โทลบูตาไมด์ (Tolbutamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- โทลบูตาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โทลบูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทลบูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทลบูตาไมด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทลบูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทลบูตาไมด์อย่างไร?
- โทลบูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทลบูตาไมด์อย่างไร?
- โทลบูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาโทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) คือ ยาเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ทางการแพทย์ได้นำยานี้มาใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus) เงื่อนไขหนึ่งที่จะสามารถใช้ยานี้ได้คือ ร่างกายของผู้ป่วยต้องมีจำนวนเบต้า-เซลล์ (Beta-cell, เซลล์สร้างอินซูลิน)ของตับอ่อนที่ยังทำงานได้หลงเหลืออยู่บ้าง และด้วยกลไกนี้ทำให้ยาโทลบูตาไมด์ไม่สามารถนำไปใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus) ได้ ผลข้างเคียงที่เด่นๆของยานี้เห็นจะได้แก่ การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, และรวมถึงมีน้ำหนักตัวเพิ่ม
อนึ่ง: โทลบูตาไมด์ จัดเป็นยารุ่นแรกๆของกลุ่มยา Potassium channel blocker: ยาต้านกระบวนการทำงานของโพแทสเซียมของเซลล์
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาโทลบูตาไมด์ จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ซึ่งเมื่อร่างกายดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 96% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาโทลบูตาไมด์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4.5 - 6.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ยาโทลบูตาไมด์ มักจะไม่ได้รับเป็นยาทางเลือกแรกๆในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยก่อให้ เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงได้มาก แต่โทลบูตาไมด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น ถูกทำลายได้เร็ว จึงเหมาะที่จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุ อย่างไรก็ตามการใช้ยาโทลบูตาไมด์กับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานยังมีข้อจำกัดอีกมากมายเช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย มีการใช้ยาอื่นๆอยู่แล้ว อายุ และสภาพของร่างกายผู้ป่วย ฯลฯ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเองการใช้ยาโทลบูตาไมด์จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
โทลบูตาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโทลบูตาไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โทลบูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทลบูตาไมด์คือ ตัวยาจะทำให้เบต้าเซลล์ในตับอ่อนเร่งสร้างและหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน และถ้าใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องจะมีกลไกลดการสร้างน้ำตาลกลูโคสจากตับด้วยเช่นกัน จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
โทลบูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทลบูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.25 และ 0.50 กรัม/เม็ด
โทลบูตาไมด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ยาโทลบูตาไมด์มีขนาดรับประทานสำหรับรักษาเบาหวานชนิดที่ 2: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 1 - 2 กรัม/วัน สามารถรับประทานยาเพียงครั้งเดียวหลังอาหารเช้าหรือแบ่งรับประทานก็ได้ ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 0.25 - 2 กรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ และ ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต: อาจต้องปรับขนาดรับประทานตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโทลบูตาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทลบูตาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทลบูตาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โทลบูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทลบูตาไมด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ตาพร่า
- หากผู้ป่วยดื่มสุราร่วมกับยานี้จะยิ่งทำให้อาการข้างเคียงที่กล่าวมาเพิ่มระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- แสบร้อนกลางอก
- ปวดหัว
- มีผื่นคันตามผิว หนัง
- มีภาวะดีซ่าน
- ตรวจเลือดพบเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ผิวแพ้แสงแดด
- ตรวจเลือด พบเอนไซม์การทำงานของตับทำงานผิดปกติ
