ต้อหิน (Glaucoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้อหินคืออะไร?

ปัจจุบัน การให้คำนิยามของโรคต้อหิน (Glaucoma) เปลี่ยนไปจากเดิม ในสมัยเก่าให้ความสำคัญกับความดันลูกตา/ ความดันตา มากจึงให้คำนิยามว่า “ต้อหินเป็นโรคความดันตาสูง” ปัจจุบัน เราพบว่า ต้อหินไม่จำเป็นต้องมีความดันลูกตาสูงเสมอไป จึงเปลี่ยนคำนิยามโรคต้อหินใหม่ คือ

“โรคซึ่งมีการทำลายเซลล์ประสาทตาในจอตา/Retinal ganglion cell ไปเรื่อยๆ (Progressive) ทำให้สูญเสียการมองเห็น และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตา/ จานประสาทตาไป เป็นลักษณะที่เรียกว่า Glaucomatous cupping disc (รอยหวำ/รอยบุ๋มผิดปกติคือกว้างขึ้นที่เกิดที่ขั้วประสาทตา)จนเป็นผลให้เกิดลานสายตาผิดปกติ” ซึ่งคำนิยามใหม่นี้ ไม่พูดถึงความดันตาเลย

โดยสรุป ต้อหินเป็นโรคที่เซลล์ประสาทในจอตาตายไปเรื่อยๆ ทำให้ลานสายตาผิดปกติ ขั้วประสาทตาซึ่งเป็นที่รวมของใยประสาทตาที่ต่อมาจากเซลล์ประสาทถูกทำลาย เกิดเป็นรอย หวำกว้างขึ้นที่ขั้วประสาทตา ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น โดยภาวะเช่นนี้มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  • ความดันตาที่สูงขึ้น
  • อายุที่มากขึ้น
  • มีประวัติกรรมพันธุ์ที่เป็นโรคต้อหินของคนในครอบครัว
  • มีโรคทางกายที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงจอประสาทตา/จอตาลดลง เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง

อนึ่ง แม้ว่าความดันตาเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยง แต่ความดันตาเป็นสิ่งที่ตรวจวัดได้ จึง เป็นปัจจัยเดียวที่เมื่อให้การรักษาโรคนี้แล้วเห็นผลเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ แพทย์จึงใช้วิธีลดความดันตาเป็นการรักษาหลัก และผู้ป่วยต้อหินส่วนมากจะมีความดันตาที่สูงกว่าปกติ (ค่าปกติอยู่ที่ 21 มม.ปรอท/มิลลิเมตรปรอท) เมื่อความดันตาสูงมาก การคลำลูกตาจากภายนอกจะรู้สึกได้ว่า “ลูกตาแข็งคล้ายหิน” อันเป็นที่มาของชื่อโรคคือ “โรคต้อหิน” ไม่ได้มีเศษหิน อยู่ในตาแต่อย่างใด

ต้อหินมีกี่ชนิด?

ต้อหิน

มักแบ่งต้อหินเป็นชนิด/แบบต่างๆตามสาเหตุเป็น 4 ชนิด/แบบหลักดังนี้

1. ต้อหินปฐมภูมิ (Primary glaucoma):

ต้อหินปฐมภูมิเป็นต้อหินที่ไม่ทราบสาเหตุ พบในผู้สูงอายุ อายุยิ่งมากมีโอกาสเป็น มากขึ้น เป็นต้อหินที่พบมากที่สุด เวลาที่พูดถึงต้อหินโดยไม่บอกว่าเป็นชนิดใด มักหมายถึงชนิดนี้ ซึ่งต้อหินชนิดนี้อาจจำแนกตามอาการออกได้เป็นชนิดย่อยๆอีก 2 ชนิดย่อยคือ

