โมโนเอมีน ออกซิเดส บี อินฮิบิเตอร์ (Monoamine Oxidase-B inhibitors/MAO-B inhibitors)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร? และโมโนเอมีนออกซิเดส-บีคืออะไร?

โมโนเอมีน-ออกซิเดส-บี-อินฮิบิเตอร์ (Monoamine oxidase-B inhibitor  ย่อว่า MAO-B inhibitor) คือ กลุ่มยาใช้รักษาโรคพาร์กินสัน โดยตัวยาจะช่วยเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทในสมองชนิด’โดพามีน’ให้สูงขึ้น จึงส่งผลช่วยรักษาควบคุมอาการโรคพาร์กินสันได้, ซึ่งรูปแบบยานี้มีทั้งยารับประทาน และ พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

*โมโนเอมีนออกซิเดส-บี (Monoamine oxidase-B ย่อว่า MAO-B)* คือ เอนไซม์ที่คอยทำลายสารสื่อประสาทในสมองชนิด’โดพามีน/Dopamine’, ปกติ ‘เอนไซม์โมโนเอมี ออกซิเดส-บี’ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามอายุของมนุษย์ ซึ่งการมีปริมาณมากจนเกินไปของเอนไซม์นี้ สามารถส่งผลให้เพิ่มการทำลายของสารสื่อประสาทในสมอง, ซึ่งการลดลงของสารสื่อประสาทในสมองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน   

อาจจำแนกยาของกลุ่มโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ ที่มีใช้ในปัจจุบันได้เป็น 2 รายการ คือ

ก. Selegiline: เป็นยารักษาอาการของโรคพาร์กินสัน สามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วม กับยา Levodopa ก็ได้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์, ขนาดรับประทานสูงสุดในผู้ใหญ่ต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน, และไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก), หลังจากการรับประทานยานี้ ยาSelegiline จะอยู่ในร่างกายได้นานถึงประมาณ 10 ชั่วโมง

การได้รับยานี้เกินขนาดเป็นปริมาณมาก และโดยเฉพาะใช้ร่วมกับยาต้านเศร้าอย่างยา TCAs อาจทำให้ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนถึงขั้นตายได้  

ในประเทศไทย จัดให้ยา Selegiline อยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น

ข. Rasagiline: ใช้รักษาอาการโรคพาร์กินสันได้เช่นเดียวกับยาSelegiline แต่ขนาดการใช้ยาจะน้อยกว่ายา Selegiline หลายเท่า กล่าวคือ หากใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยว ผู้ป่วยอาจรับประ ทานสูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/วัน, ถ้าใช้ร่วมกับยา Levodopa ก็สามารถลดขนาดการใช้ลงมาเป็น 0.5 มิลลิกรัม/วัน, ตัวยาสามารถอยู่ในร่างกายได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็จะถูกกำจัดออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ, ยา Rasagiline มีจำหน่ายในประเทศไทยเช่นเดียวกับยา Selegiline และต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ยาในกลุ่มโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบเห็นได้บ่อย เช่น คลื่นไส้เล็กน้อย ปากคอแห้ง  วิงเวียนศีรษะ ท้องผูก รู้สึกสับสน และประสาทหลอน ซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุ, แพทย์มักจะกำกับการใช้ยานี้ร่วมกับการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อด้วยว่า หากรับประทานร่วมกับอาหารที่มีสารไทรามีนสูง เช่น ชีส (Cheese) ไวน์  อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงและก่อให้เกิดอันตรายตามมา

ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยาตัวใดเพื่อรักษาอาการของโรคพาร์กินสันนั้น ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยใช้เงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วยมาพิจารณาร่วมกัน

โมโนเอมีน ออกซิเดส บี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส บี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • รักษาโรคพาร์กินสัน

โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มโมโนเอมีน ออกซิเดส บี อินฮิบิเตอร์ คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมองโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ‘โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี’ ส่งผลให้ระดับสารสื่อประสาทในสมองอย่างโดพามีน (Dopamine) มีระดับสูงมากขึ้นจึงทำให้อาการป่วยของโรคพาร์กินสันทุเลาลงและเป็นที่มาของสรรพคุณ

โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น   

  • ยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ มีขนาดรับประทาน:  เช่น

ก. ยา Selegiline: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัม, วันละ 2 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหาร

ข. ยา Rasagiline: เช่น

  • ผู้ใหญ่, รับประทาน 1 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง โดยรับประทาน ก่อน หรือพร้อม หรือหลังอาหารก็ได้

 *อนึ่ง: โรคพาร์กินสัน เป็นโรคของผู้ใหญ่จึงยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม หากลืมรับประทานยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์บ่อยๆหลายครั้ง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวผู้ป่วยได้ เช่น มีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการโรคลดลง

โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา  (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อภาวะทางจิต: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล  สับสน ซึมเศร้า ประสาทหลอน ฝันแปลกๆ   อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ก้าวร้าวขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม ปวดหัว  เสียสมดุลของการทรงตัว ชาปลายนิ้วมือ-เท้า ง่วงนอน เกิดไมเกรน สูญเสียความทรงจำ หนังตากระตุก กลุ่มอาการเซโรโทนิน  
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง มือ-เท้าบวม เจ็บหน้าอก ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง เกิดแผลในปาก คลื่นไส้  ปวดท้อง ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย  กระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร ท้องอืด อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ผมร่วง ผิวหนังติดโรคเชื้อรา หรือเกิดแผลที่ผิวหนัง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย  ต่อมลูกหมากโต
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ  เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก ปวดหลัง ขาเป็นตะคริว
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า การมองเห็นภาพผิดปกติ
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังง่านของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • ผลต่อระบบหายใจ: เช่น หอบหืด เยื่อจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

มีข้อควรระวังการใช้โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ ร่วมกับยา Fluoxetine, Pethidine, Bupropion, Buspirone, ยากลุ่ม SSRI, Propoxyphene, Tramadol, ยากลุ่ม TCAs, ยากลุ่ม MAOIs, ยากลุ่ม 5-HT1 agonist
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยเนื้องอกชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา, ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง หรือหยุดการใช้ยานี้ทันทีโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • *หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยานี้ ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้หลังรับประทาน แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ ฉุกเฉิน
  • ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ป่วยว่า มีความคิดอยากทำร้ายตนเองหรือไม่, ถ้าพบอาการความผิดปกติดังกล่าว ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ระวังการรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารที่มีสารไทรามีนสูง, ควรรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • ห้ามใช้ยา Selegiline ร่วมกับยา Fenfluramine, 5-hydroxytryptophan ด้วยจะทำให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนินซึ่งกรณีที่รุนแรงที่สุดอาจถึงกับทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่าและถึงตายในที่สุด
  • การใช้ยา Selegiline ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และทำให้ปวดหัว วิงเวียน  เป็นลม  อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงดัง กล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Rasagiline ร่วมกับยา Tramadol ด้วยอาจทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากการมีสารเซโรโทนินในร่างกายเพิ่มขึ้นหรือที่เรียกกันว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน
  • ห้ามใช้ยา Rasagiline ร่วมกับยา Bupropion ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น

ควรเก็บรักษาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Azilect (แอซิเลค) Lundbeck
Julab (จูแล็บ) Biolab
Jumex (จูเม็กซ์) sanofi-aventis
Sefmex (เซฟเม็กซ์) Unison

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยาโมโนเอมีน ออกซิเดส-บี อินฮิบิเตอร์ ที่จำหน่ายในประเทศตะวันตก เช่น Eldepryl, Zelpar

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_oxidase_inhibitor   [2022,Oct29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_oxidase_B  [2022,Oct29]
  3. https://www.drugs.com/drug-class/monoamine-oxidase-inhibitors.html   [2022,Oct29]
  4. https://www.parkinson.org/Understanding-Parkinsons/Treatment/Prescription-Medications/MAO-B-Inhibitors  [2022,Oct29]
  5. https://www.drugs.com/mtm/rasagiline.html  [2022,Oct29]
  6. https://www.drugs.com/mtm/selegiline.html  [2022,Oct29]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/rasagiline-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Oct29]