เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- โดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สมภพ พระธานี
- 28 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- สาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากอะไร?
- อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด?
- เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีวิธีวินิจฉัยอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด?
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีวิธีการรักษาอย่างไร?
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีวิธีดูแลตนเองและป้องกันอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- ไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease: Ballooning and bypass)
- ชีพจร หรือ อัตราการเต้นของหัวใจ (Pulse)
- ยาโรคหัวใจ หรือ ยารักษาโรคหัวใจ (Cardiac Medications)
บทนำ
โรค/ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจ(Angina Pectoris) คือเมื่อเกิดปัญหาการนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดอาการของการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ที่แสดงออกเป็นอาการเจ็บหน้าอกหรือปวดหน้าอก ที่เรียกในภาษาไทยได้หลากหลาย เช่น เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด, อาการปวดเค้นหัวใจ, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หรือหัวใจขาดเลือด ซึ่งทั้งหมดตรงกับภาษาอังกฤษว่า Angina pectoris หรือ Angina
ในปีพ.ศ. 2553 มีการศึกษาที่รายงานสถิติการเกิดภาวะ/โรคนี้ในประชาคมโลก โดยพบเป็นประมาณ 1.6% ของประชากรโลก พบในผู้ชาย (1.7%) สูงกว่าในผู้หญิง (1.5%) เล็กน้อย ส่วนในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขพบอัตราเสียชีวิต (คิดเป็นต่อประชากร 1 แสนคน) ในโรคหัวใจขาดเลือด ในผู้ชาย 24.6 ราย และในผู้หญิง 16.5 ราย
สาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากอะไร?
สาเหตุสำคัญของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ จากหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากการเสื่อมสภาพจาก ภาวะสูงอายุ, ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง/ความดันเลือดสูง, โรค เบาหวาน, กรรมพันธุ์ เป็นต้น
อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร?
อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจ ที่พบได้บ่อย คือ ส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอก/หรือเจ็บแน่น/หรือปวดแน่นตรงกลางอกเหนือลิ้นปี่ แน่นหนักเหมือนมีอะไรกดทับหรือบีบ บางครั้งมีอาการแสบร้อน อาการดังกล่าวอาจลุกลามไปด้านหลัง, คอ, ไหล่ หรือคาง หรือต้นแขน โดยทั่วไปมักมีอาการอยู่นานประมาณ 5 นาที แต่อาจน้อยหรือนานกว่านี้ได้
ลักษณะเฉพาะอีกประการคือ ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหรือมักจะเกิดอาการตอนใช้กำลัง/ออกแรง หรือมีความเครียดมากๆ หรือบางครั้งมีอาการหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือตอนอากาศเย็นมากๆ (บางคนอาจพบตอนอากาศร้อนมากๆ) หรือ ช่วงสูบบุหรี่
อาการปวด แน่น เจ็บ หน้าอก จะทำให้รู้สึกหายใจลำบาก เหงื่อไหล บางคนมีอาการคลื่น ไส้ร่วมด้วย และอาการจะรุนแรงหากการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจมีมาก
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด?
ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจที่สำคัญ คือ
- สูบบุหรี่
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคความดันเลือดสูง
- บุคคลที่ทำงานมีความเครียดสูง
- ผู้มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว
- ผู้สูงอายุ (ผู้ชายมากกว่า 55 ปี, ผู้หญิงมากกว่า 65 ปี)
- โรคอ้วน (Body mass index หรือ BMI/ดัชนีมวลกายมากกว่า 30)
- โรคไตเรื้อรัง
- บุคคลที่ขาดการออกกำลังกาย
- มีโรคเครียด
เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีวิธีวินิจฉัยอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจได้จาก
- ประวัติการมีอาการดังข้างต้นในหัวข้ออาการ ประกอบกับเกิดอาการขณะเครียด หรือใช้กำลัง/ออกแรง เกิดหลังรับประทานอาหาร หรือถูกอากาศเย็น/ร้อนจัด
- ประวัติอาการที่ ถ้ารับประทานยารักษาโรคกระเพาะอาหาร เช่น ยาลดกรด อาการจะไม่ดีขึ้น แต่ถ้าอมยาขยายหลอดเลือดหัวใจ อาการจะดีขึ้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็สามารถช่วยยืนยันข้อสงสัยได้ หากไม่แน่ใจแพทย์อาจให้วิ่งสายพานเพื่อให้หัวใจทำงานมากขึ้น แล้วจึงตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อยืนยัน
- การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจหัวใจด้วยเครื่องคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง/เอคโคหัวใจ (Echo cardiography) และการฉีดสี/สารทึบแสง ดูหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี (Coronary angiography) จะยืนยันอย่างแน่ชัดว่ามีภาวะ/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เป็นสาเหตุให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด?
เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกและสงสัยจะเป็นอาการจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจควรปฏิบัติตน/ดูแลตนเอง ดังนี้
- ควรนอนราบ แล้วให้ญาติติดต่อรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669/ใช้ ได้ทั่วประเทศ (สถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ/สพฉ. กระทรวงสาธารณสุข, ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง)
- หากมียาขยายหลอดเลือดหัวใจ รีบให้รับประทาน หรืออม หรือพ่นในช่องปาก แล้วแต่ว่ามียาชนิดใด
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีวิธีการรักษาอย่างไร?
หากให้การวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กล่าวในหัวข้อ การวินิจฉัย แล้วยืนยันว่าเป็นโรค/ภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจจริง มีทางเลือกในการรักษาต่างๆดังนี้
- รักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ (เช่น ยาในกลุ่ม ACE inhibitor, Calcium channel blocker, Beta blocker), ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น Aspirin) เป็นต้น
- รักษาด้วยสายสวนบอลลูน (Balloon) และ/หรือ ใส่ขดลวด (Stent)
- รักษาด้วยการผ่าตัดบายพาส (By pass) หลอดเลือดหัวใจ
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ
ทั้งนี้ แพทย์ผู้รักษาจะให้ข้อมูลในเรื่อง ข้อดี ข้อเสีย ค่าใช้จ่ายของแต่ละวิธี กับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจมีการพยากรณ์โรคแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย เพราะขึ้นกับหลาย ปัจจัยที่สำคัญคือ
- ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
- ความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือดหัวใจ
- ตำแหน่งของหลอดเลือดหัวใจที่เกิดการตีบ
- มีโรคหัวใจ (โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด/ โรคหัวใจ2)อื่นๆร่วมด้วยหรือไม่
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้ดีหรือไม่
- หยุดบุหรี่ได้หรือไม่
- อายุที่มากขึ้นและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่เริ่มมีอาการหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ตลอดจนมีการรักษาที่ทันท่วงที จะช่วยให้ยืดอายุผู้ป่วยได้นับสิบปี
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีวิธีดูแลตนเองและป้องกันอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจ จะเช่นเดียวกับวิธีป้องกันการเกิดกล้าม เนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งที่สำคัญได้แก่
การลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- ระวังควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที/วัน ทุกวัน
- ไม่สูบบุหรี่
- ระวังรับประทานอาหารไขมันให้เหมาะสม
- บริหารความเครียด
- รักษาควบคุม โรคเบาหวาน โรคความดันสูง/ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง อย่างเคร่งครัด (อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละโรค แต่ละบทความ ได้ในเว็บ haamor.com)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ ความแก่, กรรม พันธุ์ ดังนั้นโรค/ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เราทุกคนก็ยังมีโอกาสประสบด้วยตนเองอยู่ดี แต่การป้องกันโดยลดปัจจัยเสี่ยงก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และหากมีอาการของโรค แต่มีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ตลอดจนมีการรักษาที่ทันท่วงที จะช่วยให้ยืดอายุผู้ป่วยได้นับสิบปี
บรรณานุกรม
1. https://en.wikipedia.org/wiki/Angina [2020,Nov28]