โรคไขกระดูก หรือ โรคของไขกระดูก(Bone marrow disease)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก(Bone marrow disease)คือ โรคที่เกิดจาก ความผิดปกติของไขกระดูกซึ่งเป็นอวัยวะผลิตเม็ดเลือดทุกชนิด(เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, และเกล็ดเลือด)ที่รวมไปถึงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในไขกระดูก ซึ่งความผิดปกตินี้ อาจเกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อทุกชนิดของไขกระดูกร่วมกัน หรือเกิดเฉพาะกับเซลล์/เนื้อเยื่อชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ ทั่วไปอาการพบบ่อยของโรคไขกระดูกคือ อ่อนเพลียง่าย และภาวะซีดซึ่งอาจเฉียบพลันหรือเรื้อรัง

โรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก พบบ่อยทั่วโลก มีหลากหลายชนิดย่อย บางชนิดขึ้นกับเชื้อชาติ บางชนิดไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาถึงสถิติเกิดในภาพรวมของโรคไขกระดูกทุกชนิดย่อย เพราะทั่วไปจะเป็นการศึกษาสถิติเกิดแยกเฉพาะของแต่ละโรคย่อยๆ

โรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก พบทุกอายุตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งเพศหญิงและเพศชายในอัตราที่อาจต่างกันได้ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

อนึ่ง ชื่ออื่นของโรคไขกระดูก คือ Bone marrow disorder, Bone marrow cancer, Benign bone marrow disease

โรคไขกระดูกมีกี่ชนิด?

โรคไขกระดูก

ชนิดโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก แบ่งได้หลายรูปแบบ ได้แก่

ก. แบ่งตามสาเหตุเกิด: แบ่งได้เป็น2ชนิดย่อย คือ

  • ชนิดเกิดจากความความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มักเป็นพันธุกรรมถ่ายทอดได้ในครอบครัว เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • ชนิดเกิดเองในภายหลังจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่พันธุกรรม เช่น ไขกระดูกขาดสารอาหาร เช่น
    • โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
    • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มคลอแรมเฟนิคอล

ข. แบ่งตามความรุนแรงของโรค: แบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ

  • ชนิดไม่ใช่มะเร็ง: เช่น ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก, โรคธาลัสซีเมีย
  • ชนิดเป็นมะเร็ง: เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา, โรคเลือดหนืด

ค. แบ่งตามระยะเวลาที่เกิดอาการ: แบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อยคือ

  • ชนิดเฉียบพลัน: คือ อาการโรคจะเกิดรวดเร็วในระยะเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ ทั่วไปมักเป็นอาการรุนแรง เช่น
    • จากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาปฏิชีวนะ (เช่นจากยา ลีโวฟลอกซาซิน, แดพโซน) , ยากลุ่มเอนเสด
    • ไขกระดูกติดเชื้อ เช่น ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล)
  • ชนิดเรื้อรัง: คือ อาการโรคค่อยๆเกิด แต่จะเกิดต่อเนื่อง ระยะแรกมักอาการน้อย หรือไม่ค่อยมีอาการ แต่อาการจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดอาจเปลี่ยนไปเป็นชนิดเฉียบพลันได้ เช่น
    • โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น ไขจับสั่นชนิดที่มีเชื้อในไขกระดูก
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล)

โรคไขกระดูกมีสาเหตุจากอะไร?

โรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูกทุกชนิด มีหลากหลายสาเหตุ เช่น

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย, โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว, โรคเลือดจางแฟนโคนิ
  • ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์ไขกระดูกทุกชนิดได้ ส่งผลให้เกิดโรคซีดรุนแรงร่วมกับร่างกายติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
  • ไขกระดูกขาดสารอาหารสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ส่งผลให้เกิดโรคซีด เช่น ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตูเหล็ก, ภาวะขาดโฟเลท, ภาวะขาดวิตามินบี12, ภาวะขาดวิตามินซี (โรคลักปิดลักเปิด)
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
  • โรคติดเชื้อไวรัสของร่างกายที่ส่งผลให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวได้น้อยลง ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอชไอวี, โรคติดเชื้ออีบีวี
  • ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไชต์(Lymphocyte)สูงมากจากสาเหตุที่แพทย์ไม่ทราบแน่ชัด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ไขกระดูกมีความผิดปกติสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์สูงผิดปกติ เช่น มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา
  • ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงสูงมากกว่าปกติ โดยสาเหตุอาจจากความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด หรือที่เกิดขึ้นเองจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเลือดหนืด
  • ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดมากกว่าปกติจากสาเหตุต่างๆทั้งที่แพทย์หาสาเหตุพบ และบ่อยครั้งหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดมาก
  • เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเซลล์พังผืดเจริญมากผิดปกติจนกดการสร้างเม็ดเลือดปกติ เช่น โรคไขกระดูกเป็นพังผืด
  • มะเร็งของอวัยวะอื่นๆแพร่กระจายทางกระแสเลือดเข้าไขกระดูก(มะเร็งระยะ4) เช่น จากมะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
    • ยาที่ทำให้เม็ดเลือดขาวมากขึ้น เช่น ยาลิเทียม, ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์
    • ยาที่ทำให้เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำลง โดยเฉพาะ เม็ดเลือดขาว เช่น ยาเคมีบำบัด

***แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงสาเหตุของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com***

โรคไขกระดูกมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูกทุกชนิด คือ อาการทั่วไป, และอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ

ก. อาการทั่วไป: ที่คล้ายกันในแต่ละผู้ป่วย ไม่ว่ากลไกการเกิดโรคจะเกิดจากสาเหตุใดเพราะในที่สุดผลลัพธ์จะเหมือนกัน เช่น สาเหตุจากเซลล์ตัวอ่อนของไขกระดูกไม่เจริญหรือเจริญเกินปกติ, เซลล์ตัวแก่ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดไม่เจริญหรือเจริญผิดปกติ, หรือเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันเจริญผิดปกติ, เพราะภาวะ/โรคผิดปกติต่างๆดังกล่าวในที่สุดจะส่งผลให้เซลล์ปกติของไขกระดูก(เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, และเกล็ดเลือด)มีปริมาณลดลงมากจนเกิดเป็นอาการทั่วๆไปของโรคกลุ่มนี้ ซึ่งอาการเหล่านั้น เช่น

  • โรคซีด/ ภาวะซีด จากเม็ดเลือดแดงปกติมีปริมาณน้อยลงมาก
  • ติดเชื้อได้ง่ายจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากปริมาณเม็ดเลือดขาวปกติน้อยลงมาก
  • เลือดออกตามอวัยวะต่างๆได้ง่าย และเมื่อออกแล้วจะหยุดยาก เพราะปริมาณเกล็ดเลือดน้อยลงมาก
  • มีไข้เป็นๆหายๆ มีได้ทั้งไข้ต่ำ หรือ ไข้สูง
  • มีจำห้อเลือดหรือจุดเลือดออกตามผิวหนังได้ทั่วตัว โดยเฉพาะตำแหน่งที่ถูกกระแทกได้บ่อย
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อ่อนล้า
  • เบื่ออาหาร
  • บางคนผอมลง/น้ำหนักลดผิดปกติ
  • ตับม้ามโต จากเซลล์/เนื้อเยื่อ ตับ ม้าม ต้องทำหน้าที่ช่วยผลิตเม็ดเลือดชดเชยแทนไขกระดูกให้พอต่อการใช่งานของร่างกาย

ข. อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ ซึ่งอาการต่างๆ เช่น

  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ทั่วร่างกาย หรือในบางตำแหน่ง กรณีสาเหตุเกิดจากมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด
  • ตับโต, ม้ามโต หรือ ทั้งตับม้ามโต จากมะเร็งแพร่กระจายเข้าตับ และ/หรือม้าม
  • ปวดกระดูกได้ทั่วตัวโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
  • เหงื่ออกกลางคืน ที่เป็นเหงื่อออกจนชุ่มทั้งที่ไม่มีไข้
  • อาจมีก้อนเนื้อผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ

***แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงอาการของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com***

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบมาโรงพยาบาล ไม่ควรรอดูแลตนเองที่บ้าน

แพทย์วินิจฉัยโรคไขกระดูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูกได้จาก

  • การซักถามประวัติอาการ ที่สำคัญ เช่น ซีด เลือดออกง่าย มีจำห้อเลือดบ่อยและเกิดหลายแห่งในร่างกาย อ่อนเพลีย, ประวัติโรคเลือดในครอบครัว, ประวัติโรคมะเร็งและวิธีรักษา, การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจดูผื่น หรือจำห้อเลือด หรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง, การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย, การตรวจคลำช่องท้อง/ตรวจคลำตับและม้าม
  • การตรวจสัญญาณชีพ
  • ตรวจเลือดดู
    • ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี/CBC และความผิดปกติของจำนวนเม็ดเลือด, เกล็ดเลือด รวมถึงรูปร่างเม็ดเลือดที่ผิดปกติ
    • ค่าการทำงานของ ตับ ไต
  • การตรวจปัสสาวะ ดูโปรตีน และดูเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
  • ตรวจภาพอวัยวะต่างๆที่มีอาการ เช่น เอกซเรย์ปอด, อัตราซาวด์ และ/หรือ ซีทีสแกนภาพตับ ม้าม
  • ตรวจไขกระดูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ การตรวจทางพยาธิวิทยา ที่เป็นการวินิจฉัยโรคไขกระดูกได้แม่นยำที่สุด

รักษาโรคไขกระดูกอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก ได้แก่ การรักษาภาวะไขกระดูกล้มเหลว(โรคซีด, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ร่วมกับการรักษาภาวะติดเชื้อ), การรักษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ

ก. รักษาภาวะไขกระดูกล้มเหลว: เช่น การใช้ยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูก เช่น ฮอร์โมนบางชนิด, ฉีดยาจีซีเอสเอฟ, หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก (การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูก)

ข. รักษาสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ (***แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงสาเหตุของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com)

ค. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ให้เลือด, ให้เกล็ดเลือด, ให้เม็ดเลือดแดง, ทางหลอดเลือดดำ ตามอาการผู้ป่วย
  • ให้ยาลดไข้, ยาแก้ปวด
  • ให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำ

โรคไขกระดูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูกที่พบบ่อยได้แก่

  • โรคซีดจากร่างกายมีเม็ดเลือดแดงต่ำ
  • ร่างกายติดเชื้อต่างๆได้ง่าย/ มีไข้บ่อยจากร่างกายมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • มีเลือดออกง่ายและเมื่อเลือดออกแล้วหยุดช้า จากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

โรคไขกระดูกรุนแรงไหม?มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ความรุนแรง /การพยากรณ์โรค ของโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูกขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ, สาเหตุ, ความเสียหายของไขกระดูก, อายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่ง

  • บางโรค บางสาเหตุการพยากรณ์โรคดี รักษาได้หาย และไม่เป็นสาเหตุให้ถึงตาย เช่น ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก, ภาวะขาดโฟเลท เป็นต้น
  • บางโรครักษาไม่หาย แต่อาการไม่มาก ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมียชนิดผู้ป่วยเป็นพาหะโรค
  • บางโรคอาการรุนแรง อาจเป็นสาเหตุของการตายได้ เช่น สาเหตุจากโรคมะเร็ง

ดังนั้น การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก จึงแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคกับผู้ป่วยได้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

***แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงการพยากรณ์โรคของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com***

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูก ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันเพื่อช่วยบำรุงไขกระดูก
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดโอกาสติดเชื้อเพราะโรคนี้มีผลให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ
  • ไม่ซื้อยาใช้เองที่รวมถึงสมุนไพร อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมื่อจะซื้อใช้เองต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอโดยแจ้งว่าตนเองเป็นโรคไขกระดูก/โรคเลือด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน
    • มีไข้ โดยเฉพาะมีไข้ร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคไขกระดูกได้อย่างไร?

โรคไขกระดูก/โรคของไขกระดูกเป็นโรคป้องกันไม่ได้เต็มร้อยเพราะหลายสาเหตุป้องกันได้ยาก เช่น สาเหตุทางพันธุกรรม, สาเหตุจากมะเร็ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม บางสาเหตุก็มีแนวทางที่จะป้องกัน/ลดอัตราเกิดลงได้ โดยการป้องกัน เช่น

  • เมื่อเป็นโรคทางพันธุกรรม ก่อนแต่งงาน โดยเฉพาะเมื่อวางแผนจะมีบุตรควรต้องปรึกษาดพทย์ถึงอัตราเสี่ยงของโรคนี้ที่จะเกิดกับบุตร
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินยา/ใช้ยาแต่ที่จำเป็น เมื่อจะซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัชกรถึงผลข้างเคียงของยานั้นๆเสมอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันป้องกันไขกระดูกขาดสารอาหาร
  • ตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์สม่ำเสมอร่วมกับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี/CBC

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/bonemarrowdiseases.html [2021,May29]
  2. https://www.healthline.com/health/cancer/bone-marrow-cancer [2021,May29]
  3. https://labtestsonline.org/conditions/bone-marrow-disorders [2021,May29]
  4. https://aamac.ca/wp-content/uploads/2012/09/2012_Bone_Marrow_Disorders_Wells.pdf [2021,May29]