ความดันตาสูง (Ocular hypertension)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ภาวะความดันตาสูงคืออะไร? วินิจฉัยได้อย่างไร?

ความดันตาสูง หรือ ความดันลูกตาสูง (Ocular hypertension) คือ โรค/ภาวะที่มีค่าความดันตา/ลูกตาสูงกว่าคนปกติทั่วไปเฉกเช่น ค่าความดันโลหิต ซึ่งมีค่าปกติ/ค่ามาตรฐานอยู่ ถ้าใครมีค่าความดันตาสูงกว่าค่ามาตรฐาน ถือว่ามีค่าความดันตาสูง 

จากการศึกษาในประชากรทั่วไป (ที่ไม่เป็นต้อหิน) พบว่า แต่ละคนทั่วไปมีค่าความดันตาแตกต่างกันบ้าง เมื่อนำค่าความดันตาของแต่ละคนที่ศึกษา มาประเมินทางสถิติ (Plot curve) พบว่า ค่าความดันตาปกติของคนทั่วไปจะมีรูปทรงระฆังคว่ำ โดยจะโย้มาทางความดันสูงเล็กน้อย  จากค่านี้ นำมาหาค่าเฉลี่ย พบว่า เป็น 15.5 +/ - 2.07 มม.ปรอท และเมื่อคิดค่า 2 เท่าของ SD (Standard deviation, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน,ค่าเฉลี่ยทางสถิติ)ซึ่งครอบคลุมได้ถึง 95 %ของประชากร/คนปกติทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นค่าความดันตาปกติ  จะได้ ‘ ค่าความดันตาปกติคือ 20.5  มม.องประชากรปกติจะได้ 20.5 มมปรอท ค่าเฉลี่ยพบว่าเป็น 15.5 + - 2.07 มมปรอท หากคิดค่า ถ้าใครสูงกว่าค่ามาตรฐาน ถือว่ามีค่าความดันตปรอท’   

*ดังนั้น ทางการแพทย์จึงถือเอาค่า “*ความดันตา 21 มม. ปรอท เป็นค่าความดันตาปกติ*” และหาก “*ความดันตาสูงกว่า 21 มม. ปรอท* ถือเป็น “ความดันตาสูง หรือ Ocular hypertension”  

ทั้งนี้ การวัดความดันตา เป็นหัตการที่ไม่ยุ่งยาก สามารถตรวจวัดได้ที่ห้องตรวจตาผู้ป่วยนอก ด้วยเครื่องตรวจวัดที่เรียกว่า “เครื่อง Tonometer” ซึ่งจะใช้เวลาตรวจวัดประมาณ 5-10 นาที และในการตรวจวัดฯนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าแต่อย่างใด

การวินิจฉัยภาวะความดันตาสูง

 

เพื่อมิให้สับสนกับภาวะต้อหิน  เพราะความดันตาสูงกับต้อหินไม่ใช่ภาวะ/โรคเดียวกัน จึงขอแยกแบ่งกันให้ชัดเจนว่า ทั่วไปการจะวินิจฉัยว่า “ความดันตาสูง” ควรประกอบด้วย

  • มีค่าความดันตามากกว่า 21 มม.ปรอท ในการวัดอย่างน้อย ตั้งแต่ 2 ครั้ง หรือมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป
  • มีมุมตา (มุมที่เกิดจากม่านตาพบกับกระจกตา) เปิดกว้าง (Open angle)
  • มีลานสายตาปกติ
  • การตรวจขั้วประสาทตา พบรอยหวำ/บุ๋มที่ขั้วประสาทตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ บุ๋มน้อยกว่า 0.5 DD/Disc diameter (Cupping น้อยกว่า 0.5 DD) โดยเฉพาะในแนวดิ่ง (Vertical cup) และหากสามารถตรวจนับจำนวนเส้นประสาทตา(Nerve fibre layer) ด้วยเครื่องตรวจที่เรียกว่า OCT(Optical coherence tomography) พบว่า มีค่าปกติ
  • ตรวจไม่พบสาเหตุของการเพิ่มความดันตาที่ชัดเจน เช่น ไม่มีการอักเสบภายในลูกตา (Anterior uveitis), ไม่มีประวัติอุบัติเหตุที่ลูกตา, ตลอดจนไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่บริเวณม่านตา (Iris neovascularization), เป็นต้น

ส่วนเรื่องโรคต้อหินที่รวมถึง สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา ฯลฯ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความ 3 เรื่อง คือ ต้อหิน, ต้อหินเฉียบพลัน, และ ต้อหินเรื้อรัง

ความดันตาสูงมีอาการอย่างไร?

