ยาโรคหัวใจ หรือ ยารักษาโรคหัวใจ (Cardiac Medications)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาโรคหัวใจคืออะไร?

ยาโรคหัวใจ/ยารักษาโรคหัวใจ(Cardiac medication หรือ Heart medication หรือ Heart drug) คือ ยาใช้บรรเทาอาการแสดงต่างๆของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก  หอบเหนื่อย และ/หรือ บวมน้ำ

เนื่องจากโรคหัวใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไม่หายขาด ผู้ป่วยมักต้องรับประทานยาโรคหัวใจตลอดชีวิตอย่างสม่ำเสมอ และต้องใช้ยาโรคหัวใจและ/หรือยาอื่นๆหลายชนิดร่วมกันเพื่อ ควบคุมอาการจากโรคหัวใจ, เพื่อให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ชะลอการดำเนินไปตามธรรมชาติของโรคและความรุนแรงของโรคหัวใจฯ,  ป้องกันอาการแทรกซ้อนจาก ภาวะไขมันในเลือดสูง  โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต,  เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล, และลดอัตราตายจากโรคหัวใจฯและจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจฯ

ยาโรคหัวใจแบ่งยาเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาโรคหัวใจ

ยาโรคหัวใจ/ยารักษาโรคหัวใจ แบ่งออกเป็นประเภท/กลุ่มต่างๆ ดังนี้

  1. ยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulants): เช่นยา ไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban), ดาบิกาแทรน (Dabigatran), อะพิซาแบน (Apixaban), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน(Warfarin)
  2. ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets): เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ไดไพริดาโมล (Dipyridamole), ปราซูเกรล (Prasugrel), ทิก้ากรีลอ (Ticagrelor)
  3. ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวิทติ้ง (Angiotensin converting enzyme inhibitors ย่อว่า ACE inhibitors หรือ ACEIs): เช่นยา  บีนาซีพริล (Benazepril), แคปโตพริล (Captopril), อีนาลาพริล (Enalapril), โฟซิโนพริล (Fosinopril), ไลซิโนพริล (Lisinopril), เพอรินโดพริล (Perindopril), ควินาพริล (Quinapril), รามิพริล (Ramipril)
  4. ยาที่ใช้ขัดขวางการจับของแอนจิโอเทนซินทูกับตัวรับ (Angiotensin II receptor blockers ย่อว่า ARBs): เช่นยา แคนดิซาร์แทน (Candesartan), อิโพรซาร์แทน (Eprosartan), เออร์บีซาร์แทน (Irbesartan), ลอซาร์แทน (Losartan), เทลมิซาร์แทน (Telmisartan), วาลซาร์แทน (Valsartan)
  5. ยาปิดกั้นการทำงานของตัวรับเบต้า (Beta blockers): เช่นยา อะซีบูโทลอล (Acebutolol), อะทีโนลอล (Atenolol), เบต้าโซลอล (Betaxolol), ไบโซโปรลอล (Bisoprolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol), นาโดลอล (Nadolol), โพรพราโนลอล (Propranolol), โซทาลอล (Sotalol)
  6. ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers): เช่นยา แอมโลดิปีน (Amlodipine), ดิลไทอาเซม (Diltiazem), ฟิโลดิปีน (Felodipine), ไนเฟดิปีน (Nifedipine), ไนโมดิปีน (Nimodipine), ไนซอลดิปีน (Nisoldipine), เวอราปามิล (Verapamil)
  7. ยาลดไขมัน (Cholesterol-lowering medications): เช่นยา ซิมวาสแตติน (Simvastatin), อะโทรวาสแตติน (Atorvastatin), โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin), โลวาสแตติน (Lovastatin)
  8. ยาดิจิทาลิส (Digitalis Preparations): เช่นยา ดิจ๊อกซิน (Digoxin)
  9. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics): เช่นยา อะมิโลไรด์ (Amiloride), บูมีทาไนด์ (Bumetanide), คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide), คลอธาลิโดน (Chlorthalidone), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydro-chlorothiazide), อินดาพาไมด์ (Indapamide), สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone)
  10. ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators): เช่นยา ไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate), ไฮดราลาซีน (Hydralazine), ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin), ไมน็อกซิดิล (Minoxidil), โซเดียมไนโตรพลัสไซด์ (Sodium nitroprusside)

ยาโรคหัวใจมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาโรคหัวใจมีรูปแบบจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาอิลิกเซอร์ (Elixir)
  • ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual Tablet)
  • สเปรย์พ่นใต้ลิ้น (Lingual Spray)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)

อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม

มีข้อบ่งใช้ยาโรคหัวใจอย่างอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาโรคหัวใจ   เช่น

  1. บรรเทาอาการต่างๆจากภาวะหัวใจล้มเหลว  
  2. บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
  3. บรรเทาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  4. ป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  5. ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  
  6. ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจและในหลอดเลือด
  7. ป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด และ/หรือในหัวใจ
  8. ลดความดันโลหิต
  9. ลดภาวะบวมน้ำ

