ไกลคลาไซด์ (Gliclazide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาไกลคลาไซด์ (Gliclazide) คือ ยาเบาหวานประเภท 2 (Diabetes mellitus type 2) อยู่ในกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) รุ่นที่ 2 ยานี้เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่ยังมีเซลล์ของ\ตับอ่อนทำงานได้ดี

ยาไกลคลาไซด์สามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหาร โดยมีการกระจายตัวเข้าสู่ร่างกาย ได้สูงถึงประมาณ 97% หลังการรับประทาน ระดับยานี้จะมีความเข้มข้นในกระแสเลือดสูงสุดโดยใช้เวลาประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 94 - 95% จากนั้นจะมีการลำเลียงยาไปยังตับเพื่อปรับเปลี่ยนไปเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 12 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้จำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

มีข้อพึงระวังสำหรับการใช้ยาชนิดนี้โดยแพทย์จะสอบถามตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียดเช่น

  • เคยแพ้ยาไกลคลาไซด์มาก่อนหรือไม่
  • ผู้ป่วยต้องไม่ได้ป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 1
  • ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะแทรกซ้อนอื่นอยู่หรือไม่เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis)
  • หากเป็นสตรีต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาเอง
  • มีอายุต่ำกว่า 14 ปีหรือไม่
  • รับประทานยา Miconazole อยู่หรือไม่ หรือรับประทานยาชนิดใดอยู่บ้าง
  • เป็นมังสวิรัติหรืออยู่ในช่วงลดน้ำหนักจำกัดอาหารหรือไม่
  • ติดสุราหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบมากน้อยเพียงใด และยังมีรายละ เอียดอีกมากที่ไม่สามารถนำมาแจกแจงในบทความนี้ได้อย่างครบถ้วน

แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด หากเห็นสมควรจะทำการจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งไกลคลาไซด์มีอยู่หลายขนาดความแรง โดยผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในการใช้ยา โดยไม่ปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

ไกลคลาไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไกลคลาไซด์

ยาไกลคลาไซด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ไกลคลาไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไกลคลาไซด์คือ ตัวยาจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากเบต้าเซลล์ (Beta cell, เซลล์สร้างอินซูลิน) ในตับอ่อน และยังช่วยลดการดูดกลับของอินซูลิน รวมถึงยับ ยั้งมิให้ตับปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคส (Glucose) เข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้ยาไกลคลาไซด์ยังกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายตื่นตัวกับอินซูลินในการเร่งใช้น้ำตาลจากกระแสเลือด จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ไกลคลาไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไกลคลาไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 30, 40, 60 และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Gliclazide 80 มิลลิกรัม + Metformin HCl 500 มิลลิกรัม/เม็ด

ไกลคลาไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไกลคลาไซด์มีขนาดรับประทาน:

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 30 - 120 มิลลิกรัม/วันโดยรับประทานเพียงครั้งเดียวก่อนอาหารเช้า
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการจัดทำขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไกลคลาไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไกลคลาไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไกลคลาไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไกลคลาไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไกลคลาไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งจะแสดงออกโดยมีอาการ ปวดหัว หิวอาหาร คลื่นไส้- อาเจียน ง่วงนอน ใจสั่น หงุดหงิดง่าย สมาธิต่ำลง การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน พูดจาติดขัด ตัวสั่น วิงเวียน รู้สึกไม่มีแรง บางรายจะมีอาการชักตามมา หัวใจเต้นช้า
  • อาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ปวดท้อง, ท้องอืด, ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก, อาจมีโรคซีด ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เกิดภาวะตับอักเสบ มีอาการตัวเหลือง หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

