โรคหลอดลมพอง (Bronchiectasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหลอดลมพอง หรือบางครั้งเรียกว่า โรคมองคร่อ (Bronchiectasis) คือโรคที่หลอด ลมภายในปอดมีการขยายตัวถาวร ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบเฉพาะที่หรือเกิดขึ้นทั่วทั้งปอด อาจปอดข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปอด/หลอดลมมีการติดเชื้อซ้ำๆหลายครั้ง ส่งผลให้เยื่อบุของหลอดลมซึ่งยืดหดได้ ถูกทำลาย หลอดลมจึงเกิดการขยายตัวถา วร ทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ/เสมหะเกิดการคั่งอยู่ในหลอดลม หลอดลมไม่สามารถหดบีบกำจัดออกมาได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดมีอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคหลอด ลมพอง

การรักษาโรคหลอดลมพองขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิด ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ และการรักษาภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ/หลอดลมอักเสบติดเชื้อที่มักเกิดแทรกซ้อน

ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดลมพองที่ชัดเจน แต่พบว่าอัตราการเกิดโรคลดลงตั้งแต่มีการคิดค้นการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในประเทศด้อยพัฒนาพบอัตราการเกิดโรคมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงและใช้ยาปฏิชีวนะและวัคซีนนั่นเอง

พบผู้ป่วยได้ในทุกเชื้อชาติ ผู้ป่วยประมาณ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง ในปัจจุบันพบในผู้สูง อายุมากกว่าวัยอื่นๆ โดยในสมัยก่อนที่จะมีวัคซีน พบในวัยเด็กได้ค่อนข้างบ่อย

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดลมพอง?

โรคหลอดลมพอง

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดลมพองแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. สาเหตุจากการติดเชื้อ พบได้บ่อยที่สุด โดย

เชื้อไวรัสในกลุ่ม Adenovirus และ Influenza virus (เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้มักทำให้เกิดโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรค

ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้ มักเป็นชนิดที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ/หลอด ลมอักเสบรุนแรง ได้แก่ แบคทีเรียชื่อ Staphylococcus aureus, และ Klebsiella pneumonia, เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไอกรนในเด็กก็พบเป็นสาเหตุสำคัญในยุคก่อนที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไอโกรน เชื้อวัณโรค ก็เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยอีกสาเหตุหนึ่ง โดยมักทำให้เกิดหลอดลมพองเฉพาะที่ในกลีบปอดด้านบน และเชื้อในกลุ่มที่ใกล้เคียงกับเชื้อวัณโรค ที่เรียกว่า Non tuberculous mycobacteria ก็พบเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักเกิดการติดเชื้อเป็น ปอด /หลอดลมอักเสบซ้ำๆ แล้วตามมาด้วยการเป็นโรคหลอดลมพอง ในบางครั้งผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อเพียงครั้งเดียวที่ทำให้เกิดปอด/หลอดลมอักเสบรุนแรง มีการทำลายเนื้อปอดและหลอดลมค่อนข้างมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคหลอดลมพองขึ้นได้

เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำๆอีก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย ชนิดที่เชื้อรุนแรงหรือ ไม่รุนแรง ก็จะทำให้โรคหลอดลมพองเป็นรุนแรงมากขึ้นๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคหรือภาวะบางอย่าง จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเป็นปอด/หลอด ลมอักเสบได้ง่ายและบ่อย ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดลมพองได้สูง ได้แก่