  • ต้อหินฉับพลัน/ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma): คือ อาการของต้อหินจะเกิด ขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 - 2 วัน มีอาการรุนแรงทั้งปวดตา ตามัว ตาแดง อาจจะตาบอดได้ภาย ในไม่กี่วันถ้ารักษาไม่ทัน
  • ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma): คือ อาการของต้อหินจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป อา การเป็นไปอย่างช้าๆ ส่วนมากไม่มีอาการเจ็บปวดตา ตาไม่แดง แต่จะพบว่าลานสายตาแคบลงอย่างช้าๆ ตาค่อยๆมองเห็นภาพผิดปกติหรือค่อยๆบอดช้าๆ

แต่ในต่อหินปฐมภูมินี้หากแบ่งอีกแบบคือ แบ่งตามลักษณะกายวิภาคของช่องด้านหน้าในลูกตา (Anterior chamber) ที่เปลี่ยนแปลงไปในโรคนี้ ก็จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อยเช่นกัน คือ

ก. ถ้าช่องด้านหน้าในลูกตานี้แคบลง ซึ่งจะทำให้ช่องนี้เกิดการ ’ปิด/ตีบแคบลงมากหรืออุดตัน’ จะเรียกว่าเป็นต้อหินชนิด “Angle closure glaucoma (ต้อหินมุมปิดหรือต้อหินปฐมภูมิมุมปิด)” ซึ่งมักจะมีอาการแบบต้อหินเฉียบพลัน นั่นคือช่องด้านหน้าลูกตานี้เกิดการปิดทันที จึงนำไปสู่ ‘ต้อหินเฉียบพลัน’

ข. ส่วนต้อหินที่มีช่องด้านหน้าลูกตานี้กว้าง ซึ่งกว้างมากและไม่มีการปิด จะเรียกว่าเป็น “ต้อหินมุมเปิดหรือต้อหินปฐมภูมิมุมเปิด (Open angle glaucoma)” ซึ่งมักจะมีอาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือเป็นแบบ ‘ต้อหินเรื้อรัง’

สำหรับต้อหินมุมเปิดหรือต้อหินเรื้อรังนี้ โดยทั่วไป

  • ประมาณ 80% จะมีความดันลูกตาสูง
  • และอีกประมาณ 20% จะมีความดันลูกตาปกติหรือค่อนข้างต่ำจึงเรียกต้อหินกลุ่มนี้ได้อีกชื่อว่า “ต้อหินความดันตาปกติ (Normal tension glaucoma) หรือต้อหินความดันตาต่ำ (Low tension glaucoma)”
    • ต้อหินความดันตาปกติได้แก่ ผู้ป่วยที่มีลานสายตาและขั้วประสาทตาผิดปกติเข้าได้กับต้อหินเรื้อรังทุกอย่าง แต่ความดันลูกตาปกติ (ต่ำกว่า 21 มม.ปรอท) เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเพราะเซลล์ประสาทจอตา Retinal ganglion cell มีความไวต่อสิ่งผิดปกติมาก แม้ความดันตาไม่สูงก็ถูกทำลายตายลงไปเรื่อยๆ การรักษาจึงเช่นเดียวกับต้อหินเรื้อรัง ต้องรักษาให้ความดันลูกตาลดต่ำลงจากที่เป็นอยู่

2. ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary glaucoma):

ต้อหินทุติยภูมิเป็นต้อหินที่เกิดภายหลังจากมีโรคตาอย่างใดอย่างหนึ่งนำมาก่อน หรือเป็น ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคตาอื่น เช่น

