    • และหากมีการเสียเลือดมาก อาจมีอาการหน้ามืดวิงเวียน หรืออาจถึงช็อกได้
  • การตรวจร่างกาย:
    • หากมีการเสียเลือดมาก สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการอ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว มีเยื่อตาซีด มักจะไม่มีไข้หากไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
    • แต่หากเสียเลือดไม่มาก สัญญาณชีพต่างๆอาจยังคงปกติดี
    • นอกจากนั้นคือ มีอาการกดเจ็บที่ท้องน้อย
    • หากอายุครรภ์มาก จะสามารถคลำมดลูกได้ทางหน้าท้อง แต่ขนาดของมดลูกจะเล็กกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น
  • การตรวจภายใน:
    • จะพบเลือดออกมากผ่านออกมาทางปากมดลูก ปากมดลูกยังเปิดอยู่(ถ้าแท้งครบ ปากมดลูกจะปิด)
    • บางครั้งจะพบชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อทารกจุกอยู่ที่ปากมดลูก
    • และ ขนาดของมดลูกจะเล็กกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

1. การตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์: มักไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ เพราะจะให้ผล บวกอยู่แล้ว ระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ยังจะไม่หมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการแท้งขึ้น

2. ตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (beta hCG: beta human chorionic gonadotropin): ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเช่นกัน ต้องเจ็บตัว เสียค่าใช้จ่ายมาก และต้องใช้เวลากว่าที่จะทราบผล ซึ่งต้องตรวจต่อเนื่อง จะพบระดับฮอร์โมนจะค่อยๆลดลงเมื่อเกิดการแท้ง

3. ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องน้อย: เป็นการตรวจที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด จะพบว่ามีเนื้อเยื่อทารกบางส่วนค้างอยู่ในโพรงมดลูก อย่างไรก็ตาม อาจไม่จำเป็นต้องทำอัลตราซาวด์ในทุกราย ในกรณีที่เลือดออกมาก ปากมดลูกเปิด แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างมั่นใจ แพทย์จะให้การรักษาเลย

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อแท้งไม่สมบูรณ์?

เมื่อตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรอสังเกตอาการเองที่บ้าน

แท้งไม่สมบูรณ์กลายเป็นแท้งสมบูรณ์ได้เองโดยไม่ต้องพบแพทย์ได้ไหม?

ในบางครั้งแท้งไม่สมบูรณ์จะกลายเป็นแท้งสมบูรณ์ได้เอง โดยที่มดลูกจะหดรัดตัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ และจะขับเนื้อเยื่อส่วนที่ค้างออกมา

วิธีสังเกตว่าแท้งครบหรือแท้งสมบูรณ์คือ

  • ปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอดจะค่อยๆลดลง
  • อาการปวดท้องจะค่อยลดลง
  • *แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเองน่าจะไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลมากกว่า เพราะอาจเสียเลือดมากเกินไป จนอาจเกิดภาวะช็อก หากจะรอให้แท้งเองโดยสมบูรณ์

การดูแลรักษาของแพทย์มีอะไรบ้าง?

การดูแลรักษาของแพทย์ ประกอบด้วย

1. การรักษาทั่วไป: หากมีการเสียเลือดมาก แพทย์จะให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือด และพิจารณาให้เลือดกรณีที่จำเป็น หากเสียเลือดไม่มาก สามารถให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ และจะมีการให้รับประทานยาธาตุเหล็ก เพื่อสร้างเม็ดเลือดทดแทน ร่วมกับมีการให้ยาแก้ปวดท้อง

2. การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจำแนกเป็น

  • การรักษาด้วยยา ได้แก่ การให้ยา Misoprostol (ยาช่วยมดลูกบีบตัว) รับประทาน หรือ อมใต้ลิ้น จะดีกว่าเหน็บทางช่องคลอด เพราะมีเลือดออกมากทางช่องคลอดตลอดเวลา ยาจึงมักดูดซึมได้น้อย นอกจากนี้สามารถให้ยาที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว (Oxytocic drug/ Oxytocin) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเนื้อเยื่อส่วนที่ค้างในโพรงมดลูกออกมาได้
  • การขูดมดลูก (Curettage) หรือการใช้กระบอกดูดสุญญากาศ (Manual vacuum aspira tion) ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เป็นวิธีที่ได้ผลดี ทำได้รวดเร็ว ลดการเสียเลือดได้เร็ว แพทย์จะทำการขูดมดลูกเอาส่วนของรก ทารก หรือเนื้อเยื่อที่ค้างในโพรงมดลูกออกมา ทำให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น ทำให้เลือดหยุดได้
  • หากมีการติดเชื้อร่วมด้วยจะให้ยาปฏิชีวนะด้วย

