โอมาลิซูแมบ (Omalizumab)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 5 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาโอมาลิซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาโอมาลิซูแมบมีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโอมาลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโอมาลิซูแมบมีวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาโอมาลิซูแมบควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมไปรับยาโอมาลิซูแมบควรทำอย่างไร?
- ยาโอมาลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโอมาลิซูแมบย่างไร?
- ยาโอมาลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโอมาลิซูแมบอย่างไร?
- ยาโอมาลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหืด (Asthma)
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- ยารักษาโรคหืด (Asthma Medications)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- Beta 2 agonist
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
บทนำ
ยาโอมาลิซูแมบ (Omalizumab)เป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) ซึ่งเป็นแอนตีบอดี้/สารภูมิต้านทาน (Antibody) ชนิดจำเพาะกับมนุษย์ ใช้สำหรับการรักษาโรคหืดชนิดเรื้อรัง (Persistent asthma)ที่มีระดับความรุนแรงโรคตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก (Moderate to severe persistant allergic asthma)ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคหืดได้ด้วย ยาคอติโคลสเตียรอยด์ชนิดสูดเข้าทางปาก (Inhaled corticosteroid) และด้วยยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
วิธีการบริหารยา/ใช้ยาโอมาลิซูแมบ ทำได้โดยการฉีดยานี้เข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection ย่อว่า Sc)เท่านั้น ตำแหน่างการฉีดยาที่แนะนำ คือ บริเวณต้นแขน และ ต้นขา สำหรับขนาดยาและความถี่ของการใช้ยานี้ในเด็กและในผู้ใหญ่ จะขึ้นกับระดับอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobulin)ชนิดอี (IgE)ในเลือดที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจก่อนการรักษา และขึ้นกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทางโรคปอดเท่านั้น
ยาโอมาลิซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโอมาลิซูแมบเป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) โดยผลิตจากเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(เช่นจาก รังไข่ของหนู/Chinese hamster) ซึ่งเป็นแอนตีบอดี้ (Antibody) ชนิดจำเพาะกับมนุษย์ ใช้สำหรับการรักษาโรคหืดชนิดเรื้อรัง (Persistent asthma) ที่มีระดับความรุนแรงโรคตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก(Moderate to severe)ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และในผู้ใหญ่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคหืดได้อย่างเพียงพอด้วยยาคอติโคลสเตียรอยด์ชนิดสูดเข้าทางปากและด้วยยาในกลุ่มยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor)ชื่อ เบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์ยาว (long acting beta-2 agonist)
ยาโอมาลิซูแมบมีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโอมาลิซูแมบเป็นยาในกลุ่มโมโนโคลลอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody ) ชนิดจี (IgG) ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยวิธีการทางการตัดต่อยีน/จีน/Gene (Recombinant DNA derived) ซึ่งยานี้มีกลไกออกฤทธิ์เพื่อรักษาโรคหืดชนิดเรื้อรัง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการจับกันระหว่างอิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (IgE)กับตัวรับที่มีความจำเพาะสูงต่ออิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (IgE) บนแมสเซลล์ (Mast cell) และบนเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิว (Basophils) ผลลัพธ์ภายหลังการยับยั้งการจับกันระหว่างตัวอิมมูโนโกลบูลินกับตัวรับดังกล่าว ทำให้ปริมาณอิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (IgE level)ในเลือดลดลง และตัวรับที่จำเพาะสูงต่ออิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (High affinity IgE receptors) มีปริมาณลดลง การรักษาด้วยยานี้ในระยะยาวจึงทำให้จำนวนครั้งที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกิดอาการโรคหืดกำเริบ (Exacerbation) ที่เกิดจากอาการแพ้สาร/สิ่งต่างๆลดลง และยังสามารถลดปริมาณการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ลงได้อีกด้วย
ยาโอมาลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาโอมาลิซูแมบ คือ ผงยาปราศจากเชื้อที่ต้องละลายด้วยสารละลายก่อนบริหารยา/ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง (Powder for injection) บรรจุในภาชนะแก้ว (เรียกว่า ขวดไวแอล/Vial) สำหรับใช้ครั้งเดียว และไม่มีสารกันเสียที่เป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยมีความแรง 150 มิลลิกรัมต่อขวด ซึ่งยาจะมาพร้อมกับน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ (Sterile water for injection)เพื่อละลายผงยาสำหรับการบริหารยานี้
ยาโอมาลิซูแมบมีวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาโอมาลิซูแมบ เป็นยาสำหรับการรักษาโรคหืดที่มีความรุนแรงมากและเรื้อรัง (Severe persistant allergic asthma) ที่มีรูปแบบยาเป็นผงยาปราศจากเชื้อที่ต้องละลายก่อนบริหารเข้าใต้ผิวหนัง เป็นยาที่มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นไม่สามารถหาซื้อยาโอมาลิซูแมบได้จากร้านยาทั่วไป
วิธีบริหารยาโอมาลิซูแมบจะโดยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น บริเวณฉีดยาที่แนะนำ คือ บริเวณ ต้นแขน และ ต้นขา
สำหรับขนาดยาและความถี่ของการใช้ยาโอมาลิซูแมบในเด็กและในผู้ใหญ่นั้น จะเป็นกรณีๆไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยจะขึ้นกับระดับอิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (IgE) ที่จำเป็นต้องตรวจก่อนการรักษาด้วยยานี้ และ น้ำหนักตัวของผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไป ความถี่ของการได้รับยานี้ จะบริหารยาทุกๆ 2 – 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ ควรอยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทางโรคปอดเท่านั้น
คำแนะนำในการละลายผงยาโอมาลิซูแมบเพื่อการบริหารยา มีขั้นตอน ดังนี้:
1.ดูดน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ (Sterile water for injection) ที่ให้มาพร้อมกับยาโอมาลิซูแมบในปริมาตร 1.4 มิลลิลิตรเข้าในกระบอกฉีดยาด้วยเข็มเบอร์ 18
2. วางขวดยาโอมาลิซูแมบให้ตั้งขึ้นบนพื้นที่เตรียมยาที่มีลักษณะราบ เสียบเข็มและฉีดน้ำกลั่นปราศจากเชื้อฯเข้าสู่ขวดยาด้วยเทคนิคปลอดเชื้อมาตรฐาน ฉีดน้ำกลั่นปราศจากเชื้อลงบนผงยาได้โดยตรง
3. ตั้งขวดยาดังกล่าวให้ตรง แล้วแกว่งขวดยาไปรอบๆเป็นแนววงกลมอย่างแรง (อย่าเขย่ายาขึ้นๆลงๆ) ประมาณ 1 นาที เพื่อทำให้ผงยาเปียก
4. ในระหว่างนี้ แกว่งขวดยาไปรอบๆเป็นแนววงกลมอย่างสม่ำเสมอ 5 – 10 วินาที แก่วงขวดยาทุกๆ 5 นาทีเพื่อช่วยให้ผงยาละลายได้เร็วขึ้น
บางกรณีอาจใช้เวลาละลายผงยานานมากกว่า 20 นาที หากเป็นเช่นนั้น ให้ทำขั้นตอนที่ 4 ซ้ำจนเจลหรือเมือกของยาละลายหายไป ห้ามใช้ หากผงยาไม่สามารถละลายจนเป็นสารละลายที่เป็นเนื้อเดียวกันอย่างสมบูรณ์ใน 40 นาที
เมื่อละลายยาจนไม่มีลักษณะของเจลเหลืออยู่ แต่อาจมีฟองเล็กน้อยหรือมีฟองจับอยู่รอบขอบในของขวดยา ยาที่ผสมแล้วจะมีลักษณะใสหรือขุ่นเล็กน้อย ไม่ควรใช้ยาหากมีสิ่งแปลกปลอมปนอยู่
5. คว่ำขวดยาประมาณ 15 วินาที ให้สารละลายไหลลงมาที่จุก และใช้หลอดฉีดยาขนาด 3 มิลลิลิตรที่มีเข็มฉีดยาเบอร์ 18 เสียบผ่านจุกขวดในลักษณะคว่ำขวด ให้ปลายเข็มอยู่ที่ส่วนล่างสุดของสารละลายในขณะที่ดูดยาออกมาในกระบอกฉีดยา ก่อนจะดึงเข็มออกจากขวด ให้ดึงก้านกระบอกฉีดยามาจนสุดถึงขีดที่กำหนดของกระบอกฉีด เพื่อดูดสารละลายที่เหลือออกให้หมดจากขวดที่คว่ำอยู่
6. เปลี่ยนเข็มฉีดยาจากเบอร์ 18 เป็นเบอร์ 25 เพื่อใช้ในการบริหารยาเข้าใต้ผิวหนัง
7. ไล่อากาศ ฟอง หรือสารละลายที่เกิน ออกเพื่อให้ได้ยาจำนวน 1.2 มิลลิลิตร ซึ่งอาจมีชั้นบางๆของฟองอากาศเล็กๆอยู่บนสุดของกระบอกฉีดยา เนื่องจากสารละลายมีความหนืด จึงอาจต้องใช้ระยะฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังนานถึง 5 – 10 วินาที
ทั้งนี้ เมื่อผสมยาแล้วควรรีบใช้ยาดังกล่าวโดยทันที
8. ควรฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน (Deltoid) หรือ ต้นขา (Thigh)
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโอมาลิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอมาลิซูแมบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยาโอมาลิซูแมบ อาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะ ยานี้ถูกขับออกทางน้ำนม จึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรงแก่บุตร
หากลืมไปรับยาโอมาลิซูแมบควรทำอย่างไร?
กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาโอมาลิซูแมบจากสถานพยาบาลตามตารางการได้รับยาที่กำหนด ผู้ป่วยควรต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันทีเมื่อนึกได้ เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยา เพื่อประสิทธิภาพของผลการรักษาด้วยยาโอมาลิซูแมบ
ยาโอมาลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาโอมาลิซูแมบ ที่อาจพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับยาโอมาลิซูแมล คือ เกิดอาการ ปวด บวม แดง และ/หรือ คัน บริเวณตำแหน่งที่ฉีดยา ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดท้อง มักปวดท้องช่วงบนเหนือสะดือ
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบน้อย เช่น การเกิดปฏิกิริยาแพ้ยานี้ที่รุนแรงที่มีชื่อว่า อะนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis) โดยมีอาการ คือ ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock) ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที และหลีกเลี่ยงการได้รับยานี้ ในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก ต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้นว่ายังใช้ยานี้ได้
อาการอื่นๆที่พบได้น้อยเช่นกัน เช่น ลมพิษ ผื่น คัน ผื่นแพ้แสงแดด ภาวะบวมน้ำที่ใบหน้าและคอ กล่องเสียงบวม มึนศีรษะ ง่วงนอน
มีข้อควรระวังการใช้ยาโอมาลิซูแมบย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโอมาลิซูแมบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ โดยเฉพาะมีประวัติการแพ้ยาที่สังเคราะห์มาจากโมโนโคลนอล แอนติบอดีมาก่อน
- ยานี้ใช้สำหรับการบริหารยาโดยวิธีการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง(Subcutaneous) เท่านั้น ห้ามฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous) หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(Intramuscular)
- การผสมผงยาโอมาลิซูแมบจำเป็นต้องละลายผงยาด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับใช้กับยาฉีดเท่านั้น ห้ามผสมยานี้กับสารน้ำชนิดอื่น
- ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง(โรคออโตอิมูน) ผู้ป่วยโรคไต หรือโรคตับ ดังนั้นจึงควรให้ความระมัดระวังในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคดังกล่าวด้วย
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
ยาโอมาลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
จากการศึกษาพบว่า ยาโอมาลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเบลิมูแมบ (Belimumab: ยารักษาโรคเอสแอลอี/SLE) โดยส่งผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเบลิมูดแมบมากขึ้นกว่าปกติ
ควรเก็บรักษายาโอมาลิซูแมบอย่างไร?
แนะนำเก็บยาโอมาลิซูแมบในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ห้ามแช่แข็งยาโดยเด็ดขาด เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงสว่าง/แสงแดด และพ้นมือเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง
ภายหลังการเจือจางผงยาโอมาลิซูแมบให้เป็นสารละลายเพื่อบริหารยาแก่ผู้ป่วย สารละลายยาดังกล่าวจะคงสภาพได้ 4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลลเซียส) หรือคงสภาพได้ 8 ชั่วโมงกรณีเก็บสารละลายดังกล่าวที่ตู้เย็น ดังนั้นควรบริหารสารละลายยาโอมาลิซูแมบให้เหมาะสมกับเวลาที่กำหนด หากสารละลายดังกล่าวมีระยะเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำไว้ ควรทิ้งยาดังกล่าวไป
ยาโอมาลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโอมาลิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
โซแลร์ (Xolair 150 มิลลิกรัม) | Novartis |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- Product Information: Xolair, Novartis, Thailand.