ไทคาร์ซิลลิน (Ticarcillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทคาร์ซิลลินอย่างไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทคาร์ซิลลินอย่างไร?
- ไทคาร์ซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- คลาวูลาเนท (Clavulanate) หรือ กรดคลาวูลานิก (Clavulanic acid)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไทคาร์ซิลลิน (Ticarcillin) คือ ยาปฏิชีวนะที่อยู่ในกลุ่ม Carboxypenicillin มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ตัวยาไทคาร์ ซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะไม่กี่ตัวที่สามารถต่อต้านเชื้อ Stenotrophomonas maltophillia กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้คือยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ในตัวแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต
ผลข้างเคียงของยาไทคาร์ซิลลินอาจทำให้เกิดอาการต่อผิวหนัง ต่อระบบทางเดินอาหาร ต่อการทำงานของหัวใจ รวมถึงต่อระบบเลือดในร่างกายมนุษย์
ยาไทคาร์ซิลลินไม่สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ จึงมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็น ยาฉีด ตัวยาสามารถละลายน้ำได้ดี ในทางคลินิกเมื่อละลายตัวยาเพื่อเตรียมฉีดให้กับผู้ป่วยควรใช้ยานี้ทันทีทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมสลายของยาไทคาร์ซิลลินนั่นเอง
ในสูตรตำรับของยาไทคาร์ซิลลินอาจจะมีส่วนผสมของยาคลาวูลาเนท (Clavulanate) (ยาปฏิชีวนะที่ใช้เพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะชนิดอื่น) ร่วมด้วย
สรรพคุณทางคลินิกได้นำยาไทคาร์ซิลลินมารักษาการติดเชื้อของโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการติดเชื้อที่ ผิวหนัง ปอด ข้อกระดูก และ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) อีกด้วย
ยังมีข้อมูลสำคัญบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับยาไทคาร์ซิลลิน เช่น
- ยาไทคาร์ซิลลินใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอาการป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัส
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆอาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อประเภทอื่นๆตามมา เช่น โรคเชื้อรา แพทย์จึงไม่แนะนำการใช้ยาไทคาร์ซิลลินเป็นเวลานานเกินไป
- อาจพบอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงกับผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะไทคาร์ซิลลิน
- ขณะที่มีการใช้ยาไทคาร์ซิลลินแพทย์อาจต้องตรวจสอบการทำงานของระบบเลือดและไตของผู้ป่วยร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่าเกิดความผิดปกติต่อระบบดังกล่าวของร่างกายจากยานี้หรือไม่
- ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้จนครบขนาดมาตรฐานของการให้ยาถึงแม้จะมีอาการดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อเกิดการดื้อยา
- ยาไทคาร์ซิลลินสามารถทำให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป หากใช้ยาร่วมกัน แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใส่ถุงยางอนามัยชาย นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับกลุ่มยา Tetracyclines ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาในกลุ่ม Aminoglycoside
ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นด้วยต้องอาศัยผลการตรวจร่างกายมาประกอบกัน เพื่อทำการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมถูกต้องและปลอดภัย
ไทคาร์ซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไทคาร์ซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- รักษาการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ)
- รักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
- รักษาการติดเชื้อโรคปอดบวม
- รักษาการติดเชื้อที่ข้อและกระดูก เช่น กระดูกอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
ไทคาร์ซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทยคาร์ซิลลินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ (เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถขยายพันธุ์และตายลงในที่สุด
ไทคาร์ซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทคาร์ซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 1, 3, 20 และ 30 กรัม/ขวด
- ยาฉีดที่มีส่วนผสมของยาอื่น เช่น
- Clavulanic Acid (ยาคลาวูลาเนท) 100 มิลลิกรัม + Ticarcillin 3 กรัม/ขวด
- Clavulanic Acid 200 มิลลิกรัม + Ticarcillin 3 กรัม/ขวด
ไทคาร์ซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดยาไทคาร์ซิลลินจะขึ้นกับชนิดโรคและความรุนแรงของอาการโรค รวมถึงดุลพินิจของแพทย์ ดังนั้นในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้เฉพาะในบางโรค เช่น
ก. สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: กรณีติดเชื้อที่มีความซับซ้อนหรือรุนแรงมาก ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3 กรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 14 วัน, กรณีที่ติดเชื้อที่มีความรุน แรงต่ำให้ฉีดยาขนาด 1 กรัมเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: กรณีติดเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 50 - 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งฉีดทุกๆ 6 - 8 ชั่ว โมง หากเด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไปให้ใช้ขนาดเดียวกันกับของผู้ใหญ่, กรณีติดเชื้อที่มีความรุนแรงมากให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 150 - 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิ โลกรัม/วันโดยแบ่งฉีดทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง กรณีที่เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไปให้ใช้ขนาดเดียวกันกับของผู้ใหญ่
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงขนาดการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 3 กรัมทุก 4 ชั่วโมงเป็น เวลา 14 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: ฉีดยาขนาด 200 - 300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เข้าหลอดเลือดดำโดยแบ่งการให้ยาเท่าๆกันทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงขนาดการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไทคาร์ซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทคาร์ซิลลินอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไทคาร์ซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทคาร์ซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสียลักษณะถ่ายเหลวหรือกระทั่งมีเลือดปน
- เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- อ่อนเพลีย
- ปากคอแห้ง
- กระหายน้ำ
- รู้สึกสับสน
- ปัสสาวะมาก
- ปวดกล้ามเนื้อ
- หัวใจเต้นเร็ว
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวดตามร่างกาย
- อาจมีผื่นคัน
- หูดับ
- ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการติดเชื้อยีสต์/Yeast (เชื้อราประเภทหนึ่งมักพบในบริเวณช่องคลอด)
มีข้อควรระวังการใช้ไทคาร์ซิลลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทคาร์ซิลลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ให้หยุดใช้ยานี้ทันทีกรณีตรวจพบร่างกายผู้ป่วยมีการติดโรคเชื้อราหรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆที่ไม่ตอบสนองต่อยาไทคาร์ซิลลิน ซึ่งแพทย์จะเปลี่ยนยานี้และปรับแนวทางการรักษาใหม่
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นก็ยังต้องใช้ยานี้จนครบมาตรฐานของการรักษา
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทคาร์ซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไทคาร์ซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทคาร์ซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ไทคาร์ซิลลิน ร่วมกับยา Methotrexate อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก Methotrexate ได้มากขึ้นโดยจะแสดงอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปากเป็นแผล เม็ดเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไทคาร์ซิลลิน ร่วมกับยา Tetracycline จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไทคาร์ซิลลินด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไทคาร์ซิลลินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Ethinyl Estradiol อาจเป็นเหตุให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงจนเกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมาได้ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยชาย
ควรเก็บรักษาไทคาร์ซิลลินอย่างไร?
ควรเก็บยาไทคาร์ซิลลิน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไทคาร์ซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทคาร์ซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
CLATIPLUS (คลาไทพลัส) | Fusion |
Timentin (ไทเมนติน) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ticarcillin [2022,April16]
- https://www.drugs.com/dosage/ticarcillin.html [2022,April16]
- https://www.drugs.com/dosage/ticarcillin.html#Usual_Adult_Dose_for_Urinary_Tract_Infection [2022,April16]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ticarcillin-index.html?filter=2&generic_only= [2022,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carboxypenicillin [2022,April16]
- https://www.rxlist.com/timentin-injection-drug.htm [2022,April16]