ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไฮดรอกไซซีนอย่างไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไฮดรอกไซซีนอย่างไร?
- ไฮดรอกไซซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ลมพิษ (Urticaria)
- ยาแก้เมารถ เมาเรือ (Motion sickness medications)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) คือ ยาที่มักนำมาใช้รักษาอาการ ผื่นคัน, ลมพิษ, เมารถเมาเรือ, บางกรณียังถูกนำมาบำบัดอาการวิตกกังวลระดับที่ไม่รุนแรง, ยานี้อยู่ในกลุ่มยาต้านสารฮิสตามีน /ยาแก้แพ้ (Antihistamine) รุ่นที่ 1, ถูกสังเคราะห์เมื่อปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499), ทำการตลาดและวางจำหน่ายโดยบริษัท Pfizer ภายในปีเดียวกัน, ทางคลินิกมีการใช้ยานี้ สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ก่อนการใช้ยานี้ผู้บริโภคควรทราบข้อมูลบางประการของยาตัวนี้ เช่น
- ไม่ควรใช้กับผู้ที่แพ้ยาไฮดรอกไซซีน
- ไม่ควรใช้ยานี้กับ สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะขณะใช้ยานี้ ด้วยยาไฮดรอกไซซีนมีฤทธิ์สงบประสาท/ยาคลายเครียดและทำให้ง่วงนอน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติ โรคลมชัก โรคไต โรคตับ โรคหืด โรคต้อหิน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ และโรคต่อมลูกหมากโต
- *หากใช้ยานี้แล้วมีอาการ ตัวสั่น รู้สึกสับสน เกิดอาการของลมชัก กล้ามเนื้อในลิ้น-ที่กราม หรือที่คอมีอาการกระตุก, *ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- การรับประทานยานี้พร้อมสุราจะทำให้อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาเกิดมากกว่าปกติ
- ผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
ทั้งนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบมากและใช้กันบ่อยของยานี้ ได้แก่ ยาชนิดรับประทาน, ตัวยาสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร, และออกฤทธิ์ภายในประมาณ 15 - 30 นาทีหลังรับประทาน, ระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 1 - 12 ชั่วโมงขึ้นกับอาการโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย, เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 93%, และถูกส่งไปเผาผลาญหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีที่ตับ, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 - 24 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งในกระแสเลือด, โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
เคยมีการทดลองใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งท้องพบว่า ตัวยานี้ก่อให้เกิดอันตรายกับตัวอ่อนของสัตว์ทดลองดังกล่าว, *ทางคลินิกจึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาไฮดรอกไซซีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ, โดยมีรูปแบบการใช้เป็นชนิดรับประทานแบบเม็ดและยาน้ำเชื่อม
ยาไฮดรอกไซซีนจัดอยู่ในหมวดหมู่ของยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยานี้ของผู้บริโภคจึงควรใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
ไฮดรอกไซซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ไฮดรอกไซซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการผื่นคันของผิวหนังและลมพิษอันมีสาเหตุมาจากสารฮิสตามีน
- บรรเทาอาการวิตกกังวล, ช่วยผ่อนคลายลดความตึงเครียด, รวมถึงบางกรณีของอาการวิตกกังวลระดับไม่รุนแรงที่เกิดในผู้มีอาการถอนยา/ลงแดงจากสุรา/ยาเสพติด
- บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
ไฮดรอกไซซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮดรอกไซซีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้ายับยั้งการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่ถูกเรียกว่า ‘Histamine H1-receptor’ ซึ่งพบในระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือด อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ช่วยสงบประสาท/คลายเครียด ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้หลอดลมมีการขยายตัว ลดและบรรเทาอาการอาเจียน รวมถึงบรรเทาอาการปวดได้ด้วย จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ไฮดรอกไซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฮดรอกไซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ไฮดรอกไซซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไฮดรอกไซซีนมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดของ อาการ, อายุของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. สำหรับอาการ ผื่นคัน ลมพิษ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม, วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน,โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง
ข. สำหรับบรรเทาอาการวิตกกังวล: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัม, วันละ 4 ครั้ง
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน,โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง
*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮดรอกไซซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮดรอกไซซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือ รก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไฮดรอกไซซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไฮดรอกไซซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไฮดรอกไซซีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- มีอาการง่วงนอนตั้งแต่ระดับต่ำๆไปจนถึงระดับกลางๆ
- ปวดหัว
- อ่อนเพลีย
- อาจพบอาการซึมเศร้า
- กระสับกระส่าย
- ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการตัวสั่น
- ภาวะชักกระตุก
- ปากคอแห้ง
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- มีสารคัดหลั่งออกมามากในระบบทางเดินหายใจ
- อาจพบภาวะหลอดลมเกร็งตัว
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ตัวบวม
- บางกรณีกับผู้ป่วยบางรายยานี้อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นคันเสียเอง
- ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
- ปัสสาวะขัด
- ตาพร่า
มีข้อควรระวังการใช้ไฮดรอกไซซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮดรอกไซซีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่แพ้อนุพันธุ์ของยา Piperazine , ผู้ที่แพ้ยา Cetirizine, และ Aminophylline
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหาร-ลำไส้เคลื่อนตัว/บีบตัวได้น้อย ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุ
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร จากการง่วงนอนจากผลข้างเคียงของยานี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮดรอกไซซีน) ยาแผนโบราณ สมุนไพรต่างๆ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไฮดรอกไซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไฮดรอกไซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไฮดรอกไซซีน ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ของยาไฮดรอกไซซีนมากยิ่งขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไฮดรอกไซซีน ร่วมกับยา Amiodarone, Moxifloxacin, Sotalol, Clozapine สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยจนถึงขั้นตายได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาไฮดรอกไซซีน
- การใช้ยาไฮดรอกไซซีน ร่วมกับยา Potassium chloride สามารถก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนทำให้มีแผลและเลือดออกได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไฮดรอกไซซีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาไฮดรอกไซซีน: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไฮดรอกไซซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฮดรอกไซซีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Atarax (อทาแรกซ์) | GlaxoSmithKline |
Abacus (อบาคัส) | Pharmaland |
Allerax (แอลเลอแรกซ์) | Bangkok Lab & cosmetics |
Antipru (แอนตี้พรู) | BJ Benjaosoth |
Antizine (แอนตี้ซีน) | Central Poly Trading |
Atalog (อทาล็อก) | Chinta |
Atano10 (อทาโน 10) | Milano |
Cerax (เซแลกซ์) | Central Poly Trading |
Hadarax (ฮาดาแรกซ์) | Greater Pharma |
Histan (ฮีสแทน) | Siam Bheasach |
Hizin (ไฮซิน) | Daiichi Sankyo |
Hyzine (ไฮซีน) | Utopian |
Katrax (คาแทรกซ์) | B L Hua |
Polizine (โพลิซีน) | Polipharm |
R-RAX (อาร์-แรกซ์) | Medicine Products |
Taraxin (ทาราซิน) | T. O. Chemicals |
Trandrozine (ทรานโดรซีน) | Asian Pharm |
Xyzine (ไซซีน) | Thai Nakorn Patana |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hydroxyzine [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/hydroxyzine.html [2022,Aug13]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/hydroxyzine?mtype=generic [2022,Aug13]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2022,Aug13]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Atarax/ [2022,Aug13]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00557 [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/sfx/hydroxyzine-side-effects.html [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/hydroxyzine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Aug13]
- https://www.mims.com/India/drug/info/hydroxyzine/hydroxyzine?type=full [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/dosage/hydroxyzine.html#Usual_Adult_Dose_for_Anxiety [2022,Aug13]