แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมคลอไรด์อย่างไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอมโมเนียมคลอไรด์อย่างไร?
- แอมโมเนียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
- ยาแก้ไอ (Tips cough)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคหืด (Asthma)
บทนำ: คือยาอะไร?
แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride) คือ ยาที่แพทย์ใช้ช่วยรักษาภาวะร่างกายมีปริมาณเกลือคลอไรด์ (Chloride)ต่ำ รวมถึงภาวะ Metabolic alkalosis (ภาวะเลือดเป็นด่าง) บางกรณีก็ใช้เป็นยาปรับสภาพความเป็นกรดด่างของปัสสาวะเพื่อให้กลับมาสู่ภาวะปกติ
แอมโมเนียมคลอไรด์ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ มีลักษณะคล้ายผลึกเกลือสีขาว เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แหล่งกำเนิดตามธรรมชาติจะพบในแถบพื้นที่ที่เป็นภูเขาไฟ มนุษย์ได้นำแอมโมเนียมคลอไรด์ไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านงานโลหะ งานในห้องทดลอง และในอุตสาหกรรมอาหาร
สำหรับประเทศไทยสามารถพบเห็นยาแอมโมเนียมคลอไรด์ผสมร่วมกับยารับประทานชนิดอื่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยาขับเสมหะและเป็นยาแก้ไอ ส่วนรูปแบบของยาเดี่ยวชนิดรับประทานและยาฉีดจะมีการใช้ที่ต่างประเทศเสียส่วนมาก
การได้รับยาแอมโมเนียมคลอไรด์ที่ผิดขนาดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองของกระเพาะ อาหารจนกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
ด้วยยานี้จัดเป็นยาอันตราย การเลือกใช้ยานี้สำหรับรักษาอาการป่วย ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
แอมโมเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาภาวะเกลือคลอไรด์ในเลือดต่ำ
- รักษาภาวะ Metabolic alkalosis (ภาวะเลือดเป็นด่าง)
- ช่วยเป็นยาละลายเสมหะ และ ยาแก้ไอ
แอมโมเนียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมโมเนียมคลอไรด์คือ ตัวยาจะแสดงฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ โดย ทำให้เกิดการเพิ่มไฮโดรเจนไอออน (Hydrogen ion) ในกระแสเลือด ประกอบกับคอยปลด ปล่อยคลอไรด์ไอออน (Chloride ion) ให้กับร่างกายเพื่อชดเชยภาวะเกลือคลอไรด์ต่ำ จากการปรับสมดุลของไอออน (ประจุไฟฟ้า) ดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาติดตามมา
แอมโมเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด (5 กรัม/เม็ด)
- ยาฉีด ขนาด 5 มิลลิอิควิวาเลนท์ (Milliequivalent)/มิลลิลิตร
- ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น
แอมโมเนียมคลอไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 4 - 12 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทาน 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง
* อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอมโมเนียมคลอไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมโมเนียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแอมโมเนียมคลอไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แอมโมเนียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอมโมเนียมคลอไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ผื่นคัน
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- มีอาการสับสน
- หัวใจเต้นช้าผิดปกติจนถึงขั้นโคม่า
- ในรูปแบบยาฉีด ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดระคายเคืองตรงบริเวณที่ฉีดยา
*อนึ่ง: ส่วนกรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาดสามารถก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (Metabolic acidosis), มีอาการสับสน, จนถึงขั้นโคม่า, ซึ่งแพทย์อาจใช้ยา Sodium bicarbonate หรือ Sodium lactate เพื่อต้านฤทธิ์ของยาแอมโมเนียมคลอไรด์
มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมคลอไรด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมคลอไรด์ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ระวังการเกิดพิษจากยานี้ (Ammonia toxicity) โดยสังเกตจากอาการเหงื่อออกมาก อาเจียน หัวใจเต้นช้า การหายใจผิดปกติ และอาจเกิดอาการชัก ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและสตรีตั้งครรภ์
- ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร การใช้ยานี้ในสตรีกลุ่มนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
- ระวังการเกิดอาการบวมน้ำด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว (Cardiac edema)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมโมเนียมคลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน
แอมโมเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้แอมโมเนียมคลอไรด์ ร่วมกับยา Amphetamine อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Amphetamine ลดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาแอมโมเนียมคลอไรด์อย่างไร
ควรเก็บยาแอมโมเนียมคลอไรด์: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แอมโมเนียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอมโมเนียมคลอไรด์ มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ammonium chloride injection (แอมโมเนียมคลอไรด์ อินเจ็คชั่น) | Hospira |
Ammonium Chloride (แอมโมเนียมคลอไรด์) | Nutricology |
Aracaf (อะราแคฟ) | Thai Nakorn Patana |
Bonadine CD (โบนาดีน ซีดี) | Pharmasant Lab |
Chlorleate Expectorant (คลอร์ลีท เอ็กซ์เป็คทอแรนท์) | Silom Medical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ammonium_chloride [2021,Dec25]
- https://www.drugs.com/pro/ammonium-chloride.html [2021,Dec25]
- https://www.mims.com/indonesia/drug/info/ammonium%20chloride?mtype=generic [2021,Dec25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ammonium%20chloride [2021,Dec25]
- http://www.robholland.com/Nursing/Drug_Guide/data/monographframes/A050.html [2021,Dec25]
- http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1198&drugName=&type=2 [2021,Dec25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ammonium-chloride-index.html?filter=2&generic_only= [2021,Dec25]