เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์อย่างไร?
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเบต้า บล็อกเกอร์อย่างไร?
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ไมเกรน (Migraine)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
บทนำ
เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker, ยาปิดกั้นการทำงานของเบต้า รีเซ็ปเตอร์/Beta receptor โดยมีชื่อเรียกอื่นได้แก่ Beta - adrenergic blocker, Beta - adrenergic blocking agents, Beta antagonists, Beta - adrenergic antagonists, Beta - adrenoreceptor antagonists, หรือ Beta adrenergic receptor antagonists) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับหรือหน่วยรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า เบต้า รีเซ็ปเตอร์ (Beta receptor: ตัวรับเบต้า) หน่วยรับดัง กล่าวถูกพบที่ กล้ามเนื้อหัวใจ, กล้ามเนื้อเรียบ (เช่น กล้ามเนื้อหลอดเลือด), หลอดลม, หลอดเลือดฝอย, ไต, และเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทชนิดประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system)
หากมีฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Epinephrine เข้ามาจับกับตัวรับ เบต้า ก็จะทำให้อวัยวะต่างๆที่มีตัวรับเบต้าแสดงอาการตามชนิดของสารสื่อประสาทที่เข้ามาทำปฏิกิริยา ทางการแพทย์พบว่าสารสื่อประสาทหลายชนิดในร่างกายที่มีผลต่ออาการโรค เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ, หลอดลมหดเกร็งตัว, หัวใจบีบตัวแรงหรือบีบตัวช้าลง
ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) เภสัชกรชาวสก๊อตได้ค้นพบสารเบต้า บล็อกเกอร์ และนำ มาใช้ในทางการแพทย์ครั้งแรกชื่อ Propranolol และ Pronethalol(สารนี้ไม่มีการใช้ทางการแพทย์ ด้วยสามารถเป็นสารก่อมะเร็ง) ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติของวงการยาด้วยการนำเบต้า บล็อกเกอร์มารักษาภาวะหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
หากจำแนกยาเบต้า บล็อกเกอร์ออกเป็นกลุ่มๆตามอาการของโรค จะจำแนกได้ดังต่อไปนี้
ก. สำหรับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia): กลุ่มยาที่ ใช้รักษา เช่น Esmolol, Sotalol, Landiolol
ข. สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Carvedilol, Metoprolol, Bisoprolol, Nebivolol
ค. สำหรับโรคต้อหิน (Glaucoma): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Betaxolol, Carteolol, Levobunolol, Metipranolol, Timolol
ง. สำหรับโรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Atenolol, Metoprolol, Propranolol
จ. สำหรับป้องกันไมเกรน (Migraine): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Timolol, Propranolol
ฉ. สำหรับรักษาอาการสั่นของร่างกายและความดันโลหิตสูง (Hypertension): ยาที่ใช้รักษา เช่น Propranolol
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์พบว่า ยากลุ่มนี้ถูกดูดซึมได้จากทางเดินอา หาร หลังดูดซึมตัวยาจะจับกับพลาสมาโปรตีน และตับจะเปลี่ยนโครงสร้างเคมีของยา ร่างกายจะขับยากลุ่มนี้โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น Atenolol, Betaxolol, Carvedilol, Metoprolol, Propranolol, และ Timolol ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย จึงต้องเป็นไป ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีสรรพคุณดังนี้
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)
- รักษาและบรรเทาอาการหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
- รักษาโรคต้อหิน (Glaucoma)
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)
- ป้องกันโรคไมเกรน (Migraine)
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบต้า บล็อกเกอร์คือ ตัวยาจะเข้าไปปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta receptor) ซึ่งมี 3 ชนิด คือ เบต้าวัน (Beta1), เบต้าทู (Beta 2), และเบต้าทรี (Beta 3) ซึ่งตัวรับเหล่านี้อยู่ตามเนื้อเยื่อของ หัวใจ หลอดเลือด หลอดลม และส่งผลให้หัวใจลดการบีบตัวและลดอัตราการเต้นลง พร้อมกับยับยั้งการปลดปล่อยสารเรนิน (Renin, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย) จากไต ทำให้เพิ่มการขับเกลือโซเดียมและน้ำออกจากร่างกาย เป็นผลให้ลดความดันโลหิตได้ในที่สุด
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ดขนาด 6.25, 10, 12.5, 25, 40, 50, 100, และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาหยอดตาขนาด 0.5%
