วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือวัคซีนอะไร?

วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine หรือ Bacillus Calmette Guerin vaccine ) คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค (Tuberculosis หรือย่อว่า TB) โดยเป็นวัคซีน ’เชื้อเป็น’ ที่ทำให้เชื้อวัณโรคอ่อนฤทธิ์ลง(Live attenuated bacteria)  กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด

         วัคซีนบีซีจี มีใช้มานานกว่า 80 ปี ผลิตครั้งแรกโดย Albert Calmette อายุรแพทย์ชาวฝรั่งเศส และ Calmille Guerin นักแบคทีเรียวิทยา(Bacteriologist)ชาวฝรั่งเศสเช่นกัน แห่งสถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เชื้อ “Mycobacterium bovis” ซึ่งได้จากฝีที่เต้านมของวัว แล้วนำมาเพาะเชื้อหลายๆครั้งในอาหารเลี้ยงเชื้อจนเชื้ออ่อนฤทธิ์ลง วัคซีนดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันวัณโรค โดยชื่อวัคซีนได้รับชื่อเรียกตามเชื้อ และผู้ผลิตว่า “Bacillus Calmette Guerin” เรียกโดยย่อว่า “BCG” โดยกลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนบีซีจี คือ เป็นสารที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเพื่อต่อต้านเชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis)

         พ.ศ. 2464 ได้มีการนำวัคซีนบีซีจีมาใช้เป็นครั้งแรกในโลก โดยเริ่มที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มทดลองในเด็กแรกเกิดที่มีมารดาตายจากวัณโรค และเริ่มทดลองต่อในทารกที่มีมารดาเป็นวัณโรครุนแรงคนอื่นๆ  ระยะแรกการบริหาร/การใช้วัคซีนนี้จะบริหารโดยทางปาก ต่อมาพบว่าการให้วัคซีนบีซีจีโดยการฉีดเข้าผิวหนังส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเชื้อวัณโรคได้ดีกว่า ดังนั้นจึงแนะนำวิธีการบริหารวัคซีนบีซีจีเป็นการฉีดเข้าผิวหนัง

         สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มผลิตวัคซีนบีซีจีตั้งแต่ พ.ศ. 2496 และปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนขึ้นเป็นระยะๆ ทั้งทางด้านสถานที่ผลิต และเครื่องมือผลิตที่จัดซื้อเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ได้วัคซีนที่มาจากการผลิตตามหลักเกณฑ์และมีคุณภาพตามมาตรฐานที่เป็นข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก

วัคซีนบีซีจีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้อย่างไร?

      สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของ วัคซีนบีซีจี คือ  เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อวัณโรค ทำการฉีดให้แก่เด็กแรกเกิดทุกคน และทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี            

      ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันฯต่อวัณโรคจะเกิดภายหลังการได้รับวัคซีนนี้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ และสร้างภูมิคุ้มกันฯอยู่ไปได้นานประมาณ10ปี วัคซีนจะให้ผลในการป้องกันวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (Disseminated tuberculosis), วัณโรคของเยื่อหุ้มสมองในเด็ก (TB meningitis) สูงถึงร้อยละ 60 – 90(60%-90%), ส่วนวัณโรคชนิดอื่นๆที่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก(Primary tuberculosis)ป้องกันได้ไม่ดีนัก การฉีดวัคซีนนี้จะทำเพียงครั้งเดียว หากไม่ได้รับวัคซีนตอนแรกเกิด สามารถให้วัคซีนนี้ได้ทันทีในทุกช่วงอายุ

มีวิธีฉีดวัคซีนบีซีจีอย่างไร?

