ไอออน ซูโครส (Iron sucrose)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไอออน ซูโครสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไอออน ซูโครสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอออน ซูโครสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอออน ซูโครสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ไอออน ซูโครสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอออน ซูโครสอย่างไร?
- ไอออน ซูโครสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอออน ซูโครสอย่างไร?
- ไอออน ซูโครสมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- ภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
บทนำ
ยาไอออนซูโครส(Iron sucrose หรือ Iron sucrose complex หรือ Ferric Hydroxide Sucrose Complex หรือ Iron Saccharate หรือ Iron Sugar หรือ Saccharated Iron)เป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็กและน้ำตาลซูโครส(Sucrose)ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้บำบัดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)ที่มีสาเหตุจากโรคไต (ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่สามารถผลิตฮอร์โมนที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง สืบค้นจากบทความ เม็ดเลือดแดงต่ำ เม็ดเลือดแดงน้อย ในเว็บไซด์หาหมอ.com เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์) หรือใช้ยาไอออน ซูโครสกับผู้ป่วยโลหิตจางที่ต้องบำบัดด้วยยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงอย่างยาฮอร์โมนที่มีชื่อว่า อีริโธรโพอิติน(Erythropoietin)
เภสัชภัณฑ์ของยาไอออน ซูโครสเป็นลักษณะยาชนิดฉีด หลังจากผู้ป่วยได้รับยาไอออน ซูโครสเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกทำลายโครงสร้างด้วยกระบวนการชีวะเคมีของร่างกายที่เรียกว่า Reticuloendothelial system ส่งผลให้น้ำตาลซูโครสและธาตุเหล็ก(Iron)แยกออกจากกัน น้ำตาลซูโครสจะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะขณะที่ธาตุเหล็กจะถูกนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดงต่อไป
ผู้ป่วยที่ได้รับยาไอออน ซูโครสจะมีขนาดและความถี่การให้ยานี้ที่แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งโดยทั่วไป เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยจะค่อยๆเพิ่มขึ้นภายใน 3–10 วันหลังจากได้รับยานี้
สำหรับข้อจำกัดและข้อควรปฏิบัติของการใช้ยาไอออน ซูโครสที่ควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไอออนซูโครส หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโลหิตจางที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการขาดธาตุเหล็ก
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กในร่างกายสูงเกินมาตรฐาน
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ที่อยู่ในในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
- กรณีใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการโลหิตจางไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ระหว่างการใช้ยานี้แล้วเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ค่อนข้างรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เจ็บหน้าอก มือ-เท้าบวม หายใจขัด/หายใจลำบาก กรณีเช่นนี้ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการบำบัดรักษาทันที
- การจะใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาไอออน ซูโครส ต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
สำหรับยาไอออน ซูโครสที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีหลายยาชื่อการค้า ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้ระบุให้ยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย และได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีเงื่อนไขการใช้ยาดังนี้
“ใช้สำหรับรักษาโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการล้างไตร่วมกับการให้ยา Epoetin therapy “
อนึ่ง โดยทั่วไป เราจะพบเห็นการใช้ยาไอออน ซูโครส ภายในสถานพยาบาลเท่านั้น หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆ
ไอออน ซูโครสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไอออน ซูโครสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ในผู้ป่วยดังนี้ เช่น
ก.บำบัดอาการโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กจากสาเหตุโรคไต ดังนี้ เช่น
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง+ไม่ต้องฟอกไต+ได้รับยาErythropoietin (Non-dialysis dependent-chronic kidney disease (NDD-CKD) patients receiving an erythropoietin)
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง+ไม่ต้องฟอกไต+ไม่ได้รับยาErythropoietin (Non-dialysis dependent-chronic kidney disease (NDD-CKD) patients not receiving an erythropoietin)
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง+ต้องฟอกไต+ได้รับยาErythropoietin (Hemodialysis dependent-chronic kidney disease (HDD-CKD) patients receiving an erythropoietin)
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง+ล้างไตผ่านหน้าท้อง+ได้รับยาErythropoietin (Peritoneal dialysis dependent-chronic kidney disease (PDD-CKD) patients receiving an erythropoietin)
ข. บำบัดผู้ป่วยโลหิตจางที่ใช้ยารับประทานที่ประกอบด้วยธาตุเหล็กแล้วไม่ได้ผล
ไอออน ซูโครสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอออน ซูโครสที่เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าสู่กระบวนการ Reticuloendothelial system ทำให้ธาตุเหล็ก(Iron) แยกออกจากน้ำตาลซูโคส ธาตุเหล็กที่อิสระจากตัวยานี้เอง จะเป็นแหล่งสนับสนุนให้ร่างกายนำธาตุเหล็กไปใช้ในกระบวนการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเม็ดเลือดแดงและจากกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าว จึงทำให้สภาวะโลหิตจางบรรเทาลง