  • จากโรคต้อกระจก: ในผู้ป่วยบางรายมีโรคต้อกระจก แก้วตาที่ขุ่นอาจบวมมากจนนำมาซึ่งความดันลูกตาสูงอย่างเฉียบพลัน เรียกกันว่าเป็นต้อหินแบบ “Phacomorphic glaucoma” หรือเป็น ต้อกระจกจนต้อสุก แต่ผู้ป่วยไม่ยอมรับการผ่าตัดรักษา สารโปรตีนในแก้วตาจึงรั่วออกมาอุดทาง เดินของสารน้ำในลูกตาจึงเกิดเป็นต้อหินชนิดที่เรียก “Phacolytic glaucoma” หรือแม้แต่ผู้ป่วยบางรายแก้วตาเคลื่อนที่จากอุบัติเหตุที่ตาไปอุดทางเดินของสารน้ำในลูกตา จึงเกิดเป็นต้อหินชนิดที่เรียกว่า “Lens induced glaucoma” ซึ่งทุกชนิดดังกล่าวทั้งหมด ต้องรักษาต้นเหตุแล้ว โรคต้อหินจะหายได้
  • จากการอักเสบภายในลูกตา/ยูเวียอักเสบ (Uveitis) ที่เป็นซ้ำๆนำมาซึ่งต้อหินได้เช่นกัน การควบคุมรักษาการอักเสบที่ดีจะรักษาโรคต้อหินชนิดนี้ได้
  • จากการมีเลือดออกภายในลูกตา/เลือดออกในช่องหน้าลูกตา (Hyphema): เลือดออกในช่องด้านหน้าลูกตาจากอุบัติเหตุ หรือจากหลอดเลือดในตาฉีกขาด ทำให้เลือดขังอยู่ในช่องด้านหน้า ลูกตามาก จึงไปอุดทางเดินของสารน้ำในลูกตา ส่งผลให้เกิดความดันลูกตาสูง เกิดเป็นต้อหิน ได้ ซึ่งรักษาต้อหินนี้ด้วยการรักษาสาเหตุ
  • จากมีแรงกระแทกบริเวณลูกตา (Blunt eye trauma) ทำให้มีการอักเสบและเกิดพังพืดที่มุม ลูกตา ตามมาด้วยความดันลูกตาที่สูงเกิดเป็นต้อหินที่เรียกว่า “Angle recession glaucoma”

อนึ่ง ต้อหินในกลุ่มต้อหินทุติยภูมินี้จำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุ หากทำได้รวดเร็วโรค ต้อหินจะหายได้ตามมา แต่ถ้ารักษาต้นเหตุได้ช้าจนเกิดความเสียหายในบริเวณมุมในลูกตาอย่างถาวร แม้โรคเดิมจะรักษาหายแล้ว แต่ยังคงมีโรคต้อหินตกค้าง ซึ่งต้องให้การรักษาคล้ายกับโรคต้อหินเรื้อรังต่อไป

3. ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital glaucoma):

ต้อหินแต่กำเนิด/ต้อหินในเด็ก เป็นต้อหินที่เกิดตั้งแต่เด็กแรกเกิด จากมีพัฒนาการ ภายในลูกตาที่ผิดปกติ ผู้ป่วยจะแสดงอาการทันทีหลังเกิด โดยขบวนการเกิดลูกตาตอนอยู่ในครรภ์มีความผิดปกติของทางเดินของสารน้ำในลูกตา จึงทำให้ความดันลูกตาสูงมากตั้งแต่อยู่ใน ครรภ์ ต้อหินในเด็กอาจพบได้หลายรูปแบบ เช่น