        วิธีการฉีดวัคซีนบีซีจี ทำได้โดยฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal injection) ปริมาณของวัคซีนนี้ที่ควรจะได้รับ ขึ้นกับชนิดของวัคซีนบีซีจี รวมถึงอายุของผู้ได้รับวัคซีน  ก่อนการบริหาร/ฉีดวัคซีนนี้ จำเป็นต้องเขย่าขวดบรรจุวัคซีนก่อนทุกครั้ง เพื่อให้วัคซีนนี้ผสมเป็นเนื้อเดียวกันทั้งขวด

         ตำแหน่งสำหรับฉีดวัคซีนบีซีจีที่แนะนำ คือ บริเวณต้นแขน, ไหล่ด้านซ้าย, ด้านขวา หรือ ที่สะโพก แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละโรงพยาบาล  แต่ไม่ควรฉีดบริเวณต้นขาของทารก เพราะบริเวณดังกล่าวมีโอกาสเกิดการเสียดสีได้มาก เช่น เสียดสีจากผ้าอ้อม  หรือขาเสียดสีกัน จึงทำให้การดูแลรักษาแผลหลังฉีดวัคซีนนี้ในบริเวณนั้นทำได้ยาก จึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนบริเวณต้นขา  

มีข้อห้ามใช้วัคซีนบีซีจีอย่างไร?

         มีข้อห้ามใช้วัคซีนบีซีจี   เช่น

  1. ห้ามฉีดวัคซีนบีซีจีในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ผิดปกติ รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์  ยกเว้นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถให้วัคซีนนี้ได้  หากไม่ได้รับวัคซีนนี้เมื่อแรกเกิด สามารถให้วัคซีนนี้ได้ถ้ายังไม่มีอาการของวัณโรค และสามารถให้ในทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะทารกเหล่านี้แม้จะพบว่าติดเชื้อเอชไอวีในภายหลัง ก็ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงจากวัคซีนนี้ถ้าสามารถให้ยาต้านเอชไอวีได้ตามมาตรฐานตั้งแต่วัยทารก ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมีมากกว่า เพราะเด็กเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคได้บ่อย
  2. หญิงตั้งครรภ์
  3. ผู้ที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น ไข้หวัดใหญ่
  4. มีแผลติดเชื้อหรือแผลไฟไหม้ตรงบริเวณที่จะฉีดวัคซีนนี้

มีข้อควรระวังภายหลังได้รับวัคซีนบีซีจีอย่างไร?

