โรคหินปูนในหู โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Verti go: BPPV)

สารบัญ

บทนำ

“คุณหมอครับช่วยผมด้วย ผมเป็นอะไรก็ไม่รู้ หันหน้าไปทางซ้ายทีไร เวียนหัว บ้านหมุนทุกที” ผู้เขียนมีโอกาสให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียนศีรษะทุกวัน บางคนมีสาเหตุที่ร้ายแรง แต่คนส่วนใหญ่มีสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด พอผมบอกสาเหตุนี้กับผู้ป่วยทีไร ผู้ป่วยเป็นต้องหันหน้ามาถามซ้ำว่า เป็นโรคอะไรนะ ไม่เคยได้ยินเลย คนส่วนใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับชื่อโรคนี้ เรามาเรียนรู้ด้วยกันครับว่าโรคนี้คืออะไร

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดคืออะไร?

โรคหินปูนในหู

ระบบการทรงตัวของคนเรา ประกอบด้วยการทำงานของ สมองน้อย (Cerebellum), ระบบข้อกระดูกต่างๆ และการสั่นสะเทือนของร่างกาย (Proprioceptive and vibratory sense), การมองเห็น (ลูกตา), และระบบประสาทในหูชั้นใน ที่ประกอบด้วย เนื้อเยื่อ/อวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว 3 ชนิด ได้แก่ Utricle, Saccule, และ Semicircular canal ซึ่งใน Utricle มีตะกอนหินปูน (Otoconia หรือ Otolith) ที่เคลื่อนไปมา โดยไม่หลุดออกนอกอวัยวะนี้ เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ

แต่เมื่อมีสาเหตุให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุดจาก Utricle ไปอยู่ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวอีกชนิด คือ Semicircular canal ซึ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ จะทำให้ตะกอนหินปูนดัง กล่าว เคลื่อนที่ไปมาใน Semicircular canal เกิดการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขึ้นมา

ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ เฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหว เฉพาะท่าทางใดท่าหนึ่ง หรือหลายท่าก็ได้ แต่จะมีท่าทางเฉพาะ โดยถ้าเป็นการเคลื่อนไหวท่าทางอื่นๆก็ไม่มีอาการวิง เวียนศีรษะ เช่น จะมีอาการเฉพาะตะแคงศีรษะไปด้านซ้ายหรือด้านขวา หรือก้มศีรษะไหว้พระ หรือเงยหน้าเท่านั้น เป็นต้น

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะผิดปกติในการทรงตัวที่เป็นความผิดปกติที่เกิดจากระบบประสาท โรคนี้พบได้ในทุกอายุ แต่พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก มักพบในช่วงอายุ 30 – 70 ปี (โดยพบได้สูงกว่าในคนอายุมากกว่า 60 ปี) และพบในเพศหญิงมาก กว่าเพศชายประมาณ 2 : 1 ทั้งนี้ โรคนี้สามารถเกิดกับหูทั้งสองข้างได้ แต่พบไม่บ่อย ทั่วไป มักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งข้างซ้าย และข้างขวา

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด เกิดจากตะกอนหินปูนหลุดจากตำแหน่งปกติ ไปอยู่อีกตำ แหน่งหนึ่งดังที่กล่าวแล้วข้างต้น (หัวข้อ คือโรคอะไร) จึงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะแบบหมุน

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุดจาก Utricle ไปอยู่ใน Semicircular canal ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ความเสื่อมตามวัยของเซลล์ทุกชนิด รวมทั้งเซลล์ของหู
  • อุบัติเหตุ โดยเฉพาะการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุบริเวณศีรษะ และ/หรือหู
  • โรคของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ
  • การผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน
  • การติดเชื้อ หลังผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนนานๆ
  • การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องก้มๆเงยๆ หรือทำความสะ อาด หรือเช็ดฝุ่นที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ เพราะเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ จะทำให้ตะ กอนหินปูนดังกล่าวเคลื่อนที่ไปมาใน Semicircular canal และส่งสัญญาณไปยังระบบประ สาทส่วนกลางในส่วนที่เป็นสมองน้อย กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขึ้นมาได้

