โรคเก็บสะสมของ (Hoarding disorder)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคเก็บสะสมของ หรือ โรคทิ้งไม่ลง หรือ โรคสะสมขยะ (Hoarding disorder) คือโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางพฤติกรรมที่เก็บสะสมสิ่งของต่างๆที่ประโยชน์น้อย มีค่าน้อยอย่างมากมายรกรุงรังเต็มบ้านทุกซอกทุกมุม ลุกลามออกมารอบๆบ้าน เช่น ถุงต่างๆที่ใช้แล้ว ฯลฯ ส่งผลให้เกิดความรกรุงรัง หมักหมม สกปรก อับ ส่งกลิ่นเหม็น อากาศไม่ระบาย ไม่เหลือที่ใช้สอยแม้แต่ที่นอนและที่ทำอาหารส่งผลต่อ การพักผ่อน หลับนอน อาหารการกิน ร่างกายจึงอ่อนแอ ขาดอาหาร(ทุพโภชนา) และเกิดปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดสะสมต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สภาพที่พักอาศัยยังก่อเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงเป็นที่อยู่ของสัตว์พาหะโรค เช่น แมลงสาบ หนู ปลวก มด, และสัตว์อันตราย เช่น แมงป่อง ตะขาบ งู แมงมุม, ผู้ป่วยจะไม่ยอมให้ใครเข้าบ้านเพราะจะรู้สึกอึดอัดและอับอาย และมักวิวาทบาดหมางกับญาติพี่น้องและข้างบ้านเป็นประจำ ทำให้ต้องแยกตัวอยู่คนเดียว

นอกจากดังกล่าว ผู้ป่วยยังจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจาก สะดุดของล้ม, สิ่งของล้มทับ, และจากโรคต่างๆที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่สกปรก เช่น โรคภูมิแพ้, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค, และที่พักอาศัยยังเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้, ไฟฟ้าช็อต

โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ พบทั่วโลกประมาณ 2%-6% ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ ทั่วไปจะค่อยๆเริ่มมีอาการตั้งแต่เป็นวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงแพทย์มักยังวินิจฉัยโรคได้ไม่ชัดเจนเพราะอาการจะไม่ชัดเจน, ต่อจากนั้นอาการจะค่อยๆรุ่นแรงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทั่วไปมักค่อยๆปรากฏอาการชัดเจนขึ้นประมาณหลังอายุ30ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่อาการจะรุนแรงจนเกิดปัญหาที่ทำให้ต้องได้รับการรักษาในวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป, ทั้งนี้เพศหญิงและเพศชายเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน

อนึ่ง:

  • โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ นอกจากชอบเก็บสะสมสิ่งของไร้ค่าแล้วบางคนส่วนน้อยอาจ’ชอบเก็บสะสมสัตว์(Animal hoarding)’จำนวนมากผิดปกติจนแน่นสถานที่ เลี้ยงให้อดอยาก ไม่ดูแลปฏิกูล ไม่ดูแลสุขอนามัยสัตว์ ไม่มีการฉีดวัคซีนสัตว์ และสัตว์ไม่เคยได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์
  • โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ มักพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อม, โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคจิตเภท
  • ชื่ออื่นของโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง เช่น โรคทิ้งไม่ลง, โรคชอบสะสมของ, โรคชอบเก็บสะสมของ, โรคชอบสะสมขยะ, Hoarding, Compulsive Hoarding

โรคเก็บสะสมของมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคเก็บสะสมของ

แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ แต่พบบางปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • พันธุกรรม: เพราะพบผู้ป่วยหลายคนมีประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นโรคนี้
  • มีประวัติอุบัติเหตุที่สมองโดยเฉพาะสมองส่วนหน้า
  • มีปัญหารุนแรงในครอบครัวตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) เช่น ถูกกระทำรุนแรงทุกรูปแบบ, พ่อแม่หย่าร้าง, ภัยพิบัติที่ทำให้สูญเสียรุนแรง
  • มีโรคสมองและโรคจิตเวชบางโรค เช่น โรคสมองเสื่อม, โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคซึมเศร้า

