ไบกัวไนด์ (Biguanide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไบกัวไนด์ (Biguanide) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นของแข็งไม่มีสี ละลายน้ำได้ดี ทางคลินิกได้นำไบกัวไนด์มาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยมีข้อดีไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาต้านโรคมาลาเรียและยายับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอีกด้วย อาจจำแนกอนุพันธุ์หรือยากลุ่มไบกัวไนด์ออกเป็นรายการย่อยดังนี้เช่น

  • Metformin: ใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นยาชนิดรับประทาน ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 50 - 60% มีการขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
  • Phenformin: เป็นยาต้านเบาหวานที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) แต่ถูกเพิกถอนการใช้ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) เนื่องจากก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายโดยทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในเลือดรวมถึงเนื้อเยื่อต่างๆหรือที่เรียกว่า Lactic acidosis
  • Buformin: ใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานโดยมีรูปแบบของยารับประทาน การดูดซึมจากทางเดินอาหารอยู่ในช่วงประมาณ 40 - 60% และขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
  • Proguanil: ใช้เป็นยาป้องกันโรคมาลาเรียชนิดรับประทานที่มักใช้กับเด็ก ตัวยาอยู่ในร่าง กายนานประมาณ 20 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งโดยกำจัดออกทางปัสสาวะ
  • Chlorproguanil: ใช้เป็นยาอีก 1 ตัวของกลุ่มไบกัวไนด์ที่ใช้ต้านโรคมาลาเรีย
  • Bisbiguanide: จัดเป็นเคมีภัณฑ์ที่นำมาใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยแบ่งเป็นรายการย่อยได้อีกเช่น Chlorhexidine, Polihexanide, Polyaminopropyl biguanide และ Alexidine

*อนึ่ง การเลือกใช้ยาในกลุ่มไบกัวไนด์ชนิดใดนั้นควรต้องเป็นไปตามความเห็นและผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ไบกัวไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไบกัวไนด์

ยาไบกัวไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อโรคมาลาเรีย
  • ใช้เป็นยาป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโดยใช้เป็นยาภายนอก

ไบกัวไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไบกัวไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้

ก. สำหรับรักษาโรคเบาหวาน: ยากลุ่มไบกัวไนด์เช่น Metformin และ Buformin จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จากทางเดินอาหาร และช่วยกระตุ้นให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายมีความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้เกิดการใช้น้ำตาลได้เต็มประสิทธิภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคสจากตับ และออกฤทธิ์แข่งขันกับฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon, ฮอร์โมนเพิ่มน้ำตาลในเลือด) จากกลไกทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์รักษาโรคเบาหวาน

ข. สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย: ยากลุ่มไบกัวไนด์พวก Proguanil จะเข้าไปจับกับเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรียหรือที่เรียกว่า DHFR (Dihydrofolate reductase) enzyme อีกทั้งยังยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกรดโฟลิก (Folic acid) ในตัวเชื้อมาลาเรียส่งผลให้เสียสมดุลทางชีวภาพในการดำรงชีวิตและทำให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

ค. สำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย: เช่น Chlorhexidine และ Polyaminopropyl biguanide จะออกฤทธิ์เข้าจับกับผนังเซลล์ของแบคทีเรียทำให้เกิดความเสียหายต่อผนังเซลล์ อีกทั้งลดความสามารถในการควบคุมการซึมผ่านของน้ำและอาหารในตัวแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

ไบกัวไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไบกัวไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานสำหรับรักษาโรคเบาหวาน
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานสำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย
  • สารละลายเข้มข้นสำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโดยใช้ทาภายนอก
  • เป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปาก

ไบกัวไนด์มีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดรับประทานและการบริหารยา/การใช้ยากลุ่มไบกัวไนด์มีแยกย่อยรักษาตามอาการโรค เช่น รักษาโรคเบาหวาน ป้องกันโรคมาลาเรีย และเป็นยาใช้ภายนอก แพทย์จะเป็นผู้บริหารยาได้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด หรือบริหารยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไบกัวไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไบกัวไนด์อาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไบกัวไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มไบกัวไนด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ต่างๆดังนี้เช่น มีอา การท้องเสียและอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยบางรายจะเกิดภาวะร่างกายเป็นกรด (Lactic acidosis) ซึ่งเกิดจากการรับประทาน Buformin และ Phenformin มากกว่า Metformin ท้องอืด คลื่นไส้ อา เจียน เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นตะคริว อาจเกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 เหงื่อออกมาก ผื่นคัน การรับรู้รสชาติอาหารเปลี่ยนไป

มีข้อควรระวังการใช้ไบกัวไนด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไบกัวไนด์ดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยา Metformin และ Buformin รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1
  • ห้ามใช้ยากลุ่มไบกัวไนด์กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยด้วยภาวะร่างกายเป็นกรดชนิด Metabolic acidosis
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการขาดวิตามินบี 12 ระหว่างใช้ยากลุ่มไบกัวไนด์
  • ระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไบกัวไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไบกัวไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไบกัวไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยา Metformin ร่วมกับยา Sulfonylureas อาจทำให้ฤทธิ์ของ Metformin เพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะ สมเป็นรายบุคคลไป
  • การรับประทานยา Proguanil ร่วมกับ Calcium carbonate อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Proguanil ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Proguanil ร่วมกับยา Cloxacillin จะทำให้ลดการดูดซึมของยา Cloxacillin หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาไบกัวไนด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไบกัวไนด์ดังนี้เช่น

  • สำหรับยาหมวดไบกัวไนด์ชนิดรับประทาน ให้เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สำหรับยาหมวดไบกัวไนด์ชนิดใช้เป็นยาใช้ภายนอก สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องที่เย็น

*อนึ่ง ไม่เก็บยาเหล่านี้ในตู้แช่แข็งของตู้เย็น ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไบกัวไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไบกัวไนด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actosmet (แอคโทเมท) Takeda
Amaryl M (อะมาริล เอ็ม) sanofi-aventis
Amaryl M SR (อะมาริล เอ็ม เอสอาร์) sanofi-aventis
Ammiformin (แอมมิฟอร์มิน) MacroPhar
Deglucos (ดีกลูโคส) Suphong Bhaesaj
Deson (ดีซัน) Unison
Diamet (ไดอะเมท) Weifa
Diaslim (ไดอะสลิม) Community Pharm PCL
Formin (ฟอร์มิน) Pharmaland
Galvus Met (แกลวุส เมท) Novartis
Gluco (กลูโค) Masa Lab
Glucoles (กลูโคเลส) T Man Pharma
Glucolyte (กลูโคไลท์) T. O. Chemicals
Glucophage (กลูโคฟาก์) Merck
Glucophage XR (กลูโคฟาก์ เอ็กอาร์) Merck
Glugon (กลูกอน) K.B. Pharma
Glustress (กลูเทรส) Charoon Bhesaj
Maformin (มาฟอร์มิน) Pharmadica
ME-F (มี - เอฟ) Thai Nakorn Patana
Metfor (เมทฟอร์) Millimed
Adebit (อะเดบิท) Zentiva
Biforon (ไบฟอรอน) Meiji
Bigunal (บิกูนอล) Shun Hwa
Ziavetine (ซีเอเวทีน) Teikoku Kagaku
Malanil (มาลานิล) GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Biguanide [2015,June27]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Metformin [2015,June27]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Buformin [2015,June27]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Proguanil [2015,June27]
  5. http://www.mims.com/USA/drug/info/Metformin%20Hydrochloride/Metformin%20Hydrochloride%20Tablet,%20Extended%20Release?type=full [2015,June27]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/alkums-with-atovaquone-proguanil-464-3793-278-0.html [2015,June27]
  7. http://www.mims.com/USA/drug/info/proguanil [2015,June27]