  • ต้อหินในทารก (Infantile glaucoma): โรคจะเกิดก่อนเด็กอายุ 3 ปี เป็นต้อหินในเด็กที่พบ บ่อยที่สุด เชื่อว่าเป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดได้ มักเป็นทั้ง 2 ตา วินิจฉัยได้รวดเร็วด้วยอาการที่สำ คัญ 3 อย่างได้แก่ น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ และเด็กมักจะบีบตา/หยีตาตลอดเวลา (Blepharo spasion) สิ่งตรวจพบง่ายๆได้แก่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระจกตาที่ใหญ่กว่า 10.5 มม. (เด็กแรกเกิดปกติไม่เกิน 10.5 มม.) เนื่องจากความดันลูกตาสูงจึงทำให้ลูกตาขยายโต ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “Buphthalmos หรือ ตาวัว” และวัดเส้นผ่าศูนย์กลางกระจกตาได้มากถึง 12 มม. กระ จกตาจะบวมทำให้เด็กมีตาสู้แสงไม่ได้ การตรวจตาให้ละเอียดจะพบความผิดปกติของมุมลูกตา (Chamber angle) อันเนื่องจากการพัฒนาของลูกตาช่วงในครรภ์ผิดปกติ และหากวัดความดันลูกตาจะสูงมาก ภาวะนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไข การให้ยารักษาในระยะต้นจะช่วยได้บ้าง แต่เพียงเพื่อเตรียมการผ่าตัดเมื่อเด็กพร้อมที่จะรับยาสลบ
  • ต้อหินในเด็กโต (Juvenile glaucoma): เกิดในเด็กที่อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลูกตาอาจไม่ใหญ่ กว่าปกติ เพราะอายุ 3 ปีขนาดของลูกตาเกือบเท่าผู้ใหญ่จึงไม่มีการขยายออก อาการอาจคล้ายต้อหินเรื้อรังในผู้ใหญ่
  • Axenfeld - Rieger syndrome เป็นต้อหินที่พบตั้งแต่เกิด แต่พบร่วมกับมีความผิดปกติส่วนอื่นของตาด้วยเช่น ความผิดปกติของม่านตา โครงกระดูกใบหน้าผิดปกติ ฟันผิดปกติ เป็นต้น
  • Aniridia: เป็นต้อหินที่พบแต่เกิดเช่นกันโดยเกิดร่วมกับการฝ่อของม่านตา

4. ภาวะสงสัยต้อหิน (Glaucoma suspect):

ภาวะสงสัยต้อหินเป็นภาวะที่พบในบางคนที่มีอาการบางอย่างเหมือนต้อหินปฐมภูมิชนิดเรื้อรัง (ต้อหินเรื้อรัง) แต่อาการไม่ครบทุกข้อที่จะวินิจฉัยเป็นต้อหินปฐมภูมิได้ จึงเรียกว่า อยู่ในกลุ่มสงสัย หรือ “ ภาวะสงสัยต้อหิน”เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะต้องติดตามดูแลผู้ป่วยในระยะยาว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะสงสัยต้อหิน อาจจะเป็นผู้ที่มีความดันลูกตาสูงอย่างเดียว (Ocular hypertension) คือ มีความดันฯมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนปกติ (มากกว่า 21 มม.ปรอท) โดยที่ลานสายตามีรอยหวำในขั้วประสาท/จานประสาทตาขนาดยังปกติ หรือมีรอยหวำ/Cupping ในขั้วประสาทตาใหญ่/กว้างขึ้นเรียกว่า Large cupping (ค่าปกติไม่เกิน 0.4 - 0.5 disc diameter) หรือผู้ป่วยที่มีลานสาย ตาผิดปกติโดยไม่พบสาเหตุของความผิดปกติ อีกทั้งความดันลูกตาและ Cupping ก็ยังปกติ กล่าวคือ โดยรวมๆเป็นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติไม่ครบตามลักษณะของต้อหินเรื้อรัง

ผู้ป่วยในกลุ่มภาวะสงสัยต้อหิน แพทย์ต้องเฝ้าติดตามเป็นระยะๆโดยยังไม่รักษา ซึ่งผู้ป่วยบางรายจะพบความผิดปกติครบของลักษณะต้อหินเรื้อรังในเวลาต่อมา หรือในบางรายความผิดปกติอาจจะอยู่อย่างนั้นไม่กลายเป็นต้อหินเรื้อรัง

ในบางสถานพยาบาล แพทย์เรียกผู้ป่วยภาวะสงสัยต้อหินนี้ตามความผิดปกติที่ตรวจพบ เช่น เรียกว่า “มีความดันลูกตาสูง (Ocular hypertension)” หรือ “มีรอยหวำกว้าง (Large cupping)” โดยไม่ได้ใช้คำว่า ต้อหิน หรือ สงสัยต้อหิน

อนึ่ง ในผู้ป่วยภาวะสงสัยต้อหินที่พบมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน “หัวข้อ ชนิดของต้อหิน และหัวข้อ ปัจ จัยเสี่ยงฯ” แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาโรคต้อหินไปเลย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต้อหิน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต้อหิน ได้แก่

1. ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน: มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน มีโอ กาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 9.2 เท่า

2. มีกระจกตาที่บางกว่าปกติ

3. มีโรคทางกายที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดอันอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงจอตาไม่ดีเช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง

4. การมีความดันลูกตาสูง

5. การใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเช่น ในโรคหืดหรือโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน

6. อื่นๆ: เป็นปัจจัยที่ยังมีผลการศึกษาไม่ชัดเจนเช่น สายตาสั้นมาก หรือเป็นเบาหวาน บางการ ศึกษาพบว่า อาจไม่เพิ่มความเสี่ยง/ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยง แต่บางการศึกษาพบว่า เพิ่มความเสี่ยง

ต้อหินมีอาการอย่างไร?

อาการของต้อหินแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ

ก. ต้อหินเฉียบพลัน: จะมีอาการอย่างกะทันหัน 3 อย่างได้แก่ ปวดตา, ตามัว, ตาแดง, ล้วนเป็นอาการที่ทรมานผู้ป่วย ตามัวส่วนใหญ่จะมัวมากจนถึงขั้นเห็นหน้าคนไม่ชัด ปวดตามาก/บางคนปวดหัวมาก ปวดจนอาเจียน ความรุนแรงของอาการทั้ง 3 อย่างแตกต่างกันไปในแต่ละผู้ป่วย แต่ส่วนมากจะเป็นค่อนข้างมาก ผู้ป่วยโรคนี้จึงมักมาพบหมอทันที ความดันลูกตาจากที่ปกติต่ำกว่า 21 มม.ปรอท อาจขึ้นสูงทันทีเป็น 50 มม.ปรอทในเวลาอันรวดเร็ว

ข. ต้อหินเรื้อรัง: ส่วนมากจะไม่มีอาการอะไรมาก ตาไม่แดง ไม่เจ็บ ระยะแรกไม่รู้สึกว่าตามัว เพราะการมัวจะเริ่มจากลานสายตาด้านข้าง การมองเห็นภาพด้านข้างแคบๆลง ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยไม่สบายตาทำให้ใช้สายตาได้ไม่นาน คนสูงอายุมักจะรบเร้าให้เปลี่ยนแว่นสาย ตา คนทั่วไปที่เป็นโรคนี้มักจะเข้าใจว่าตนเองเป็นสายตาเสื่อมตามอายุ ซึ่งรักษาไม่ได้หรือเป็นต้อกระจก ซึ่งต้องรอให้ต้อแก่ก่อนค่อยรับการรักษา กลุ่มนี้ความดันตามักจะค่อยๆสูงขึ้นทีละน้อย ไม่พรวดพราดเหมือนต้อหินเฉียบพลัน จึงไม่มีอาการปวดตา

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ ส่วนในผู้ไม่มีอาการแต่อยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรพบจักษุแพทย์ตั้งแต่อายุได้ 40 ปี ต่อจากนั้นพบจักษุแพทย์ตามจักษุแพทย์แนะนำ

สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีอาการทางตาก็ควรพบจักษุแพทย์เช่นกัน เพื่อการตรวจคัดกรอง และพบจักษุแพทย์ต่อเนื่องตามจักษุแพทย์นัดต่อไป

วินิจฉัยต้อหินอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยต้อหินโดย

ก. ถ้าเป็นต้อหินเฉียบพลัน: แพทย์วินิจฉัยโรคจาก

  • อาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
  • การตรวจร่างกาย ร่วมกับ
  • การตรวจตา ซึ่งจะพบ
    • ตาแดง, กระจกตาบวม, รูม่านตาขยาย
    • วัดความดันลูกตาได้สูงมาก เช่น 50 - 60 มม.ปรอท และ
    • การตรวจตาด้วยวิธีเฉพาะเพื่อดูมุมตาเพื่อยืนยันว่าเป็นต้อหินมุมปิด

ข. ส่วนการวินิจฉัยต้อหินเรื้อรัง:

