โอปิออยด์ (Opioid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาโอปิออยด์ (Opioid) คือ กลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมอร์ฟีน(Morphine) การออกฤทธิ์ของสารโอปิออยด์จะมีอิทธิพลต่อสมอง, ระบบประสาทส่วนปลายของร่างกาย, และระบบทางเดินอาหาร (เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้) ประวัติศาสตร์การแพทย์ได้ระบุให้สารกลุ่มโอปิออยด์เป็นยาแก้ปวดทำให้ร่างกายสามารถทนต่ออาการปวดได้ดีมากขึ้น

ผลข้างเคียงโดยรวมๆของยานี้จะทำให้เกิดอาการสงบประสาท/ประสาทผ่อนคลาย, กดการหายใจ (หายใจตื้นและเบา), ท้องผูก, รวมถึงรู้สึกเคลิบเคลิ้ม

นอกจากนี้ ยาโอปิออยด์ ยังนำมาใช้รักษาอาการไอที่อาการค่อนข้างรุนแรงหรือมีเหตุจากโรคร้าย เช่น มะเร็งปอดได้อีกด้วย

การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ มีข้อพึงระวังสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การติดยา ซึ่งจะเกิดเมื่อมีการใช้ยาครั้งละมากๆ และ/หรือใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

สามารถแบ่งกลุ่มยาโอปิออยด์ออกเป็นหมวดย่อยได้ดังนี้

1 สารโอปิออยด์ที่สร้างขึ้นเองในร่างกายมนุษย์ (Endogenous opioids) ประกอบด้วย สารดังนี้เช่น Endorphins, Enkephalins, Dynorphins, Endomorphins

2 โอปิออยด์ที่เป็นสารจากฝิ่นคือกลุ่มสารแอลคาลอยด์ (Opium alkaloids) เช่น Codeine, Morphine, Thebaine, Oripavine

3 สารประกอบสังเคราะห์เอสเทอร์ของมอร์ฟีน (Esters of morphine) เช่น Diacetyl morphine (Heroin), Nicomorphine, Dipropanoylmorphine, Diacetyldihydromorphine, Acetylpropionylmorphine, Desomorphine, Methyldesorphine, Dibenzoylmorphine

4 สารประกอบสังเคราะห์อีเทอร์ของมอร์ฟีน (Ethers of morphine) เช่น Dihydrocodeine, Ethylmorphine, Heterocodeine

5 สารโอปิออยด์กึ่งสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธุ์แอลคาลอยด์ (Semi-synthetic alkaloid derivatives) เช่น Buprenorphine, Etorphine, Hydrocodone, Hydromorphone, Oxyco done, Oxymorphone

6 สารโอปิออยด์สังเคราะห์ (Synthetic opioids) ซึ่งแบ่งแยกย่อยตามโครงสร้างเคมี ได้อีกดังนี้เช่น

  • Anilidopiperidines เช่น Fentanyl, Alphamethylfentanyl, Alfentanil, Sufentanil, Remifentanil, Carfentanyl, Ohmefentanyl
  • Phenylpiperidines เช่น Pethidine, Ketobemidone, Allylprodine, Prodine, 1-methyl-4-phenyl-4-propionoxypiperidine (MPPP), 1-(2-phenylethyl)-4-phenyl-4-acetoxypiperidine: PEPAP
  • Diphenylpropylamine derivatives เช่น Propoxyphene, Dextropropoxyphene, Dextromoramide, Bezitramide, Piritramide, Methadone, Dipipanone, Levomethadyl acetate, Difenoxin, Diphenoxylate, Loperamide
  • Benzomorphan derivatives เช่น Dezocine, Pentazocine, Phenazocine 6.5 Oripavine derivatives เช่น Buprenorphine, Dihydroetorphine, Etorphine
  • Morphinan derivatives เช่น Butorphanol, Nalbuphine, Levorphanol, Levome thorphan

ทั้งนี้ มีหลายรายการของสารโอปิออยด์ที่ถูกจัดให้เป็นสาร/ยาเสพติดให้โทษ เช่น Codeiene, Heroin, Morphine, Hydrocodone, Oxymorphone, Fentanyl, MPPP และอื่นๆอีก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยต่อการใช้ยาโอปิออยด์แต่ละชนิด จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยพิจารณาเรื่องการบรรเทาอาการเจ็บปวดให้ทุเลาพ้นความทรมาน ประกอบกับเรื่องที่ต้องระวังเรื่องการติดยาระหว่างทำการรักษาเป็นสำคัญ

โอปิออยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โอปิออยด์

ยาโอปิออยด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้บรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น

  • อาการปวดชนิดเฉียบพลันหลังผ่าตัด
  • อาการปวดที่เกิดจากบาดแผลตามร่างกาย (กรณีบาดแผลเกิดที่ศีรษะจะต้องระวังการใช้ยากลุ่มนี้)
  • อาการปวดจากโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งระยะสุดท้าย
  • อาการปวดจากโรคอื่นเช่น โรคข้อรูมาตอยด์
  • ใช้ร่วมกับการใช้ยาชา/ยาสลบเพื่อระงับอาการปวดระหว่างผ่าตัด
  • บรรเทาอาการไอ เช่น การไอแห้งๆ
  • รักษาและบรรเทาอาการท้องเสีย
  • ใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด (De-addiction)

โอปิออยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สารโอปิออยด์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า Opioid receptors ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเซลล์สมองตลอดไปจนถึงไขสันหลังรวมถึงตามผนังกล้ามเนื้อเรียบของระบบทางเดินอาหาร จากนั้นจะเกิดการปรับสมดุลทางเคมีของสารสื่อประสาท มีทั้งยับยั้งการหลั่งและเร่งการปลดปล่อยของสารสื่อประสาทบางตัวออกมาทำงาน ด้วยกลไกที่ซับซ้อนเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โอปิออยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโอปิออยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยารับประทาน: ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ
  • ยาฉีด
  • ยาเหน็บทวาร
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

โอปิออยด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ด้วยเป็นกลุ่มยาเสพติดเสียเป็นส่วนมาก ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และทางสถานพยาบาล แพทย์/พยาบาล ต้องทำบันทึกการใช้ยากับผู้ป่วยไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำส่งรายงานการใช้ยากลุ่มนี้ต่อกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโอปิออยด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอปิออยด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโอปิออยด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โอปิออยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโอปิออยด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการชัก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปากคอแห้ง
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ตัวเย็น
  • อาจมีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามผิวหนัง
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า ช้าผิดปกติ
  • ตาพร่า
  • มีอาการเหงื่อออกมาก
  • อาจรู้สึกหงุดหงิดหรือเคลิบเคลิ้ม
  • สามารถติดยาได้

*อนึ่ง: กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโอปิออยด์ปริมาณมาก หรือใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ วิตกกังวล และเกิดอาการระคายเคืองตามร่างกายตามมา หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบด่วนแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติ เช่น ขณะเป็นหอบหืดเฉียบพลัน หรือหอบขนาดรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยขณะที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราแบบเฉียบพลัน รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่สลบไร้การตอบสนองหรือขณะไม่รู้สึกตัว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (เช่น ลำไส้อักเสบ) ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินน้ำดี (เช่น นิ่วในถุงน้ำดี, ถุงน้ำดีอักเสบ)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโอปิออยด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โอปิออยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโอปิออยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ ร่วมกับ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดปัญหากับระบบหายใจกับผู้ป่วย อีกทั้งยังยับยั้งฤทธิ์ระงับอาการปวดของยากลุ่มโอปิออยด์ ทำให้การรักษาไม่ได้ผล
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ ร่วมกับ ยากลุ่ม MAOIs ด้วยเสี่ยงกับภาวะความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตต่ำ ขั้นวิกฤติที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบหายใจ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามอร์ฟีน ร่วมกับ ยาในกลุ่ม TCAs ด้วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) การจะใช้ยาร่วมกันต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาเมทาโดน (Methadone) ร่วมกับยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นยา Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกันสามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้

ควรเก็บรักษาโอปิออยด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโอปิออยด์ เช่น

ก. การเก็บรักษาในสถานพยาบาล:

  • ควรเก็บยากลุ่มนี้ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ยาที่หมดอายุต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง

ข. การเก็บรักษาในที่พัก/บ้าน:

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โอปิออยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโอปิออยด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท)Janssen-Cilag
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ)Hexal AG
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล)Hexal AG
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก)Janssen-Cilag
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ)Hexal AG
Fentanyl Tabletl (เฟนทานิล แทบเล็ท)Watson Laboratories Inc
Buccal (บัคคอล)Watson Laboratories Inc
OxyContin Tablet (เฟนทานิล แทบเล็ท)Purdue Pharma LP
Diara (ไดอะรา)Burapha
Diarent (ดิเอเรนท์)Chew Brothers
Diarine (ไดอะรีน)Burapha
Diarodil (ไดแอโรดิล)Greater Pharma
Dicotil (ไดโคติล)Picco Pharma
Entermid (เอ็นเทอร์มิด)Nakornpatana
Imodium (อิโมเดียม)Janssen-Cilag
Imonox (อิโมน็อก)Medicine Products
Impelium (อิมพีเลียม)T.O. Chemicals
K.B. Peramide (เค.บี. เพอราไมด์)K.B. Pharma
Leon (ลีออน)T P Drug
Lomide (โลไมด์)Siam Bheasach
Lomy (โลมาย)Masa Lab
Lopela (โลเพอลา)Pharmasant Lab
Loperamide GPO (โลเพอราไมด์ จีพีโอ)GPO
Lopercin (โลเพอร์ซิน)Polipharm
Loperdium (โลเพอร์เดียม)General Drugs House
Methadone GPO (เมทาโดน จีพีโอ)GPO
Camphorated Opium Tincture GPO(แคมโฟเรทเตท โอเปียม ทิงเจอร์ จีพีโอ)GPO
Kapanol (คาพานอล)GlaxoSmithKline
Morphine Sulfate Inj Blue (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น บลู)M & H Manufacturing
Morphine Sulfate Inj Purple (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น เพอเพิล)M & H Manufacturing
MST Continus (เอ็มเอสที คอนทินัส)Bard

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid#Classification [2021,June19]
  2. https://www.news-medical.net/health/Opioid-Uses.aspx [2021,June19]
  3. https://www.frca.co.uk/article.aspx?articleid=100933 [2021,June19]
  4. https://www.webmd.com/pain-management/guide/narcotic-pain-medications#2 [2021,June19]
  5. https://healthengine.com.au/info/opioids-for-analgesia#C2 [2021,June19]
  6. https://www.drugs.com/dosage/fentanyl.html#Usual_Adult_Dose_for_Pain [2021,June19]
  7. https://www.bhpalmbeach.com/program/focus/mixing-alcohol-and-drugs/ [2021,June19]
  8. https://www.bluelight.org/xf/threads/opiates-and-maois-contradicted.373376/ [2021,June19]