ไทโรทริซิน (Tyrothricin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ไทโรทริซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไทโรทริซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทโรทริซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทโรทริซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมอมยาควรทำอย่างไร?
- ไทโรทริซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทโรทริซินอย่างไร?
- ไทโรทริซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทโรทริซินอย่างไร?
- ไทโรทริซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
บทนำ:คือยาอะไร?
ไทโรทริซิน (Tyrothricin) คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มไซคลิกโพลี่เปปไทด์ (Cyclic polypeptide-antibiotic) ผลิตจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Brevibacillus brevis ซึ่งพบได้ในดิน อากาศ น้ำ และอินทรียวัตถุที่กำลังถูกย่อยสลายต่างๆที่ไม่รวมถึงแบคทีเรียที่ก่อโรค ทางคลินิกนำมาใช้ต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะที่เช่น เป็นยาเม็ดอมแก้เจ็บคอ
ยาไทโรทริซิน ไม่เหมาะสมที่จะทำเป็นยารับประทานที่มีการดูดซึมเข้าร่างกายโดยตรงด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างมาก สูตรตำรับที่พบเห็นในท้องตลาดมักจะผสมยาชาเบนโซเคน (Benzocaine) เพื่อทำให้อาการเจ็บปวดในบริเวณอักเสบรู้สึกดีขึ้น การใช้ยาไทโรทริซินในรูปแบบของยาอมแก้เจ็บคอนั้น แพทย์/เภสัชกรจะแนะนำให้อมยา ห้ามเคี้ยวหรือกลืน ด้วยวัตถุประสงค์ให้ตัวยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ตรงแผลหรือเนื้อเยื่อที่มีอาการอักเสบในช่องปากและคอเท่านั้น
หลังจากการอมยานี้ ไม่ควรรับประทานอาหารอื่นใดในทันที ควรบ้วนน้ำกลั้วคอให้สะอาดและรอให้ความรู้สึกสัมผัสภายในปากและลำคอกลับมาเหมือนเดิมก่อน การอมยาโดยเฉลี่ยภายใน 1 วันไม่ควรเกิน 8 เม็ด และไม่ควรอมยาติดต่อกันถึง 5 วัน
หลังการบำบัดการเจ็บคอ/คออักเสบด้วยยานี้สักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือหลังอมยาแล้วมีอาการ เจ็บคอมากขึ้นควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วด้วยอาจเกิดการติดเชื้อแบบรุกราน ดัวยยาไทโรทริซินไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดแกรมลบได้ ดังนั้นการใช้ยานี้ในการรักษาอาการเจ็บคอควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยเช่นกัน
การเลือกใช้ยาไทโรทริซินควรพิจารณาข้อมูลด้านความปลอดภัยเบื้องต้นของการใช้ยาเช่น
- เคยมีประวัติแพ้ยาไทโรทริซินหรือส่วนประกอบอื่นในสูตรตำรับหรือไม่
- การใช้ยานี้กับเด็กเป็นข้อห้ามและต้องระวังด้วยจะส่งผลต่อระบบเลือด (เช่น ทำให้เกิดภาวะ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก)โดยเฉพาะกับเด็กทารกและเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีลงมา
- ต้องระวังการติดเชื้อโรคชนิดอื่นแทรกซ้อนเข้ามาในระหว่างที่ใช้ยานี้
- กรณีของสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุน การใช้ยาไทโรทริซินกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องเป็นไปตามความคิดเห็นของแพทย์
- มีภาวะเบาหวานที่เป็นโรคประจำตัวอยู่หรือไม่ หรือมีภาวะฟันผุอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ยาไทโรทริซินจัดเป็นยาอันตราย การใช้อย่างเหมาะสมปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ผู้บริโภคอาจขอคำแนะนำการใช้ยาแก้อักเสบติดเชื้อประเภทเม็ดอมในปากได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
ไทโรทริซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไทโรทริซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก และ แบคทีเรียกลุ่มคอคไค (Cocci)
- แต่อาจรักษายับยั้งโรคเชื้อรา และ เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ได้บ้างบางชนิด
ไทโรทริซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทโรทริซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด แกรมบวกทำให้หยุดการเจริญเติบโต โดยสามารถใช้ได้ในแบบยาเดี่ยวหรือผสมกับยาอื่น เพื่อรักษาการติดเชื้อเฉพาะที่ทั้งในช่องปาก ลำคอ และที่ผิวหนังกรณีใช้เป็นยาทาผิวหนัง
ไทโรทริซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาไทโรทริซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดลูกอมในปากที่ผสมร่วม กับยาอื่น เช่น
- Tyrothricin 2 มิลลิกรัม + Benzocaine 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- Tyrothricin 0.5 มิลลิกรัม + Benzalkonium chloride (สารระงับเชื้อ) 1 มิลลิกรัม + Benzocaine5 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dequalinium Chloride (สารระงับเชื้อ) 250 ไมโครกรัม + Tyrothricin 1 มิลลิกรัม/เม็ด
ไทโรทริซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
สำหรับประเทศไทย เราจะพบเห็นยาไทโรทริซินในรูปแบบยาเม็ดชนิดอม/ยาลูกอมเป็นส่วนใหญ่โดยมีขนาดการใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุเกิน 3 ปีขึ้นไป: เช่น อมครั้งละ 1 เม็ดทุก 3 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ห้ามใช้ยานี้ด้วยตัวยาอาจจะมีผลข้างเคียงต่อระบบเลือดของเด็ก เช่น โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไทโรทริซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/อมยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทโรทริซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมอมยาควรทำอย่างไร?
หากลืมอมยาไทโรทริซิน สามารถอมยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการอมยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไทโรทริซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทโรทริซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดแผลในช่องปากและคอ
- ประสาทสัมผัสในการรับรสชาติอาจเปลี่ยนไปหลังอมยานี้
- อาจพบการติดเชื้อซ้ำซ้อนในช่องปากและคอโดยเป็นชนิดที่ไม่ตอบสนองกับยานี้ เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น
- การอมยานี้มากเกินขนาดที่แพทย์สั่ง อาจทำให้ตับ-ไตทำงานหนัก หรืออาจพบภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
มีข้อควรระวังการใช้ไทโรทริซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโรทริซินเช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการอมยาเพิ่มขึ้นด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี
- ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
- ห้ามเคี้ยวยานี้แล้วกลืน ให้ใช้วิธีอมยาโดยทำตามคำแนะนำของแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หากมีอาการแพ้ยาหลังอมยานี้ให้หยุดการใช้ยาแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไทโรทริซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไทโรทริซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ทางคลินิกยังไม่มีฐานข้อมูลที่รายงานปฏิกิริยาระหว่างยาไทโรทริซินกับยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาไทโรทริซินอย่างไร?
ควรเก็บยาไทโรทริซิน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไทโรทริซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทโรทริซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Troneo (โทรนิโอ) | Thai Nakorn Patana |
Trocacin (โทรคาซิน) | Nakornpatana |
Tonsilon (ทอนซิลอน) | Charoon Bhesaj |
Jawkepta (จอว์เคปตา) | Charoon Bhesaj |
Deq (เดค) | Atlantic Lab |
Iwazin (ไอวาซิน) | Masa Lab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tyrothricin [2022,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Brevibacillus_brevis [2022,April16]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/tyrothricin?mtype=generic [2022,April16]
- https://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1552&drugName=Tyrothricin&type=1 [2022,April16]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB13503 [2022,April16]
- https://www.medindia.net/doctors/drug_information/tyrothricin.htm [2022,April16]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=2A&rcno=5700029&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,April16]