  • นอกจากประวัติอาการและการตรวจร่างกายแล้ว การตรวจดูตาด้วยไฟฉายอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ต้องตรวจวัดความดันลูกตา (ซึ่งอาจจะปกติ หรือสูงไม่มาก) ตรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในการรักษา
  • นอกจากนั้นคือ
    • การตรวจตาวิธีเฉพาะเพื่อดูขนาดรอยหวำของขั้วประสาทตา
    • ตรวจลานสายตา
    • และหากมีเครื่องมือตรวจตาที่พร้อม อาจต้องตรวจตาด้วยเครื่อง Optical coherence tomogram (OCT) เพื่อวัดความหนาของชั้นเนื้อเยื่อต่างๆของจอตา (Nerve fibre layer)
    • และร่วมกับการตรวจดูมุมตาเพื่อยืนยันว่าเป็นต้อหินมุมเปิด

รักษาต้อหินอย่างไร?

แนวทางการรักษาต้อหินได้แก่

ก. ในรายต้อหินเฉียบพลัน:

  • แพทย์จะลดความดันลูกตาด้วยยา (เช่นยา Pilocarpine, Acetazolamide)
  • ตามด้วยการทำเลเซอร์ (Laser) โดยการยิงเลเซอร์ให้เกิดรูที่ม่านตา (Laser iridotomy) อันจะทำให้การไหลเวียนของสารน้ำในลูกตาไหลได้คล่องตัว ความดันฯจะลดลงสู่ปกติ
  • หากผู้ป่วยมารับการรักษาช้า การยิงด้วยเลเซอร์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจต้องใช้ยาหยอดตาต่อ
    • หรือตามด้วยการผ่าตัดตาที่เรียกว่า Trabeculectomy เป็นการเปิดทางให้สารน้ำในลูกตาไหลออกมาอยู่ใต้เยื่อตา/เยื่อบุตา
    • และตรวจดูมุมตาในตาอีกข้าง ซึ่งหากพบว่าแคบ แพทย์จะทำเลเซอร์ป้องกันไปด้วย เพราะเมื่อเกิดโรคในตาข้างหนึ่งแล้วมักจะตามด้วยการเกิดโรคในตาอีกข้าง
    • สำหรับต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะรับการรักษาได้ผลดีเช่น อาการปวดตาและตามัวจะหายไปทันที

ข.ส่วนในต้อหินเรื้อรัง: แนวทางในการรักษาคือ พยายามลดความดันลูกตาลงให้เหลือระดับที่ไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อจอตา (Nerve fibre layer) เพิ่มขึ้นอีก แต่สายตาที่เสียไปแล้วจะไม่กลับคืนเป็นปกติ ซึ่งการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรคซึ่งทั่วไป

  • มักเริ่มด้วยการใช้ยา อาจทั้งยากินและยาหยอดตา เช่น ยา Timolol
  • ตามด้วยการใช้เลเซอร์ (Laser trabeculoplasty)
  • จนถึงการผ่าตัดมุมตา

ต้อหินส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่ตามมาหลังจากเป็นต้อหินคือ ต้อหินทุกชนิดถ้าไม่รับการรักษา อาการตามักจะมัวลงเรื่อยๆ บางรายถึงขั้นตาบอด

ก. ในรายเป็นต้อหินเฉียบพลัน: ตาอาจบอดได้ในเวลา 1 - 2 สัปดาห์, นอกจากตาบอดแล้ว บางรายยังมีอาการตาแดง เจ็บ/ปวดตา, ปวดหัวอยู่เรื่อยมา, ซึ่งทรมานมากจนผู้ป่วยบางรายยอมให้ควักตา/ผ่าตัดลูกตาออก กล่าวคือ ต้อหินเฉียบพลันนอกจากตาบอดแล้วยังทรมานจากการปวดตาและตาแดงตลอดเวลา

