ไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 7 กรกฎาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างไร?
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างไร?
- ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplantation)
- การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- ไซโคลสปอริน (Cyclosporin)
บทนำ
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil) หรือมีชื่อการค้าในประเทศไทยว่า เซลล์เซพท์ (Cellcept) เป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคชนิดรับประทาน ผู้ป่วยได้รับยานี้เพื่อกดภูมิต้านทานของร่างกายสำหรับป้องกันปฏิกิริยาไม่ยอมรับอวัยวะที่เปลี่ยนถ่ายอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยที่เปลี่ยนหัวใจ, ไต หรือตับ โดยสูตรยาที่แนะนำสำหรับป้องกันภาวะปฏิเสธอวัยวะคือ ไมโค ฟีโนเลต โมฟีทิลร่วมกับยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Cortico steroid) โดยให้ใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์รักษา และใช้ยานี้สำหรับการรักษาปฏิกิริยาไม่ยอมรับอวัยวะที่เปลี่ยนถ่ายที่รักษายากในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไต นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งใช้ยาอื่นๆนอกเหนือการรับรองขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเช่น ภาวะปฏิเสธอวัยวะ (Organ Transplant Rejection, ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่), Graft-Versus-Host disease (GVHD คือ ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นเมื่อผู้รับบริจาคอวัยวะ/Host ได้รับเซลล์เม็ดเลือดขาวจากผู้ให้/Donor จากนั้นร่างกายผู้รับเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเม็ดเลือดขาวจากเนื้อเยื่อของผู้รับบริจาค ทำให้เนื้อเยื่อของผู้รับบริจาคถูกทำลาย), Proliferative lupus nephritis (อาการทางไตในผู้ป่วยโรคลูปัส), Nephrotic syndrome (กลุ่มอาการที่เกี่ยวกับการทำงานของไต โดยจะมีอาการบวม, โปรตีนรั่วในปัสสาวะมาก, มีระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ และมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง), Idiopathic thrombocytopenic purpura (โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ), Atopic dermatitis (โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยผิวหนังเกิดการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้)
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันปฏิกิริยาที่ผู้รับอวัยวะปฏิเสธ อวัยวะใหม่ที่ได้รับปลูกถ่ายเช่น หัวใจ, ตับ และไต โดยใช้ร่วมกับยาไซโคลสปอริน (Cyclo sporine: ยากดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid: ยาสเตีย รอยด์ที่กดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย)
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเป็นโปรดรัก (Prodrug หมายถึง โมเลกุลของยาที่ได้รับการดัด แปลงโมเลกุลทำให้ยายังไม่ออกฤทธิ์ แต่เมื่อยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายและถูกเมตาบอไลท์/Metabolite: ปฏิกิริยาของร่างกายในการเปลี่ยนแปลงสภาพของยาจะทำให้ยานั้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา) ของไมโคฟีโนลิกเอซิด (Mycophenolic acid, MPA) ดังนั้นเมื่อยาไมโคฟีโนแลต โมฟีทิลเข้าสู่ร่างกายและถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงสภาพแล้ว ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Inosine monophosphate dehydrogenase (IMPDH) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาวของร่างกายทั้งชนิด B-lymphocyte และ T-lympho cyte ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จึงมีผลแรงในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีกล ไกเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่ายกาย
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในประเทศไทย มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ คือ ยาแคปซูล (Capsule) สำหรับรับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม และยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) สำหรับรับประทานเช่นกันขนาด 500 มิลลิกรัม
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเป็นยากดภูมิคุ้มกันฯชนิดรับประทาน มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อกดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย ขนาดยาที่ใช้ แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงตามเวลา ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดยาและวิธีรับประทานยาเอง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจเลือดวัดระดับยานี้ในเลือดเพื่อปรับขนาดยานี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
วิธีการรับประทานยานี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้เวลาเดิมทุกวัน พบว่าการรับประทานยานี้ในขณะท้องว่าง ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี แต่ในผู้ป่วยบางรายที่หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารมาก แพทย์อาจปรับเวลาการรับประทานยาเป็นพร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับ ประทานยานี้ร่วมกับนมหรือยาลดกรดชนิดน้ำที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม (Aluminium เช่น Aluminium hydroxide), แมกนีเซียม (Magnesium เช่น Magnesium trisilicate) และแคล เซียม (Calcium เช่น Calcium carbonate) เพราะแร่ธาตุเหล่านั้นในยาลดกรดจะทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นหากผู้ป่วยจำเป็นต้อง/ต้องการรับประทานนมหรือยาลดกรดชนิดน้ำ สามารถรับประทานนมหรือยาลดกรดได้โดยรับประทานให้ห่างจากยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับยาลดไขมันที่มีชื่อว่า โคเลสไทรามีน (Cholestyramine) เนื่องจากยาโคเลสไทรามีนจะลดการดูดซึมยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเข้าสู่ร่างกาย