โรคเก็บสะสมของมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ เป็นโรค/อาการเรื้อรัง ซึ่งได้แก่

  • ชอบเก็บสะสมสิ่งของที่ดูไม่มีค่าสำหรับคนทั่วไป หมกมุ่นเก็บสะสมอย่างมากมายผิดปกติ ไม่มีการจัดเก็บเป็นระเบียบ สกปรก หมักหมม จนเต็มทุกพื้นที่ของบ้านรวมถึง ในครัว ห้องน้ำ ห้องนอน และรอบบ้าน สิ่งของที่สะสมมีได้เกือบทุกชนิดโดยเฉพาะของใช้แล้วต่าง/ของที่คนอื่นทิ้งแล้ว เช่น ถุงต่างๆ กระดาษ หนังสือพิมพ์ ขวดน้ำ เสื้อผ้าเก่า
  • สิ่งของที่เก็บจะไม่ได้รับการใส่ใจดูแล, ไม่มีการจัดเก็บเป็นระเบียบ, ไม่รักษาความสะอาด
  • ไม่รู้สึกชื่นชมหรือชื่นชอบสิ่งของที่เก็บ, แต่ไม่สามารถทิ้งสิ่งของที่เก็บสะสมนี้ได้, และจะเกิดความเครียด กังวล รุนแรง ที่จะต้องทิ้งของเหล่านี้จนทิ้งไม่ได้
  • มีความเครียด กังวลรุนแรงเมื่อไม่มีของสะสมเพิ่มเติม
  • ของสะสมก่อกลิ่นและความสกปรกจนเป็นปัญหากับสุขภาพของตนเองและเพื่อนบ้าน, เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค, และ สัตว์พาหะโรค เช่น แมลงสาบ แมงป่อง หนู ยุง รวมถึงสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ งู
  • หวาดระแวงเมื่อมีคนเข้าใกล้หรือหยิบจับของสะสม
  • สะสมของจนกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกคนที่อาศัยในบ้านเดียวกันและเพื่อนบ้าน จนทำให้ต้องแยกตัวอยู่คนเดียว
  • ก่อการกระทบกระทั่งและวิวาทกับเพื่อนบ้านจากความสกปรก กลิ่น และแหล่งสะสมเชื้อโรคของที่พักอาศัย
  • แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน ไม่ติดต่อญาติพี่น้อง ไม่ถูกกับญาติพี่น้อง ไม่มีสังคม
  • มักไม่มีอาชีพ การงาน เป็นหลักแหล่ง
  • ปฏิเสธไม่ให้ผู้อื่นเข้าบ้าน
  • มักเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความสกปรก เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, วัณโรค, โรคภูมิแพ้, โรคผิวหนัง
  • มีโรคทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคสมองเสื่อม, โรคซึมเศร้า
  • มีภาวะขาดอาหาร

โรคเก็บสะสมของต่างจากนักสะสมของที่ชอบอย่างไร?

โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ ต่างจากนักสะสมของที่ชอบ/การสะสมของชอบ(Collecting)ซึ่งไม่ได้เป็นโรค คือ

  • โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ: คือ โรคทางจิตเวชที่มีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ ที่มีผลกระทบด้านลบทั้งกับตนเอง ครอบครัว และเพื่อนบ้าน และเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์
  • การสะสมของชอบ: เป็นการเลือกเก็บสะสมของเฉพาะที่ชอบ, ชื่นชม ที่ของมีความความหมายกับตนเอง, และ/หรือเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การลงทุนเพิ่มคุณค่า, สิ่งของสะสมจะมีค่า, และได้รับการดูแล จัดเก็บแยกจากของอื่นๆ เป็นที่เป็นทาง เป็นระเบียบ, รักษาความสะอาดอย่างดี

แพทย์วินิจฉัยโรคเก็บสะสมของได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ ได้จาก

  • ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วยดังได้กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ที่รวมถึง อายุที่เริ่มมีความผิดปกติ และอายุที่อาการชัดเจน, ประวัติอุบัติเหตุทางสมอง, และประวัติการได้รับความรุนแรงในวัยเด็ก, ประวัติโรคจิตเวชในครอบครัว
  • มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคตามอาการผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบ เช่น
    • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
    • การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือ เอมอาร์ไอ
    • การตรวจต่างๆทางจิตเวช