         มีข้อควรระวังภายหลังได้รับวัคซีนบีซีจี   เช่น

  1. รักษาผิวหนังบริเวณที่ฉีดวัคซีนนี้ให้สะอาด แผลจากการฉีดบีซีจีจะเป็นๆ หายๆอยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล เพียงใช้สำลีสะอาดชุบน้ำสะอาด อาจเป็นน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดรอยแผลให้สะอาดก็เพียงพอ(หรือปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลผู้ให้วัคซีนแนะนำ) และเตือนบิดามารดาหรือตัวผู้ได้รับวัคซีนเองไม่ให้บ่งตุ่มหนอง กรณีรู้สึกปวดรอยที่ฉีดวัคซีน สามารถให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด, ยาลดไข้) ได้
  2. ถ้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดบีซีจีอักเสบโตขึ้น(เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านเดียวกับแขนที่ฉีดวัคซีนโต เมื่อฉีดวัคซีนนี้ที่ต้นแขน)และเป็นฝี ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาตามที่ควร เช่น แพทย์/พยาบาลดูดเอาหนองออก และให้ยาต้านวัณโรคตามความจำเป็น   โดยทั่วไป แพทย์มักให้ยาไอโซไนอะซิด (Isoniazid) เพียงชนิดเดียวและให้ยารักษานานประมาณ 4-6 สัปดาห์    แต่หากเป็นฝีต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดใหญ่ แพทย์อาจให้ยาไรแฟมปิน( Rifampin) ร่วมด้วย และอาจต้องให้ยารักษานานขึ้นทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของฝีนั้น
  3. วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ สามารถให้วัคซีนเชื้อเป็นชนิดอื่นพร้อมกันได้ในวันเดียวกันกับที่ฉีดวัคซีนบีซีจี แต่หากไม่ฉีดวัคซีนเชื้อเป็นชนิดอื่นพร้อมกันในวันเดียวกันนั้น จะต้องทิ้งช่วงห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ภายหลังได้รับวัคซีนบีซีจีไปแล้ว
  4. ทารกแรกเกิดที่ยังมีปัญหาความเจ็บป่วยอยู่ ไม่ควรฉีดวัคซีนบีซีจีจนกว่าจะหายดี และพร้อมที่จะกลับบ้าน ไม่ควรฉีดวัคซีนนี้ขณะที่ผู้ป่วยยังต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพราะอาจมีการแพร่เชื้อวัณโรคจากแผลโดยไม่ตั้งใจไปสู่ทารกอื่นในโรงพยาบาล ซึ่งกำลังป่วยหนักได้
  5. บางครั้งแผลเป็นจากวัคซีนบีซีจีอาจเล็กมากจนมองไม่เห็น แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนมิได้ลดลง ดังนั้นหากมีหลักฐานบันทึกว่าเคยได้รับวัคซีนมาก่อน แม้ไม่พบรอยแผลเป็น ก็ไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนนี้ซ้ำอีก เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังอาจก่อให้เกิดอาการเฉพาะที่บริเวณที่ฉีดได้มากขึ้น(เช่น การเกิดฝี)และการฉีดวัคซีนนี้ในเด็กที่พ้นวัยแรกเกิด จะทำเมื่อไม่มีหลักฐานบันทึกว่าเคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อนและไม่มีแผลเป็นปรากฏเท่านั้น
  6. ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (Tuberculin test หรือ PPD skin test/ Purified protein derivative skin test) ก่อนฉีดวัคซีนนี้ เพราะอาจเกิดผลบวกลวง/ผลบวกปลอม หรือผลลบลวง/ผลลบปลอมจากสาเหตุอื่นๆ ได้มากมาย การฉีดวัคซีนบีซีจีอาจทำให้ผิวหนังตรงรอยตรวจ PPD skin test เกิดปฏิกิริยาต่อ PPD skin test ได้ในขนาดต่างๆ ตั้งแต่เล็กจนใหญ่มากๆได้ ซึ่งผลต่อ PPD skin test นี้ จะลดลงตามระยะเวลาหลังจากฉีดวัคซีนนี้ และปฏิกิริยา PPD skin test ไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของวัคซีนนี้
  7. เด็กทารกที่คลอดจากมารดาที่ป่วยเป็นวัณโรคระหว่างตั้งครรภ์หรือใกล้คลอด ถ้าตรวจร่างกายเด็กทารก และสังเกตอาการเด็กทารกมาได้ระยะหนึ่งแล้วไม่พบว่าเป็นวัณโรคแต่กำเนิด สามารถให้วัคซีนบีซีจีได้ แต่ถ้ามารดายังอยู่ในระยะแพร่เชื้อวัณโรค เด็กทารกควรได้รับวัคซีนบีซีจีร่วมกับยาไอโซไนอะซิด(Isoniazid: ยาต้านวัณโรค)โดยภายหลังได้รับวัคซีนนี้ไปแล้ว ควรรอระยะเวลาอีก 1 - 2 สัปดาห์เพื่อให้วัคซีนนี้เริ่มกระตุ้นภูมิคุ้มกันเด็กทารกเสียก่อน จากนั้น จึงค่อยให้เด็กทารกเริ่มรับประทานยาไอโซไนอะซิด   เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรค 
  8. กรณีเด็กทารกสัมผัสเชื้อวัณโรคไปแล้ว ควรให้เด็กรับประทานยาไอโซไนอะซิด (Isoniazid: ยาต้านวัณโรค)ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรค เป็นระยะเวลา 6 - 9 เดือน แล้วหลังจากนั้น จึงฉีดวัคซีนบีซีจีแก่ทารก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีนบีซีจี ดูแลอย่างไร?