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ หากมีอาการไม่มาก สามารถให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำตาลกลูโคส หรือรับประทานอาหารจะทำให้อาการดีขึ้น แต่หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแบบรุนแรง และมีภาวะโคม่าหรือเกิดอาการชักร่วมด้วย ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โทลบูตาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทลบูตาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากยิ่งขึ้น
- ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เพื่อสนับสนุนควบคุมรักษา อาการของโรคเบาหวาน
- หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเนื่องจากการใช้ยานี้ ให้สังเกตอาการ เช่น เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย วิงเวียน ง่วงนอน หรือคล้ายจะเป็นลม หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่า ปวดหัว อาจหนาวสั่น หรือ อาจรู้สึกหิวมากขึ้น ให้รีบรับประทานอาหารที่สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เช่น น้ำหวาน ลูกกวาด น้ำผลไม้ เป็นต้น ถ้าอาการยังคงอยู่หลังดูแลตนเองควรรีบไปโรงพยาบาล
- ขณะใช้ยานี้ ให้พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน ด้วยยานี้อาจกระตุ้นให้เกิดผิวแพ้แสงแดดได้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ารับการ ผ่าตัด
- ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับเด็กด้วยยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย รวมถึงประสิทธิภาพของ การรักษาที่ยืนยันอย่างเป็นทางการ
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ รวมไปถึงกับ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาโทลบูตาไมด์สามารถขับออกมากับน้ำนมของมารดาได้
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆในผู้ป่วยบางราย อาจพบว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ด้อยประสิทธิภาพลง หากพบภาวะดังกล่าว (ทราบได้จากการตรวจดูค่าน้ำตาลจากการตรวจเลือด หรือ จากการตรวจปัสสาวะ) ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาและ/หรือเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นแทน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทลบูตาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โทลบูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทลบูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- มียาหลายรายการเมื่อใช้ร่วมกับยาโทลบูตาไมด์จะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยากลุ่มเอโซล (Azole), ยาต้านเชื้อรา, ยากลุ่ม Histamine H2 antagonists, Chloramphenicol, Clofibrate, Dicumarol, Fenfluramine (ยาลดความอ้วน), Fluconazole, Gemfibrozil, Methyldopa, MAOIs, Phenylbutazole, Probenecid, Salicylates, Sulfinpyrazone (ยารักษาโรคเกาต์), Sulfonamides, Tricyclic anti-depressants
- การใช้ยาโทลบูตาไมด์ร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ประสิทธิภาพของการลดน้ำตาลในกระแส เลือดของยาโทลบูตาไมด์ลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่นยา Beta-blockers, Calcium channel blockers, Cholestyramine, Corticosteroids, Diazoxide, Estrogens, Hydantoins (ยากันชัก), Isoniazid, Nicotinic acid (วิตามินบี3), Phenothiazines, Rifampin, Sympathomimetic drugs, Thiazide diuretics, และยาเม็ดคุมกำเนิด
- การใช้ยาโทลบูตาไมด์ร่วมกับยาถ่านกัมมันต์ (Charcoal) สามารถลดการดูดซึมของยาโทล บูตาไมด์และส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา รวมถึงผลข้างเคียงหรือพิษจากยาโทลบูตาไมด์ได้เช่นเดียวกัน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกัน
- การใช้ยาโทลบูตาไมด์ร่วมกับยา Digoxin อาจเพิ่มความเข้มข้นขอยา Digoxin ในกระแสเลือดให้มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโทลบูตาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาโทลบูตาไมด์:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โทลบูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทลบูตาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Apo-Tolbutamide (อะโพ-โทลบูตาไมด์) | Apotex |
ORINASE 250 (ออริเนส) | Pharmacia Corp |
Tolmide (โทลไมด์) | Beacons |
Tobumide (โทบูไมด์) | Sunward |
Tobutamide DHA (โทบูตาไมด์ ดีเฮชเอ) | DHA |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tolbutamide [2021,May15]
- https://www.mims.com/singapore/drug/info/tolbutamide?mtype=generic [2021,May15]
- https://www.drugs.com/ppa/tolbutamide.html [2021,May15]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tolbutamide.html [2021,May15]
- https://www.mims.com/Singapore/drug/info/Apo-Tolbutamide/ [2021,May15]
- https://www.mims.com/Singapore/drug/search/?q=tolbutamide [2021,May15]
- https://www.drugs.com/imprints/orinase-250-2168.html [2021,May15]