ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline or Xylomethazoline)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline หรือ Xylomethazoline) คือ ยาลดอาการคัดจมูกในรูปแบบของยาพ่นจมูก หรือ ยาหยอดจมูก,  จะพบเห็นการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Otrivine’, โดยมีขนาดความเข้มข้นของตัวยา 2 ระดับ คือ ความเข้มข้น 0.1% จะใช้กับผู้ใหญ่, ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมาจะใช้ที่ความเข้มข้น 0.05%

ทั้งนี้ การใช้ยาไซโลเมตาโซลีนนี้บ่อยและเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ จะเกิดผลสะท้อนกลับหรือที่เรียกว่า ‘Rebound effect (การกลับมาคัดจมูกอีก และอาการอาจมากกว่าเดิมซึ่งเกิดจากผลข้างเคียงจากยานี้ ไม่ใช่จากโรค)’  ผลสะท้อนกลับนี้จะเกิดขึ้นเมื่อหยุดการใช้ยา  หลังใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน,ที่ร่างกายต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักระยะหรืออาจจะใช้เวลานานกว่าจะฟื้นสภาพคัดจมูกและมักไม่มียาอื่นรักษาได้

องค์การอนามัยโลก ระบุให้ยาไซโลเมตาโซลีนเป็นรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรต้องมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกอันมีสาเหตุมาจากเป็นโรคหวัด, ไข้ละอองฟาง, หรือจากการแพ้ต่างๆ, รวมถึงการติดเชื้อในโพรงไซนัส/ไซนัสอักเสบ  

ตัวยานี้จะทำให้หลอดเลือดในจมูกมีการหดตัว ทำให้ลดการขับน้ำมูก และทำให้จมูกแห้ง ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเกิดได้อย่างรวดเร็วหลังการใช้ยานี้

ข้อจำกัดบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาไซโลเมตาโซลีน เช่น

  • ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไซโลเมตาโซลีน
  • ต้องไม่ป่วยด้วย โรคความดันโลหิตสูง  ต่อมลูกหมากโต หรือมีภาวะปัสสาวะขัด   โรคเบาหวาน   โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  หรือป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะอาการป่วยดังกล่าวจะกำเริบมากขึ้นหลังใช้ยาไซโลเมตาโซลีน
  • หากเป็นสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้ง
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา หากจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับ คำสั่งจากแพทย์ก่อน

ทั่วไป แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยาไซโลเมตาโซลีนติดต่อกันเกินประมาณ 3 วันโดยเฉพาะกับเด็กเพื่อป้องกันภาวะ Rebound effect, และรวมถึงอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ใช้ยานี้  เช่น ตาพร่า จมูกแห้ง วิงเวียนศีรษะ, ดังนั้นจึงต้องใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ไซโลเมตาโซลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาไซโลเมตาโซลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • เพื่อลดและบรรเทาอาการ คัดจมูก หายใจไม่ออก อันมีสาเหตุจากโรคหวัด, ไข้ละอองฟาง, จากอาการแพ้ต่าง, รวมถึงการติดเชื้อในโพรงไซนัส/ไซนัสอักเสบ

ไซโลเมตาโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซโลเมตาโซลีน คือตัวยาจะแสดงฤทธิ์เป็นสารประเภท Sympathomimetic ส่งผลทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกที่ได้รับยานี้เกิดการหดตัว ส่งผลลดบวมและลดปริมาณสารคัดหลั่งต่างๆในโพรงจมูก จึงทำให้จมูกแห้ง, จึงลด/บรรเทาอาการคัดจมูกตามสรรพคุณ

ไซโลเมตาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซโลเมตาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาพ่นจมูก ขนาดความแรง 0.05% และ 0.1%

ไซโลเมตาโซลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/ใช้ยาไซโลเมตาโซลีนเฉพาะที่เป็นยาพ่นจมูก: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: เช่น พ่นยาขนาดความเข้มข้น 0.1% เข้ารูจมูกข้างละ 1 ครั้ง, พ่นยา 3 ครั้ง/วัน หรือตามคำสั่งแพทย์ ระยะเวลาการใช้ยา ไม่ควรเกิน 7 วัน
  • เด็กอายุ 2 - ต่ำกว่า 12 ปี: เช่น พ่นยาขนาดความเข้มข้น 0.05% เข้ารูจมูกข้างละ 1 - 2 ครั้ง ทุกๆ 8 - 10 ชั่วโมง, ระยะเวลาการใช้ยากับเด็กกลุ่มนี้ไม่ควรเกิน 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลผลข้างเคียงที่แน่ชัดของยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซโลเมตาโซลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไซโลเมตาโซลีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาไซโลเมตาโซลีน สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไซโลเมตาโซลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซโลเมตาโซลีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) กับระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ทำให้มีอาการตาพร่า ขอบตาบวม
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการวิงเวียน ปวดหัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะชีพจรเต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจลำบาก, หายใจเสียงหวีด 
  • ผลต่อโพรงจมูก: เช่น จมูกแห้ง  มีอาการแสบคัน เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้น อาจเกิด Rebound effect

มีข้อควรระวังการใช้ไซโลเมตาโซลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโลเมตาโซลีน:  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้เองโดยไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กเล็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
  • ยานี้รักษาที่อาการปลายเหตุ เมื่อซื้อยานี้ใช้เองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2 - 3 วัน ควรรีบ พบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลเพื่อค้นหาต้นเหตุที่แท้จริงของการคัดจมูกและทำการรักษาโดยเร็ว
  • ระวังการเกิดภาวะ Rebound effect
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยา และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • เรียนรู้วิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล หรือทวนสอบวิธีใช้ยานี้จากเอกสารกำกับยา/ฉลากยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้งเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโลเมตาโซลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซโลเมตาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซโลเมตาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาไซโลเมตาโซลีน ร่วมกับยา Arformoterol,  Salbutamol /Albuterol, Terbutaline, Salmeterol, Vilanterol,  อาจทำให้ หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความดันโลหิตสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ยาหลายรายการที่ใช้ ร่วมกับยาไซโลเมตาโซลีน สามารถทำให้มีผลข้างเคียง เช่น  ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หากใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้อย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป, ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Isocarboxazid, Guanethidine, Rasagiline , Reserpine, Tapentadol (ยาแก้ปวด), Selegiline

ควรเก็บรักษาไซโลเมตาโซลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไซโลเมตาโซลีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไซโลเมตาโซลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซโลเมตาโซลีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Otrivin (โอทริวิน) Novartis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Xylometazoline   [2022,Dec24]
  2. https://www.drugs.com/sfx/xylometazoline-nasal-side-effects.html  [2022,Dec24]
  3. https://www.mims.com/india/drug/info/xylometazoline?type=full&mtype=generic  [2022,Dec24]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB06694  [2022,Dec24]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/xylometazoline?mtype=generic  [2022,Dec24]
  6. https://patient.info/medicine/xylometazoline-for-nasal-congestion-otrivine-sudafed  [2022,Dec24]