  • โรค Cystic fibrosis เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งพบได้บ่อยในคนเชื้อชาติผิวขาว คือ ประมาณ 1 ใน 2,500 คน ดังนั้นในชนผิวขาว โรคนี้จึงเป็นสาเหตุโรคหลอด ลมพองที่พบบ่อยกว่าสาเหตุอื่นๆ โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการขนส่งเกลือแร่ ชนิดคลอไรด์ (Chloride) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างเมือกของต่อมในเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้อง คือ (เนื้อเยื่อปอด หลอดลม และเนื้อเยื่ออวัยวะระบบทางเดินอาหาร) จึงส่งผลให้ต่อมผลิตเมือกในหลอดลม ผลิตเมือกซึ่งมีความเหนียวข้นกว่าปกติ ทำให้เมือกกำจัดออกได้ยาก จึงคั่งค้างอยู่ในหลอดลม เชื้อโรคต่างๆที่เข้ามาในหลอดลม จึงไม่ถูกกำจัดออกไป ส่งผลทำให้ติดเชื้อเป็นปอด/หลอดลมอักเสบได้บ่อยๆ
  • โรค Primary ciliary dyskinesia เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกโรคหนึ่ง แต่พบได้น้อย ในโรคนี้เซลล์เยื่อบุอวัยวะระบบทางเดินหายใจจะสูญเสียหน้าที่ในการพัดโบกกำจัดเชื้อโรคต่างๆออกไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ง่ายและเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ซ้ำบ่อยๆ ผู้ป่วยจะเกิดไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ รวมทั้ง ปอด/หลอดลมอักเสบติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ จนกลายเป็นหลอดลมพองในที่สุด
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่างๆ เช่น ในโรค Panhypogammaglobuline mia ซึ่งผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อตามผิวหนัง ไซนัส รวมทั้งปอด/หลอดลม เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ และในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดลมพองเช่นกัน
  • โรคระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติชนิดต่างๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี (SLE) เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งรวมทั้งการติดเชื้อของ ปอด/หลอดลมด้วย
  • โรคความผิดปกติแต่กำเนิดของปอดและหลอดลม ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบได้ง่าย เนื่องจากเป็นมาแต่กำเนิด โรคหลอดลมพองจากสาเหตุนี้ จึงพบได้ตั้งแต่วัยทารก
  • เกิดการอุดตันของหลอดลมเฉพาะที่จากสาเหตุต่างๆ เช่น
    • มีก้อนเนื้องอกโตอุดกั้นหลอดลม
    • มีสิ่งแปลกปลอมเล็กๆหลุดเข้าไปอุดยังหลอดลม
    • มีต่อมน้ำเหลืองในปอดโตจนกดทับหลอดลมซึ่งมักพบในโรควัณโรค

    การที่หลอดลมถูกอุดตัน ทำให้การกำจัดเชื้อโรคของหลอดลมนั้นๆเสียไป ปอดที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดลมแขนงนั้นๆ จะเกิดปอดอักเสบได้ง่าย และกลายเป็นโรคหลอดลมพองแบบที่เป็นเฉพาะที่ต่อไป

  • การสำลักเอาอาหารและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารลงสู่ปอด/หลอดลม เศษอาหารอาจเข้าไปอุดตันหลอดลมบางแขนงและทำให้เกิดผลตามมาเหมือนข้างต้น (การอุดตันเฉพาะที่ของหลอดลม) ส่วนน้ำย่อยซึ่งเป็นกรดจะทำลายหลอดลมได้โดยตรง หากการสำ ลักเกิดขึ้นบ่อยๆ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ปอด/หลอดลมและทำให้เกิดปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบได้ซ้ำๆ โดยมักจะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน

2. สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก ได้แก่ การหายใจเอาแก๊สพิษเข้าไปในปริมาณมาก เช่น แก๊สแอมโมเนีย (Ammonia) แก๊สคลอรีน (Chlorine) หรือการติดเชื้อราชนิด Aspergillus ในปอด ซึ่งเชื้อไม่ได้ลุกลามทำลายเนื้อปอด/หลอดลม แต่ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อเชื้อรานี้ จะทำลายหลอดลมของปอดและทำให้เกิดโรคหลอดลมพองตามมาได้ เป็นต้น

โรคหลอดลมพองมีกลไกการเกิดโรคอย่างไร?

