โปรเจสติน (Progestins)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โปรเจสตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โปรเจสตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โปรเจสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โปรเจสตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โปรเจสตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โปรเจสตินอย่างไร?
- โปรเจสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโปรเจสตินอย่างไร?
- โปรเจสตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาฝังคุมกำเนิด
- ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
- มะเร็งไต (Kidney cancer)
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea)
บทนำ: คือยาอะไร?
โปรเจสติน (Progestins) คือ ยาที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสโตเจนสังเคราะห์ (Synthetic progestogen) สามารถออกฤทธิ์ได้คล้ายกับฮอร์โมนเพศในร่างกายโดยเฉพาะกับสตรี ประโยชน์ทางคลินิกที่ถูกนำ มาใช้อย่างเป็นทางการคือ ใช้เป็นยาคุมกำเนิดโดยใช้เป็นลักษณะฮอร์โมนเดี่ยวหรือผสมร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ได้ ประโยชน์อีกประการได้แก่ การนำยาโปรเจสตินมาป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, บางกรณียาโปรเจสตินก็ยังถูกนำไปใช้บำบัดอาการจากภาวะขาดประจำเดือน, ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก/เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ, โรคมะเร็งไต, มะเร็งเต้านม, และมะเร็งต่อมลูกหมาก
อาจจำแนกยาฮอร์โมนโปรเจสตินออกเป็นรุ่น(Generation)ของยาโดยอาศัยการพัฒนาและค้นพบได้ตามลำดับต่อไปนี้
- โปรเจสติน รุ่นที่ 1: เช่น Ethisterone, Norethisterone, Norethisterone acetate, Norethynodrel, Etynodiol diacetate, Medroxyprogesterone acetate, Megestrol acetate
- โปรเจสติน รุ่นที่ 2: เช่น Norgestrel, Levonorgestrel
- โปรเจสติน รุ่นที่ 3: เช่น Norgestimate, Norelgestromin, Desogestrel, Etonogestrel,
- โปรเจสติน รุ่นที่ 4: เช่น Dienogest, Drospirenone, Nestorone, Nomegestrol acetate,Trimegestone
ทั้งนี้การนำยาโปรเจสตินผสมร่วมกับเอสโตรเจนในสัดส่วนของฮอร์โมนที่แตกต่างกันได้ประสบความสำเร็จในการคุมกำเนิดเป็นอย่างมากโดยมีการคำนวณระยะเวลาของการใช้ฮอร์โมนผสมเป็นเวลา 20 หรือ 21 วันและหยุดการใช้ 7 - 8 วันเพื่อให้สัมพันธ์กับรอบประจำเดือนในเพศหญิง
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโปรเจสตินที่พบเห็นการใช้บ่อยๆได้แก่ ยาเม็ดชนิดรับประทาน ยาฉีดชนิดเข้ากล้ามเนื้อ หรือใช้เป็นชนิดยาฝังคุมกำเนิด เป็นต้น
ยาโปรเจสตินมีกลไกการออกฤทธิ์หลายขั้นตอนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทางคลินิก สามารถสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้ เช่น
- ช่วยควบคุมการมีรอบเดือน/รอบประจำเดือนได้อย่างเหมาะสมตรงเวลา
- ช่วยป้องกันมิให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนแสดงฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเยื่อบุมดลูกให้มีชั้นที่หนา หรือเจริญจนเกินไป
- บำบัดอาการปวดประจำเดือนอันเนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ช่วยบำบัดอาการ มะเร็งเต้านม มะเร็งไต หรือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยยาโปรเจสตินจะปรับเปลี่ยนความสามารถของเซลล์มะเร็งไม่ให้ตอบสนองกับฮอร์โมนอื่นๆในร่างกาย ด้วยกลไกนี้ทำให้เซลล์มะเร็งเหล่านั้นหยุดการเจริญเติบโตได้
- ใช้ยาโปรเจสตินเป็นตัวทดสอบว่าร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนชนิดอื่นๆ อย่างเช่น Estrogen หรือไม่
- ช่วยบำบัดภาวะเบื่ออาหาร และมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงในผู้ป่วยเอดส์
การจะใช้ยาโปรเจสตินในลักษณะใดควรต้องขึ้นอยู่กับแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ข้อจำกัดหลาย ประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้โปรเจสตินในการรักษาอาการของผู้ป่วยได้เพราะการใช้ยา โปเจสตินจะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง เช่น
- เป็นผู้ป่วย โรคหืด โรคลมชัก โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีการไหลเวียนเลือดในร่างกายผิดปกติ เป็นโรคไตขั้นรุนแรง หรือป่วยด้วยโรคไมเกรน
- มีภาวะเลือดประจำเดือนออกผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
- เป็นผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน
- เป็นผู้ที่เป็นหลอดเลือดขอดในบริเวณขา/หลอดเลือดดำขอด
- เป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับ
- เป็นผู้ป่วยความจำเสื่อม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีเงื่อนไขทางสุขภาพอย่างมากมายที่เป็นข้อห้ามและข้อควรระวังก่อนการ ใช้ยาโปรเจสติน ผู้บริโภคจึงไม่ควรไปซื้อหายาโปรเจสตินมารับประทานเองโดยมิได้มีการปรึกษากับแพทย์ หรือการใช้ยาฮอร์โมนนี้เป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป ล้วนแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีทั้งสิ้น
โปรเจสตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโปรเจสตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้เป็นยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์
- ช่วยให้รอบประจำเดือนเป็นไปอย่างปกติ
- ป้องกันการหนาตัวจนเกินไปของเยื่อบุมดลูก
โปรเจสตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรเจสตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ของร่างกายโดยยาจะ กระจายตัวไปตามแกนระบบประสาท ที่เรียกว่า ไฮโปธาลามิก-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (Hypothalamic-Pituitary-Adrenal axis, แกนหรือวงจรที่ควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมใต้สมอง, ต่อมหมวกไต) ซึ่งจะรบกวนกระบวนการเจริญพันธุ์รวมถึงปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกายอย่างเหมาะสม ด้วยกระบวนการดังกล่าวจะช่วยยับยั้ง/ป้องกันการตกไข่ บำบัดรักษากลุ่มเซลล์มะเร็งบางประเภทมิให้เจริญเติบโตและลุกลาม จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
โปรเจสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโปรเจสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทานทั้งประเภทยาเดี่ยวและยาที่ผสมร่วมกับฮอร์โมนเพศตัวอื่น
- ยาฉีดคุมกำเนิด
- ยาฝังคุมกำเนิด
โปรเจสตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโปรเจสติน ทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีดมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นกับอาการแต่ละโรคและการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย การบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโปรเจสติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรเจสตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโปรเจสติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโปรเจสตินให้ตรงเวลา
โปรเจสตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโปรเจสตินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีประจำเดือนมามากในช่วงการใช้ยาแรกๆ
- ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
- มีอาการปากคอแห้ง
- ปัสสาวะบ่อย
- เบื่ออาหาร
- กระหายน้ำ
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
- การพูดไม่ชัด การมองเห็นภาพผิดปกติ
- อึดอัด/หายใจลำบาก
- วิงเวียน
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- เท้าบวม
- ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น
- ง่วงนอน
- อารมณ์แปรปรวน
- หงุดหงิด
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
มีข้อควรระวังการใช้โปรเจสตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเจสติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- หยุดการใช้ยานี้หากพบว่ามีประจำเดือนไหลไม่หยุดหรือไม่มีประจำเดือนภายหลังใช้ยาไปแล้ว 45 วัน แล้วกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทันทีกรณีเลือดประจำเดือนออกมากหรือออกไม่หยุด
- ห้ามปรับขนาดรับประทานเช่น เพิ่มหรือลดปริมาณด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไมเกรน ผู้ป่วย โรคตับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยดีซ่าน ผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำขอด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยความจำเสื่อม
- หากเป็นยารับประทานควรรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา
- ไม่ใช้ยานี้นานกว่าคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโปรเจสตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โปรเจสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโปรเจสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโปรเจสติน ร่วมกับยา Acarbose ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะทำให้ประสิทธิภาพของยา Acarbose ด้อยลงไป กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโปรเจสติน ร่วมกับยา Butalbital (ยานอนหลับ) จะทำให้ระดับยาโปเจสตินในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการมีประจำเดือนมาเร็วผิดปกติหรือเกิดภาวะตั้งครรภ์ติดตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโปรเจสติน ร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้ระดับโปรเจสตินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาโปรเจสตินอย่างไร?
ควรเก็บยาโปรเจสติน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยา ในรถยนต์ หรือ ในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โปรเจสตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปรเจสติน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anna (แอนนา) | Thai Nakorn Patana |
Cleo (คลีโอ) | Millimed |
Cyclo Progynova (ไซโคล โพรจีโนวา) | Bayer HealthCare Pharma |
Dior 21 (ดิออร์ 21) | Thai Nakorn Patana |
Dior 28 (ดิออร์ 28) | Thai Nakorn Patana |
Hyan (ไฮแอน) | Famy Care |
Jadelle (จาเดลเล) | Bayer HealthCare Pharma |
Jeny-FMP (เจนี-เอฟเอ็มพี) | Thai Nakorn Patana |
Madonna (มาดอนนา) | Biolab |
Mirena (ไมรีนา) | Bayer HealthCare Pharma |
Microgynon 30 ED (ไมโครกายนอน 30 อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Postinor-2 (โพสทินอร์-2) | Gedeon Richter |
R-Den (อาร์-เดน) | Thai Nakorn Patana |
Triquilar ED (ไตรควิลาร์ อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Megace (เมเกซ) | Bristol-Myers Squibb |
Implanon NXT (อิมพลานอน เอนเอ็กที) | MSD |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Progestogen_(medication)#Classification_by_structure [2022,May7]
- https://www.drugs.com/drug-class/progestins.html [2022,May7]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/progestin-oral-route-parenteral-route-vaginal-route/description/drg-20069443 [2022,May7]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11861052/ [2022,May7]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/progesterone-index.html?filter=2&generic_only= [2022,May7]