ความดันตาที่สูงจากปกติ มักจะสูงไม่มาก ถ้าสูงมาก มักจะเป็นลักษณะของโรคต้อหินมุมเปิดที่มีการสูญเสียเส้นประสาทตา (มีจำนวน Nerve fibre layer ลดลงชัดเจน) มีความผิดปกติของลานสายตาชัดเจน 

ผู้ป่วยความดันตาสูงมักจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร  เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญส่วนมากเป็นการตรวจพบจากการตรวจคัดกรอง (Screening) หาภาวะต้อหินในคนวัยกลางคนที่มารับการตรวจสุขภาพตาประจำปี

แต่มีบางรายเป็นส่วนน้อย อาจมีอาการปวดเมื่อยตาเป็นครั้งคราว และโดยทั่วไป สายตาผู้ป่วยมักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ความดันตาสูงพบบ่อยแค่ไหน? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มีผู้ศึกษาในประชากรที่อายุ 40 ปีขึ้นไป พบเป็นต้อหินมุมเปิดชนิดมีความดันตาสูงได้ประมาณ 1 %, เป็นต้อหินมุมเปิดที่มีความดันตาปกติประมาณ 1%, และประมาณ 4% - 10 % พบเป็นภาวะความดันตาสูง,  หรือนัยหนึ่งผู้ที่มีความดันตาสูงเฉยๆ พบได้เป็น 8 เท่าของผู้ป่วยต้อหินมุมเปิด

การพยากรณ์โรคของภาวะความดันตาสูง:

มีการศึกษาพบว่าในจำนวนผู้มีความดันตาสูงเพียงอาการแสดงอย่างเดียว หากติดตามผู้ป่วยไปเรื่อยๆ จะพบกลายเป็นต้อหิน คือ มีขั้วประสาทตา และมีลานสายตาผิดปกติได้ในอัตรา 0.5 – 1 % ต่อปี 

และมีผู้ศึกษา โดยแบ่งผู้ป่วยความดันตาสูงออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ยาลดความดันตา, อีกกลุ่มไม่รักษา, ติดตามผู้ป่วยทั้ง 2กลุ่มนี้ไปเป็นเวลานาน 5 ปี พบว่า

  • ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่ได้รับการรักษา กลายเป็นต้อหินชัดเจน มีการสูญเสียลานสายตาแบบต้อหินประมาณ 4.4 % อีกประมาณ 95 % ตายังปกติดี 
  • ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา กลายเป็นต้อหินประมาณ 9.5 % หรือผู้ได้รับการรักษา กลายเป็นต้อหินน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง 

ซึ่งจากการศึกษานี้ จึงนำมาซึ่งการถกเถียงกันว่า แล้วเราควรจะรักษาผู้ที่มีความดันตาสูงทุกรายหรือไม่,  มีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องรักษา, เพราะมีผู้ป่วยความดันตาสูงหลายเปอร์เซ็นต์ที่ไม่กลายเป็นต้อหิน  และการให้ยารักษาทันที เป็นการเพิ่มภาระของผู้ป่วย อีกทั้งเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยา, แต่ถ้าไม่รักษา รอให้มีลานสายตาผิดปกติก่อน ย่อมจะทำให้ผู้ป่วยมีการสูญเสียลานสายตาไปบางส่วน ซึ่งจะคุ้มกันหรือไม่

ควรให้การรักษาความดันตาสูงทันทีในผู้ป่วยกลุ่มใด?

จากการศึกษาจากหลายๆ สถาบันทางการแพทย์ด้านโรคตา (Multi eye center study) ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินในผู้ป่วยที่มีความดันตาสูง ซึ่งเป็นรายงานและข้อแนะนำจาก “Asia Pacific glaucoma guidelines” พบว่าผู้ป่วยความดันตาสูงที่มีโอกาสเกิดต้อหินและสมควรให้การรักษาทันที ได้แก่

  • มีความดันตาสูงมากกว่า 26 มม.ปรอท ขึ้นไป
  • อายุมาก ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • มีกระจกตาบาง (บางกว่า 550 micron)
  • หลุมที่ขั้วประสาทตาในแนวตั้งกว้างมาก (Large vertical cupping)
  • ตรวจ ลานสายตา พบค่าของ Pattern standard deviation สูง
  • มีเลือดออกซ้ำในขั้วประสาทตา (Recurrent optic disc haemorrage)
  • มีปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นต้อหิน เช่น มีประวัติต้อหินในครอบครัว ควรนำมาพิจารณาด้วย
  • ปัจจัยอื่นๆ: เช่น เป็น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, และโรคหลอดเลือด, ซึ่งปัจจัยในข้อนี้ แพทย์บางท่าน นำเข้ามาช่วยตัดสินใจในการให้การรักษาด้วย แม้มีบางรายงาน ไม่พบว่าโรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดต้อหินก็ตาม

รักษาความดันตาสูงอย่างไร?