         ปฏิกิริยา(อาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง)ภายหลังฉีดวัคซีนบีซีจี เช่น ภายหลังจากฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง น้ำยาจะดันผิวหนังให้โป่งนูนและเห็นรูขุมขนขนาดประมาณ 6-8 มิลลิเมตร หลังฉีดประมาณ 1 ชั่วโมง ผิวหนังที่นูนจะยุบหายไปคงเห็นเป็นสีแดงๆตรงบริเวณรอยเข็มแทงอีก 2-3 วัน ระหว่างสัปดาห์ที่ 2-3 หลังฉีดวัคซีน จะเกิดตุ่มนูนแดงๆ (Bluish-red pastule) บริเวณที่ฉีด ตุ่มจะโตขึ้นช้าๆ กลายเป็นฝีเม็ดเล็กๆ และมีหัวหนอง  ซึ่งเมื่อฝีแตกจะเกิดเป็นแผลกว้าง 4-5 มิลลิเมตร แผลนี้จะเป็นๆ หายๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ แล้วจะแห้งหายไป ในคนที่เคยได้รับเชื้อวัณโรคตามธรรมชาติหรือเคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน ปฏิกิริยาบวมแดงที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีดบีซีจีจะเกิดเร็วกว่าที่กล่าวไว้แล้ว คือ จะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงในเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีนนี้  และปฏิกิริยาบวมแดงและขนาดปากแผลจะรุนแรงกว่าคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน แต่ไม่เป็นอันตรายใดๆ  ทั้งนี้ เมื่อแผลจากการฉีดวัคซีนแห้ง สะเก็ดจะหลุด จะเกิดเป็นแผลเป็น/แผลนูนรูปวงกลมกว้างประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาที่ไม่รุนแรง สามารถ ดูแลรักษาความสะอาดแผลได้ด้วยตนเอง  

         การดูแลรักษาแผลที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับวัคซีนบีซีจี โดยให้รักษาผิวหนังบริเวณที่ฉีดให้สะอาด แผลจากการฉีดบีซีจีจะเป็นๆ หายๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล เพียงใช้สำลีสะอาดชุบน้ำสะอาด อาจเป็นน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดรอยแผลให้สะอาดก็เพียงพอ และเตือนบิดามารดาและตนเอง(กรณีการฉีดวัคซีนนี้ในผู้ใหญ่)ไม่ให้บ่งตุ่มหนอง กรณีรู้สึกปวดสามารถให้ยาพาราเซตามอลได้

         ในอายุขวบปีแรกที่เด็กมาตรวจสุขภาพตามนัด ทุกครั้ง ควรบันทึก “ลักษณะ” ของตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนบีซีจีไว้ด้วยว่าเป็นเช่นใด เช่น มีรอยนูน (Induration) เป็นหนอง (Abscess) เป็นแผลเป็น หรือมีเพียงรอยขาวๆ จาง ๆ ให้เห็นหรือไม่มีปฏิกิริยาใดเกิดขึ้น เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กอายุ 1-2 เดือน เพื่อจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจภายหลังเมื่อเด็กโตขึ้น และไม่มีแผลเป็นบีซีจีให้เห็น

         อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนบีซีจีและควรพิจาณาปรึกษาแพทย์ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดวัคซีนเป็นหนอง (Regional suppurative adenitis) และมีขนาดโตมาก ซึ่งมีอัตราการเกิดน้อย แต่หากเกิดแล้วควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เนื่องจากอาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ยาต้านวัณโรค นอกจากนี้ ยังมีการติดเชื้อบีซีจีที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ที่กระดูก (BCG Osteitis) และที่ร้ายแรงที่สุด คือ การติดเชื้อบีซีจีชนิดแพร่กระจาย (Disseminated BCG) ซึ่งเกิดได้น้อยมาก โดยสามารถเกิดได้ในกรณีที่เป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันฯบกพร่องแต่กำเนิด เช่น ในกลุ่มอาการ Severe combined immune deficiency syndrome (SCID),ในโรค Chronic granulomatous disease (CGD) เป็นต้น

         ดังนั้นจึงควรต้องติดตามอาการต่างๆที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนบีซีจี  กรณีที่รู้สึกผิดปกติ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตมาก มีไข้  น้ำหนักลด  ซีด หรือมีอาการอื่นๆที่ส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

ตารางเวลาในการฉีดวัคซีนบีซีจี และการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯ

         ตารางการได้รับวัคซีนบีซีจี คือ ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด และสำหรับวัคซีนบีซีจีไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำ

กรณีไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนตามตารางเวลาที่กำหนด / ลืมไปฉีดวัคซีนควรทำอย่างไร?

