โคลมีฟีน (Clomiphene)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

โคลมีฟีน (Clomiphene) จัดอยู่ในกลุ่มยา Selective estrogen receptor modulators หรือเรียกสั้นๆว่า ‘เซิร์ม (SERMs)’  ยาในกลุ่มนี้จะเป็นสารในกลุ่มฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งเอส โทรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีผลต่อระบบอวัยวะสืบพันธุ์      

ยาโคลมีฟีนมีข้อบ่งใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่สำหรับหญิงที่มีบุตรยาก (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะมีบุตรยาก) ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะไข่ไม่ตก การใช้ยาโคลมีฟีนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้มากขึ้น

วิธีการใช้ยาโคลมีฟีน มีวิธีการบริหารยา/ใช้ยาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยหญิงแต่ละราย รวมถึงยาโคลมีฟีนมีข้อห้ามใช้ซึ่งควรได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา ดังนั้นการใช้ยาโคลมีฟีนควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษาตลอดการรักษา

ยาโคลมีฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โคลมีฟีน

ยาโคลมีฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่ในหญิงที่มีภาวะไข่ไม่ตก (Ovulatory failure) และต้องการ มีบุตรโดยที่สามีไม่เป็นหมัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำยาโคลมีฟีนไปใช้ใน

  • หญิงที่มีการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ
  • และ/หรือมีการทำงานของคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus luteum: กลุ่มเนื้อเยื่อภายในรังไข่ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง)บกพร่อง
  • และนำมาใช้ในการกำหนดระยะเวลาการตกไข่ในเทคโนโลยีผสมเทียม (Artificial insemina tion)

ยาโคลมีฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลมีฟีนคือ ตัวยาจะเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่โดยการกระตุ้นการ หลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปริน (Gonadotropins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง   เมื่อฮอร์โมนโกนาโดโทรปรินหลั่งเพิ่มขึ้นจะมีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอื่นๆที่ส่งผลทำให้เกิดการตกไข่ขึ้น เช่น ฮอร์โมนเพศหญิง

ยาโคลมีฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาโคลมีฟีน:

  • ยาเม็ด (Tablet)สำหรับรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม

ยาโคลมีฟีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาโคลมีฟีนมีขนาดรับประทาน  เช่น

  1. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่: ขนาดยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยปกติแล้วขนาดยาสูงสุดคือ 100 มิลลิกรัมต่อวันรับประทานวันละ 1 ครั้ง
  2. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่องในผู้ใหญ่: ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอด ภัย จึงไม่มีขนาดยาที่แนะนำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จึงใช้ขนาดยาตามปกติ แต่ควรให้ความระมัดระวังพิเศษในผู้ป่วยกลุ่มที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรงหรือกำลังได้รับการบำบัดทดแทนไต (การล้างไต)
  3. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องในผู้ใหญ่: ห้ามใช้ยานี้ในป่วยที่มีปัญหาโรคตับหรือมีภาวะตับทำงานบกพร่อง

         อนึ่ง: โดยทั่วไปยานี้ไม่ใช้ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

 เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาโคลมีฟีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • แจ้งเรื่องการตรวจสอบการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยก่อนเริ่มใช้ยาโคลมีฟีน
  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลมีฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่
  • แจ้งแพทย์ของท่านให้ทราบหากท่านมีประวัติความเจ็บป่วยในปัจจุบัน เช่น มีซีสต์ที่รังไข่ (ถุงน้ำรังไข่), มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ, การทำงานของตับผิดปกติรุนแรง หรือเป็น โรคตับ โรคไต

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ยาโคลมีฟีน เป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวัน โดยสามารถรับประทานเวลาใดก็ได้เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยานี้ เพื่อให้การรับประทานยานี้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอและป้องกันการลืมรับประทานยา ผู้ป่วยควรเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยาโคลมีฟีน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับ ประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. ตอนเวลา 7.00 น. วันรุ่งขึ้น ก็ให้รับประทานยามื้อ 20.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. เมื่อคืน ตอนเวลา 13.00 น.วันถัดมา ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 20.00 น. ในขนาดยาปกติตามแพทย์สั่ง โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาโคลมีฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา)ของยาโคลมีฟีนพบว่าสัมพันธ์กับขนาดการใช้ยา หมายถึง ขนาดยาที่สูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯได้มากขึ้น

  • อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบได้บ่อย: เช่น
  • อาการร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า (Hot flushes) พบว่าอาการร้อนวูบวาบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการเริ่มใช้ยานี้และจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา
  • รังไข่ขยายขนาด/ขนาดใหญ่ขึ้น (Ovarian enlargement) อาจทำให้มีความรู้สึกไม่สบายในช่องท้องและในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เช่น รู้สึกปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกราน, ปวดท้องน้อย, รู้สึกอืดแน่นท้อง, อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้อาเจียน  
  • นอกจากนี้อาจเกิด
    • เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
    • ความรู้สึกไม่สบาย
    • เต้านมคัดตึง
    • อาการทางสายตา ซึ่งจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา เช่น
      • มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
      • ตากลัวแสง(ตาไม่สู้แสง)
      • มองเห็นแสงแฟลช (แสงแวบๆ)
    • ปวดหัว
  • อาการไม่พึงประสงค์ของยาโคลมีฟีนที่พบได้น้อย: เช่น
  • พบว่ายาโคลมีฟีนกระตุ้นการเกิดภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง
  • ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
  • ถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลมีฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลมีฟีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตร เนื่องจากยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์และยาสามารถขับผ่านทางน้ำนมได้
  • การใช้ยานี้สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดครรภ์แฝด (Multiple births) ได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับหรือมีภาวะตับทำงานบกพร่อง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดเนื้องอกจากฮอร์โมน หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และควรได้รับการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดเลือดออกทางช่องคลอด
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังมีซิสต์/ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst) แต่มีซิสต์บางชนิดที่สามารถใช้ยาได้ (แพทย์จะเป็นผู้ประเมิน) อย่างไรก็ตามควรได้รับการตรวจยืนยันจากสูตินรีแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติและภาวะต่อมหมวกไตผิดปกติ
  • หญิงที่กำลังใช้ยานี้อยู่อาจเกิดภาวะรังไข่ขยายขนาด (Ovarian enlargement) โดยมักจะเกิดอาการท้องบวม (Abdominal distension) หรือปวดท้อง อาการมักหายไปใน 2 - 3 สัปดาห์โดยไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหากเกิดอาการดังที่กล่าวมาเพื่อรับการตรวจร่างกายและป้องกันการเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘OHSS หรือ Ovarian hyperstimulation syndrome’ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่รังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไปจนเกิดการหลั่งของฮอร์โมนเพศหญิงออกมาทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติเช่น ท้องบวม ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ผิดปกติ ดังนั้นเพื่อลดอันตรายจากการเกิดกลุ่มอาการ OHSS จากยาโคลมีฟีน แพทย์จึงอาจพิจารณาใช้ขนาดยาต่ำที่สุดที่มีประสิทธิภาพในการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

 ***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลมีฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโคลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโคลมีฟีน ร่วมกับยาออสพีมิฟีน (Ospemifene: ยารักษาภาวะเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) เนื่องจากเป็นยาในกลุ่ม เซิร์ม (SERMs) เช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้ยาร่วมกันจะเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันให้สูงขึ้น

ควรเก็บรักษายาโคลมีฟีนอย่างไร?

แนะนำเก็บยาโคลมีฟีน:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นจาก แสงแดด และแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโคลมีฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลมีฟีน  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Clomid 50 mg Sanofo-aventis
Clomiphene ysp industries 50 mg Ysp industries
Ovamit 50 mg Remedica
Ovinum 50 mg Biolab
Serophene 50 mg Merck Serono
Zimaquin 50 mg Sinensix Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12
  2. Product Information: Clomid, Clomiphene, Sanofo-aventis
  3. ภาวิน พัวพรพงษ์. ยาที่ใช้ในภาวะมีบุตรยาก.http://www.guruobgyn.com/wp-content/pdf/pdf16.pdf  [2022,Feb26]