ไอปราโทรเปียม (Ipratropium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไอปราโทรเปียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไอปราโทรเปียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอปราโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอปราโทรเปียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ไอปราโทรเปียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอปราโทรเปียมอย่างไร?
- ไอปราโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอปราโทรเปียมอย่างไร?
- ไอปราโทรเปียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- โรคหืด (Asthma)
- Anticholinergic
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- อะโทรปีน (Atropine)
- ซาลบูทามอล (Salbutamol) เวนโทลิน (Ventolin)
บทนำ
ยาไอปราโทรเปียม (Ipratropium หรือ Ipratropium bromide) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม Anticholinergic agent ถูกพัฒนาขึ้นจากประเทศเยอรมันในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อผนังกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทางคลินิกได้นำมาเป็นยารักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease) และโรคหืด (Asthma)
หลังจากร่างกายได้รับยาไอปราโทรเปียม (ยานี้ใช้พ่นทางปาก) ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 - 30 นาที และคงฤทธิ์การรักษาได้นานประมาณ 3 - 5 ชั่วโมง
ยาไอปราโทรเปียมจัดเป็นยาที่ปลอดภัยต่อการใช้กับสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร อย่างไรก็ตามหากใช้ยาผิดขนาดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่น หลอดลมมีอาการหดเกร็งตัวและปัสสาวะไม่ออก
ยาไอปราโทรเปียมมีรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเป็นแบบสูดพ่น ตัวยาสามารถซึมผ่านเข้าร่างกายและกระแสเลือดโดยมีการจับกับพลาสมาโปรตีนไม่เกิน 9% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยาอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด
มีข้อจำกัดของการใช้ยาไอปราโทรเปียมหลายประการที่ผู้บริโภคควรทราบเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาประเภท Atropine รวมถึงอนุพันธุ์ของกลุ่ม Atropine
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตและผู้ป่วยด้วยโรคต้อหินจะทำให้มีอาการโรคเหล่านั้นรุนแรงมากขึ้น
- การใช้กับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาอื่นในกลุ่ม Anticholinergic เช่น Benztropine (ยารักษาโรคพาร์กินสัน), Diphennydramine จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้มากขึ้น
- การใช้ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ผู้ป่วยควรเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรขณะที่ใช้ยานี้เพราะอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้
- ยาไอปราโทรเปียมเป็นยาพ่นเข้าทางปาก ห้ามมิให้เข้าตาโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ยาไอปราโทรเปียมยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้อย่างหลากหลายเช่น มีผลต่อการมองเห็น, ต่อระบบการขับถ่ายปัสสาวะ/ระบบทางเดินปัสสาวะ, ต่อระบบการหายใจ, ต่อระบบการทำงานของหัวใจ/ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ต่อระบบทางเดินอาหาร และต่อกล้ามเนื้อ เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาไอปราโทรเปียมเป็นยาจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้ให้บริการต่อผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาไอปราโทรเปียมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยต้องใช้ควบคู่กับยา Fenoterol (ยาขยายหลอดลม)
อนึ่งสูตรตำรับต่างๆของยาไอปราโทรเปียมที่มีจำหน่ายในประเทศไทยล้วนแล้วแต่เป็นสูตรผสมร่วมระหว่างยาไอปราโทรเปียมกับยาอื่นทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาเกิดได้สูงสุดนั่นเอง
ไอปราโทรเปียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไอปราโทรเปียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาและบำบัดอาการโรคปอดอุดตันเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease maintenance)
ไอปราโทรเปียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอปราโทรเปียมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลมในตำแหน่งที่เรียกว่า Parasympathetic site โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholine มีผลทำให้หลอดลมเกิดการคลายตัว การหายใจสะดวกขึ้น และเป็นที่มาของสรรพคุณ
ไอปราโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอปราโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาพ่นชนิดสารละลายที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Ipratropium Br/Bromide 20 ไมโครกรัม + Fenoterol HBr/Hydrobromide 50 ไมโคร กรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง
- Ipratropium Br 0.25 มิลลิกรัม + Fenoterol HBr 0.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
- Ipratropium Br 0.5 มิลลิกรัม + Salbutamol sulfate 2.5 มิลลิกรัมต่อ 1 หลอด (unit-dose vial)
- Ipratropium Br 0.5 มิลลิกรัม + Fenoterol HBr 1.25 มิลลิกรัมต่อ 4 มิลลิลิตร (unit-dose vial)
ไอปราโทรเปียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไอปราโทรเปียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: ขณะมีอาการเฉียบพลันให้พ่นยา 2 - 4 ครั้ง แต่สำหรับบำบัดรักษาอาการเพื่อคงระดับการรักษา (Maintenance) ให้พ่นยา 1 - 8 ครั้ง/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ขนาดใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปียังมิได้มีการยืนยันและจัดทำในทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง: สำหรับสูตรตำรับที่มีการบรรจุหลอดและใช้พ่นหมดหลอดต่อครั้งหรือที่เรียกว่า Unit-dose-vial ต้องใช้เครื่องพ่นยาที่มีลักษณะเฉพาะ (Nebuliser) โดยมากจะพบเห็นการใช้แต่ในสถาน พยาบาลเท่านั้น
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไอปราโทรเปียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอปราโทรเปียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมพ่นยาไอปราโทรเปียมให้พ่นยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการพ่นยา ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการพ่นยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรพ่นยาไอปราโทรเปียมให้ตรงเวลา
ไอปราโทรเปียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอปราโทรเปียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้เช่น
ก. ผลต่อตา: การมองเห็นเหมือนมีแสงจ้า รูม่านตาขยาย ความดันในลูกตาสูงขึ้น ตาพร่า ปวดตาอย่างเฉียบพลัน หากใช้กับผู้ป่วยโรคต้อหินจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
ข. ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: อาจเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะหรือมีอาการปัสสาวะขัด
ค. ผลต่อระบบการหายใจ: ก่อให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบ หลอดลมหดเกร็ง ไซนัสอักเสบ มีอาการไอ เกิดการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบน
ง. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
จ. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เบื่ออาหาร ปากแห้ง คลื่นไส้ รู้สึกขมในปาก อาเจียน ท้องเสีย
มีข้อควรระวังการใช้ไอปราโทรเปียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอปราโทรเปียมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามให้ยานี้เข้าตา ควรหลับตาทุกครั้งที่ต้องพ่นยา กรณีที่ตัวยาสัมผัสตาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
- ฝึกหัดวิธีใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรก่อนนำยากลับมาใช้ที่บ้าน
- กรณีที่ไม่ได้ใช้ยาพ่นนานเกิน 3 วันก่อนการใช้ทุกครั้งให้ทดสอบพ่นยาทิ้งประมาณ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบว่ายังใช้ได้เป็นปกติหรือไม่
- เพื่อประสิทธิผลของการใช้ยาหากต้องพ่นยาเกิน 1 ครั้งให้รอเวลาประมาณ 15 วินาทีแล้วค่อยพ่นยาครั้งถัดไป
- กรณีที่มีอาการวิงเวียนหลังการใช้ยาให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำ งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
- กรณีที่ใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือการใช้ยาขณะที่มีอาการหอบแบบเฉียบพลันแล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอปราโทรเปียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไอปราโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอปราโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอปราโทรเปียมร่วมกับยาบางตัวด้วยอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆได้อย่างมากมายเช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เหงื่อออกน้อยลง ทนอากาศร้อนได้ไม่ดีเหมือนเดิม หน้าแดง ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสับสน เกิดภาวะของต้อหิน ทั้งนี้อาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้สูงอายุ ยาอื่นๆเหล่านั้นเช่น Brompheniramine, Carbinoxamine, Chlorpheniramine, Doxylamine, Diphenhydramine, Hyoscyamine, Meclizine, Promethazine, Pyrilamine, Triprolidine เป็นต้น
ควรเก็บรักษาไอปราโทรเปียมอย่างไร?
ควรเก็บยาไอปราโทรเปียมภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้ พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไอปราโทรเปียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอปราโทรเปียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aerobidol (เอโรบิดอล) | Aerocare |
Berodual (เบโรดูออล) | Boehringer Ingelheim |
Berodual Forte (เบโรดูออล ฟอร์ด) | Boehringer Ingelheim |
Combivent UDV (คอมบิเวนท์ ยูดีวี) | Boehringer Ingelheim |
Inhalex Forte (อินแฮเล็กซ์ ฟอร์ท) | Silom Medical |
Iperol (ไอเพอรอล) | L. B. S. |
Iperol Forte (ไอเพอรอล ฟอร์ท) | L. B. S. |
Iprateral (อิพราเทอรอล) | Pharma Innova |
Punol (พูนอล) | Biolab |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาไอปราโทรเปียมในต่างประเทศเช่น Atrovent
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Muscarinic_antagonist [2016,Feb6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ipratropium_bromide [2016,Feb6]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/51#item-8448 [2016,Feb6]
- http://www.drugs.com/sfx/ipratropium-side-effects.html [2016,Feb6]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=ipratropium [2016,Feb6]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Ipratropium+bromide [2016,Feb6]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/berodual-berodual%20forte/?type=full#Indications [2016,Feb6]
- http://www.mims.com/Malaysia/drug/info/Combivent/?type=full#Dosage [2016,Feb6]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/ipratropium-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Feb6]