ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperparathyroidism)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

 

ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperparathyroidism) คือ โรคหรือภาวะที่เซลล์ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ จึงส่งผลให้ฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมนี้(ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์)สูงเกินปกติไปด้วย จนส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกระดูก กระดูกหักง่าย คลื่นไส้-อาเจียนต่อเนื่อง

ต่อมพาราไทรอยด์ หรืออีกชื่อคือ ต่อมเคียงไทรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต่อมในระบบต่อมไร้ท่อ มีขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลม คล้ายเม็ดถั่วเขียว โดยทั่วไปพบได้ 4 ต่อม แต่ละต่อมอยู่ติดใต้ต่อมไทรอยด์แต่ละกลีบซ้าย-ขวา โดยอยู่ทางส่วนหัวและส่วนท้ายของแต่ละกลีบ แต่ละต่อมพาราไทรอยด์มีน้ำหนักประมาณ 25-50 มิลลิกรัม และมีขนาดมักไม่เกิน 5 มิลลิเมตร

ในบางคน อาจพบต่อมพาราไทรอยด์ได้มากกว่าหรือน้อยกว่า 4 ต่อมก็ได้ นอกจากนั้น บางคนต่อมเหล่านี้ อาจกระจายไปอยู่ที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะในตำแหน่งๆอื่นได้ เรียกว่า “Ectopic parathyroid gland” เช่น ฝังอยู่ในตัวเนื้อต่อมไทรอยด์, อยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณลำคอ, ในช่องอก, ในต่อมไทมัส, และ/หรือ อยู่รอบๆหลอดอาหาร

ต่อมพาราไทรอยด์สร้างฮอร์โมน (ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์)ชื่อ ‘พาราไทรอยด์ฮอร์โมน(Parathyroid hormone ย่อว่า PTH)’ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของ แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, และวิตามิน ดี ,ในร่างกาย/ในเลือดให้อยู่ในสมดุล

โรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน พบทั่วโลก ประมาณ 0.3% ของประชากรทั้งหมดหรือ ประมาณ 20-22 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกเพศ ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบน้อยมากในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) มักพบในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า (แต่ถ้าในคนอายุต่ำกว่า 45 ปี พบในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน) และมักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนสูงกว่าวัยอื่นๆ

 

ภาวะต่อมพาราทำงานเกินเกิดได้อย่างไร?

ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน

 

ต่อมพาราไทรอยด์เกิน พบเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ

ก. สาเหตุจากโรคของต่อมพาราไทรอยด์เอง ซึ่งเรียก ภาวะ/โรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินสาเหตุนี้ว่า ’ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ (Primary hyperparathyroidism)’ ซึ่งพบโรคสาเหตุฯได้ประมาณ 80% ได้แก่

  • เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid adenoma): เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด คือ ประมาณ 90%-95% ของสาเหตุหลักกลุ่มนี้
  • เซลล์ต่อมพาราไทรอยด์เจริญเกินปกติ(Parathyroid hyperplasia
  • จากโรคไตเรื้อรัง
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบเป็นสาเหตุได้น้อยมาก
  • บ่อยครั้งแพทย์ไม่ทราบสาเหตุ พบโรคกลุ่มนี้ประมาณ 5-15%
  • และประมาณ 0.5%-1%ของโรคกลุ่มนี้ เกิดจากมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์

ทั้งนี้ ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ เมื่อตรวจเลือดจะพบมี แคลเซียมในเลือดสูง, ฟอสเฟต/ ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ, เอนไซม์ Alkaline phosphatase (ALP, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกระดูก)สูง, และมีพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง

ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ เป็นโรคของผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคนี้ได้ประมาณ 21รายต่อประชากร1แสนคน พบสูงในช่วงอายุ 52-56 ปี พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 3 เท่า

ข. สาเหตุที่ไม่ใช่จากโรคของต่อมพาราไทรอยด์เอง แต่มีโรคอื่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานสูงขึ้น จากการที่โรคนั้นๆทำให้ร่างกาย/เลือดเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเรื้อรัง ซึ่งภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเรื้อรังนี้ จะไปกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์สร้างพาราไทรอยด์ฮอร์โมน(ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์)สูงขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย จึงเกิดเป็นภาวะ/โรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน

ทั้งนี้ เรียก โรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินจากสาเหตุกลุ่มนี้ว่า ‘ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมิ(Secondary hyperparathyroidism)’ โดยพบเป็นประมาณ 5-15%ของต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินรวมทุกสาเหตุ

อนึ่ง:

  • โรคที่มักเป็นสาเหตุต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมิ คือ โรคไตเรื้อรัง (จากไตไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมจากปัสสาวะกลับเข้าสู่ร่างกายได้ ร่างกายจึงเสียแคลเซียมสูงไปทางปัสสาวะ จึงก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในร่างกายต่ำเรื้อรัง)
  • นอกนั้นอาจพบเกิดจาก ภาวะขาดวิตามินดีเรื้อรัง ที่สงผลให้มีแคลเซียมในเลือดต่ำ จนร่างกายเกิดกลไกกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์สร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมิ เมื่อตรวจเลือดจะพบมีระดับ แคลเซียมในเลือดต่ำ ระดับฟอสเฟต/ ฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับเอนไซม์ Alkaline phosphatase สูง และมีพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง

ค. สาเหตุที่พบน้อยมากๆ เกิดจากการทำงานเองโดยอัตโนมัติของต่อมพาราไทรอยด์จากร่างกายเสียกลไกควบคุมต่อมพาราไทรอยด์ให้ทำงานเป็นปกติ จึงเกิดการสร้างพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงเกิน(Autonomous parathyroid hormone production)

ทั้งนี้ เรียกโรค/ภาวะจากสาเหตุนี้ว่า ‘ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินตติยภูมิ (Tertiary hyperparathyroidism)’

สาเหตุกลุ่มนี้มักพบในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่เกิดต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมิอยู่ก่อนแล้วและได้รับการรักษาโรคไตฯโดยปลูกถ่ายไต หลังปลูกถ่ายไต ไตกลับมาทำงานตามปกติ แต่ต่อมพาราไทรอยด์ก็ยังคงทำงานสูงอยู่เหมือนเดิม สร้างพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงเกินเหมือนเมื่อตอนมีโรคไตเรื้อรัง

ทั้งนี้ ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินตติยภูมิ เมื่อตรวจเลือดจะพบมีระดับแคลเซียมในเลือดสูง และมีพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง แต่แยกจาก “โรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ”จากการที่ ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรังและเคยมีต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมินำมาก่อน

อนึ่ง ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ ”โรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ” เท่านั้น เพราะเป็นโรค/ภาวะเกือบทั้งหมดของ “โรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน”

ส่วนโรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมิและตติยภูมิ จะมีอาการของทั้งโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิร่วมกับอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ การรักษาและการพยากรณ์โรคก็จะแตกต่างกันเป็นกรณีผู้ป่วยไป เพราะจะขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการจากภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน, และจากความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุ

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน?

 

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ ได้แก่

  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่เคยได้รับรังสีบริเวณลำคอ โดยเฉพาะในขณะเป็นเด็ก
  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรค Multiple endocrine neoplasia (MEN) ซึ่งเป็นโรคมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ ที่ทำให้เกิดเนื้องอกได้ในหลายอวัยะพร้อมกัน ที่รวมถึงเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ที่เป็นสาเหตุของต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน อย่างไรก็ตาม สาเหตุจากพันธุกรรมพบได้น้อยมาก

 

ภาวะต่อมพาราทำงานเกินมีอาการอย่างไร?

