ไทอะเบนดาโซล (Tiabendazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไทอะเบนดาโซล (Thiabendazole) เป็นยาที่สามารถกำจัดและยับยั้งโรคพยาธิรวมไปถึง การเกิดเชื้อราในผลไม้

การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การศึกษาถึงความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า หลังรับประทาน ยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีเมื่ออยู่ในทางเดินอาหาร ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดจะเพิ่มสูงสุดเมื่อใช้เวลา 1 - 2 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ

มีการศึกษาด้านความปลอดภัยเมื่อใช้ยานี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า การได้รับยานี้ในขนาดใดที่เหมาะสมต่อการรักษาโรคพยาธิแต่ละชนิด อย่างไรก็ตามยาไทอะเบนดาโซลก็มีผลข้างเคียงที่ต้องคอยเฝ้าระวังเพราะอาจเป็นอันตรายหากใช้ผิดขนาด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย การใช้ยานี้จึงควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ยาไทอะเบนดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไทอะเบนดาโซล

ยาไทอะเบนดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylosis) ที่มักก่อให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ผู้ป่วยบางรายอาจพบพยาธิชนิดนี้เข้าไปอยู่ที่ลูกตาและก่อให้ลูกตาอักเสบได้
  • รักษาโรคพยาธิแคปิลาเรีย (Capillariasis) ซึ่งเกิดจากพยาธิที่อยู่ในปลาและในนก และมีรายงานว่าการมีเชื้อพยาธิชนิดนี้มากๆในร่างกายอาจทำให้ตายได้
  • รักษาโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis) สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีการปน เปื้อนของไข่พยาธิหรือตัวอ่อน ซึ่งสามารถไชเข้าสู่ปอดและออกมายังทางเดินหายใจได้
  • รักษาโรคพยาธิปากขอ (Hookworm) ติดต่อโดยพยาธิไชเข้าผิวหนังบริเวณง่ามเท้า
  • รักษาโรคพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)
  • รักษาโรคพยาธิแส้ม้า (Whipworm) ที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบ
  • ฆ่าตัวอ่อนของพยาธิต่างๆในลำไส้ที่สามารถไชเข้าไปตามอวัยวะในร่างกายของคน (Visceral larva migrans)
  • รักษาโรคพยาธิกีเนีย (Dracunculiasis, Guinea worm) โรคพยาธิที่ก่อให้เกิดการอัก เสบของผิวหนัง กล้ามเนื้อ และข้อ
  • รักษาโรคพยาธิทริคิโนซิส (Trichinosis) พยาธิลำไส้ชนิดตัวกลมชนิดหนึ่ง

ยาไทอะเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไทอะเบนดาโซล มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สำคัญ บางชนิดที่ช่วยการเจรืญเติบโตของพยาธิ เช่น ฟูมาเรต รีดักเตส (Fumarate reductase) อีกทั้ง ยังยับยั้งการสร้างไข่และตัวอ่อนของพยาธิอีกด้วย

ยาไทอะเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไทอะเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาไทอะเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไทอะเบนดาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคพยาธิหอยโข่ง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) อายุมากกว่า 2 ปี: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็น เวลา 3 วัน

ข. สำหรับรักษาโรคพยาธิแคปิลาเรีย: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 30 วัน
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปี รับประทานเช่นเดียวกับผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 30 วัน

ค. สำหรับรักษาโรคพยาธิไส้เดือน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว หรือรับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

ง. สำหรับรักษาโรคพยาธิปากขอ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว

จ. สำหรับรักษาหนอนพยาธิไชผิวหนัง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน หากจำเป็นอาจให้ยาซ้ำได้อีกหลังรับประทานยารอบแรกไปแล้ว 2 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่ เกิน 3 กรัม/วัน

ฉ. สำหรับรักษาโรคพยาธิทริคิโนซิส: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 4 วันติดต่อกัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยาไทอะเบนดาโซล หลังอาหาร และควรเคี้ยวก่อนกลืน
  • ในการติดเชื้อพยาธิต่างๆดังกล่าว ในกรณีที่ไม่ระบุการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่างๆ เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษายังไม่เพียงพอที่จะแนะนำเป็นขนาดยามาตรฐาน ดังนั้นการใช้ยานี้รวมถึงขนาดยาในเด็กกลุ่มนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงไทอะเบนดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะเบนดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไทอะเบนดาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไทอะเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไทอะเบนดาโซลสามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • วิงเวียนศีรษะ
  • รู้สึกปั่นป่วนในช่องทางเดินอาหาร
  • ผื่นคันตามผิวหนัง
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • ตาพร่ามัว
  • หัวใจเต้นช้า
  • ความดันโลหิตต่ำล
  • อาจมีผลกระทบต่องานทำงานของตับ/ ตับอักเสบ
  • *โดยผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น
    • กลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
    • ตับถูกทำลาย (ตับวาย)

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะเบนดาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะเบนดาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับการติดเชื้อพยาธิมากกว่า 1 ชนิดที่มีการติดเชื้อของพยาธิไส้เดือนร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคขาดสารอาหาร ผู้ป่วยโลหิตจาง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ให้ระวังเรื่องการขับขี่หรือการควบคุมเครื่องจักร ด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอน จนส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทอะเบนดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไทอะเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไทอะเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาไทอะเบนดาโซล ร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline อาจเกิด การยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของยาขยายหลอดลมดังกล่าวจนกระทบต่อผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
  • การรับประทานยาไทอะเบนดาโซล ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Coumarin สามารถเพิ่มฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้มากยิ่งขึ้น หากไม่จำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาไทอะเบนดาโซลอย่างไร?

สามารถเก็บยาไทอะเบนดาโซล เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไทอะเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทอะเบนดาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Mintezol (มินทิซอล) Merck & Co Inc

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Tiabendazole [2020,Aug8]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fMintezol%2fMintezol%2520Suspension%3ftype%3dfull [2020,Aug8]
3 https://www.drugs.com/dosage/thiabendazole.html#Usual_Adult_Dose_for_Trichinosis [2020,Aug8]