ทราบได้อย่างว่าเกิดแท้งสมบูรณ์แล้ว?

จะทราบว่า เกิดการแท้งสมบูรณ์แล้วโดย อาการเลือดออกทางช่องคลอดจะค่อยๆลดลง และหยุดไปในที่สุด (โดยมากมักไม่เกิน 7 วันหลังได้รับการรักษาหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน) และ อาการปวดท้องจะดีขึ้น

หากครรภ์นี้แท้งไม่สมบูรณ์ ครรภ์ครั้งหน้าจะเกิดซ้ำอีกหรือไม่?

เมื่อเกิดแท้งไม่สมบูรณ์ขึ้น ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าครรภ์หน้า/ครรภ์ต่อไปจะเกิดแท้ง หรือเกิดแท้งไม่สมบูรณ์อีกหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับ สาเหตุ และหลายปัจจัย (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง) อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแท้งไม่สมบูรณ์ในครรภ์แรก พบว่าในการตั้ง ครรภ์ครั้งต่อๆมาเป็นผลสำเร็จในสัดส่วนที่สูงได้เช่นกัน

หลังแท้งไม่สมบูรณ์ ต้องคุมกำเนิดหรือไม่?

ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า หลังแท้งไม่สมบูรณ์ ควรคุมกำเนิดไปนานเท่าไหร่ จึงจะทำให้ผลการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปดีที่สุด โดยทั่วไปแนะนำให้คุมกำเนิดไปก่อนประมาณ 3 เดือน เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม และเป็นช่วงที่ร่างกายจะได้พักรักษาตัว รอสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นทดแทนส่วนที่เสียไปตอนแท้ง ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพมารดาสมบูรณ์ ลดโอกาสเกิดแท้งในครรภ์ครั้งใหม่

ดูแลตนเองอย่างไร หลังการรักษาแท้งไม่สมบูรณ์?

การดูแลตนเองที่บ้านหลังได้รับการรักษาแท้งไม่สมบูรณ์จากแพทย์แล้ว คือ

  • ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • งดการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ (โดยทั่วไป แพทย์จะนัดตรวจติดตามผลหลังการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์)

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ให้สังเกตเลือดที่ออกทางช่องคลอด (น้ำคาวปลา) ทุกวัน

  • ในภาวะไม่มีผลแทรกซ้อน หลังการรักษา น้ำคาวปลาจะค่อยๆจางลง และหยุดไปภายใน 7 วัน ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง
  • แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้อง และ/หรือ กลับมามีเลือดออกทางช่องคลอดอีก หรือน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น จะต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

มีวิธีป้องกันภาวะแท้งไม่สมบูรณ์หรือไม่?

ไม่มีวิธีป้องกันการแท้งไม่สมบูรณ์ คงเป็นการป้องกันการแท้งโดยภาพรวม ได้แก่ การดูแลตนเองให้ดีระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งก็จะเป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ ลดโอ กาสที่จะเสียชีวิตในครรภ์และเกิดการแท้งตามมาได้ ซึ่งการดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์ที่สำคัญ ได้แก่

  • ฝากครรภ์เสมอเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่าง ๆ
  • งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ (รวมถึงควันบุหรี่/สูบบุหรี่มือสอง)
  • ลดการเผชิญกับสารพิษหรือมลภาวะที่เลวร้าย

บรรณานุกรม

1. http://emedicine.medscape.com/article/795085-overview#a0104 [2020,Dec19]
2. https://www.uptodate.com/contents/miscarriage-beyond-the-basics [2020,Dec19]