         โดยทั่วไป  การฉีดวัคซีนบีซีจีจะทำการฉีดครั้งแรกเพียงครั้งเดียวตั้งแต่เด็กแรกเกิด ภายหลังการคลอด ก่อนที่ทารกจะออกจากโรงพยาบาล ดังนั้นกรณีทารกไม่ได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิดด้วยสาเหตุที่ทารกแข็งแรงไม่พอที่จะรับวัคซีน ควรติดตาม/นัดหมายการได้รับวัคซีนบีซีจีจากแพทย์/พยาบาลก่อนออกจากโรงพยาบาล  

         กรณีลืมไปรับการฉีดวัคซีนบีซีจี และไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน (กล่าวคือไม่มีแผลเป็น หรือไม่มีหลักฐานบันทึกการได้รับวัคซีน) สามารถไปรับการฉีดได้เลยทันที โดยพิจารณาหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนตามข้อห้ามใช้ของวัคซีนนี้ (หัวข้อ ข้อห้ามฉีดวัคซีนนี้) กรณีที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วโดยมีการบันทึกหลักฐานการได้รับวัคซีน แม้ไม่มีแผลเป็นก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำอีก

เมื่อตั้งครรภ์ ควรฉีดวัคซีนบีซีจีหรือไม่?

         ไม่ควรใช้วัคซีนบีซีจีในช่วงตั้งครรภ์ แม้ว่ามีการศึกษาไม่พบอันตราย แต่เนื่องจากวัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง จึงอาจมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อก่อโรครุนแรงได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำใช้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่มักจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป

กรณีไม่มีแผลเป็นบีซีจี จำเป็นต้องฉีดวัคซีนบีซีจีซ้ำหรือไม่?

            กรณีพบว่าเด็กทารกที่มาตรวจสุขภาพ ไม่มีแผลเป็นบีซีจี/แผลเป็นที่เกิดจากการฉีดวัคซีนบีซีจี จำเป็นต้องฉีดวัคซีนบีซีจีให้หรือไม่นั้น ปกติแล้วเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยก่อนกลับบ้านจะได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีที่ไหล่ด้านซ้าย ด้านขวา หรือที่สะโพกแล้วแต่ข้อกำหนดของโรงพยาบาล และต้องบันทึกการได้รับวัคซีนในสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวเด็กทารก

         การฉีดวัคซีนบีซีจีควรฉีดให้เร็ว โดยไม่ควรให้วัคซีนนี้ในเด็กที่มีอายุเกิน 1 ปี ด้วยสาเหตุเรื่องประสิทธิภาพและประโยชน์ของการได้รับวัคซีนนี้ เนื่องจากวัคซีนนี้จะมีประโยชน์สูงสุดเมื่อให้แก่เด็กเล็กก่อนที่เด็กจะไปสัมผัสกับเชื้อวัณโรค หรือเชื้อแบคทีเรียชนิด มัยโคแบคทีเรียม(Mycobacterium,กลุ่มแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรค)อื่นๆในสิ่งแวดล้อม

         กรณีเมื่อตรวจร่างกายเด็กทารกที่อายุ 1 - 2 เดือน ไม่พบว่ามีรอยใดๆเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ควรปรากฏรอยแผลเป็นบีซีจี ควรพิจารณาดังนี้

