ซีไอเอ็น: ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก (CIN: Cervical of intraepithelial neoplasia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก(CIN:Cervical of intraepithelial neoplasia) คือโรค/ภาวะที่เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติแต่ยังไม่ใช่มะเร็ง’ ซึ่งถ้ายังเจริญผิดปกติแบบนี้ไปเรื่อยๆต่อเนื่องนานหลายๆปี เซลล์เหล่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้(โดยเฉพาะ’มะเร็งระยะศุนย์’)  ทั่วไปถ้าไม่มีภาวะปากมดลูกอักเสบร่วมด้วย โรคนี้จะไม่ก่ออาการ โรคนี้พบได้ในสตรีทุกวัยแต่มักพบสูงในวัยเจริญพันธ์ช่วงอายุ20-35ปี สาเหตุพบบ่อยเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยคือการติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิงจากเพศสัมพันธ์

สถิติเกิดซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัด ทั่วไปมักรายงานเป็นสถิติของมะเร็งปากมดลูก แต่ในสหรัฐอเมริการายงานจากสตรีที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบโรค/ภาวะซีไอเอ็นได้ 4%-5%

อนึ่ง:ชื่ออื่นที่มักใช้เป็นทางการของ ‘ซีไอเอ็น’ คือ ‘Squamous intraepithelial lesions’ ย่อว่า ‘เอสไอแอล/SIL’

 

ซีไอเอ็นมีกี่ระดับความรุนแรง?

ความรุนแรงของซีไอเอ็น/เอสไอแอล/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก จะแบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยา(ลักษณะเซลล์ที่เปลี่ยนแปลง)ว่ามีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติน้อยหรือมาก เป็น4 ระดับ(Grade)นับจากความรุนแรงน้อยไปหามาก ดังนี้

  • กรณีผลตรวจชิ้นเนื้อปากมดลูกรายงานโดยใช้ชื่อ’ซีไอเอ็น’: แบ่งความรุนแรงเป็น4ระดับ ได้แก่
  • ซีไอเอ็น1(CIN1):เซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติระดับต่ำ เซลล์ฯที่เปลี่ยนแปลงมักหายกลับเป็นปกติในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี(ประมาณ60%เซลล์ฯจะกลับเป็นปกติใน1ปี)  โอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก    และโรคกลุ่มนี้ใช้การตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าหลัง2ปีรอยโรคยังอยู่ หรือระหว่างการตรวจติดตามพบเซลล์ฯผิดปกติรุนแรงขึ้นจึงจะให้การรักษา
  • ซีไอเอ็น2(CIN2): เซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติระดับปานกลาง
  • ซีไอเอ็น2/3(CIN2/3):เซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติผสมร่วมกันระหว่างผิดปกติต่ำ และ ผิดปกติสูง
  • ซีไอเอ็น3(CIN3):เซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติสูงซึ่งจัดเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะศูนย์(มะเร็งระยะศูนย์ อีกชื่อคือ Carcinoma in situ ย่อว่า ซีไอเอส/CIS)  

***อนึ่ง: ซีไอเอ็นตั้งแต่ระดับ2ขึ้นไป เป็นระดับที่ต้องมีการรักษา เพราะจะไม่หายได้เอง และมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกสูง

  • กรณีผลตรวจชิ้นเนื้อปากมดลูกรายงานในชื่อ‘เอสไอแอล’: แบ่งความรุนแรงเป็น 2 ระดับ ได้แก่
  • ระดับเซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติต่ำ(Low-grade squamous intraepithelial lesion ย่อว่า ‘แอลเอสไอแอล/LSIL’) ซึ่งตรงกับ ซีไอเอ็น1
  • ระดับเซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติสูง(High-grade squamous intraepithelial lesion ย่อว่า ‘เอชเอสไอแอล/HSIL’)ซึ่งตรงกับ ซีไอเอ็น2, 2/3, และ3

 

ซีไอเอ็นมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุเกิดซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล:  

  • เกือบทั้งหมดเกิดจากปากมดลูกติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจึงจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยติดเชื้อผ่านทางช่องคลอดที่รวมถึงอวัยวะเพศภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com เรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง)  
  • ส่วนน้อยมาก เกิดจากสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง

อนึ่ง: เชื้อเอชพีวี มีสายพันธ์ย่อยหลากหลายสายพันธ์ที่มีความรุนแรงในการติดเชื้อต่างๆกัน สายพันธ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกสูงสุดคือ HPV16 ที่เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูกสูงถึง55%-60%ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด รองลงมาคือสายพันธ์ HPV18 ที่เป็นสาเหตุประมาณ 10%-15%

