เอมิลไนไตรท์ (Amyl nitrite)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เอมิลไนไตรท์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เอมิลไนไตรท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอมิลไนไตรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอมิลไนไตรท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมการสูดพ่นยาควรทำอย่างไร?
- เอมิลไนไตรท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอมิลไนไตรท์อย่างไร?
- เอมิลไนไตรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอมิลไนไตรท์อย่างไร?
- เอมิลไนไตรท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- เจ็บหน้าอก (Chest pain)
- ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ไวอากร้า (Viagra)
- เซทิไรซีน (Cetirizine)
- ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
เอมิลไนไตรท์ (Amyl nitrite) คือ ยาขยายหลอดเลือดที่ออกฤทธิ์เร็วเพื่อบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ถูกนำมาผลิตเป็นยาสูดพ่นทางจมูก , ยานี้จะดูดซึมได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านไปทางปอด, หนึ่งในสามของตัวยาที่สูดพ่นจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ, ระยะเวลาที่ยาจะแสดงฤทธิ์การรักษาอยู่ในช่วง 30 วินาทีซึ่งถือว่าเร็วมากระดับหนึ่งแล้ว
แต่ยานี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน หรือผู้ป่วยที่ได้รับอาการบาดเจ็บทางศีรษะ ด้วยตัวยาสามารถกระจายตัวเข้าสู่ตาและผ่านเข้าสมองทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดในตาและในสมอง จึงเป็นเหตุให้อาการของผู้ป่วย ต้อหินหรือผู้ที่บาดเจ็บทางศีรษะมีอาการรุนแรงมากขึ้น
เมื่อได้รับยาเอมิลไนไตรท์ หรือการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์จะส่งผลลดความดันเลือดจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์จนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทารกได้โดยการลดเลือดไปเลี้ยงทารก
ยังไม่มีการศึกษายานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จึงยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่ายานี้ผ่านออกมากับน้ำนมมารดาหรือไม่ จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหากจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
*อนึ่ง ยาเอมิลไนไตรท์เป็นสารเคมีที่ติดไฟได้ดี การใช้ยานี้จึงต้องไม่เข้าใกล้เปลวไฟ
ทั้งนี้ การใช้ยาเอมิลไนไตรท์ควรเริ่มที่ขนาดต่ำๆที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลของการรักษา การ ใช้ยานี้ในปริมาณมากจะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนจากเม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจนที่เรียกว่า ‘ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)’
นอกจากนี้ ยาเอมิลไนไตรท์ยังทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างที่ไม่รุนแรงมากนักและเกิดเพียงชั่วคราว เช่น ปวดหัว วิงเวียน และใบหน้าแดง เป็นต้น ผู้ที่ใช้ยานี้อาจมีความรู้สึกร้อนที่ใบหน้าพร้อมกับมีอาการคล้ายกับศีรษะจะแตกออก และการสูดพ่นยาครั้งหนึ่งในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย รวมถึงเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
การใช้ยาเอมิลไนไตรท์จะใช้เมื่อเริ่มมีอาการแน่นหน้าอกซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่บ่งบอกภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ท่าทางของร่างกายที่จะใช้ยานี้ควรอยู่ในท่านั่งหรือท่านอน ด้วยเหตุผลขณะที่ยาออกฤทธิ์ผู้ป่วยอาจรู้สึกวิงเวียนหรืออาจเป็นลมได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นหลังใช้ยาไม่ถึงนาที
การใช้ยานี้ในผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีอาการโรคแตกต่างกันย่อมมีขนาดยาที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงควรใช้ยาตามขนาดที่แพทย์กำหนดให้อย่างเคร่งครัด
เอมิลไนไตรท์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเอมิลไนไตรท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina attacks)
เอมิลไนไตรท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอมิลไนไตรท์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ส่งผลให้หัวใจได้รับออกซิเจนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมาได้เช่นเดียวกัน จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ
เอมิลไนไตรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอมิลไนไตรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาน้ำสารละลายสำหรับสูดพ่น ขนาด 0.3 มิลลิกรัม/ 0.3 มิลลิลิตร
เอมิลไนไตรท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเอมิลไนไตรท์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา:
- ผู้ใหญ่: ขณะเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ให้เปิดยาแอมพูล(Ampule)ที่บรรจุตัวยา 0.3 มิลลิลิตร แล้วสูดพ่นเข้าจมูก หากอาการเจ็บหน้าอกไม่บรรเทาลงให้ใช้ยาอีก 1 แอมพูล (0.3 มิลลิลิตร) ภายใน 1 - 5 นาทีหลังจากใช้ยาแอมพูลแรก หากใช้ยา 2 แอมพูลแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 10 นาที ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กยังมิได้มีการจัดทำขึ้น การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง ยานี้จะใช้ต่อเมื่อเริ่มมีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเอมิลไนไตรท์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอมิลไนไตรท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมการสูดพ่นยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาเอมิลไนไตรท์จะใช้เฉพาะช่วงที่เริ่มมีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การใช้ยานี้จึงเป็นไปเฉพาะตามกรณีเมื่อเริ่มเกิดอาการเท่านั้น จึงไม่เกิดการลืมการใช้ยา
เอมิลไนไตรท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอมิลไนไตรท์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- วิงเวียน
- ใบหน้าแดง
- ปวดหัว
- คลื่นไส้และ/หรืออาเจียน
- กระสับกระส่าย
*อนึ่ง: สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดเช่น ริมฝีปากรวมถึงเล็บ นิ้ว และฝ่ามือ มีสีคล้ำ วิงเวียนหรือเป็นลม รู้สึกมีแรงดันในศีรษะ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เอมิลไนไตรท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอมิลไนไตรท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มสุราด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาใกล้สถานที่ที่มีเปลวไฟหรือสถานที่ที่มีประกายไฟ
- การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ในเด็ก ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั
- ขณะใช้ยานี้มักจะมีอาการวิงเวียนเข้าแทรกซ้อน ขณะใช้ยานี้ผู้ป่วยจึงควรอยู่ในท่านั่งหรือไม่ก็ท่านอนเท่านั้น ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ขณะยืน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอมิลไนไตรท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอมิลไนไตรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอมิลไนไตรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเอมิลไนไตรท์ ร่วมกับยา Sildenafil ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงติดตามมา เคยมีรายงานการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันและเป็นเหตุให้ผู้ป่วยตายได้
- การใช้ยาเอมิลไนไตรท์ ร่วมกับยา Prilocaine อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้เพียงพอ เพื่อเป็นการป้องกันอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเอมิลไนไตรท์ ร่วมกับยา Cetirizine อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยา Cetirizine มากขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเอมิลไนไตรท์อย่างไร?
ควรเก็บยาเอมิลไนไตรท์: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เอมิลไนไตรท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะลิสคิเรน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amyl Nitrite (เอมิลไนไตรท์) | Baxter |
Amyl Nitrite Daiichi Sankyo (เอมิลไนไตรท์ ไดอิชิ แซนเกียว) | Daiichi Sankyo |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amyl_nitrite#Physiological_effects [2022,July30]
- https://www.drugs.com/pro/amyl-nitrite-inhalant.html [2022,July30]
- https://www.drugs.com/cdi/amyl-nitrite.html [2022,July30]
- https://www.drugs.com/cons/amyl-nitrite-inhalation-oral-nebulization.html [2022,July30]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/amyl-nitrite-index.html?filter=3&generic_only [2022,July30]