มีข้อห้ามใช้ยาโรคหัวใจอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาโรคหัวใจ  เช่น   

  1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
  2. ห้ามใช้ยากลุ่ม Anticoagulants และกลุ่ม Antiplatelets ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออก เช่น เลือดแข็งตัวช้า ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ และมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Beta blockers ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถบีบตัวได้ตามปกติ (Systolic dysfunction) ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก (Intensive care unit, ICU) ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจอย่างรุนแรง มีภาวะบวมน้ำ เป็นโรคหืด มีความดันโลหิตต่ำ และมีหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
  4. ห้ามใช้ยา Digoxin ในกรณีที่หัวใจมีการคลายตัวผิดปกติ, หัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (Ventricular fibrillation, VF), หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (AV block)
  5. ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่ มีความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะขาดน้ำ (Hypovolemia)

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคหัวใจอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคหัวใจ   เช่น    

  1. การใช้ยาอมใต้ลิ้น ให้ผู้ป่วยอมยา 1 เม็ดไว้ใต้ลิ้น โดยปล่อยให้ยาละลายจนหมด ห้ามเคี้ยว ห้ามกลืนทั้งเม็ด ห้ามบ้วน หรือกลืนน้ำลาย นอกจากนี้ อาจอมยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการทางโรคหัวใจ(ตามแพทย์แนะนำ)ประมาณ 5-10 นาที ก่อนประกอบกิจกรรมที่คาดว่าจะทำให้มีอาการทางโรคหัวใจ
  2. ยา Digoxin และ ยา Warfarin เป็นยาที่มีช่วง Therapeutic index แคบ (ขนาดของยาที่ให้ผลการรักษา และขนาดของยาที่ทำให้เกิดอันตราย/ผลข้างเคียงใกล้เคียงกัน) ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาเหล่านี้อย่างเคร่งครัด หากลืมรับประทานยาเหล่านี้ภายใน 12 ชั่วโมงจากที่กำหนด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าเกิน 12 ชั่วโมงให้ข้ามยามื้อนั้นไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา หากผู้ป่วยลืมรับประทานยามากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะอาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ยา
  3. ไม่ควรหยุดใช้ยากลุ่ม Beta blockers ทันทีหลังจากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้  ดังนั้นจึงควรค่อยๆลดขนาดยานี้ลงตามแพทย์แนะนำก่อนที่จะหยุดยานี้
  4. ยา Digoxin เป็นยาที่ถูกทำลายได้โดยแบคทีเรียในลำไส้ จึงควรระวังการรับประทานยานี้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ เพราะยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ให้เหลือน้อยลง จึงอาจทำให้เกิดเพิ่มการสะสมยา Digoxin ในร่างกายจนอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
  5. ระวังการใช้ยากลุ่ม ACE Inhibitors และ ARBs ร่วมกับยา Spironolactone เพราะอาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ และระวังการใช้ยา 2 กลุ่มดังกล่าวในผู้ป่วยที่การทำงานของไตบกพร่อง หรือมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
  6. ระวังการใช้ยาขยายหลอดเลือดร่วมกับยากลุ่ม Phosphodiesterase-5 (PDE-5) Inhibitors เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไป

การใช้ยาโรคหัวใจในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

หากผู้ป่วยโรคหัวใจ เกิดการตั้งครรภ์ก็ยังคงต้องใช้ยาโรคหัวใจเพื่อคุมอาการโรคหัวใจ และเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์  นอกจากนี้ ต้องดูประวัติยาเดิมที่ป่วยเคยได้รับ เพราะยาบางกลุ่มอาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ซึ่งห้ามใช้ในขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น  ยากลุ่ม ACE Inhibitors และยากลุ่ม ARBs

ยาโรคหัวใจที่ควรเลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ ยาที่มีการใช้กันมานานแล้ว เพราะจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ เช่น ยากลุ่ม Beta blockers (ที่ควรเลือกใช้ เช่นยา Labetalol, Propanolol, Metoprolol),   ยากลุ่ม Calcium channel blockers (ที่ควรเลือกใช้ เช่นยา Nifedipine, Verapamil)  แต่หากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม Anticoagulants ควรเลือกใช้ยา Heparin โดยตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Warfarin เพราะควบคุมระดับยานี้ในเลือดได้ยาก และเสี่ยงต่อการทำให้ทารกในครรภ์พิการ และ/หรือเกิดเลือดออกมากผิดปกติในทารกฯ และ/หรือในมารดาได้

การใช้ยาโรคหัวใจในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

โรคหัวใจเป็นโรคที่พบมากและมีความรุนแรงในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ ยาโรคหัวใจที่เลือกใช้เป็นยาหลักในผู้สูงอายุ ได้แก่ ยากลุ่ม ACE Inhibitors และยากลุ่ม Beta blockers  เช่นยา Carvedilol,  Metoprolol,  Bisoprolol   โดยควรเริ่มจากขนาดยาน้อยๆ แล้วจึงค่อยปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น เพื่อเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยานั้นๆ    ยาโรคหัวใจอื่นๆที่มีการใช้ในผู้ป่วยสูงอายุ เช่น  ยากลุ่ม ARBs, Digoxin, Hydralazine, Isosorbide dinitrate และยาขับปัสสาวะ

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาโรคหัวใจ ซึ่งที่พบได้มากในผู้สูงอายุ คือ ภาวะความดันโลหิตตก/ต่ำเนื่องจากเปลี่ยนอิริยาบถอย่างฉับพลัน(ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน) ดังนั้น จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นจากเก้าอี้หรือจากเตียงช้าๆ เพราะอาจทำให้หน้ามืด/เป็นลมได้

การใช้ยาโรคหัวใจในเด็กควรเป็นอย่างไร?