 

อาการจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ คือ ประมาณ 50% ผู้ป่วยไม่มีอาการแต่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพทั่วไปที่มีการตรวจค่า แคลเซียมในเลือด ว่ามีแคลเซียมในเลือดสูงเกินปกติ

ส่วนในผู้ที่มีอาการ อาการที่พบได้ เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • ผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คันตามร่างกายโดยไม่มีผื่นคันชัดเจน อาจร่วมกับเล็บเปราะผิดปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดกระดูก
  • กระดูกหักง่าย
  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • คลื่น-ไส้อาเจียน
  • ท้องผูก
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • สับสน
  • กระสับกระส่าย
  • หลงลืมมากผิดปกติ
  • อาจมีอาการคล้ายคนเป็นโรคจิต
  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • มีแคลเซียมเกาะตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย (ตรวจพบจากเอกซเรย์ภาพอวัยวะต่างๆ)
  • มีนิ่วในไต

 

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

 

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยไม่ต้องรอให้มีครบทุกอาการ

 

แพทย์วินิจฉัยภาวะต่อมพาราทำงานเกินอย่างไร?

 

การวินิจฉัยภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ ที่สำคัญ คือ การตรวจพบ แคลเซียมในเลือดสูงต่อเนื่อง ทั้งในผู้ป่วยที่ ไม่มีอาการ และในผู้ป่วยที่ มีอาการ ดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ร่วมกับ

  • การสอบถามอาการต่างๆที่รวมถึงประวัติทางการแพทย์ต่างๆเพิ่มเติม
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลำหาก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณลำคอ (ตำแหน่งของต่อมพาราไทรอยด์/ต่อมเคียงไทรอยด์)
  • การตรวจปัสสาวะ/ ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ (เก็บจำนวนปัสสาวะทั้งหมดใน 24 ชั่วโมงเพื่อหาปริมาณแคลเซียมทั้งหมดที่ออกมาในน้ำปัสสาวะใน1วัน)
  • การตรวจภาพลำคอเพื่อหาก้อนเนื้องอกของต่อมพาราไทรอยด์ด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • และมักมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อหาก้อนเนื้อ/ต่อมพาราไทรอยด์ทั้งตัว เพราะดังกล่าวแล้วว่า ต่อมพาราไทรอยด์อาจมีได้หลายตำแหน่งในร่างกาย ด้วยการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การตรวจที่เรียกว่า Technetium sestamibi

นอกจากนั้น มักมีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะมีพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง เช่น

  • นิ่วในไต: จากที่โรคฯส่งผลให้มีการขับแคลเซียมออกทางไตมากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในไต โดยการเอกซเรย์ภาพไต
  • ความหนาแน่นมวลกระดูก: เพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะ/โรคกระดูกพรุน กระดูกบาง ได้ จากร่างกายดึงแคลเซียมออกจากกระดูกให้เข้ามาอยู่ในเลือดสูงขึ้น เป็นต้น

อนึ่ง ต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมมีขนาดเล็ก และอยู่ลึก ดังนั้น ก่อนผ่าตัดรักษา จึงมักไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเจาะ/ดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยาได้ แพทย์จึงมักผ่าตัดรักษาก่อน แล้วจึงนำก้อนเนื้อที่ได้จาก ผ่าตัดมาตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาภาวะต่อมพาราทำงานเกินอย่างไร?

 

การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิที่เกิดจากเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ คือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายเทคนิคที่ช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดลง เช่น การใช้การตรวจทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และ/หรือรังสีวินิจฉัยร่วมกับการผ่าตัด (Radio-guided surgery) เป็นต้น

ส่วนในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และ/หรือไม่ประสงค์ผ่าตัด หรือมีสภาพร่างกายที่ผ่าตัดไม่ได้

  • แพทย์อาจใช้การตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ
  • อาจร่วมกับให้ยาลดแคลเซียมในเลือด(Calcimimetics)

และในผู้ป่วยที่มีอาการ แต่สุขภาพไม่เหมาะต่อการผ่าตัด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วย ยาลดแคลเซียมในเลือด ร่วมกับการรักษาตามอาการไปจนกว่าผู้ป่วยจะสามารถรับการผ่าตัดได้

อนึ่ง อีกวิธีรักษาที่กำลังอยู่ในการศึกษา คือ การฉีดสารบางชนิดเข้าไปในต่อมพาราไทรอยด์นี้โดยตรง เพื่อทำให้เซลล์ต่อมฯฟ่อ จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

 

ภาวะต่อมพาราทำงานเกินก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

 