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ปอด/หลอดลมและทำให้ปอด/หลอดลมติดเชื้อ เชื้อจะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่างๆของปอดรวมถึงหลอดลม เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ที่สำคัญคือ ชนิดนิวโตรฟิว (Neutrophil) จะเข้ามาเพื่อจับกินและทำลายเชื้อโรคโดยผลิตเอนไซม์ (Enzyme) ชนิดต่างๆออกมา ซึ่งก็จะมีผลทำลายหลอดลมด้วย หากเชื้อโรคมีพิษไม่รุนแรงหรือได้รับยาปฏิ ชีวนะฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง เนื้อเยื่อก็จะถูกทำลายไม่มาก ร่างกายก็จะสามารถซ่อมแซมให้กลับ มาทำงานได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงเดิม แต่หากเชื้อโรคมีพิษรุนแรง หรือไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ หรือได้ยาไม่ถูกต้องเหมาะสม หลอดลมก็จะถูกทำลายมาก และชั้นผนังของหลอดลมซึ่งประ กอบไปด้วย เยื่อบุ ชั้นกระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อ อิลาสติก/เนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นที่สร้างจากโปรตีนบางชนิด (Elastic fiber) ก็จะถูกแทนที่ด้วยพังผืด ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น มีการพองตัวขยายออก ต่อมผลิตเมือกจะมีปริมาณมากขึ้นและผลิตเมือกออกมาอยู่ในท่อหลอดลมมากขึ้น ชั้นของเยื่อบุเมื่อถูกทำลาย เซลล์เยื่อบุปกติที่มีขน ก็จะถูกแทนที่ด้วยเซลล์ชนิดไม่มีขน ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่พัดโบกกำ จัดเชื้อโรคต่างๆที่อาจเล็ดลอดผ่านทางเดินหายใจส่วนต้นเข้ามาได้ เชื้อโรคชนิดต่างๆจะมีโอ กาสเข้าสู่ปอด/หลอดลมได้ง่ายขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบซ้ำแทรกซ้อนขึ้นมา และทำให้ปอด/หลอดลมในบริเวณที่ปกติหรือยังถูกทำลายไม่มาก ถูกทำลายเพิ่มเติมขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรทำลายปอด/หลอดลมซ้ำซาก จนกลายเป็นโรคหลอดลมพองในที่สุด

อีกทั้งผู้ป่วยเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นได้อีกเรื่อยๆ และทำให้เนื้อเยื่อปอด/หลอดลมถูกทำลายมากขึ้นๆต่อไป เนื้อปอด/หลอดลมก็จะกลายเป็นภาวะปอดแฟบ กลาย เป็นพังผืด ปอด/หลอดลมขยายตัวไม่ได้ และมีถุงลมโป่งพองปนเปกันไป

โรคหลอดลมพองมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหลอดลมพอง จะประกอบด้วยอาการที่เกิดจากหลอดลมพอง และอาการของการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน (Exacerbation of infection)

1. อาการของหลอดลมพอง อาการหลักคือ ไอเรื้อรังร่วมกับมีเสมหะ เสมหะมักจะเหนียวข้น หรือเป็นหนอง ผู้ป่วยประมาณ 50-70% อาจมีเลือดปนเสมหะ (เสมหะเป็นเลือด) ได้เล็กน้อย ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงชั้นเยื่อบุผิวของหลอดลมเกิดฉีกขาด ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงที่ผนังหลอดลม และทำให้ไอเป็นเลือดปริมาณมากได้

ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจจะพบได้ คือ อาการเหนื่อย หอบ อ่อนเพลีย การตรวจร่างกายจะฟังเสียงปอดได้ผิดปกติหลายรูปแบบ ตรวจพบปลายนิ้วมีลักษณะเป็นปุ้ม/นูนกลม (Clubbing finger) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในโรคปอดเรื้อรังชนิดต่างๆ ในรายที่เป็นรุนแรงแล้ว จะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หัวใจห้องล่างขวาจะโต เนื่องจากต้องออกแรงบีบเลือดส่งไปยังปอดมากกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้ ผู้ป่วยก็จะมีมือเท้าบวม ตับโต ท้องมาน (มีน้ำในท้อง)