        

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดซีไอเอ็น?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล ได้แก่

  • ปัจจัยเสี่ยงเกิดซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอลทุกระดับความรุนแรง ได้แก่
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/ผิดปกติ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี, โรคเอดส์ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่างกายจะมีขีดความสามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีออกจากร่างกายได้ต่ำ ผู้ป่วยจึงติดเชื้อเอชพีวีเรื้อรังที่เป็นปัจจัยหลักให้เซลล์ปากมดลูกกลายพันธ์ได้ง่าย
  • ภาวะทุพโภชนา เพราะเป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯต่ำ
  • ปากมดลูกติดเชื้อเอชพีวีสายพันธ์ย่อยรุนแรงที่ก่อมะเร็งปากมดลูกได้สูง คือ สายพันธ์ 16, และ 18, และอื่นๆ เช่น 31, 33, 45, 52, 58
  • สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่มีผลกดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย และยังทำลายเซลล์ต่างๆโดยตรงที่รวมถึงเซลล์ปากมดลูก
  • ส่ำส่อนทางเพศ: จากมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีสูงเพราะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่สวมถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • อายุ: เนื่องจากเอชพีวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์สูงคือช่วงอายุต่ำกว่า40ปีจึงมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีสูงกว่าวัยอื่น
  • ปัจจัยเสี่ยงเกิดซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอลระดับความรุนแรงสูง(ซีไอเอ็น3/มะเร็งระยะศูนย์) ได้แก่
  • คลอดบุตรคนแรกอายุก่อน 17 ปี
  • สตรีที่มีบุตรแล้ว โดยเฉพาะมากกว่า 1 คนขึ้นไป

 

ซีไอเอ็นมีอาการอย่างไร?

ซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล เป็นโรค/ภาวะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ มักตรวจพบจากการตรวจภายในจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

แต่เมื่อมีปากมดลูกอักเสบร่วมด้วย หรือกลายเป็นมะเร็งฯจะก่ออาการเช่นเดียวกับปากมดลูกอักเสบ และ/หรือมะเร็งปากมดลูก เช่น ตกขาว,   คันช่องคลอด, ฯลฯ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ปากมดลูกอักเสบ, มะเร็งปากมดลูก ได้จากเว็บ haamor.com)

 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

สตรีทุกคนเริ่มตั้งแต่วัยมีประจำเดือน ควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดูแลอวัยวะเพศ/ระบบอวัยวะสืบพันธ์ ที่รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ

 

แพทย์วินิจฉัยซีไอเอ็นได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล ได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติเพศสัมพันธ์ที่รวมถึงอายุที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์
  • การตรวจภายในที่รวมถึงการตรวจแป๊บสเมียร์
  • การตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นซีไอเอ็นหลังตรวจแป๊บสเมียร์พบความผิดปกติ ได้แก่
  • ตรวจหาเชื้อเอชพีวีจากเซลล์ปากมดลูก(ตรวจภายในและป้าย/หรือแปรงเอาเซลล์จากปากมดลูกเพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป(อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ com) ร่วมกับนำเซลล์จากรอยโรคตรวจทางเซลล์วิทยาและ/หรือทางพยาธิวิทยา
  • การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งจะเป็นการตรวจที่แม่นยำที่สุดและช่วยยืนยันได้ว่า ‘เซลล์ฯเปลี่ยนเป็นมะเร็งหรือยัง’

 

รักษาซีไอเอ็นอย่างไร?

แนวทางการรักษาซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล มีหลากหลายวิธี ขึ้นกับหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อายุผู้ป่วย, ความต้องการมีบุตร, ระดับความรุนแรงของซีไอเอ็น,  ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูกของผู้ป่วย  

 ดังนั้นวิธีรักษาในแต่ละผู้ป่วยจึงแตกต่างกัน แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะให้คำแนะนำวิธีรักษาได้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป เช่น

