กลุ่มอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและการแสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสม หรือ โรคซูโดบัลบาร์พัลซี (Pseudobulbar Palsy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 6 สิงหาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- โรคซูโดบัลบาร์พัลซีคืออะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคซูโดบัลบาร์พัลซีเกิดได้อย่างไร?
- โรคซูโดบัลบาร์พัลซีมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคซูโดบัลบาร์พัลซีมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคซูโดบัลบาร์พัลซีอย่างไร?
- รักษาโรคซูโดบัลบาร์พัลซีอย่างไร?
- โรคซูโดบัลบาร์พัลซีมีการพยากรณ์โรคอ
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- โรคซูโดบัลบาร์พัลซีป้องกันได้หรือไม่?
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- โรคเอแอลเอส โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (ALS: Amyotrophic lateral sclerosis or Motor neuron disease)
- โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
บทนำ
หลายคนคงเคยได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายปีก่อน ว่ามีเด็กผู้หญิงหลังผ่าตัดสมองแล้วมีอาการหัวเราะตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องน่าขำใดๆ หรือหลายครอบครัวที่ได้ดูแลผู้ป่วยโรคอัมพาต จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการร้องไห้หรือหัวเราะสลับไปมาโดยไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าสนใจว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และรักษาได้หรือไม่ ต้องติดตามบทความเรื่องนี้ แล้วท่านจะได้เข้าใจอาการนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งกลุ่มอาการนี้ คือ ‘กลุ่มอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและการแสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสม หรือ ภาวะ /โรคซูโดบัลบาร์พัลซี (Pseudobulbar Palsy)’
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีคืออะไร? พบบ่อยไหม?
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีคือ กลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของระบบประสาท อาการที่เด่นชัด คือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองที่ทำหน้าที่ด้านกำลัง/การทรงรูปหน้าและการเคลื่อนไหวใบหน้า (Motor function) ร่วมกับการแสดงออกทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมและ/หรือมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่าย (Inappropriate mood หรือ Labile mood หรือ Pseudobulbar affect)
โรคซูโดบัลบาร์พัลซี เป็นโรคพบบ่อยและความบ่อยแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุของโรค เช่น สาเหตุจาก
- โรคหลอดเลือดสมอง จะพบโรคซูโดบัลบาร์พัลซี ได้ 11 - 50%
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งพบเป็นสาเหตุโรคซูโดบัลบาร์พัลซีได้ 7 - 50%
- โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์พบเป็นสาเหตุโรคซูโดบัลบาร์พัลซีได้ 10 - 70%
- โรคอุบัติเหตุต่อสมองพบเป็นสาเหตุโรคซูโดบัลบาร์พัลซีได้ประมาณ 5% เป็นต้น
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีเกิดได้อย่างไร?
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีนี้เกิดจากมีรอยโรคบริเวณกลุ่มเส้นใยประสาท ส่วนที่เรียกว่า Corti cobulbar tract บริเวณส่วนสมองใหญ่ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า การเคี้ยวอาหาร การกลืน การพูด และการแสดงสีหน้าอารมณ์
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคซูโดบัลบาร์พัลซี คือ
1. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
2. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็ม เอส (Multiple sclerosis: MS)
3. จากอุบัติเหตุต่อสมอง (Traumatic brain injury)
4. โรคเนื้องอกสมองบริเวณก้านสมองส่วนบน
5. โรคเอ แอล เอส (Amyotrophic lateral sclerosis: ALS)
6. โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
7. โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
8. โรคพาร์กินสัน
9. โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง (Neurosyphilis)
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีมีอาการอย่างไร?
อาการผิดปกติที่พบบ่อยในโรคซูโดบัลบาร์พัลซี ได้แก่
1. อาการกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรง/ไม่มีแรง ได้แก่ กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการกลืนอา หาร การพูด การออกเสียง
2. อาการน้ำลายไหลตลอดเวลา ไม่สามารถแลบลิ้นออกมาได้
3. อาการแสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสม เช่น หัวเราะ ร้องไห้
4. อาการสำลักอาหาร
5. ตรวจพบ รีเฟล็ก บริเวณใบหน้าส่วนกรามผิดปกติ (Hyperreflexia of jaw’s jerk)
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อสังเกตเห็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ) มีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรนำผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเสมอ ซึ่งถ้ายังไม่ถึงเวลานัดก็ควรต้องพบแพทย์ก่อนนัด
แพทย์วินิจฉัยโรคซูโดบัลบาร์พัลซีอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคซูโดบัลบาร์พัลซีได้โดย
- พิจารณาจากประวัติอาการ อาการผิดปกติข้างต้น ร่วมกับประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุข้างต้น
- การตรวจร่างกาย และ
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม
รักษาโรคซูโดบัลบาร์พัลซีอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคซูโดบัลบาร์พัลซีที่ทำให้หายขาดได้ เป็นการรักษาตามอา การที่เกิดขึ้น เช่น
- การให้ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น ยาแบคโคลเฟ็น (Baclofen)
- ยาลดน้ำลาย เช่น ยากลุ่มต้านโคลิเนอจิก (Anticholinergic: เช่น อาร์เทน/Artane)
- ยาควบคุมการแสดงออกของอารมณ์ ได้แก่ ยาทางจิตเวช เช่น กลุ่มยาต้านเศร้ากลุ่มต่างๆ ได้แก่ อะมิธิปทาลีน (Amitriptylline), เซอร์ทาลีน (Sertaline), ซิต้าโลแพม (Citalopram) เป็นต้น
- ร่วมทั้งยาต้านอนุมูลอิสระ เช่น เดร็กโตรเม็ทโทรแฟน (Dextromethophan)
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคซูโดบัลบาร์พัลซีคือ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย และอาจมีอันตรายได้ ถ้าเกิดการสำลักอาหาร เพราะจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด (ปอดอักเสบ/ปอดบวม) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต (ตาย) ได้บ่อย
นอกจากนั้นการพยากรณ์โรคของโรคซูโดบัลบาร์พัลซี ยังขึ้นกับความรุนแรงของโรคต่าง ๆที่เป็นสาเหตุอีกด้วย
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลที่สำคัญเมื่อป่วยมีอาการของโรคซูโดบัลบาร์พัลซีคือ ต้องระวังการสำลักอาหาร และการแสดงออกทางอารมณ์ เนื่องจากการทานอาหาร การกลืนมีปัญหา ถ้าเกิดการสำลักอา หารจะเป็นปัญหาใหญ่มากคือ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ และการแสดงออกทางอารมณ์ อาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ดังนั้นผู้ดูแลต้องมีความเข้า ใจในประเด็นเหล่านี้ให้ดี
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ กรณีมีไข้โดยเฉพาะเกิดหลังสำลักอาหาร การสำลักอาหารที่บ่อยขึ้น การทานอาหารน้อยลงหรือทานไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำหรือขาดอาหาร และ/หรือมีภาวะซึมเศร้า
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีป้องกันได้หรือไม่?
โรคซูโดบัลบาร์พัลซีป้องกันโดยการป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่เป็นสาเหตุดังได้กล่าวแล้วข้างต้นใน ‘หัวข้อ สาเหตุ’ เช่น
- ควบคุมโรคที่ก่อให้เกิดการแข็งตัวของผนังหลอดเลือด (โรคหลอดเลือดแดงแข็ง) ให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
- นอกจากนั้น คือ
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่อ้วน
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ และ
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่สมอง (เช่น สวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์) เป็นต้น