*หมายเหตุ

ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ จากอุบัติ เหตุ หรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ และ/หรือหู ส่วนสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคนี้ในผู้ป่วยอา ยุมากกว่า 50 ปี คือ ความเสื่อมของอวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นในตามอายุ แต่อย่างไรก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ ไม่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด มักมีอาการเวียนศีรษะที่มีลักษณะเป็นแบบบ้านหมุน รู้สึกโคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว โดยเกิดเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะอย่างรวดเร็วในท่าเฉพาะ เช่น ล้มตัวลงนอน, ลุกจากที่นอน, ก้มหยิบของ, เงยหน้ามองที่สูง, ก้มหน้ามองที่ต่ำ, หรือเอียงคอ ซึ่งท่าเหล่านี้จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนหินปูน และจะส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนตามมาได้

ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะไม่นาน มักเป็นวินาทีหรือนาที หลังมีการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ และมักจะมีตากระตุกทำให้มองไม่ชัด ขณะมีอาการหรือมองเห็นภาพซ้อน แต่ตามักจะกระตุกอยู่นานประมาณ 30 วินาทีถึง 1 นาทีเท่านั้น และอาการเวียนศีรษะดัง กล่าว จะค่อยๆหายไป แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะได้หลายครั้ง เป็นๆหายๆใน 1 วัน และอาจมีอา การวิงเวียนอยู่ได้เป็นวันหรือสัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อยๆดีขึ้น และหลังจากหายดีแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการหูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู ไม่มีแขนขาอ่อนแรง หรือชา หรือพูดไม่ชัด และไม่มีอาการหมดสติ

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผู้ป่วย โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เกิดอาการ และ/หรือมีอาการมากขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ ฝนตก มีพายุ นอนหลับไม่พอ พักผ่อนน้อย เครียด และ/หรือ ภาวะเจ็บป่วย

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลถ้ามีอาการดังกล่าวบ่อยๆ และ/หรืออาการไม่ตอบสนองต่อการดูแลตนเองเบื้องต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดได้อย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดจาก ประวัติอาการที่มีลักษณะวิงเวียนศีรษะ แบบบ้านหมุนโดยมีความสัมพันธ์กับท่าทางเฉพาะ หรือกับกิจกรรมเฉพาะ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ที่ไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ และให้ผลบวกต่อการตรวจท่าเฉพาะของโรคนี้ (ให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนอย่างเร็วในท่าตะแคงศีรษะ และห้อยศีรษะลงเล็กน้อย ชื่อวิธีการตรวจ คือ Dix-Hallpike maneuver ซึ่งผลบวก คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ และมีการกระตุกของลูกตา/ตากระตุก ที่เกิดเฉพาะในบางท่าทาง) ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง แต่จะส่งตรวจ กรณีผู้ป่วยมีอาการที่ไม่สามารถแยกจากโรคของเนื้อเยื่อสมองได้ เช่น มีอาการเดินเซร่วมด้วย หรือมีตากระตุกลักษณะอื่นๆ หรือเมื่อให้การรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นตามที่ควรจะเป็น

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด ประกอบด้วย

  • รักษาด้วยยา ได้แก่ ให้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะเมื่อผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ นอกจากนั้น ผู้ ป่วยควรหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และอาจให้ยาเพื่อป้องกันอาการเวียนศีรษะ ในกรณีรักษาโรคนี้ด้วยการทำกายภาพบำบัด ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ
  • การทำกายภาพบำบัด เป็นการขยับศีรษะและคอ โดยใช้แรงดึงดูดของโลก เพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูน ออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว Semicircular canal ที่ตะกอนหินปูนเคลื่อนไปรบกวนจนก่ออาการ เพื่อให้ตะกอนหินปูนกลับเข้าที่เดิมคือใน Utricle (ที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ) การเคลื่อน ไหวศีรษะ จะเป็นการเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ และช้าๆของศีรษะ ในแต่ละท่าหลังจากที่อาการเวียนศีรษะ หรืออาการเคลื่อนไหวผิดปกติของลูกตา หยุดหรือหายไปแล้ว โดยให้ผู้ป่วยคงอยู่ในแต่ละท่า ประมาณ 30 วินาที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเวียนศีรษะได้เร็วกว่าการไม่ทำกายภาพ บำบัด การทำเพียง 1-2 ครั้ง ก็มักจะได้ผล แพทย์อาจเป็นผู้ทำให้ (จับศีรษะผู้ป่วยเคลื่อนไหว) หรือแนะนำให้ผู้ป่วยทำเองก็ได้