  • กรณีเป็นซีไอเอ็น1: ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯปกติ ร่างกายจะกำจัดเชื้อเอชพีวีให้หมดไปได้เองในระยะเวลาประมาณ1-2ปี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการรักษาทางการแพทย์ แพทย์จะนัดตรวจเฝ้าติดตามผู้ป่วยเป็นระยะๆ เช่น ทุก6เดือนร่วมกับการตรวจภายใน และ แป๊บสเมียร์ เป็นต้น
  • กรณีเป็นซีไอเอ็นความรุนแรงตั้งแต่ระดับ2ขึ้นไป แพทย์จำเป็นต้องให้การรักษา ซึ่งมีหลายวิธีเช่นกัน ขึ้นกับปัจจัยต่างๆดังกล่าวในต้นหัวข้อนี้ เช่น
  • จี้ทำลายเซลล์ผิดปกติ อาจด้วย ความเย็น, ไฟฟ้า, เลเซอร์
  • ผ่าตัดรอยโรคด้วยไฟฟ้าที่เรียกว่า ลีพ(LEEP/Loop electrical excision procedure,
  • ผ่าตัดออกเฉพาะปากมดลูกด้วยมีดผ่าตัด
  • การผ่าตัดมดลูก กรณีเป็นซีไอเอเอ็นที่ดื้อต่อการรักษาและเจริญเป็นซีไอเอ็นในระดับความรุนแรงสูงขึ้น รวมถึงมักพิจารณาในกรณีผู้ป่วยมีบุตรเพียงพอแล้ว หรือมีโรคอื่นๆของมดลูกร่วมด้วย เช่น เนื้องอกมดลูก
  • ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาที่ใช้วัคซีนในการรักษาโรค/ภาวะนี้

 

ซีไอเอ็นมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวในตอนต้นหัวข้อการรักษา เช่น

  • ซีไอเอ็น1:
  • ประมาณ 60%-70% สามารถหายได้เองจากการกำจัดเชื้อฯของภูมิคุ้มกันฯ ของร่างกายในเวลาประมาณ 1ปี, ประมาณ 90% หายเองใน 2 ปี เมื่อไม่มีการติดเชื้อเอชพีวีซ้ำต่อเนื่อง
  • ประมาณ10% จะเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะศูนย์
  • ประมาณ1% เปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกอย่างแท้จริง(ระยะรุกราน/ตั้งแต่ระยะ1ขึ้นไป)
  • ซีไอเอ็น2:
  • ประมาณ 20% เปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะศูนย์   
  • เปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกอย่างแท้จริง ประมาณ 5%
  • และประมาณ 50%จะหายได้เองใน2ปีกรณีไม่มีการติดเชื้อเอชพีวีซ้ำต่อเนื่อง
  • ซีไอเอ็น3ซึ่งคือ มะเร็งปากมดลูกระยะศูนย์: ประมาณ 12%  เปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกแท้จริง
  • ทั่วไป เมื่อไม่มีการรักษา ใช้เวลาเฉลี่ยนานประมาณ 10-15 ปี(ช่วง 3-40ปี) ซีไอเอ็นทุกชนิดจะค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งปากมดลูกซึ่งปัจจัยกระตุ้นการกลายพันธ์ที่สำคัญที่สุดคือ ‘ยังคงมีการติดเชื้อเอชพีวีต่อเนื่องที่ปากมดลูก’
  • หลังรักษาซีไอเอ็นทุกระดับความรุนแรง จะพบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ20%
  • การเกิดซีไอเอ็นไม่เป็นปัจจัยให้เกิดมีภาวะมีบุตรยาก แต่จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดการแท้งบุตรโดยเฉพาะในไตรมาสที่2ของการตั้งครรภ์, หรือคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะหลังรักษาโดยใช้หัตถการทางการแพทย์

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรค/ภาวะซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล ที่สำคัญที่สุด คือ  

  • พบแพทย์ตรงตามแพทย์นัดสม่ำเสมอเพื่อตรวจติดตามโรคเพื่อให้ได้รับการรักษาทันท่วงทีก่อนที่โรคจะเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกอย่างแท้จริง

 

นอกจากนั้น คือ 

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • เลิกบุหรี่, ไม่สูบบุหรี่
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • เลิกการมีเพศสัมพันธ์ส่ำส่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) ร่วมกับกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันฯที่ปกติ
  • เลิกสุรา, ไม่ดื่มสุรา เพราะเป็นเหตุของการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
  • มีอาการผิดปกติต่างๆทางช่องคลอด เช่น ตกขาว มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติที่รวมถึงประจำเดือนผิดปกติ
  • กังวลในอาการ

 

ป้องกันซีไอเอ็นได้อย่างไร?

การป้องกันซีไอเอ็น/ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก/เอสไอแอล และการป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปีเริ่มตั้งแต่อายุ25ปี หรือหลังเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกรณีอายุต่ำกว่า 25 ปี ทั้งนี้ร่วมกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆและการดูแลตนเองดังได้กล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ และหัวข้อ การดูแลตนเองฯ’

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK544371/  [2021,Dec18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_intraepithelial_neoplasia [2021,Dec18]
  3. https://www.ccjm.org/content/88/10/556 [2021,Dec18]
  4. https://www.cancertherapyadvisor.com/home/decision-support-in-medicine/obstetrics-and-gynecology/cervical-pre-invasive-diagnosis-and-treatment/ [2021,Dec18]