ไอออน ซูโครสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอออน ซูโครสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีประกอบด้วย Fe/ Ferric(OH)3 sucrose complex ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ไอออน ซูโครสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไอออน ซูโครส มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ ครั้งละ 100-200 มิลลิกรัม 1–3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยแพทย์จะใช้ระดับฮีโมโกลบินในเลือดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้
- เด็ก: ให้ยาทางหลอดเลือดดำไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1–3 ครั้ง/สัปดาห์
อนึ่ง:
- อาจให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำโดยตรง หรือจะใช้วิธีเจือจางตัวยาไอออน ซูโครสกับ 0.9% Sodium chloride ในอัตราส่วนตัวยาไอออน ซูโครส 100 มิลลิกรัมต่อ 0.9% Sodium chloride 100 มิลลิลิตร ทั้งนี้จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับคำสั่งแพทย์
- ห้ามผสมยาอื่นร่วมกับยาไอออน ซูโครสเพื่อฉีดให้ผู้ป่วยโดยไม่มีคำสั่งจาก แพทย์
- ควรมารับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอออน ซูโครส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอออน ซูโครสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมมารับการฉีดยาไอออน ซูโครส ให้รีบทำการนัดหมายการฉีดยานี้ครั้งใหม่กับ แพทย์ พยาบาล ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเร็ว
ไอออน ซูโครสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอออน ซูโครสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อตับ เช่น เกิดภาวะเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
- ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน การรับรู้ภาวะร้อน-เย็นลดลง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน การรับรสผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีโปรตีนใน ปัสสาวะ
- ผลต่อผิวหนัง เช่น มีผื่นคัน
- ผลต่อตา เช่น ม่านตาอักเสบ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น อาจเกิดภาวะติดเชื้อต่างๆง่ายขึ้น
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง เจ็บหน้าอก
- ผลต่อระบบการหายใจ เช่น หายใจลำบาก ไอ ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ปวดหลัง
มีข้อควรระวังการใช้ไอออน ซูโครสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอออน ซูโครส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาไอออน ซูโครส นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ระหว่างหยดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว ตัวบวม ไอ เกิดมีไข้ ต้องหยุดการให้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
- ระหว่างใช้ยานี้ ระวังเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- มารับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอออน ซูโครสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไอออน ซูโครสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอออน ซูโครสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไอออน ซูโครส ร่วมกับยา Dimercaprol ด้วยยาDimercaprol จะเกิดการรวมตัวกับธาตุเหล็กในยาไอออน ซูโครส เกิดเป็นสารประกอบที่ก่อให้เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบรุนแรงตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอออน ซูโครส ร่วมกับยา Quinapril เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาไอออน ซูโครส เพิ่มมากขึ้น เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำ มีไข้ ใบหน้าแดง เจ็บหน้าอก
- ห้ามใช้ยาไอออน ซูโครส ร่วมกับ Vitamin E เพราะจะรบกวนการออกฤทธิ์ของ ยาไอออน ซูโครส จนลดประสิทธิภาพการรักษาของยาไอออน ซูโครส
- ห้ามใช้ยาไอออน ซูโครส ร่วมกับ ยา Ferrous sulfate เพราะจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับปริมาณธาตุเหล็กสูงเกินไป จนส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ผลข้างเคียง/พิษของธาตุเหล็กต่อร่างกายได้จากบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง ภาวะขาดธาตุเหล็ก) กรณีต้องใช้ยาร่วมกัน ต้องเว้นระยะเวลาห่างจากการใช้ยาไอออน ซูโครสครั้งสุดท้ายเป็นเวลา 5 วันขึ้นไป
ควรเก็บรักษาไอออน ซูโครสอย่างไร?
ควรเก็บยาไอออน ซูโครส ภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์
ไอออน ซูโครสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอออน ซูโครส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anerrum (อะเนอร์รัม) | Kyung-Dong Pharm |
Encifer (เอนซิเฟอร์) | Emcure Pharma |
Femorum (เฟมอรัม) | Myungmoon |
Venofer (เวโนเฟอร์) | Vifor |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/021135s017lbl.pdf [2017,Oct28]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Iron_sucrose [2017,Oct28]
- https://www.drugs.com/ppa/iron-sucrose.html [2017,Oct28]
- https://www.drugs.com/sfx/iron-sucrose-side-effects.html [2017,Oct28]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/iron-sucrose-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Oct28]
- http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/267/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD(EPO)/ [2017,Oct28]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/021135s017lbl.pdf [2017,Oct28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/iron%20sucrose/?type=brief&mtype=generic [2017,Oct28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=iron%20sucrose [2017,Oct28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/venofer/?type=brief [2017,Oct28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/venofer/dosage [2017,Oct28]
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF [2017,Oct28]