ผลข้างเคียงจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ คือ

  • อาจเกิดโรคไตเรื้อรังจากการเกิดนิ่วในไตเรื้อรังที่จะส่งผลต่อเนื่องให้เกิด กระดูกพรุน กระดูกบางจากกระดูกสูญเสียแร่ธาตุ แคลเซียม ไปกับปัสสาวะ
  • และอาจเกิดโรคหัวใจ/ โรคหัวใจ2 ได้จากการเสียสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย

อนึ่ง: ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ เช่น

  • เลือดออกมากจากแผลผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดไม่ติด
  • ภาวะเลือดคั่งในแผลผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดติดเชื้อ
  • ที่สำคัญ คือ ต่อมพาราไทรอยด์จะอยู่ติดกับเส้นประสาทต่างๆของลำคอและใบหน้า การผ่าตัดจึงอาจทำให้เส้นประสาทเหล่านั้นได้รับบาดเจ็บ
    • ส่งผลต่อกล่องเสียง อาจทำให้เกิด เสียงแหบ และ/หรือ ภาวะหายใจลำบาก
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อ/ต่อมพาราไทรอยด์ ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดพาราไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำที่ส่งผลให้เกิดอาการชักเป็นๆหายๆได้
  • นอกจากนั้น บางครั้งผ่าตัดแล้ว แพทย์ไม่สามารถพบต่อมพาราไทรอยด์ได้ เนื่องจากดังกล่าวแล้วว่า ต่อมพาราไทรอยด์และก้อนเนื้อต่อมพาราไทรอยด์ มีขนาดเล็กมาก เมื่ออยู่ปะปนกับเนื้อเยื่อต่างๆ จึงมักตรวจพบ/มองเห็นได้ยาก

 

ภาวะต่อมพาราทำงานเกินรุนแรงไหม?

 

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • กรณีสาเหตุจากเนื้องอกฯ มักมีการพยากรณ์โรคที่ดี แต่หลังรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ก็มีโอกาสที่โรคจะย้อนกลับเป็นซ้ำได้
  • แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์ การพยากรณ์โรคจะแย่กว่า โดยขึ้นกับระยะของโรคมะเร็ง และการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่

 

ดูแลตนเองอย่างไร? มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อไหร่?

 

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิ ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆตามแพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ หรือที่เกิดจากผลข้างเคียงให้ได้ดี
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1ลิตร เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อป้องกันการตกตะกอนของแคลเซียมเพื่อช่วยป้องกันนิ่วในไต
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน ร่วมกับกินอาหารมีประโยชน์ห้า หมู่ เพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระดูกพรุน และโรคหัวใจ (โรคหัวใจ2)
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • มีอาการผิดไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • ยาหมดก่อนแพทย์นัด
    • เมื่อสงสัยมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ท้องผูกหรือท้องเสีย และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

 

ป้องกันภาวะต่อมพาราทำงานเกินอย่างไร?

 

เมื่อดูจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแล้ว ปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินได้ทุกชนิดได้(ยกเว้นการป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง โรคไตเรื้อรัง ที่ทำให้เกิดโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินทุติยภูมิและตติยภูมิ)

แต่การตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะในหญิงวัยหมดประจำเดือน ที่ตรวจเลือดดูค่า แคลเซียมด้วย อาจช่วยให้ตรวจพบโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปฐมภูมิได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผลการรักษาควบคุมโรคนี้ดีขึ้น

 

บรรณานุกรม

 

  1. Bilezikian,J., and Silverberg, S. (2004).N Engl J Med. 350, 1746-1751
  2. MacKenzie-Feder, J. et al. (2011). Int J Endocrinol
  3. Marcocci,C., and Cetani, F. (2011). N Engl J Med. 365, 2389-2397
  4. Pallen,S., and Khan,A. (2011). Can Fam Physician. 57, 184-189
  5. Taniegra,E. (2004). Am Fam Physician.69, 333-339
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperparathyroidism [2020,Feb15]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/127351-overview#showall [2020,Feb15]
  8. https://collectedmed.com/index.php/directory/Coach_directory/articlelist/13076 [2020,Feb15]