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด ส่วนใหญ่แล้วตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดร่วมกับการใช้ยา นั่นหมายถึงการทานยาเพียงอย่างเดียวจะได้ผลได้ไม่ดีมาก

แต่บางครั้งการรักษาด้วยยา และการทำกายภาพบำบัด อาการผู้ป่วยก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งกรณีนี้ อาจมีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหูชั้นใน Semicircular canal โดยพิจารณาจากที่ผู้ป่วยรักษาด้วยยา และทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงอยู่ตลอด ไม่ดีขึ้น หรืออาการกลับเป็นซ้ำบ่อย จุดประสงค์ของการผ่าตัดคือ ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง หรือหายไป

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด ได้แก่ ถ้าอาเจียนมาก อาจมีการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ในร่างกายมาก (ภาวะขาดน้ำ) และอาจล้ม ในขณะวิงเวียนและมีอา การหมุน ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะต่างๆของร่างกายได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการคอเอียง เพราะไม่ยอมหันศีรษะไปในด้านที่ทำให้วิงเวียนหรือหมุน

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเอง คือ

  • เมื่อเริ่มเวียนศีรษะ ควรรีบนั่งลง หรือนอนบนพื้นราบหัวสูงเล็กน้อย ถ้าอาการเวียนศีรษะเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้
  • เมื่อตื่นกลางดึกไม่ควรเดินขณะมืดๆ ควรเปิดไฟให้ความสว่างเต็มที่
  • เมื่อมีการทรงตัวไม่ค่อยดีร่วมด้วย มีอัตราเสี่ยงที่จะล้มสูง ควรใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
  • ไม่ควรว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนป่ายที่สูง เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว ขับรถ ทำงานในที่สูง หรือทำ งานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะมีอาการเวียนศีรษะ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเกิดอันตรายได้
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ มีอาการต่างๆรุนแรงขึ้น อาการบ้านหมุนเป็นทุกท่าทาง หรือเป็นตลอดเวลา อาเจียนอย่างรุนแรงจนทานอาหารไม่ได้ เซจนเดินไม่ได้ หรือมีปัญหาการได้ยินร่วมด้วย

ป้องกันโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุดได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุ การป้องกันโรคนี้ เต็มร้อยเป็นไปได้ยาก แต่การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อ ศีรษะ หู และการป้องกันหูอักเสบติดเชื้อ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวบางอย่างในชีวิตประจำวัน อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด กำเริบได้ เช่น

  • เวลานอน ควรหนุนหมอนสูง (เช่น ใช้หมอนนอน 2 ใบ) หรือใช้เตียงนอนปรับระดับให้ศีรษะสูง หลีกเลี่ยงการนอนราบ
  • หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงที่เอาหูด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการลงล่าง
  • ตอนตื่นนอนตอนเช้า ควรลุกขึ้นจากเตียงนอนช้าๆ และนั่งอยู่ตรงขอบเตียงประมาณ 1 นาที
  • หลีกเลี่ยงการก้มเก็บสิ่งของ หรือแหงนหน้าหยิบของบนที่สูง
  • เวลาทำฟัน และต้องนอนบนเก้าอี้ทำฟัน หรือไปสระผม และต้องนอนบนเตียงสระผม อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนได้ ควรแจ้งทันตแพทย์ และร้านสระผม
  • ไม่ควรออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะ หรือลำตัว มาก
  • เวลาหยอดยาหยอดตา พยายามหยอด โดยไม่เงยศีรษะไปข้างหลังมากเกินไป
  • เวลานอน หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ในท่าเงยคอ และ/หรือหันไปทางหูด้านที่จะทำให้เกิดอาการ
  • เวลาจะทำอะไร ควรค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ อย่าเปลี่ยนท่าทางรวดเร็ว

สรุป

การพยายามออกกำลังกาย การพักผ่อนเพียงพอ การไม่เคร่งเครียด ก็สามารถทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้