ผู้ที่มีความดันตาสูง แพทย์อาจให้การดูแลรักษาแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายตามปัจจัยเสี่ยงการเกิดต้อหิน ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษา ซึ่งแนวทางการดูแลรักษาโดยทั่วไป ได้แก่

  • ติดตามดูอาการ ยังไม่ต้องให้ยาลดความดันตา  โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต้อหิน  แต่ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจตาเป็นระยะๆจากจักษุแพทย์ หากพบความผิดปกติ จักษุแพทย์จึงจะให้ยารักษาทันที  หากเลือกวิธีนี้ ผู้ป่วยอาจต้องมีการสูญเสียลานสายตาบางส่วน ซึ่งอาจมีการสูญเสียไปมาก ในผู้ป่วยที่ไม่มาตรวจตาตามจักษุแพทย์นัดหมาย
  • ลดความดันตาลง โดยให้ยาหยอดตาลดความดันตาเหมือนผู้ป่วยโรคต้อหินมุมเปิดทั่วไป  โดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต้อหิน  หรือผู้ป่วยที่ต้องการรักษาแม้ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ด้วยเหตุที่มีการศึกษาหลายการศึกษาที่ว่า ในผู้ป่วยกลุ่ม ที่มีลานสายตาเสียให้เห็นชัดจากการตรวจตานั้น แสดงว่าประสาทตามักจะเสียไปมากพอสมควรแล้ว  ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ คงต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อยา  ค่าตรวจตา  และต้องยอมรับผลข้างเคียงของยาหยอดตาที่ใช้รักษา ซึ่งมักเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อาการแสบตา ตาแดง ตาแห้ง หลังหยอดยา, อีกทั้งมีผลทางด้านจิตใจ, หากเป็นผู้สูงอายุอาจต้องเป็นภาระญาติในการพามาตรวจ, หรือผู้ป่วยบางรายต้องมีผู้ดูแลคอยหยอดยาให้

สาเหตุที่เลือกลดความดันตาด้วยการใช้ยา

สาเหตุที่เลือกลดความดันตาด้วยการใช้ยาหยอดตา เช่น

  • สะดวกสำหรับผู้ป่วย หาซื้อยาฯง่าย และโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาฯน้อยกว่า การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ หรือวิธีผ่าตัด
  • ยาฯที่ใช้ มักจะลดความดันตาได้ดีในผู้ป่วยส่วนมาก
    • เนื่องจากความดันตาที่แพทย์ต้องการลด สูงไม่มากนัก (เพราะความดันตามักจะไม่สูงมาก)  ยาฯเกือบทุกตัวให้ผลลดความดันตาลงประมาณ 20 %  ตรงกับความดันตาเป้าหมายในการรักษา (Target IOP/Target intraocular pressure) ที่แพทย์ต้องการในผู้ป่วยที่เป็นเพียงความดันตาสูง หรือ ต้อหินมุมเปิดที่ยังไม่รุนแรง

ยาหยอดตาที่ใช้ลดความดันตา

ยาหยอดตาลดความดันตา ทั่วไปแบ่งเป็น

  • ยาลดความดันตาโดยการเพิ่มการไหลออกจากจอตาของสารน้ำในตา/Aqueous ที่เรียกว่า การเพิ่ม Outflow: ยาในกลุ่มนี้ เช่น ยา Prostaglandin, 2 Adrenergic agonist (Alphagan), Cholinergic (Pilocarpine)
  • ยาลดการสร้าง Aqueous:  เช่น ยา  Beta – adrenergic antagonist (Timolol), ยา Carbonic anhydrase inhibitor (Azopt) เป็นต้น

มีวิธีเลือกใช้ยาหยอดตาอย่างไร?

วิธีเลือกใช้ยาหยอดตาเพื่อบำบัดรักษาภาวะความดันตาสูง โดยดูเป็นปัจจัยต่างๆ  เช่น

  • ราคายาฯ
  • จำนวนครั้งที่ต้องหยอดยาต่อวัน เนื่องจากฤทธิ์ของยาฯอยู่นานต่างกัน  ถ้าหยอดหลายครั้งอาจไม่สะดวก
  • ผลการลดความดันตา ลดได้มากน้อย อย่างไร
  • มีผลข้างเคียงของยาฯน้อย  หยอดตาแล้วสบายตากว่า,  และต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงในด้านร่างกายทั่วไปด้วย เช่น ผู้ป่วยมี  โรคหืด  หรือโรคหัวใจรุนแรง จะห้ามใช้ยาในกลุ่ม Beta – adrenergic antagonist (Timolol)  เพราะยาหยอดตาอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบเหนื่อยรุนแรงขึ้น เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-ocular-hypertension   [2023,March 4]