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอโดยไม่มีเสมหะ โดยจะพบในผู้ที่เป็นหลอดลมพองบริเวณกลีบปอดด้านบน

2. อาการของการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้ เสมหะจากเดิมที่เคยมีอยู่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น และมีลักษณะเป็นหนองข้นชัดเจน มีปริมาณเลือดปนมาในเสมหะ (เสมหะเป็นเลือด) มากขึ้น

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมพองอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง แบ่งออกเป็น การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง และการวินิจ ฉัยหาสาเหตุ รวมไปถึงการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเกิดภาวะปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ แทรกซ้อนด้วยหรือไม่

  • การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง เริ่มต้นจากประวัติของอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงประวัติการเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ มาก่อนที่จะเกิดอาการไอเรื้อรัง และ/หรือประวัติการเป็นปอด/หลอดลมอักเสบหลายๆครั้ง ก็จะช่วยทำให้นึกถึงโรคนี้ แพทย์ก็จะอาศัยการตรวจร่างกายและการเอกซเรย์ปอดมาช่วยยืนยันการวินิจฉัย หากการเอกซเรย์ธรรมดาพบความผิดปกติ แพทย์ก็จะให้การวินิจฉัยได้ หากยังไม่พบความผิดปกติ ต้องอาศัยการตรวจการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออาจใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจตั้งแต่แรกในผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานในการให้การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง
  • การวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น เคยมีประวัติเป็นโรคปอดอักเสบ/หลอดลมอัก เสบ รุนแรงมาในอดีต ก็ช่วยทำให้นึกถึงว่าอาจเป็นสาเหตุได้ หากเป็นโรคหลอดลมพองเฉพาะ ที่ต้องใช้วิธีส่องกล้องหลอดลม เพื่อดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันอยู่หรือไม่ หากเป็นที่กลีบปอดด้านบน ต้องนึกถึงสาเหตุจากเชื้อวัณโรคและนำเสมหะไปตรวจหาเชื้อ หากมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วม เช่น เอนไซม์จากตับอ่อนผลิตได้ลดลง มีภาวะลำไส้อุดตันบ่อยๆ การเป็นหมันในผู้ชาย หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดลมพอง ต้องตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมเพราะอาจเป็นโรค Cystic fibrosis หรือหากมีการติดเชื้อในอวัยวะอื่นร่วมด้วยบ่อยๆ ผู้ป่วยอาจมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ เป็นต้น แต่ในบางครั้งก็อาจหาสาเหตุไม่พบได้
  • การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเกิดภาวะปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน อาศัยจากอาการ ที่เป็นมากขึ้นฉับพลัน ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์ปอด หรือเอกซเรย์คอม พิวเตอร์ พบความผิดปกติที่บ่งว่าเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ ต้องตรวจหาชนิดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ เพื่อให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมรักษา โดยการนำเสมหะไปตรวจย้อมหาเชื้อและเพาะเชื้อ

มีแนวทางรักษาโรคหลอดลมพองอย่างไร?

ผู้ที่เป็นโรคหลอดลมพองแล้ว ไม่มีวิธีรักษาให้หลอดลมกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ ยกเว้นการผ่าตัดเปลี่ยนปอด การรักษาเป็นไปเพื่อหยุดหรือชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้รุน แรงขึ้น โดยการรักษาแบ่งออกได้เป็น

1. การรักษาสาเหตุของการเกิดโรคหลอดลมพอง สาเหตุบางอย่างก็รักษาได้ เช่น สาเหตุจากการมีสิ่งแปลกปลอมอุดตัน การเป็นโรคกรดไหลย้อน การติดเชื้อเป็นวัณโรค เป็นต้น สาเหตุบางอย่างก็รักษาไม่ได้ เช่น สาเหตุจากโรคพันธุกรรม โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผิดปกติชนิดต่างๆ เป็นต้น