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ มักจะไม่รับรู้ถึงความผิดปกติของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด/เพื่อนบ้านที่เริ่มเห็นอาการผิดปกติของผู้ป่วย ที่ต้องรีบนำผู้ป่วยพบจิตแพทย์, หรือคนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากผู้ป่วยควรรีบแจ้งทางการให้รับทราบถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อช่วยเหลือประสานงานไปยังแพทย์ที่รับผิดชอบสุขอนามัยของประชาชนในย่านนั้นๆ

รักษาโรคเก็บสะสมของได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ ได้แก่

  • การใช้ยาปรับสารเคมี/สารสื่อประสาทในสมอง เช่นยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ(SSRI)
  • การรักษาด้วยวิธีทางจิตเวชโดยการปรับกระบวนการคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น วิธี Cognitive-behavioral therapy(ย่อว่า ซีบีที/CBT) ซึ่งวิธีต่างๆมักใช้ร่วมกับการใช้ยาฯดังกล่าวเสมอ
  • ให้การดูแล/แนะนำครอบครัวผู้ป่วย อาจต้องรวมถึงคนในชุมชน และเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยพบแพทย์ได้อย่างถูกต้องต่อเนื่อง และไม่ขาดการรักษา

โรคเก็บสะสมของก่อผลกระทบอย่างไร?

ผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ ได้แก่

ก. ผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเอง: คือ คุณภาพชีวิตที่เสียไป

    • จากสุขอนามัยและโรคต่างๆที่เกิดจากความสกปรกของสถานที่ เช่น ภาวะทุพโภชนา/ขาดอาหาร, โรคผิวหนัง, โรคติดเชื้อต่างๆ, โรคภูมิแพ้, และ
    • จากปัญหาทางอารมณ์จิตใจทั้งที่เกิดจากโรคของตนเองและจากผลกระทบต่อการอยู่ในสังคมโดยเฉพาะกับเพื่อนบ้าน เช่น โรคซึมเศร้า

ข. ผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน: คือ สุขอนามัยทั่วไปของสถานที่รวมถึงสัตว์พาหะโรคและสัตว์มีพิษทั้งหลาย, การบาดหมาง ทะเลาะ วิวาท ที่ส่งผลถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้คนในละแวกเดียวกัน

โรคเก็บสะสมของมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด แต่ เมื่อได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์จิตเวชอย่างต่อเนื่องตลอดไปที่รวมถึงการดูแลจากคนในครอบครัว จะค่อยๆช่วยลดอาการต่างๆของผู้ป่วยลงจนสามารถมีคุณภาพชีวิตและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ใกล้เคียงปกติ

แต่ถ้าขาดการดูแลรักษาจากแพทย์และครอบครัวสม่ำเสมอตลอดไป ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการโรคได้อีก

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของอย่างไร?

โรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้ และไม่รับรู้ว่าตนเองเป็นโรคเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องอาศัย ครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านช่วยดูแล แจ้งครอบครัวผู้ป่วย และ แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกที่เห็นพฤติกรรมที่กระทบต่อสุขอนามัยของเพื่อนบ้าน

ป้องกันเกิดโรคเก็บสะสมของได้อย่างไร

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่พบวิธีที่จะช่วยป้องกันโรคเก็บสะสมของ/โรคทิ้งไม่ลง/โรคสะสมขยะ ดังนั้นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เห็นพฤติกรรมผู้ป่วยเข้าข่ายโรคนี้ และ/หรือ ทราบว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’, ควรรีบนำผู้ป่วยพบจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการรุนแรงที่ทำให้การรักษายุ่งยาก ซับซ้อน และได้รับประสิทธิผลน้อยลง

บรรณานุกรม

  1. https://www.dmh.go.th/sty_lib/news/news/view.asp?id=30429 [2021,Jan23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Collecting [2021,Jan23]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Compulsive_hoarding [2021,Jan23]
  4. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17682-hoarding-disorder [2021,Jan23]