โซเดียมไฮยาลูโรเนต (Sodium hyaluronate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โซเดียมไฮยาลูโรเนต (Sodium hyaluronate) คือ ยาบำบัดรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม และใช้กับการผ่าตัดตาโดยเป็นสารช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตานั่นเอง นอกจากนี้ยังใช้ในการทำศัลยกรรมพลาสติก (Plastic surgery), ในสหรัฐอเมริกายาชื่อการค้า คือ ‘Euflexxa’

โซเดียมไฮยาลูโรเนต เป็นสารประเภทโพลีเมอร์ (Polymer, สารโมเลกุลใหญ่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ เช่น พลาสติก และไนลอนต่างๆ)ของน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่มาเชื่อมต่อกันเป็นโครงสร้างที่ยาวและซ้ำๆ  

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยเพิ่มการหล่อลื่นบริเวณเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับยานี้

ก่อนการใช้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต แพทย์จะต้องตรวจสอบร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยใช้ข้อมูลสำคัญบางประการมาประกอบในการสั่งจ่ายยานี้  เช่น

  • ผู้ป่วยแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของโซเดียมไฮยาลูโรเนตหรือไม่
  • อวัยวะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่ต้องการใช้ยานี้มีการติดเชื้ออยู่ก่อนหรือไม่
  • หากเป็นสตรีอยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือมีภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • มีการใช้ยาชนิดอื่นใดอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่

ทั่วไป เราจะพบเห็นการใช้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตแต่ในสถานพยาบาล โดยมีระยะเวลาและความถี่ของการใช้ยาที่ต้องสัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วย และห้ามใช้ยานี้ฉีดร่วมกับยากลุ่มที่มีโครงสร้างเคมีของเกลือแอมโมเนียม (Ammonium) อยู่ด้วยเพราะจะทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยากลุ่มที่มีโครงสร้างฯดังกล่าวเพิ่มขึ้น เช่น ยา Benzalkonium chloride และ Cetylpyridinium

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต ในรูปแบบของยาฉีด สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงในบริเวณที่มีการฉีดยา เช่น เกิดอาการบวมแดงและรู้สึกปวดในบริเวณที่ได้รับยา

การใช้ยานี้ต่อเนื่องอย่างเหมาะสม จะทำให้อาการป่วย เช่น ข้อเสื่อมมีอาการดีขึ้น ญาติของผู้ป่วยก็มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยโดยคอยให้กำลังใจ พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับยา และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โซเดียมไฮยาลูโรเนต-01

 

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น 

  • บำบัดอาการข้อเข่าเสื่อม
  • เป็นสารหล่อลื่นในระหว่างการผ่าตัดตา

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต คือ ตัวยาจะช่วยหล่อลื่นจุดเชื่อมต่อของข้อต่อหรือเนื้อเยื่อในบริเวณที่ได้รับยานี้ ทำให้ลดการเสียดสีและช่วยบรรเทาอาการเจ็บ/ปวดได้ในระดับหนึ่ง จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น      

  • ยาฉีด ขนาด 25 มิลลิกรัม/2.5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความเข้มข้น 1%
  • ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.1%

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/ใช้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตเฉพาะกรณีสำหรับรักษาอาการข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาตามคำสั่งแพทย์ (เช่น 2 -5 มิลลิลิตร) ในระหว่างข้อที่มีอาการเสื่อมสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 5 สัปดาห์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสำหรับการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

*****หมายเหตุ:         

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากพลาดการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากพลาดการฉีดยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต ควรรีบติดต่อนัดหมายกับแพทย์ผู้รักษา/โรงพยาบาลเพื่อจัดเวลาการฉีดยาให้กับผู้ป่วยกันใหม่

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีไข้
  • ไอ
  • กลืนลำบาก
  • วิงเวียน
  • ขอบตา-ใบหน้า-ริมฝีปากอาจมีอาการบวม
  • บวมแดงในบริเวณที่ฉีดยา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ
  • ท้องเสีย
  • ปวดหัว
  • ผื่นคัน
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • *และอาจมีอาการอึดอัด/แน่นหน้าอกเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเกิดอาการนี้ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมไฮยาลูโรเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต
  • ห้ามฉีดยานี้เข้าข้อ/ข้อเข่าที่มีอาการติดเชื้อ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • การใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต
  • การใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้นตามที่ควรจะเป็น ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • พบแพทย์และรับการให้ยาตามกำหนดนัดหมาย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนตร่วมกับยาที่มีโครงสร้างของเกลือแอมโมเนียมเป็นส่วนประกอบ เพราะสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่มดังกล่าว เช่น Benzalkonium chloride และ Cetylpyridinium เพิ่มมากขึ้น

ควรเก็บรักษาโซเดียมไฮยาลูโรเนตอย่างไร?

ควรเก็บยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โซเดียมไฮยาลูโรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียมไฮยาลูโรเนต  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Adant Dispo (อะแดนท์ ดิสโพ) Meiji
Atri (อาทรี) Yoo Young Pharm
Go-On (โก-ออน) Rottapharm
Hialid (ไฮอาลิด) Santen
Hyalgan (ไฮยาลแกน) Fidia
Hyruan III (ไฮรูแอน ทรี) LG Life Sciences
Provisc (โพรวิส) Alcon
Vislube (วิสลูบ) Holopack

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hyaluronate  [2022,Aug27]
  2. https://www.drugs.com/cons/hyaluronate-sodium-injection.html  [2022,Aug27]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/sodium%20hyaluronate?mtype=generic  [2022,Aug27]
  4. https://www.rxlist.com/hyalgan-drug/patient-images-side-effects.htm  [2022,Aug27]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=sodium%20hyaluronate&page=0+hyaluronate  [2022,Aug27]
  6. https://www2.zoetisus.com/content/_assets/docs/vmips/package-inserts/hylartin_v.pdf  [2022,Aug27]