อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์: เอซีเฮชอีไอ (Acetylcholinesterase inhibitor: AChEI)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Acetylcholinesterase inhibitor) หรือ เรียกแบบย่อๆว่า เอซีเฮชอีไอ (AChEI) หรือ Anticholinesterase drug หรือ Cholinesterase inhibitor หรือ Anti-cholinesterase คือ สารเคมี/ยาที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสมองของมนุษย์ที่มีชื่อว่า ‘อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส เอนไซม์ (Acetylcholinesterase enzyme)’ ซึ่งมีหน้าที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานและออกฤทธิ์ได้

ยาเอซีเฮชอีไอยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบบผันกลับได้ (Reversible inhibitor): ประกอบด้วยกลุ่มยาที่เป็นสารเคมีที่แบ่งย่อยอีก ดังนี้

  • กลุ่ม Carbamates เช่น ยา Physostigmine, Neostigmine, Pyridostigmine, Ambenonium, Demecarium, Rivastigmine
  • กลุ่มอนุพันธ์ของ Phenanthrene เช่นยา Galantamine
  • สารเคมีอื่นๆ เช่น คาเฟอีน/Caffeine, Donepezil, Tacrine, Edrophonium, Huperzine A, Ladostigil, Ungeremine, Lactucopicrin

2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบบไม่สามารถผันกลับได้ (Irreversible inhibitor): เป็นสารที่ทางกองทัพนำไปผลิตเป็นอาวุธเคมีหรือนำไปผลิตยาฆ่าแมลงเช่น Organophosphates

อนึ่ง ในบทความนี้จะบอกกล่าวถึง ยาเอซีเฮชอีไอ ประเภท Reversible inhibitor เท่านั้น ด้วยมีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำมารักษาโรคต่างๆ เช่น อาการป่วยของกล้ามเนื้อ, การเต้นของหัว ใจ, อาการทางสมอง, เป็นต้น

มีสารเคมีบางรายการของ เอซีเฮชอีไอ ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น Neostigmine และ Pyridostigmine

การนำสาร/ยา เอซีเฮชอีไอ มารักษาโรคนั้นต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส

ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • บำบัดรักษาอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) เช่นยา Neostigmine, Ambenonium, Pyridostigmine, Edrophonium
  • บำบัดรักษาโรคต้อหิน เช่นยา Physostigmine
  • รักษาอาการปัสสาวะขัด เช่นยา Neostigmine
  • รักษาโรคความดันโลหิตต่ำ เช่นยา Pyridostigmine
  • รักษากลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็ว เช่นยา Pyridostigmine
  • รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เช่นยา Rivastigmine, Galantamine, Donepezil, Tacrine, Huperzine A
  • รักษาอาการโรคพาร์กินสัน เช่นยา Ladostigil

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์/เอซีเฮชอีไอ จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Acetylcholineterase ซึ่งจะเป็นตัวสลายสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholine (สารสื่อประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) โดยเฉพาะสารเคมีเอซีเฮชอีไอประเภทยับยั้งแบบผันกลับได้ จะถูกนำมาใช้รักษาอาการโรคตามที่ระบุไว้ในสรรพคุณ

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาชนิดรับประทานเช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ
  • ยาฉีด และ
  • ยาแผ่นพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีหลากหลายรายการ ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาของตัวยาแต่ละรายการจึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการ แพทย์ของตัวผู้ป่วยมาประกอบการเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีกลุ่มยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ที่เป็นยาชนิดรับประทานเช่น Pyridostigmine, Rivastigmine, Galantamine, Donepezil, Tacrine, Huperzine A, Ladostigil หากลืมรับประทานยาเหล่านี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์/เอซีเฮชอีไอ สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • หัวใจเต้นช้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ร่างกายหลั่งสารคัดหลั่งต่างๆมากขึ้น เช่น น้ำลาย น้ำมูก
  • หลอดลมหดเกร็งตัว ทำให้หายใจลำบาก
  • กระเพาะอาหาร - ลำไส้มีการเคลื่อนไหว/บีบตัวเพิ่มมากขึ้น
  • กล้ามเนื้อมีการหดตัวค้างเป็นเวลานาน
  • ท้องเสีย
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ความดันลูกตาต่ำ
  • นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร
  • ตัวเหลือง
  • น้ำหนักตัวลด
  • อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ใน สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคกระเพาะอาหารหรือโรคของกระเพาะอาหาร และ/หรือโรคลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดอวัยวะในช่องทางเดินอาหาร
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุ หากจำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์/เอซีเฮชอีไอ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มเอซีเฮชอีไอ ร่วมกับ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามาก จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มเอซีเฮชอีไอ ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin และยาในกลุ่ม Beta bolckers จะเกิดความเสี่ยงให้มีภาวะหัวใจเต้นช้า หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มเอซีเฮชอีไอ ร่วมกับยา Anticholinergic drug อาจส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยากลุ่มเอซีเฮชอีไอด้อยประสิทธิภาพลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

สามารถเก็บยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา /ฉลากยา
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Neostigmine GPO (นีโอสติกมีน จีพีโอ) GPO
Neostigmine Chi Sheng (นีโอสติกมีน ไชเชง) Chi Sheng
Prostigmin (โพรสติกมิน) A.Menarini
Mestinon (เมสทินอน) A.Menarini
Pyrimine 60 (ไพริมีน 60) Sriprasit Pharma
Exelon Patch (เอ็กเซลอน แพช) Novartis
Exelon (เอ็กเซลอน) Novartis
Rivasta (ไรเวสตา) Siam Bheasach
Reminyl (เรมินิล) Janssen-Cilag

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholinesterase_inhibitor#Reversible_inhibitor [2021,Feb6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholinesterase [2021,Feb6]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=neostigmine%20[ [2021,Feb6]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/donepezil%20stada?type=full [2021,Feb6]