เด็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดได้ โดยอาจตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือหลังจากนั้น ผู้ปกครองต้องเข้าใจถึงพยาธิสภาพของโรค ดูแลการกินยาโรคหัวใจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน รวมทั้งพาผู้ป่วยเด็กไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง

ยารักษาโรคหัวใจที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก เช่น  Digoxin, ยาขยายหลอดเลือด (เช่นยา  Sodium nitroprusside และ Nitroglycerin), ยากลุ่ม ACE Inhibitors (เช่นยา Captopril และ Enalapril),  ยาอื่นๆที่ยังมีการศึกษาน้อยและมีข้อมูลการใช้ไม่เพียงพอในผู้ป่วยเด็ก ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers และยากลุ่ม ARBs เป็นต้น

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาโรคหัวใจ เช่น

  1. ยากลุ่ม Anticoagulants และกลุ่ม Antiplatelets: เช่น อาจทำให้มีเลือดออกง่ายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย  เกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติ โดยมีจ้ำเลือด/ห้อเลือดใต้ผิวหนัง  มีเลือดออกที่ตาขาว/เลือดออกใต้เยื่อตา   อุจจาระเป็นเลือด    ปัสสาวะเป็นเลือด   เลือดออกตามไรฟัน/เลือดออกที่เหงือก   ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  2. ยากลุ่ม ACE Inhitors: ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดอาการไอแห้งๆ อาการอื่นๆ  เช่น  ความดันโลหิตต่ำ  การรับรสเปลี่ยนไป  ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
  3. ยากลุ่ม ARBs: มีอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกันกับยากลุ่ม ACE Inhibitors ยกเว้นไม่มีอาการไอแห้งๆ
  4. ยากลุ่ม Beta blockers: อาจทำให้เกิดภาวะความดันต่ำได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ครั้งแรก หรือมีการปรับขนาดยาเพิ่ม   อาการอื่นๆ  เช่น หัวใจเต้นช้า  มึนงง  เหนื่อยล้า  อ่อนแรง  ภาวะบวมน้ำ และน้ำตาลในเลือดสูง
  5. ยากลุ่ม Calcium channel blockers: อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ  บวมที่อวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเท้าหรือเท้า  การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป
  6. ยา Digoxin: อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน  ปวดท้อง  ท้องเสีย เหนื่อยล้า มึนงง สับสน ปวดหัว  บ้านหมุน การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น เห็นแสงวูบวาบ  ภาพ/ตาพร่ามัว  การมองภาพเห็นสีเปลี่ยนไป เช่นเห็นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว เมื่อยล้า  และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  7. ยาขับปัสสาวะ: อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ ในร่างกาย (Electrolyte imbalance), ยา Furosemide อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เป็นพิษต่อหู โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นถ้าใช้ร่วมกับยาที่มีโอกาสเกิดพิษต่อหูได้เช่นกัน คือ ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Aminoglycosides,   นอกจากนี้  ยา Spironolactone อาจทำให้เกิดภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia)
  8. ยาขยายหลอดเลือด: อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ  หน้าแดง หมดสติ ปวดหัว  ใจสั่น  หัวใจเต้นเร็ว อ่อนแรง
  9. ยาลดไขมัน: อาจทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ค่าน้ำตาลในเลือดสูง ตับอักเสบ(พบได้น้อย)  สับสนและมีปัญหาด้านความจำ(พบได้น้อย)

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”  ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโรคหัวใจ)  ยาแผนโบราญทุกชนิด  อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ   เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ    ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน  

บรรณานุกรม

  1. สุรีย์ เจียรณ์มงคล. ยาที่ใช้ในโรคหัวใจล้มเหลว. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, (อัดสำเนา)
  2. วรการ พรหมพันธุ์ และสมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ. Supporting The Failing Heart.  http://www.doctordek.com/index.php/ความรู้โรคหัวใจในเด็ก/เรื่องทั่วไปควรรู้/ 550-supporting-the-failing-heart404  [2022,May14]
  3. Saxena S. Drug Therapy of Cardiac Disease in Children. Indian Pediatrics 46. (April 2009):310–338
  4. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007
  5. https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/treatment-of-a-heart-attack/cardiac-medications#.V-juYNSLTeg [2022,May14]
  6. https://www.medscape.com/viewarticle/460844_3 [2022,May14]
  7. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/in-depth/statin-side-effects/art-20046013 [2022,May14]