ดังนั้นหากท่านกำลังใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอยู่ ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลด หรือปรับขนาดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด และหากท่านมีอาการไม่พึงประ สงค์/ผลข้างเคียง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ผลข้างเคียง) ที่รุนแรง หรือมีอาการผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเกิดขึ้นในช่วงได้รับยานี้อยู่ ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนด เพื่อรับการตรวจรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว
การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในผู้ป่วยไตเสื่อมรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาลดขนาดยานี้ภายหลังผ่านพ้นช่วงระยะหลังการเปลี่ยนถ่ายไตทันที หรือภายหลังการรักษาภาวะไม่ยอมรับอวัยวะใหม่ทั้งระยะเฉียบพลันหรือระยะกลับเป็นซ้ำ
กรณีผู้ป่วยตับเสื่อมรุนแรง สามารถใช้ยานี้ได้ตามขนาดยาปกติ ไม่จำเป็นต้องลดขนาดยา
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมจึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงรุนแรงแก่บุตร
- ไม่ควรให้วัคซีนที่ยังมีชีวิต (Live vaccine หมายถึง วัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อโรคนั้นๆเช่น วัคซีนหัด-หัด-เยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯต่ำ การฉีดวัคซีนอาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯน้อยลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้
- ผู้ป่วยควรจำชื่อยากดภูมิคุ้มกันฯพร้อมขนาดยาที่รับประทานอยู่ให้ได้ทุกตัวหรือจดบันทึก ไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยาหรือวิธีการรับประทานยา ควรจดบันทึกไว้ทุกครั้งด้วยเช่นกัน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลซึ่งเป็นยาที่มีการรับประทานวันละ 2 ครั้ง หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประ ทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประ ทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ เวลา 20.00 น. ในขนาดยาปกติโดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
กรณีอาเจียนยาออกมา ถ้ามีอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังรับประทานยา หากผู้ป่วยเห็นเม็ดยาออกมา ควรเว้นระยะสักครู่ รอให้อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนดีขึ้น จึงรับประทายยาใหม่
แต่หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่ามียาออกมาพร้อมกับอาเจียนหรือไม่ ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเพิ่มโดยเด็ดขาด
กรณีผู้ป่วยต้องเดินทางไกล ควรเตรียมยานี้ติดตัวไปเพียงพอตลอดการเดินทาง หากเดิน ทางไปต่างประเทศควรรับประทานยาตามเวลาของประเทศไทย แต่หากต้องปรับเวลารับประทาน ยาตามประเทศที่ไปพักอาศัย พิจารณาปรึกษาแพทย์ก่อน อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลในช่วง 6 เดือนแรกของการปลูกถ่ายอวัยวะหากไม่จำเป็น และควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์ของยายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลที่พบได้บ่อยเช่น
- ภาวะกดการทำงานของไขกระดูก (Bone Marrow Suppression: ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, และเลือดออกผิดปกติได้ง่าย ตามลำดับ)
- อาการของระบบทางเดินหายใจผิดปกติ (เช่น ไอ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน)
- อาการของระบบทางเดินอาหาร (เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก)
- อาการทางผิวหนัง (เช่น ขึ้นผื่น)
- ผลต่อไต (เช่น การตรวจเลือดพบค่าปริมาณของเสีย: Blood Urea Nitrogen/BUN และครีเอตินิน/Creatinine สูงขึ้น)
- และอาการอื่นๆเช่น อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ต่ำ หนาวสั่น ปวดหัว บวมตามแขน ขา นอนไม่หลับ
หากท่านกำลังใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอยู่และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้ เช่น มีไข้สูง, รู้สึกเหนื่อย หอบ, หายใจไม่ปกติ, อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้อง เสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง จนอาจมีภาวะสมดุลเกลือผิด ปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ (เช่นมีไข้ที่สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีอาการปวดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หรือมีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้นบริเวณปากหรือร่างกายส่วนต่างๆ) หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกทันที/ฉุกเฉิน พร้อมแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ว่าท่านกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันฯอยู่
มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ยานี้มีผลกดการทำงานของไขกระดูกและกดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคทั่วไป ติดเชื้อฉวยโอกาส รวมถึงการกระตุ้นเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่ในตัวให้เจริญ เติบโตขึ้นจนก่ออาการเช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซี
สำหรับบีเคไวรัส (BK virus, ย่อว่า BKV) มีรายงานพบว่าไวรัสนี้อาจทำให้เกิดการปฏิเสธไตที่เปลี่ยนถ่ายได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานการเกิด Progressive Multifocal Leukoencephalopathy (PML) ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลางที่มีการทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่ส่งกระแสประสาท (Demyelination) ทำให้การส่งกระแสประสาทบกพร่องไป ทำให้สูญเสียความสามารถจนกระ ทั่งอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้เกี่ยวข้องกับเชื้อเจซีไวรัส (JC virus/John Cunningham virus) ที่แฝงอยู่ในร่างกายมนุษย์ มักเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับยานี้และมีภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง ดังนั้นผู้ป่วยที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะหากมีอาการทางระบบประสาท ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่แรก
ดังนั้น ในช่วงที่ได้รับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลจำเป็นต้องระวังการติดเชื้อต่างๆ และ/หรือ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษา/ไปโรงพยาบาล หากผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะติดเชื้อหรือมีอาการผิด ปกติโดยเฉพาะเมื่อสงสัยมีการติดเชื้อ
- การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเด็ก ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กทารกที่มีอายุมากกว่า/เท่ากับ 3 เดือนขึ้นไป โดยยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม
- การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอาจต้องการยาในขนาดที่ต่ำลง เนื่อง จากผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มการทำงานของไตลดลงและยานี้ถูกขจัดออกทางไต ปฏิกิริยาของการเกิดพิษจากยานี้จึงอาจจะมากขึ้นหากผู้ป่วยมีการทำงานของไตบกพร่อง
- การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในช่วงกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้หรือมารดาอาจเกิดการแท้งบุตร ดังนั้นในสตรีที่มีโอกาสตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ และได้ผลที่เป็นลบ (ไม่ตั้งครรภ์) ก่อนหน้า 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยานี้ ไม่แนะนำให้เริ่มใช้ยาจน กว่าจะได้ผลการทดสอบตั้งครรภ์ที่เป็นลบ ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้การคุมกำเนิดที่ได้ผลดี 2 ชนิดร่วมกัน (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยชาย หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ วิธีคุมกำ เนิดที่เหมาะสมควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเสมอ) ตั้งแต่ก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และเป็นเวลา 5 สัปดาห์หลังหยุดการรักษา ถ้าเกิดกรณีตั้งครรภ์ระหว่างการรักษา แพทย์จะปรึกษาร่วม กันกับผู้ป่วย/ครอบครัวถึงความต้องการที่จะคงการตั้งครรภ์ไว้
- การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในช่วงให้นมบุตร ควรหยุดการให้นมหรือหยุดใช้ยา โดย แพทย์จะพิจารณาความสำคัญของยาที่มีต่อมารดา เนื่องจากยาถูกขับออกทางน้ำนมในหนูทด ลองแต่ไม่มีข้อมูลในมนุษย์ แต่ยามีแนวโน้มก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir: ยาต้านไวรัส), ยาแกนไซโคลเวียร์(Gancyclovir: ยาต้านไวรัส), ยาวาลอะไซโคลเวียร์ (Valacyclovir: ยาต้านไวรัส) อาจทำให้ระดับยาของทั้งไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเพิ่มสูงขึ้นและระดับยาต้านไวรัสดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในกรณีที่ผู้ ป่วยเกิดภาวะไตเสื่อม เนื่องจากยาทั้งสองกลุ่มแย่งกันขับออกทางท่อไต ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาปรับลดขนาดยาทั้งสองตามค่าการทำงานของไตเป็นกรณีไป
- เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid) ที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม แมกนี เซียม และแคลเซียม (ดังกล่าวในหัวข้อ ขนาดรับประทาน) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วม กับยาลดกรดชนิดน้ำดังกล่าว เพราะแร่ธาตุเหล่านั้นในยาลดกรดจะทำให้การดูดซึมยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาลดกรดชนิดน้ำให้ห่างจากยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมงโดยควรรับประทานยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลก่อน
- เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรดกลุ่มยับยั้งการขับโปรตอน (Proton Pump Inhibitor: PPIs) เช่น ยาโอมีพลาโซ/Omeprazole, ยาแลนโซพลาโซล (Lansoprazole), ยาแพนโทพรา โซล (Pantoprazole) จะมีผลทำให้ระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเลือดลดลง จึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้คู่กับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล
- เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาโคเลสไทรามีน (Cholestyramine: ยาลดไขมัน) จะทำให้ระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลลดลง เนื่องจากยาโคเลสไทรามีนจะลดการดูดซึมยาไมโคฟีโนเลต โมฟี ทิล โดยรบกวนกระบวนการดูดซึมยาผ่านตับและขับยาออกทางน้ำดีที่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระ แสเลือดอีกครั้งหนึ่ง (Enterohepatic recirculation) จึงควรหยุดใช้ยาโคเลสไทรามีนขณะที่ได้ รับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอยู่
- เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ เช่น ยาไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาต้านวัณโรค, ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), ยาไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) และยาอะม็อก ซี่ซิลิน-คลาวูโลเนต (Amoxycillin-Clavulanate: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) จะทำให้ระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเลือดลดลง ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกันแพทย์จะตรวจวัดระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเลือดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยเอททินิลเอสตร้าไดออล (Ethenyl estradiol), เลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel), ดีโสเจสเตรล (Desogestrel) พบว่ายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลต่อฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าวไม่มีผล จึงควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น ถุงยางอนามัยชาย
ควรเก็บรักษายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างไร?
แนะนำเก็บยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล ณ อุณหภูมิห้อง ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่สูงเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้นเช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว และควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไมโคลฟีโนเลต โมฟีทิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cellcept (เซลล์เซพท์) 250 mg capsules | Roche |
Cellcept (เซลล์เซพท์) 500 mg tablets | Roche |
บรรณานุกรม
1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
3. Product Information: Hydrea, Cellcept, Roche, Thailand.
4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
5. โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. สมุดประจำตัวผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะและได้รับยากดภูมิต้านทาน. 2558