มอร์ฟีน (Morphine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยามอร์ฟีน (Morphine) คือ สาร/ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตามกฎหมายของไทย ทางแพทย์ได้นำมาใช้เป็นยาแก้ปวด (Opioid analgesic drug)ที่รักษาอาการปวดระดับ ปานกลางถึงรุนแรง โดยปกติยาที่ใช้รักษาอาการปวดอาจจะมีอยู่หลายสูตรตำรับ สำหรับอาการปวดชนิดที่ไม่สามารถใช้ยาแก้ปวดต่างๆบำบัดได้แล้ว แพทย์จะหันมาใช้มอร์ฟีนซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือก อีกทั้งการตอบสนองของอาการปวดกับผู้ป่วยจัดอยู่ในเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับการใช้มอร์ฟีนคือ อาการติดยาซึ่งมักจะเกิดหลังใช้ยาเพียงไม่นาน

สารมอร์ฟีน พบมากในพืชตระกูลฝิ่น (Papaver sommiferum) ถูกสกัดได้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347) จากนั้นใช้เวลาอีกประมาณ 50 ปีกว่าก็มีการพัฒนามอร์ฟีนมาเป็นในรูปแบบยาฉีดและใช้กันอย่างแพร่หลายในทางคลินิก ปัจจุบันจะพบเห็นการใช้ยามอร์ฟีนในลักษณะยาชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาพ่น ยาเหน็บทวาร

สำหรับการกระจายตัวของยามอร์ฟีนในร่างกายมนุษย์จะมีความแตกต่างกันออกไปตามรูป ลักษณะของยาที่ใช้กล่าวคือ

  • ยาชนิดรับประทานจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้จากระบบทางเดินอาหารประมาณ 20 - 40%
  • ยาเหน็บทวารสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นเป็นประมาณ 36 - 71%
  • ยาฉีดร่างกายจะมีการดูดซึมได้ 100%

ทั้งนี้เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 30 - 40% ตับจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของมอร์ฟีนถึงประมาณ 90% และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วน มากและบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปทางอุจจาระ เฉลี่ยเวลาในการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีนอยู่ที่ 4 ชั่วโมงโดยประมาณ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้มอร์ฟีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชนและมีใช้แต่ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตซื้อและจำหน่ายเท่านั้น ด้วยมอร์ฟีนจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ การรับยาเข้าคลังของสถานพยาบาลจะต้องให้เจ้าหน้าที่จากสถานพยาบาลมารับยาที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ห้ามการจำหน่ายโดยผ่านผู้แทนยาจากบริษัทใดๆทั้งสิ้น

มอร์ฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

มอร์ฟีน

ยามอร์ฟีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • บำบัดบรรเทาอาการปวดระดับกลางถึงระดับรุนแรง เช่น อาการปวดจากการผ่าตัดหรือจากโรคมะเร็ง
  • ใช้เป็นยาป้องกันอาการปวดก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • บรรเทาอาการไออันเนื่องจากสาเหตุมะเร็งปอด
  • บรรเทาอาการปวดระหว่างการคลอดบุตร
  • บรรเทาอาการปวดจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาอาการปวดระดับปานกลางขึ้นไปแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

มอร์ฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยผ่านเข้าสมองและจับกับ ตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Opiates receptors ส่งผลบรรเทาอาการปวดต่างๆของร่างกาย ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกสบายตัวขึ้นคล้ายกับการได้รับสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เอนโดรฟิน (Endorphins, สารที่สร้างจากสมองและต่อมใต้สมองที่ทำงานยับยั้งสัญญาณปวดจากสมองสู่เซลล์/เนื้อเยื่อ) นอกจากนี้มอร์ฟีนยังมีฤทธิ์กดการทำงานของศูนย์ควบคุมการไอในสมองได้อีกด้วย และยามอร์ฟีนยังสามารถออกฤทธิ์ได้ที่ผนังของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น ที่ลำไส้ ทำให้ลดการบีบตัวจึงลดอาการปวดที่เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบได้อีกด้วย จากกลไกข้างต้นจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

มอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 15, 30, 60, 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 20, 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 10, 20 และ 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวาร ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/แท่ง

มอร์ฟีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ยามอร์ฟีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยา/การใช้ยาขึ้นกับ รูปแบบของยา, ความรุนแรงของอาการ, และวัตถุประสงค์ว่าใช้ยาเพื่ออะไร, ซึ่งจะเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ของยก ตัวอย่างการใช้ยามอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น

ก. สำหรับบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางขึ้นไป: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 5 - 10 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่วโมง ควรเริ่มรับประทานยาในขนาดต่ำก่อนและดูการตอบสนองของผู้ป่วย สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดที่แนะนำขนาดการใช้ยามอร์ฟีนชนิดรับประทานในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในรูปแบบรับประทานในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข. ป้องกันอาการปวดก่อนเข้ารับการผ่าตัด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังเริ่มที่ขนาด 10 มิลลิกรัมก่อนการผ่าตัดประมาณ 60 - 90 นาที
  • เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง 150 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก่อนการผ่าตัดประมาณ 60 - 90 นาที

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามอร์ฟีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้ง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามอร์ฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามอร์ฟีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

มอร์ฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามอร์ฟีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการชัก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปากคอแห้ง
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ตัวเย็น
  • อาจมีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามผิวหนัง
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า ผิดปกติ
  • ตาพร่า
  • มีอาการเหงื่อออกมาก
  • อาจรู้สึกหงุดหงิดหรือเคลิบเคลิ้ม
  • สามารถติดยาได้

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยามอร์ฟีนเกินขนาดจะมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ซึม, ซึ่งเมื่อพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และอาจใช้ยา Naloxone เพื่อแก้พิษของมอร์ฟีน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

มีข้อควรระวังการใช้มอร์ฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามอร์ฟีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติเช่น ขณะเป็นหอบหืดเฉียบพลันหรือหอบขนาดรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยขณะที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราแบบเฉียบพลัน รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่สลบ ไร้การตอบสนอง หรือขณะไม่รู้สึกตัว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (เช่น ลำไส้อักเสบ) ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคถุงน้ำดี (เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ ทั้งนี้ยามอร์ฟีนทุกรูปแบบที่หมดอายุต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามอร์ฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

มอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยามอร์ฟีน ร่วมกับ ยาในกลุ่ม TCAs อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ดังนั้นการใช้ยาร่วมกันจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยามอร์ฟีน ร่วมกับ ยา Metoclopramide สามารถเพิ่มอาการข้างเคียงด้านการสงบประสาท หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • มอร์ฟีนมีฤทธิ์ต่อต้านการรักษาของกลุ่มยาขับปัสสาวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Rifampicin ร่วมกับยามอร์ฟีนสามารถส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของมอร์ฟีนในกระแสเลือดลดต่ำลงทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาอาการปวดถดถอยตามไปด้วย การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษามอร์ฟีนอย่างไร?

ควรเก็บยามอร์ฟีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

*อนึ่ง ยามอร์ฟีนทุกรูปแบบที่หมดอายุ ต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายยาจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง

มอร์ฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามอร์ฟีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Camphorated Opium Tincture GPO (แคมโฟเรทเตท โอเปียม ทิงเจอร์ จีพีโอ)GPO
Kapanol (คาพานอล)GlaxoSmithKline
Morphine Sulfate Inj Blue (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น บลู)M & H Manufacturing
Morphine Sulfate Inj Purple (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น เพอเพิล)M & H Manufacturing
MST Continus (เอ็มเอสที คอนทินัส)Bard

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Morphine [2021,June19]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/morphine%20sulfate%20inj%20purple [2021,June19]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=morphine [2021,June19]
  4. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682133.html [2021,June19]
  5. https://www.drugs.com/morphine.html [2021,June19]