ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้อหินคือโรคอะไร?

ต้ออะไรเอ่ยที่ร้ายแรงที่สุด หลายๆคนคงตอบได้ว่า “ต้อหิน (Glaucoma)” ซึ่งมี 2 ชนิด คือ

  • ชนิดพบบ่อย ได้แก่ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
  • และชนิดพบได้น้อยกว่า ได้แก่ ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)

แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะต้อหินเรื้อรัง ส่วนต้อหินเฉียบ พลันแยกเขียนไว้ในอีกบทหนึ่ง อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ต้อหินเฉียบพลัน”

ต้อหินเรื้อรัง หนึ่งในหลายๆต้อที่เป็นโรคเกิดกับดวงตาคนเรา เป็นต้อที่ร้ายแรงที่สุด เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกตาบอดใน 5 อันดับแรก

ทั้งนี้ที่เรียกว่า ต้อหิน เนื่องจากความดันภายในตาขึ้นสูงจนตาแข็งคล้ายหิน และเป็นต้อที่ได้ชื่อว่า หิน จริงๆ หินในแง่ที่ว่า ส่วนใหญ่ไม่รู้สาเหตุการเกิดหรือไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด อีกทั้งการรัก ษาค่อนข้างยุ่งยาก ทั้งนี้เนื่องจาก

1. ต้อหินชนิดเรื้อรังนี้ เกือบไม่มีอาการผิดปกติอะไร เพียงแค่สายตาค่อยๆมัวลงอย่างช้าๆ ซ้ำร้ายการมัวลงจะเริ่มจากความผิดปกติของลานสายตามากกว่าจะเป็นสายตาตรงกลาง กล่าว คือ ผู้ป่วยจะมองเห็นแคบลงๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจใช้กลอกตาหรือหันหน้าช่วย จึงทำให้ไม่รู้สึกว่าตัว เองมีความผิดปกติของสายตาเกิดขึ้นแล้ว

2. ส่วนใหญ่อาการหรือการสูญเสียสายตาจะเป็นชนิดค่อยเป็นค่อยไป อาจเรียกว่าเป็นต้อหินที่รุกเงียบ ตาค่อยๆบอดแบบที่เรียกว่า “บอดผ่อนส่ง” คือ ตาค่อยๆมัวลงทีละน้อย การรักษาที่ไม่ถูกวิธีหรือไม่ครบถ้วนก็อาจไม่เกิดอาการที่ร้ายแรงอะไร ไม่เจ็บไม่ปวดในฉับพลันดังเช่นโรคเรื้อรังทั้งหลาย แต่จบลงด้วยตาบอดที่มิอาจแก้ไขได้

3. โดยทั่วไปการรักษาเป็นเพียงชะลอไม่ให้สายตาเลวลง ซึ่งสายตาส่วนที่เสียไปแล้วจะไม่กลับคืน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าแพทย์ที่รักษาไม่มีความชำนาญ รักษาไม่ถูกกับโรค ก็ไปหาแพทย์คนใหม่ เปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ จนเลิกไปตรวจ เป็นเหตุให้สายตาที่เหลืออยู่ลดลงจนบอดในที่สุด

4. ในบางคนเมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้าย ตาบอดมองไม่เห็นแล้ว ยังมีอาการเจ็บปวด เคืองตา ยังความทรมานแก่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก

โรคต้อหินมีสาเหตุจากอะไร?

ต้อหินเรื้อรัง

เมื่อต้อหินเรื้อรังมีความร้ายแรงเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่าตนเองเป็นอยู่หรือมีโอกาสเป็น หรือจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็น หรือตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่

ในความเป็นจริง ต้อหินเรื้อรัง มีทั้งที่รู้สาเหตุและไม่รู้สาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้สาเหตุ ชนิดที่รู้สาเหตุซึ่งพบได้น้อยกว่า เช่น เกิดจากมีการอักเสบภายในดวงตาเรื้อรัง เช่น จากโรค เบาหวาน เป็นต้น การรักษาต้อหินเรื้อรังเมื่อรู้สาเหตุจึงต้องมุ่งรักษาโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย

ใครบ้างที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคต้อหินเรื้อรัง?

บุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นต้อหินเรื้อรัง ได้แก่

1. ต้อหินชนิดนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ถ้ามีญาติผู้ใหญ่ ปู่ย่า ตายาย เป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสถ่ายทอดมายังท่านได้ การถ่ายทอดโรคต้อหินเป็นแบบใดไม่แน่ชัด เป็นเพียงว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นกรรมพันธุ์ ท่านที่มีญาติเป็นโรคนี้ก็ควรหมั่นรับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง หรือตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ เพื่อจะได้ตรวจพบโรคนี้ในระยะแรกๆ

2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเหล่านี้ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงขั้วประสาทตาลดลง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินเรื้อรังได้

ทั้งนี้โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะนำไปสู่ความผิดปกติของหลอดเลือดต่างๆทั่วร่างกาย นอกจากเราจะพบต้อหินชนิดนี้เกิดร่วมกับผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าคนทั่วไปแล้ว โรคเบาหวานยังทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตา ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานนอกจากจะต้องตรวจตาดูว่าเบาหวานทำลายจอประสาทตา/เบาหวานขึ้นตาหรือไม่แล้ว ยังต้องตรวจดูว่ามีต้อหินหรือไม่ด้วย

นอกจากนั้น ในผู้ป่วยที่มีโรคข้ออักเสบจากสาเหตุบางอย่าง เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ มักมีโรคม่านตาอักเสบ/ยูเวียอักเสบ ร่วมด้วย ซึ่งเมื่อเป็นเรื้อรังจะเกิดโรคต้อหินแทรกซ้อนขึ้นมาในที่สุด

3. ประวัติการใช้ยาทั้งชนิดหยอดตาหรือยารับประทานบางชนิด ที่สำคัญคือ กลุ่มฮอร์ โมนสเตอร์รอยด์ ซึ่งเป็นยาใช้รักษาโรคได้ทุกระบบ เป็นยากดปฏิกิริยาของร่างกายที่นิยมใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ตลอดจนโรคที่ไม่รู้สาเหตุอีกมาก มาย โรคเหล่านี้มักต้องใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดต้อหินในคนบางคนได้ โดย เฉพาะในรูปของยาหยอดตาซึ่งนิยมใช้กันมาก เนื่องจากเป็นยาที่หยอดแล้วเย็น สบายตา แก้อา การคันตาแสบตาได้ดี หากใช้ต่อเนื่องจะทำให้เกิดต้อหินเรื้อรังได้ประมาณ 35% เป็นเหตุสำ คัญอันหนึ่งที่ทำให้ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ปีเป็นโรคต้อหินเรื้อรัง กล่าวคือโดยปกติโรคต้อหินเรื้อรังมักจะพบในคนสูงอายุ แต่ต้อหินเรื้อรังที่เกิดจากการใช้ยาตัวนี้ไม่เลือกอายุ เป็นได้แม้อายุยังน้อย

4. ประวัติการได้รับอุบัติเหตุบริเวณตา ทั้งจากแรงกระทบกระแทกหรือถูกของมีคม ทั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือผ่านมานานแล้วในอดีตจนเจ้าตัวอาจลืมไปแล้ว ทั้งจากอุบัติเหตุรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเพียงเล็กน้อยที่ใช้เพียงยาหยอดตาไม่กี่วันโรคก็หายปกติ แต่ในระยะยาวอาจเกิดโรคต้อหินเรื้อรังได้ ที่พบบ่อยได้แก่ ภายหลังมีเลือดออกในลูกตาหลังได้รับอุบัติเหตุที่เป็นแรงกระแทก เช่น ถูกลูกขนไก่หรือถูกหนังสติกจนเลือดออกในตา

5. ประวัติการได้รับการผ่าตัดทางตาไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเปลี่ยนตา หรือผ่า ตัดจอประสาทตา อาจก่อโรคต้อหินเรื้อรังแทรกซ้อนตามมาในภายหลังได้

6. ประวัติเคยมีและรับการรักษาโรคเรื้อรังทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาขาวอักเสบ/กระจกตาอักเสบ โดยในระยะนานไปอาจเกิดต้อหินเรื้อรังขึ้นได้

7. ผู้ที่มีสายตาสั้น โดยเฉพาะถ้าสั้นมากคือ มากกว่า 6D (diopter หรือ ไดออปเตอร์) ขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคต้อหินเรื้อรังได้มากกว่าคนปกติ

ถ้าสงสัยว่าตนเองเป็นโรคต้อหินเรื้อรังควรทำอย่างไร?