ข. ส่วนต้อหินเรื้อรัง: ถ้ารักษาล่าช้าหรือรักษาไม่สม่ำเสมอ ตาจะมัวลงอย่างช้าๆ บางรายถึงขั้นตาบอดโดยที่มักไม่ปวดตาเรียกกันว่า “ตาบอดตาใส”

โดยสรุป:

  • ต้อหินมีผลทำให้ตามัวลงมากอย่างฉับพลันในรายเป็นต้อหินเฉียบพลันจนถึงขั้นตาบอดร่วมกับมีอาการเจ็บปวดเคืองตาอยู่ตลอด
  • ส่วนต้อหินเรื้อรัง ตามัวลงอย่างช้าๆ บางคนอาจถึงขั้นตาบอด บางคนเห็นเลือนราง ขึ้นอยู่กับความดันลูกตาที่สูงมากหรือน้อย และภาวะของหลอดเลือดไปเลี้ยงจอตาบกพร่องหรือไม่ แต่มักจะไม่มีอาการปวดหรือเจ็บตา

ต้อหินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ ความรุนแรงในโรคต้อหินขึ้นกับชนิด/สาเหตุของโรคต้อหินที่มีหลากหลาย จึงแตกต่างกันได้มากในแต่ละบุคคล ตั้งแต่มีโอกาสรักษาได้หายเช่น กรณีเป็นต้อหินชนิดทุติยภูมิ, ไปจนถึงไม่มีโอกาสรักษาได้หายเช่น ในกรณีเป็นต้อหินแต่กำเนิด เป็นต้น ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่า นั้นที่จะเป็นผู้ให้การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองในโรคต้อหินจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของต้อหิน แต่มีหลักในการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆ (เช่น ยาหยอดตา) ที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วนไม่ขาดยา และไม่หยุดยาเอง
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้อย่างดี
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลงเช่น ตามัวลง ปวดตามากขึ้น
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้นเช่น เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการจากแพ้ยาที่แพทย์สั่งเช่น ขึ้นผื่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้มากเมื่อใช้ยา
  • เมื่อกังวลในอาการ

การป้องกันต้อหินอย่างไร?

ป้องกันต้อหินได้โดย

ก. ในต้อหินเฉียบพลัน: ที่เกิดในผู้ป่วยมีช่องด้านหน้าลูกตาแคบ ในปัจจุบันมีการใช้แสงเลเซอร์เจาะรูที่ม่านตา สามารถป้องกันการเกิดต้อหินได้หากตรวจพบช่องหน้าตาแคบมากจนมีแนวโน้มจะเกิดต้อหินเฉียบพลัน การป้องกันด้วยเลเซอร์เป็นการรักษาที่ทำได้ไม่ยาก ซึ่งแพทย์ทั่วไปมักจะแนะนำให้ทำโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เกิดต้อหินเฉียบพลันในตาข้างหนึ่งแล้ว ควรทำ เลเซอร์ในตาข้างที่เหลือ

ข. สำหรับต้อหินเรื้อรัง: ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิด แต่การวินิจฉัยได้เร็วก่อนสายตายังไม่สูญเสียไปมาก การรักษาที่ถูกต้อง จะป้องกันมิให้สูญเสียสายตาเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ จึงควรมีการตรวจคัดกรองภาวะนี้ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์และมักเกิดในคนสูงอายุ ซึ่งเพื่อการคัดกรองภาวะนี้จึงแนะนำให้ตรวจวัดความดันลูกตาอย่างน้อยปีละครั้งในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และให้ความสนใจในการตรวจตามากขึ้นใน

1. ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน: มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีญาติเป็นโรคต้อหินมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 9.2 เท่า

2. มีกระจกตาที่บางกว่าปกติ

3. มีโรคทางกายที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดอันอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงจอตาไม่ดี เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหลอดเลือดแดงแข็ง

4. มีความดันลูกตาสูง

5. อื่นๆ: กรณีสายตาสั้นมากหรือเป็นเบาหวาน บางการศึกษาพบว่า อาจไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นต้อหิน แต่บางการศึกษาพบว่า เพิ่มความเสี่ยง