โอแลนซาปีน (Olanzapine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โอแลนซาปีน (Olanzapine) คือ ยารักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia), โรคไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder),  ตามกฎหมายไทย โอแลนซาปีน เป็นยาควบคุมพิเศษโดยต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์,  ทางคลินิกใช้ยานี้ได้ทั้งกับผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง, โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทาน 

โอแลนซาปีน จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคจิตเภทในลำดับต้นๆ, การใช้ยาชนิดนี้อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, ระดับกลูโคสและคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูง  

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของโอแลนซาปีนเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน (แต่อาจพบเห็นในรูปแบบของยาฉีดได้บ้าง),  ตัวยามีการดูดซึมได้  60-65% จากระบบทางเดินอาหาร,  ระดับยาในกระแสเลือดจะเพิ่มสูงสุดโดยใช้เวลา 5–8 ชั่วโมงหลังจากรับประทาน, ยาโอแลนซาปีนในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึง 93%, และถูกส่งไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีที่ตับ, ร่างกายต้องใช้เวลา 33–51.8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ 

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางกลุ่ม เช่น  มีปัญหาด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคลมชัก ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นเบาหวาน  ไขมันคอเลสเตอรอล และ/หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง มีโรคตับ ต้อหิน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคความจำเสื่อม/โรคสมองเสื่อม ต่อมลูกหมากโต  ระบบทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน  เป็นมะเร็งเต้านม เคยคิดฆ่าตัวตาย สตรีในภาวะตั้งครรภ์, โรค/สภาวะดังกล่าวควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนได้รับยาโอแลนซาปีนนี้                  

ยาโอแลนซาปีน ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี  ผู้ป่วยช่วงอายุวัยรุ่นอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังจากใช้ยานี้,  การใช้โอแลนซาปีนกับผู้ป่วยสูงอายุอาจทำให้สูญเสียความทรงจำได้อีก ทั้งก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงได้   

อนึ่ง: ตามข้อกำหนดในบัญชียาหลักแห่งชาติปี พ.ศ. 2565  ยาโอแลนซาปีนยังใช้ ป้องกันหรือรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากได้รับยาเคมีบำบัดที่กระตุ้นให้อาเจียนสูง (Highly emetogenic), และ/หรือ กรณีใช้ยามาตรฐานแล้วยังควบคุมความรุนแรงของการคลื่นไส้อาเจียนนั้นไม่ได้ (Resistance หรือ intractable nausea/vomiting) โดยระบุให้ใช้เป็นยาชนิดเม็ดแบบรับประทานขนาดความแรง 5 และ 10  มิลลิกรัม (ไม่รวมชนิดเม็ดละลายในปาก)

โอแลนซาปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โอแลนซาปีน-01

 

ยาโอแลนซาปีน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) / ข้อบ่งใช้: เช่น                                                       

  • รักษาอาการในโรคจิตเภท
  • รักษาอาการไบโพลาร์
  • ป้องกันหรือรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด

โอแลนซาปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดจากผลสรุปเรื่องการกระจายตัวของโอแลนซาปีนในร่างกายพบว่ายานี้จะเข้าจับกับตัวรับต่างๆในสมอง  เช่น Serotonin receptor 5HT2A/2C 5HT3 5HT6  , Dopamine receptor D1-4 Adrenergic alpha1 receptor , Multiple muscarinic receptors.1, 3 และ Histamine receptor H1, จากกลไกเหล่านี้อาจทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนสมดุลของสารสื่อประสาทชนิดต่างๆในสมอง และส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามมา

โอแลนซาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

โอแลนซาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5, 5 , 7.5 , 10 , 15 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด

โอแลนซาปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการรับประทานยาของโอแลนซาปีน อยู่ในช่วง 5 ถึง 20 มิลลิกรัม, วันละ 1 ครั้ง, โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น               

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย         
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด  ลมชัก  น้ำตาลในเลือดสูง เบาหวาน ไขมันคอเลสเตอรอลและ/หรือไตรกลีเซอไรด์สูง  โรคตับ  ต้อหิน ความดันโลหิตต่ำ ภาวะความจำเสื่อม/สมองเสื่อม  ต่อมลูกหมากโต ทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน  มะเร็งเต้านม, รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอแลนซาปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโอแลนซาปีน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

โอแลนซาปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโอแลนซาปีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ  หัวใจเต้นช้า เกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดโดยเฉพาะที่ขา 
  • ต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อเกร็งตัว
  • ต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้  วิงเวียน  ง่วงนอน  กระสับกระส่าย  ตัวสั่น 
  • ต่อสภาพจิตใจ: เช่น  ประสาทหลอน
  • ต่อทางเดินหายใจ: เช่น  หายใจขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • ต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง และ/หรือไขมันในเลือดสูง  น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ต่อตา: เช่น ตาพร่า หรือมองไม่ชัด

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด อาจพบอาการ ง่วงนอน กระสับกระส่าย ก้าวร้าว พูดไม่ชัด รู้สึกสับสน  อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก เป็นลม,  *หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โอแลนซาปีนอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้โอแลนซาปีน: เช่น                

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  รวมถึงผู้สูงอายุ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยผู้ป่วยสูงอายุบางรายที่ได้รับการบำบัดด้วยอาการไบโพลาร์อาจมีความคิดฆ่าตัวตาย
  • อาจทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกายเปลี่ยนไป เช่น พบภาวะน้ำตาลในเลือดสูง  มีแนวโน้มของโรคหัวใจและหลอดเลือดแทรก, เกิดความดันโลหิตต่ำซ้อนเข้ามา, น้ำหนักตัวเพิ่ม, ไขมันในเลือดสูง,  มีภาวะสมองเสื่อม, ดังนั้นควรต้องมีการตรวจร่างกายเป็นระยะไปตามแพทย์แนะนำ
  • ระวังการเกิดอาการชัก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ระหว่างการใช้ยานี้ อาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง แพทย์อาจแนะนำการ ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ                  

         ***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโอแลนซาปีนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติ ตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โอแลนซาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโอแลนซาปีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น                                                  

  • การใช้ยาโอแลนซาปีน ร่วมกับยา Amlodipine , Carvedilol , Captopril, อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน  
  • การใช้ยาโอแลนซาปีน ร่วมกับยา Celecoxib อาจทำให้ระดับยาโอแลนซาปีนในกระแสเลือดมีระดับสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  ควรปรับขนาดการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโอแลนซาปีน ร่วมกับยา Clarithromycin ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยง ทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจเป็นสาเหตุถึงตายได้
  • การใช้ยาโอแลนซาปีน ร่วมกับยา Dextromethorphan  อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ เช่น  วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน ไม่มีสมาธิ  โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหากไม่มีความจำเป็นใดๆ  ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโอแลนซาปีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโอแลนซาปีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์                            
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ทิ้งยาลงบนพื้นดิน หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

โอแลนซาปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้าของยาโอแลนซาปีน และบริษัทผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย  เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย
Zyprexa (ไซเพรคซา) Eli Lilly
PILANZ ODT (พิแลนซ์ โอดีที) สยามฟาร์มาซูติคอล

 

บรรณานุกรม

  1. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕.  http://www.stopcorruption.moph.go.th/application/editors/userfiles/files/ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ%20เรื่อง%20บัญชียาหลักแห่งชาติ%20พ_ศ_%202565%20(16-6-65).pdf  [2022,Sept17]
  2. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR1C1062630006511C&pvncd=10&drgtpcd=6&rgttpcd=1C&rgtno=6300065   [2022,Sept17]
  3.  https://en.wikipedia.org/wiki/Olanzapine  [2022,Sept17]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national/search  [2022,Sept17]
  5.  http://www.mims.com/Thailand/drug/info/zyprexa-zyprexa%20zydis/   [2022,Sept17]
  6.  https://pi.lilly.com/us/zyprexa-pi.pdf  [2022,Sept17]
  7.  https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.3071.pdf  [2022,Sept17]
  8.  https://www.medicines.org.uk/emc/product/3782/pil#gref  [2022,Sept17]
  9. https://go.drugbank.com/drugs/DB00334  [2022,Sept17]
  10. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR1A1052650000511C  [2022,Sept17]