ไมกลิทอล (Miglitol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ตุลาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไมกลิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไมกลิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไมกลิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไมกลิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไมกลิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไมกลิทอลอย่างไร?
- ไมกลิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไมกลิทอลอย่างไร?
- ไมกลิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน (Hypoglycemia)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
บทนำ
ยาไมกลิทอล (Miglitol) เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อีกชนิดหนึ่งที่มีกลไกยับยั้งไม่ให้ร่างกายของมนุษย์เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลชนิดโมเลกุลเดี่ยว จึงทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้น้อยลง ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด ปกติแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยานี้พร้อมกับการรับประทานอาหารในมื้อหลักๆ ประสิทธิผลของยาไมกลิทอลจะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการควบคุมอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อ
ยาไมกลิทอลสามารถใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยวในการรักษาโรคเบาหวานหรืออาจใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่นก็ได้เช่น ยาอินซูลิน เป็นต้น
หลังการรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และมีการกระจายตัวไปทั่วร่างกายอยู่ที่ประมาณ 50 - 70% ยานี้สามารถผ่านเข้าน้ำนมมารดาและผ่านเข้ารกได้ ตัวยาจะมีการจับกับพลาสมาโปรตีนน้อยกว่า 4% แต่ไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีแต่อย่างใด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือด
ข้อมูลบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคเบาหวาน เช่น
- ไมกลิทอลไม่ใช่ยาที่กระตุ้นให้ร่างกายใช้น้ำตาลในกระแสเลือดแต่ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด
- เป็นผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาหรือไม่
- ผู้ป่วยมีภาวะทางเดินลำไส้อุดตัน หรือมีแผลในบริเวณลำไส้ใหญ่ หรือมีการอักเสบของกระเพาะอาหาร-ลำไส้หรือไม่
- อยู่ในภาวะเบาหวานที่มีระดับสารคีโตน (Ketone; สารเคมีในเลือดที่เป็นตัวบอกว่าร่างกายใช้น้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามปกติ) ในร่างกายเกินหรือไม่ หรือป่วยด้วยโรคไตระยะรุนแรงหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับอาการของโรคเบาหวาน ประกอบกับมีการออกกำลังกายตามสมควร และกำชับมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง ประการสุดท้ายให้มาพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดีหรือไม่ แพทย์อาจจะปรับขนาดรับประทานยานี้กันใหม่หากมีอาการผิดปกติเช่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือดที่ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันที และผู้ป่วยเบาหวานส่วนมากมักจะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเช่น ให้รับประทานน้ำหวาน ลูกอม เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
ยาไมกลิทอลยังมีอาการข้างเคียงที่เด่นๆและควรทราบไว้เช่น ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก รวมถึงมีอาการถ่ายเหลว และปวดท้อง การใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ไมกลิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไมกลิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
ไมกลิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไมกลิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งมิให้ผนังลำไส้เล็กจับกับน้ำย่อยอาหาร (เอนไซม์/Enzyme) ที่มีชื่อว่า Alpha-glucosidase enzymes จึงทำให้กระบวนการย่อยน้ำตาลโมเลกุลใหญ่ไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเช่น กลูโคส (Glucose) ถูกชะลอเวลาส่งผลให้มีการดูดซึมกลูโคสน้อยลง จึงเป็นเหตุให้ลดปัจจัยการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ตามสรรพคุณ
ไมกลิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
- Miglitol 25 มิลลิกรัม + Metformin hydrochloride (SR) 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- Miglitol 50 มิลลิกรัม + Metformin hydrochloride (SR) 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ไมกลิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไมกลิทอลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 25 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งพร้อมอาหาร (ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารคำแรกของทุกมื้อ) หลังจากนั้น 4 - 8 สัปดาห์แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 50 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไมกลิทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไมกลิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรรับประทานยาไมกลิทอลให้ตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์ หากลืมรับประทานยาไมกลิทอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไมกลิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไมกลิทอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย และผื่นคันตามผิวหนัง
มีข้อควรระวังการใช้ไมกลิทอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไมกลิทอลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มอาการรุนแรงที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoaci dosis) ผู้ที่มีภาวะลำไส้อักเสบ ลำไส้ใหญ่เป็นแผล หรือลำไส้ตีบตัน/ลำไส้อุดตัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยที่ไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะมีไข้ มีการติดเชื้อ มีแผลบาดเจ็บ และผู้ป่วยโรคไต ด้วยสภาวะดังกล่าวจะกระตุ้นให้น้ำตาลในเลือดผิดปกติไป
- ผู้ป่วยควรมาตรวจน้ำตาลในเลือดตามที่แพทย์นัดและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลอย่างเคร่งครัด
- เรียนรู้การป้องกันตัวเองจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไมกลิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไมกลิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมกลิทอลร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและมีบ้างที่ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง กรณีที่มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำสามารถส่ง ผลให้เกิดภาวะโคม่าและเสียชีวิต (ตาย) ได้
- การใช้ยาไมกลิทอลร่วมกับยา Pseudoephedrine, Phenylephrine, Hydrocortisone, Estradiol อาจเกิดการรบกวนการควบคุมน้ำตาลในเลือดของยาไมกลิทอล กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไมกลิทอลร่วมกับยาถ่านกัมมันต์สามารถทำให้ประสิทธิภาพของไมกลิทอลลดลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมกลิทอลร่วมกับยาช่วยย่อยอาหาร (ยาประเภท Digestive enzyme drug หรือ Digestive drug) ด้วยจะทำให้ระดับความเข้มข้นของยาไมกลิทอลในกระแสเลือดลดต่ำลงส่ง ผลให้ประสิทธิภาพการรักษาเบาหวานด้อยลงไปเช่นกัน
ควรเก็บรักษาไมกลิทอลอย่างไร?
ควรเก็บยาไมกลิทอลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาไว้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไมกลิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไมกลิทอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบรืษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DIAMIG (ไดอะมิก) | Micro DTF |
ELITOX (อีลิทอกซ์) | Ranbaxy (Cardiovasculars) |
EUGLITOL (ยูกลิทอล) | AHPL |
MIGLIT (มิกลิท) | Biocon |
MIGNAR-MF (มิกนาร์-เอ็มเอฟ) | Glenmark (Healtheon) |
MIGSET (มิกเซท) | Cipla |
MIGTOR (มิกเตอร์) | Torrent (Delta) |
MINERVA (มิเนอร์วา) | Orchid (Diabetes) |
MISOBIT (มิโซบิท) | Lupin |
บรรณานุกรม
1.http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Miglitol[2015,Sept26]
2.https://en.wikipedia.org/wiki/Miglitol[2015,Sept26]
3.http://www.medicinenet.com/miglitol-oral/page3.htm[2015,Sept26]
4.http://www.drugs.com/cdi/miglitol.html[2015,Sept26]
5.http://www.drugs.com/drug-interactions/miglitol.html[2015,Sept26]
6.https://www.mims.com/India/drug/info/miglitol/?type=full&mtype=generic#Dosage[2015,Sept26]
7.https://www.mims.com/India/drug/search/?q=miglitol[2015,Sept26]