  1. สอบถามประวัติการได้รับวัคซีนนี้จากบิดาหรือมารดาของเด็กถึงประวัติการได้รับวัคซีนต่างๆรวมวัคซีนบีซีจีของเด็กรวมถึงในช่วงเป็นทารก
  2. หากไม่ได้คำตอบเรื่องประวัติการได้รับวัคซีนนี้ ให้ตรวจสอบจากสมุดบันทึกสุขภาพของเด็ก หรือสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาต่างๆที่ควรเกิดขึ้นกรณีเคยได้รับวัคซีน เช่น ตุ่มหนอง แผลอักเสบเป็นหนองในตำแหน่งที่เป็นไปได้ในการฉีดวัคซีน ซึ่งกรณีตรวจสอบสมุดบันทึกสุขภาพหรือซักประวัติแล้วพบว่าเคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาแล้ว แต่ไม่ปรากฏแผลเป็น ไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนบีซีจีซ้ำอีก เพราะไม่พบประโยชน์ของการได้รับวัคซีนบีซีจีครั้งที่สองซ้ำ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อวัคซีนในบริเวณที่ฉีดได้มากกว่าปกติอีกด้วย
  3. กรณีพบว่า ไม่เคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อนในอดีต ผู้ป่วยสามารถรับการฉีดวัคซีนบีซีจีได้ทันที โดยควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่สามารถได้รับวัคซีนบีซีจีได้
  4. กรณีต้องการฉีดวัคซีนบีซีจีซ้ำ สามารถกระทำได้ในกรณีที่ไม่แน่ใจหรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนบีซีจีในอดีตมาก่อน โดยต้องทดสอบทูเบอร์คูลินก่อน เพื่อทดสอบว่าเคยได้รับเชื้อวัณโรคมาแล้วหรือไม่  โดยผู้ที่สามารถรับวัคซีนบีซีจีซ้ำได้นั้น จะต้องมีผลทดสอบทูเบอร์คูลินที่แพทย์ประเมินแล้วว่ายังไม่เคยติดเชื้อวัณโรคและอาจจะยังไม่ได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน (ผลทดสอบทูเบอร์คูลินจะไม่พบรอยนูนเกิดขึ้นที่ผิวหนังในตำแหน่งที่ฉีดทูเบอร์คูลิน) หรือผลทดสอบที่ประเมินว่า เคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาแล้ว แต่ยังไม่ติดเชื้อวัณโรค (รอยนูนที่ผิวหนังฯมีขนาด 1 - 9 มิลลิเมตร ไม่เกิน 10 มิลลิเมตร) ก็สามารถได้รับวัคซีนบีซีจีได้เช่นกัน

         สำหรับกรณีที่ไม่ควรได้รับวัคซีนบีซีจีซ้ำโดยเด็ดขาด และควรตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่ากำลังอยู่ในช่วงติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ (Active disease) หรือเป็นวัณโรคระยะแฝง (Latent TB infection) ซึ่งคือ เมื่อแพทย์ประเมินผลทดสอบทูเบอร์คูลินแล้วพบว่า เป็นการติดเชื้อวัณโรค คือ รอยนูนที่ผิวหนังฯมีขนาดใหญ่มากกว่าหรือเท่ากับ 11 มิลลิเมตร

มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนบีซีจีอย่างไร?

         วัคซีนบีซีจีที่เป็นชนิดแห้งที่ยังไม่ผสม ให้เก็บรักษาในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius)  สามารถเก็บได้นาน 2 ปีนับจากวันผลิต โดยไม่ให้ถูกแสงสว่าง หรือแสงแดด  เพราะเชื้อบีซีจีที่มีอยู่ในวัคซีนจะตายได้ถ้าถูกความร้อนและแสงสว่าง ทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพลงโดยเร็ว

         ในกรณีที่ผสมวัคซีนชนิดผงแห้งเป็นวัคซีนน้ำเพื่อใช้ฉีดแล้ว ควรใช้ให้หมดภายในเวลา 2 ชั่วโมง ไม่ควรให้ถูกแสงสว่าง หลังจากดูดวัคซีนใส่กระบอกฉีดยาแล้วควรฉีดทันที ถ้าใช้วัคซีนไม่หมด ให้ทำลายทิ้งไป   โดยระหว่างการใช้ต้องเก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็นหรือในกระติกน้ำแข็งตลอดเวลา ไม่วางไว้ที่อุณหภูมิห้อง

บรรณานุกรม

  1. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
  2. .โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558
  3. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-2012
  4. https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/938420191209023015.pdf  [2022,July2]
  5. http://nvi.go.th/uploads/default/files/vaccine-knowledge/epi-program/bcg.pdf  [2022,July2]