2. การรักษาอาการของโรคหลอดลมพอง เป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้ผู้ ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การให้ยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ซึ่งยา มีทั้งรูปแบบพ่นและรูปแบบกิน การทำกายภาพฟื้นฟูปอดด้วยการเคาะปอดเพื่อขับเสมหะออก การใช้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนการให้ยาละลายเสมหะ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัด เจนว่าได้ประโยชน์ ในผู้ป่วยที่เป็นโรค Cystic fibrosis อาจใช้ยาพ่นที่เป็นเอนไซม์ เพื่อทำให้เสมหะมีความเหนียวลดลงและขับออกได้ง่ายขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในโรคหลอดลมพองจากสาเหตุอื่นๆ และ สำหรับการให้ยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่ม สเตียรอยด์ ข้อมูลยังไม่ชัดเจน

3. การรักษาปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน เมื่อผู้ป่วยมีปอด/หลอด ลมอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นมา ต้องให้ยาปฏิชีวนะรักษาตามเชื้อที่เป็นต้นเหตุ โดยอาจให้ในรูปแบบกินหรือฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

โรคหลอดลมพองมีผลข้างเคียงและความรุนแรงโรคอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคหลอดลมพอง ในสมัยก่อนที่จะมียาปฏิชีวนะรักษา อัตราการเสียชีวิต จากโรคหลอดลมพองค่อนข้างสูง คือมักเสียชีวิตภายใน 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีทั้งวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ และยาปฏิชีวนะรักษาที่มีประสิทธิภาพ อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงไปมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุของโรคด้วย โดยโรค Cystic fibrosis มีการพยากรณ์โรคที่แย่สุด

ดูแลตนเอง และป้องกันโรคหลอดลมพองอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคหลอดลมพอง ที่สำคัญ คือ

1. ในคนปกติ การป้องกันการเกิดโรค คือการป้องกันการติดเชื้อเป็นปอดอัก เสบ/หลอดลมอักเสบ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคไอกรน โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) รวมถึงการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงด้วยการ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมทุกวัน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ควันบุหรี่ และหากมีอาการของปอด/หลอดลมอักเสบเกิดขึ้น ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับยาปฏิชีวนะรักษา

2. ในผู้ที่เป็นโรคต่างๆ ซึ่งมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอด ลมอักเสบง่าย ต้องระวังการติดเชื้ออย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีคนแออัดพลุกพล่าน ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากากอนามัย) ทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และไปพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อติดตามโรคที่เป็นอยู่

3. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมพองแล้ว ต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ แทรกซ้อนขึ้นมาอีก โดยการกระทำดังข้างต้นที่กล่าวมาแล้วทั้งในข้อ 1และ 2 การใช้ยาบรรเทาอาการต่างๆ ควรให้ถูกต้องเหมาะสม รวมไปถึงการพยายามกำจัดเสมหะไม่ให้คั่งค้างในปอด โดยต้องอาศัยคนใกล้ชิดช่วยเคาะปอดอย่างสม่ำเสมอ (เรียนวิธีการจากพยาบาล และ/หรือนักกายภาพบำบัดโรคปอด) การดื่มน้ำมากๆ ไม่อยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ เพราะอากาศจะแห้ง ทำให้เสมหะยิ่งเหนียวข้น และหากอาการแย่ลงโดยฉับ พลัน และ/หรือ มีไข้ ควรพบแพทย์โดยเร็ว/พบแพทย์ก่อนนัด เพื่อรับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เพราะอาจเกิดปอด/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อนได้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวข้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุ

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมพอง หากมีอาการไข้ ไอมากขึ้น เสมหะเป็นหนองมากขึ้น มีเลือดปนมากขึ้น (เสมหะเป็นเลือด) ควรพบแพทย์โดยเร็ว/พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

บรรณานุกรม

  1. ศัพท์แพทย์ศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547. ห้างหุ้นส่วนจำกัด. กรุงเทพฯ. อรุณการพิมพ์
  2. Steven E. Eeinberger. Bronchiectasis, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  3. http://emedicine.medscape.com/article/296961-overview#showall [2018,June9]
Updated 2018,June9