ถ้าสงสัยว่าตนเป็นโรคต้อหินเรื้อรัง ไม่ควรรีรอ รีบไปรับการตรวจจากจักษุแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด มีบ่อยๆที่ผู้ป่วยมักคิดว่าเป็นต้อกระจก ซึ่งพบได้บ่อยกว่าโดยมีอาการคล้ายกันคือ พบในผู้สูงอายุ มีอาการตาค่อยๆมัวลงโดยไม่เจ็บไม่ปวด ตาไม่แดงเหมือนกัน ผู้ ป่วยหลายคนจึงเข้าใจว่า ตาคงเป็นโรคต้อกระจกเช่นผู้สูงอายุทั้งหลาย จึงรอได้ และต้องรอจน กว่าต้อจะแก่พอสมควรถึงจะได้รับการผ่าตัด แต่ต้อหินเป็นต้อที่รอไม่ได้ ถ้ารอหรือมาพบแพทย์ช้าไป การมองเห็นจะลดลง สายตาที่เสียไปแล้วไม่อาจกลับคืนได้ สนใจในการดูแลรักษาตา

รักษาต้อหินเรื้อรังได้อย่างไร?

การรักษาต้อหินเรื้อรัง มี 3 วิธีหลัก

1. ใช้ยา: อาจเป็นยาหยอดตาหรือยารับประทาน ในบางคนอาจต้องหยอดยาหลายๆตัว บางคนอาจต้องใช้ทั้งยาหยอดและยารับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของจักษุแพทย์ ผู้ป่วยควรจะใช้ยาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์โดยเคร่งครัด

2. ใช้แสงเลเซอร์: สำหรับต้อหินเรื้อรังการใช้แสงเลเซอร์สามารถช่วยให้ความดันตาลดลงได้ชั่วคราว จึงมักนิยมใช้ในผู้ป่วยก่อนที่จะตัดสินใจรับการผ่าตัด หรืออีกนัยหนึ่งการใช้เลเซอร์จะช่วยประวิงเวลาการผ่าตัดออกไป

3. การผ่าตัด: ส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดเมื่อยาไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ ขาดยาเป็นประจำจนทำให้ตาค่อยๆมัวลง หรือผู้ป่วยบางรายอาจทนต่อผลข้างเคียงของยาหยอดตาไม่ ได้ โดยทั่วไปยาหยอดตารักษาต้อหิน เมื่อหยอดแล้วมักมีอาการ ปวดตา แสบตา ไม่สบายตา ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยขาดยาและทำให้ตาเลวลงในที่สุด

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคต้อหินเรื้อรัง?

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง ควรดูแลตนเองดังนี้

  • ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างถูกต้อง เคร่งครัด สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
  • พบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

อนึ่ง การรักษาทั้ง 3 วิธีดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เป็นการป้องกันและรักษามิให้สายตาเลวลง แต่จะไม่ทำให้เห็นดีขึ้นแต่อย่างไร ถ้าท่านบังเอิญเป็นโรคนี้ ถ้าท่านไม่สนใจในการดูแลรักษาตาของท่านตามจักษุแพทย์แนะนำ ก็มั่นใจได้เลยว่าตาของท่านจะค่อยๆมืดลงและบอดในที่สุด ในทางตรงข้าม การรักษาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สายตาไม่เลวลงอย่างแน่นอนเช่นกัน และท่านจะมีสายตาสามารถทำงานทุกอย่างใกล้เคียงคนปกติทั่วไปจนตลอดชีวิต