โทฟาซิทินิบ (Tofacitinib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โทฟาซิทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โทฟาซิทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทฟาซิทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทฟาซิทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทฟาซิทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทฟาซิทินิบอย่างไร?
- โทฟาซิทินิบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทฟาซิทินิบอย่างไร?
- โทฟาซิทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Janus kinase inhibitor
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
บทนำ
ยาโทฟาซิทินิบ(Tofacitinib หรือ Tofacitinib citrate ) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psoriatic arthritis) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis) โรคสะเก็ดเงิน(Psoriatic) เป็นต้น ยาโทฟาซิทินิบอยู่ในกลุ่มยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ (Janus kinase inhibitor) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานที่สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 74% ตัวยาส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อทำลายยาโทฟาซิทินิบจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ในปี ค.ศ.2012(พ.ศ.2555) ยาโทฟาซิทินิบได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นครั้งแรกโดยระบุวัตถุประสงค์การใช้เพื่อ รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ ที่มีความรุนแรงระดับปานกลางไปจนกระทั่งรุนแรงมาก และเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ด้วยยาMethotrexate
สิ่งที่พึงระวังเมื่อได้รับ ยาโทฟาซิทินิบ เช่น
- อาจพบการติดเชื้อ วัณโรค หรืองูสวัด ตามมาด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ที่กดการทำงานเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ทำให้การป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวด้อยลงไปเช่นเดียวกัน
- ต้องได้รับการควบคุมและตรวจหามะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma) และมะเร็งผิวหนัง(Skin cancer)ทั้งจากแพทย์และตัวผู้ป่วยเอง ด้วยพบสถิติผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้ เกิดมะเร็งดังกล่าว
- กรณีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และ/หรือได้รับยาที่ออกฤทธิ์เป็นยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือที่เราเรียกว่า Post-transplant lymphoproliferative disorder ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปอย่างย่อๆที่แพทย์จะซักถามประวัติอาการผู้ป่วยก่อนสั่งจ่ายยาโทฟาซิทินิบ เช่น
- เคยมีประวัติเจ็บป่วยเป็น โรคงูสวัด ไวรัสตับอักเสบบี วัณโรค โรคหัวใจ เบาหวาน เอชไอวี โรคมะเร็ง แผลในกระเพาะอาหาร โรคไต หรือไม่
- มีนัดหมายการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันใดๆหรือไม่
- มีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่ ด้วยจะต้องปรับขนาดรับประทานของยาโทฟาซิทินิบให้สอดคล้องกับยาลดไขมันในเลือด
- กรณีเป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป แพทย์จะเตือนให้ระวังเรื่องอาการข้างเคียงต่างๆจากยานี้ที่อาจเกิดขึ้นได้
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดา หรือไม่ด้วยยาชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเด็กทารก
- ปัจจุบันมีการใช้ยาต่างๆอะไรบ้าง ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทั้งหมด
ยาโทฟาซิทินิบที่มีจำหน่ายในประเทศเรา ถูกกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่เพียงผู้เดียว การหาซื้อยามารับประทานเองค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ด้วยจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
โทฟาซิทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโทฟาซิทินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis) ที่ไม่สามารถรักษาด้วย ยาMethotrexate
- ในบางประเทศจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้รักษาโรคอื่นเพิ่มเติม ดังนี้ เช่น
- โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด(Ankylosing spondylitis)
โทฟาซิทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เอนไซม์ จานัสไคเนส (Janus kinase ย่อว่า JAK) เป็นโปรตีน/สารโปรตีนจำพวกเอนไซม์ที่มีอยู่ภายในเซลล์ เมื่อเกิดการกระตุ้นโดยสารชีวะโมเลกุลประเภทไซโตไคน์(Cytokine) ตรงบริเวณตัวรับ(Receptor)ของเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีชื่อว่า Cytokine type I และ type II receptor เอนไซม์จานัสไคเนสจะทำหน้าที่ถ่ายโอนรหัสสัญญาณหรือจะเรียกว่าเป็นคำสั่งเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ดังกล่าว จานัสไคเนส ยังถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ JAK1 , JAK2 , JAK3 และTYK2 กรณีที่เอนไซม์เหล่านี้มีความผิดปกติ จะเกิดการส่งสัญญาณกระตุ้นให้นิวเคลียสทำงานผิดปกติตามกันไป กรณีความผิดปกติเกิดต่อ JAK3 สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ก็เกิดโรคภูมิต้านทานตนเอง/ โรคออโตอิมมูน กรณีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ JAK1 สามารถทำให้เซลล์แบ่งตัวอย่างมากอย่างรวดเร็วและกลายเป็นมะเร็งตามมา
ตัวยาโทฟาซิทินิบเป็นยาประเภท Janus kinase inhibitor ที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง การทำงานของ JAK3 และ JAK1 ส่งผลให้ JAK3 และ JAK1 ที่ผิดปกติ หยุดส่งสัญญาณกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันกลับสู่ภาวะปกติ ด้วยกลไกนี้เองจึงทำให้ยาโทฟาซิทินิบมีฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ
โทฟาซิทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทฟาซิทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยาTofacitinib ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
โทฟาซิทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโทฟาซิทินิบมีขนาดรับประทาน เช่น
- สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยรับประทานพร้อมอาหาร หรือ หลังอาหาร ก็ได้
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้าน ประสิทธิผล ขนาดยา และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยาโทฟาซิทินิบหากตรวจพบ ระดับเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 500 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลน้อยกว่า 1000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร ระดับฮีโมโกลบินน้อยกว่า 9 กรัม/เดซิลิตร
- ผู้ป่วยที่มี โรคไต และโรคตับ ในระดับรุนแรงปานกลางจนถึงระดับรุนแรงมาก แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานเหลือ 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโทฟาซิทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทฟาซิทินิบอาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาโทฟาซิทินิบ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติในเวลาเดิม
โทฟาซิทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทฟาซิทินิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีผื่นแดง
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เลือดจาง เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: เช่น อาจติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย เช่น ปอดอักเสบ เกิดงูสวัด เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลสูงขึ้น มีภาวะขาดน้ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อาจมีภาวะความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีไข้
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น มีภาวะไขมันพอกตับ ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เอ็นอักเสบ ข้อบวม
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีอะตินีน(Creatinine)ในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ ไอ หายใจขัด ติดเชื้อวัณโรค
อนึ่ง กรณีผู้ป่วยรับประทาน ยาโทฟาซิทินิบ เกินขนาด แพทย์จะดูแลรักษาประคับประคองตามอาการ ด้วยปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษของยาโทฟาซิทินิบ
มีข้อควรระวังการใช้โทฟาซิทินิบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทฟาซิทินิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- รับประทานยานี้ตรงขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ผู้คนแออัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ
- หากพบอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบนำ ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด อาการข้างเคียงดังกล่าว เช่น ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีแผลพุพองตามผิวหนัง ตรวจพบว่าโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ/ มีภาวะเลือดออกง่าย
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพื่อแพทย์ดูความก้าวหน้าในการรักษาและประเมินสุขภาพของผู้ป่วยว่ามีการติดเชื้อ วัณโรค งูสวัด ตับอักเสบ ดูการทำงานของหัวใจ การทำงานของตับ-ไต ตลอดจนกระทั่งสภาพจิตใจของผู้ป่วย
- กรณีผู้ป่วยสตรี ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้ โดยสามารถใช้การป้องกันทางกายภาพ เช่น การใส่ห่วงอนามัย การใช้ถุงยางอนามัยชาย หากมีความประสงค์จะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใดๆต้องปรึกษาแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาตนเองก่อนให้ หลีกเลี่ยงการซื้อยาเม็ดคุมกำเนิดมารับประทานเองเพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโทฟาซิทินิบ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโทฟาซิทินิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โทฟาซิทินิบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทฟาซิทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโทฟาซิทินิบกับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับวัคซีนบีซีจี(BCG) เพราะยาโทฟาซิทินิบอาจเป็นต้นเหตุทำให้ร่างกายผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคจากตัววัคซีนเสียเอง ควรเว้นระยะเวลาหลังการฉีดวัคซีนบีซีจีไปแล้ว 2–3 สัปดาห์ จึงสามารถใช้ยาโทฟาซิทินิบได้
- ห้ามใช้ยาโทฟาซิทินิบร่วมกับยา Azathioprine, Ciclosporin, Tacrolimus เพราะจะทำให้เกิดภาวะกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาโทฟาซิทินิบร่วมกับ ยาAtazanavir เพราะจะทำให้เกิดอาการโลหิตจางรุนแรงตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทฟาซิทินิบร่วมกับ ยาRifampin เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาโทฟาซิทินิบลดน้อยลง
ควรเก็บรักษาโทฟาซิทินิบอย่างไร?
ควรเก็บยาโทฟาซิทินิบในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ ไม่ทิ้งทำลายยาลงในคูคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
โทฟาซิทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทฟาซิทินิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Xeljanz (เซลจานซ์) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tofacitinib [2018,July14]
- http://www.tristatearthritis.com/wp-content/uploads/2015/03/Tofacitinib-Xeljanz.pdf [2018,July14]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/203214s000lbl.pdf [2018,July14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/xeljanz/?type=brief [2018,July14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tofacitinib/?type=brief&mtype=generic [2018,July14]
- https://www.drugs.com/cdi/tofacitinib-tablets.html [2018,July14]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tofacitinib-index.html?filter=3&generic_only= [2018,July14]