ไอบูทิไลด์ (Ibutilide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไอบูทิไลด์ (Ibutilide) คือ ยารักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นถี่จนเกินไป,  รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดเท่านั้น, โดยจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ClassIII antiarrhythmic agent)   

ขณะที่ยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะมีการจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 40%, ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง,  ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ 

กลไกการออกฤทธิ์โดยรวมของยาไอบูทิไลด์ คือ ปรับการทำงานของคลื่นไฟฟ้า หัวใจให้กลับมาเป็นปกติจึงส่งผลต่อการเต้นของหัวใจให้ทำงานได้ดีขึ้น, ยานี้จะออกฤทธิ์

อย่างรวดเร็วเพื่อฟื้นสภาพการดำรงชีวิตของผู้ป่วย, หากปล่อยให้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆหลายวันแล้วค่อยนำผู้ป่วยมาพบแพทย์  อาจพบว่าหัวใจของผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยานี้แล้ว

อาจแบ่งสภาพอาการผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาไอบูทิไลด์ในการรักษาได้ เป็นข้อๆดังต่อไปนี้ เช่น

  • มีประวัติแพ้ยาไอบูทิไลด์มาก่อน
  • ผู้ป่วยมีการใช้ยา Itraconazole อยู่ก่อนแล้ว เพราะยาทั้งสองตัวสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้,  นอกจากนี้  ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาอะไร, หรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย
  • มีการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดา
  • มีอาการชีพจรเต้นผิดปกติ เช่น เต้นช้าหรืออยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีระดับ   เกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ  หรือเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมารับรองความปลอดภัยที่จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

ยาไอบูทิไลด์ สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบเห็นได้บ่อย เช่น มีอาการ  วิงเวียน  ปวดหัว  คลื่นไส้  ชีพจรเต้นเร็ว,  อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อหมดฤทธิ์ของยานี้   

เราจะพบเห็นการใช้ยาไอบูทิไลด์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น, ซึ่งการให้ยากับผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว, เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แพทย์จะทำการหยุดใช้ยานี้,  จากนั้นจึงจะบำบัดรักษาผู้ป่วยด้วยหัตถการอื่นๆ ต่อไป        

ไอบูทิไลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไอบูทิไลด์

 

ยาไอบูทิไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบบ/ชนิด Atrial fibrillation และ Atrial flutter

ไอบูทิไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอบูทิไลด์ คือตัวยาจะมีผลต่อการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยควบคุมการส่งถ่ายประจุเกลือแร่  เช่น  โซเดียม  โพแทสเซียม ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น,  ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้การเต้นและการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจกลับมาเป็นปกติ, และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไอบูทิไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอบูทิไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เป็น

  • ยาฉีด ขนาด 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไอบูทิไลด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไอบูทิไลด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 60 กิโลกรัมขึ้นไป: ให้หยดยาขนาด 1 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ โดยใช้เวลาในการหยดยามากกว่า 10 นาทีขึ้นไป, หลังการใช้ยาแล้วอาการของหัวใจยังไม่กลับมาเป็นปกติภายใน 10 นาที,  แพทย์สามารถให้ยาซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 60 กิโลกรัม: ใช้คำนวณการให้ยา 0.01 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, กรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้นหลังได้รับยาครั้งแรก,  แพทย์สามารถให้ยาซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง:

  • ระหว่างให้ยานี้กับผู้ป่วย สามารถหยุดการให้ยานี้ได้ หากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะกลับมาเป็นปกติ
  • ยานี้สามารถผสมกับน้ำเกลือ เช่น 9% Sodium chloride, หรือ  5% Dextrose, เพื่อเจือจาง, แล้วจึงหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอบูทิไลด์  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอบูทิไลด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมให้ยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาไอบูทิไลด์ จะกระทำแต่ในสถานพยาบาล และให้ยาทางหลอดเลือดดำ โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์, ก่อน-ระหว่าง-หลังการให้ยา บุคลากรทางการแพทย์ต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด,  ดังนั้นโอกาสการลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก

ไอบูทิไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอบูทิไลด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว, มีปัญหาการทำงานของลิ้นหัวใจ,   หัวใจห้องล่างบีบตัวนอกจังหวะ (Ventricular extrasystoles),  ความดันโลหิตต่ำ,  หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว,  อาจพบภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย,   บางกรณีอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการปวดหัว  หรือมีอาการวูบ/หมดสติ (Syncope)
  • ผลต่อการทำงานของไต: เช่น  อาจพบภาวะไตวาย

มีข้อควรระวังการใช้ไอบูทิไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอบูทิไลด์: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ระหว่างการให้ยานี้ ต้องคอยตรวจสอบการเต้นของหัวใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าหัวใจ กลับมาเต้นเป็นปกติแล้ว แพทย์อาจพิจารณาหยุดให้ยานี้ได้
  • ระหว่างการให้ยานี้ มีโอกาสที่จะเกิดอาการหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นเร็ว, หากเกิดภาวะดังกล่าว ต้องรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว,  ด้วยเคยมีรายงานทางคลินิกที่อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ  

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอบูทิไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไอบูทิไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอบูทิไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาไอบูทิไลด์ ร่วมกับยารักษาโรคอื่นหลายตัว สามารถก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยในระดับรุนแรง  ยากลุ่มดังกล่าว  เช่นยา  Idarubicin (ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว),  Ketoconazole,   Lopinavir,   Lithium,  Lomefloxacin,  Probucol,  Metaproterenol,  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูทิไลด์ร่วมกับยาดังกล่าว

ควรเก็บรักษาไอบูทิไลด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไอบูทิไลด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น 
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไอบูทิไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอบูทิไลด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Corvert (คอร์เวอร์ท) Pfizer

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antiarrhythmic_agent  [2022,Dec10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ibutilide   [2022,Dec10]
  3. https://www.drugs.com/dosage/corvert.html   [2022,Dec10]
  4. https://www.drugs.com/dosage/ibutilide.html#Usual_Adult_Dose_for_Atrial_Fibrillation   [2022,Dec10]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/ibutilide,corvert-index.html?filter=3&generic_only=#I  [2022,Dec10]