*อนึ่ง: การได้รับยานี้เกินขนาด: อาจพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง อาจมีอาการเข้าขั้นโคม่า และมีภาวะชักร่วมด้วย หากพบเห็นอาการเช่นนี้ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไกลคลาไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกลคลาไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) หรือแพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide)
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะตับวาย ไตวาย
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Miconazole
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างมาก
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงในเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ผู้ป่วยควรเรียนรู้จากแพทย์พยาบาลถึงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำว่ามีอาการอย่างไร สามารถ แก้ไขหรือช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นอย่างไร ประการสำคัญจะป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อย่างไร เพื่อจะได้ดูแลตนเองได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ควบคุมมื้ออาหารตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลและ/หรือโภชนากรเพื่อสนับสนุนการทำงานของยารักษาเบาหวานให้มีประสิทธิภาพ
  • กรณีที่ต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ต้องเพิ่มความระมัดระวังด้วยร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสามารถกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดได้น้อยลง ทำให้ตัวยานี้อยู่ในร่างกายได้นานขึ้นจึงเสี่ยงกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายทุกวัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรตรวจสอบน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่
  • หากพบอาการแพ้ยาต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไกลคลาไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไกลคลาไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไกลคลาไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไกลคลาไซด์ ร่วมกับยาบางกลุ่มจะส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตามมา ยา กลุ่มดังกล่าว เช่นยา Insulin, Biguanides, Sulfonamides, Clofibrate, Salicylates, Coumarin, Chloramphenicol, ยาในกลุ่ม MAOIs, Beta-blockers, Cimetidine, ACE inhibitors, Fluconazole, Miconazole, และยากลุ่ม NSAIDs หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไกลคลาไซด์ ร่วมกับยาบางกลุ่ม เช่นยา Barbiturates, Chlorpromazine/ยาจิตเวช, Danazol (ยารักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่), Glucocorticoids, Progestogens, Salbutamol, Terbutaline (ยาขยายหลอดลม), ยาขับปัสสาวะจำพวกThiazide และยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประ กอบของเอสโตรเจน (Estrogen) สามารถทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาไกลคลาไซด์กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ควรเก็บรักษาไกลคลาไซด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไกลคลาไซด์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาไว้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไกลคลาไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไกลคลาไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Beclazide MR (เบคลาไซด์) Berlin Pharm
Cadicon (คาดิคอน) Central Poly Trading
Clazide (คลาไซด์) Pharmahof
Diabeside (ไดอะบีไซด์) Chew Brothers
Diacose (ไดอะคอส) T.Man Pharma
Dicron 80 (ไดครอน 80) T P Drug
Diglucron (ไดกลูครอน) Community Pharm PCL
Diamicron (ไดอะไมครอน) Servier
Diatica (ไดอะติกา) Unique
Dicaron (ไดคารอน) Suphong Bhaesaj
Dimetus (ไดมีตัส) Charoon Bhesaj
Gliclabit (ไกลคลาบิท) Polipharm
Gliclazide Medicpharma (ไกลคลาไซด์ เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Glycinorm-80 (ไกลซินอร์ม-80) Ipca
Glucid (กลูซิด) Utopion
Glucocron (กลูโคครอน) Farmaline
Glizid-M (ไกลซิด-เอ็ม) Panacea Biotec
Gluconox (กลูโคนอกซ์) Charoen Bhaesaj Lab
Glycon/Glycon MR (ไกลคอน/ไกลคอน เอ็มอาร์) Siam Bheasach
Medoclazide (เมโดคลาไซด์) Medochemie
Ranclazide MR (แรนคลาไซด์ เอ็มอาร์) Daiichi Sankyo

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gliclazide [2021,July31]
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/gliclazide?mtype=generic [2021,July31]
  3. https://www.mims.com/philippines/drug/info/diamicron%20mr%2060%20mg?type=full [2021,July31]
  4. https://www.mims.co.uk/drugs/diabetes/oral-and-parenteral-hypoglycaemics/gliclazide [2021,July31]
  5. https://www.medicinenet.com/gliclazide-oral_tablet/article.htm [2021,July31]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=gliclazide [2021,July31]