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์มีหลายรายการตามความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่ม โรคที่มีความแตกต่างกันออกไป อีกทั้งมีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงมากมาย การใช้ยากลุ่มนี้ที่ปลอดภัยจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบต้า บล็อกเกอร์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีภาวะหัวใจเต้นช้า
- เจ็บหน้าอก
- ความดันโลหิตต่ำ
- หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- มีอาการคล้ายหอบหืด
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มดลูกบีบรัดตัวมาก
- อ่อนเพลีย
- เป็นตะคริว
- ฝันร้าย
- ประสาทหลอน
- วิงเวียน
- ซึมเศร้า
- น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ไขมันในเลือดชนิดเฮชดีแอล (HDL) ลดต่ำลง ในขณะที่ไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL) เพิ่มสูงขึ้น
- เหงื่อออกมาก
- บวมตามผิวหนัง
- และระคายเคืองตา
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังช็อกด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างรุนแรง (Severe sinus bradycardia)
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบต้า บล็อกเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้
- การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยาแก้ปวด เช่น Aspirin หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น Ibuprofen อาจจะส่งผลทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยากันชัก เช่น Phenobarbital อาจลดประสิทธิภาพในการทำงานของเบต้า บล็อกเกอร์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Clonidine สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนถึงระดับที่อันตราย ควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาเบต้า บล็อกเกอร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น
- กลุ่มยาเม็ด เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ยาหยอดตา เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
- ควรเก็บยานี้ทุกรูปแบบ ดังนี้ เช่น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Brevibloc (เบรวิบล็อก) | Baxter Healthcare |
Caraten (คาราเทน) | Berlin Pharm |
Dilatrend (ไดลาเทรน) | Roche |
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) | T. O. Chemicals |
Cardoxone R (คาร์ดอซอน อาร์) | Remedica |
Meloc (เมล็อก) | T. Man Pharma |
Melol (เมลอล) | Pharmasant Lab |
Metoblock (เมโทบล็อก) | Silom Medical |
Metoprolol 100 Stada/Metoprolol 200 Stada Retard (เมโทโพรลอล 100 สตาดา/เมโทโพรลอล 200 สตาดา รีทาร์ด) | Stada |
Metprolol (เมทโพรลอล) | Pharmaland |
Sefloc (เซฟล็อก) | Unison |
Bisloc (บิสล็อก) | Unison |
Concor (คอนคอร์) | Merck |
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) | Sriprasit Pharma |
Novacor (โนวาคอร์) | Tri Medical |
Nebilet (เนบิเลท) | Menarini |
Betoptic S (เบท็อปติก เอส) | Alcon |
Arteoptic (อาร์ติออพติก) | Otsuka |
Betagan (เบทาแกน) | Allergan |
Archimol (อาร์ชิมอล) | T P Drug |
Glauco Oph (กลายูโค ออฟ) | Seng Thai |
Opsartimol (ออพซาร์ไทมอล) | Charoon Bhesaj |
Timodrop (ไทโมดร็อพ) | Biolab |
Timolol Maleate Alcon (ทิโมลอล มาลีทเอท อัลคอน) | Alcon |
Timo-optal (ทิโม-ออฟตัล) | Olan-Kemed |
Timoptol (ทิมอพทอล) | MSD |
Timosil (ทิโมซิล) | Silom Medical |
Atcard (แอทการ์ด) | Utopian |
Atenol (อะทีนอล) | T. O. Chemicals |
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) | Kopran |
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) | Vesco Pharma |
Enolol (อีโนลอล) | Charoon Bhesaj |
Esnolol (เอสโนลอล) | Emcure Pharma |
Eutensin (ยูเทนซิน) | Greater Pharma |
Oraday (ออราเดย์) | Biolab |
Prenolol (พรีโนลอล) | Berlin Pharm |
Tenocard (ทีโนคาร์ด) | IPCA |
Tenolol (ทีโนลอล) | Siam Bheasach |
Tenormin (ทีนอร์มิน) | AstraZeneca |
Tenrol (เทนรอล) | Unique |
Tetalin (ทีตาลิน) | Pharmasant Lab |
Tolol (โทลอล) | Suphong Bhaesaj |
Velorin (วีโลริน) | Remedica |
Alperol (อัลพีรอล) | Pharmasant Lab |
Betalol (เบต้าลอล) | Berlin Pharm |
Betapress (เบต้าเพรส) | Polipharm |
C.V.S. (ซี.วี.เอส.) | T. Man Pharma |
Cardenol (คาร์ดีนอล) | T.O. Chemicals |
Chinnolol (ชินโนลอล) | Chinta |
Emforal (เอมโฟรอล) | Remedica |
Idelol 10 (ไอดีลอล 10) | Medicine Products |
Inderal (อินดีรอล) | AstraZeneca |
Normpress (นอร์มเพรส) | Greater Pharma |
Palon (พาลอล) | Unison |
Perlon (เพอร์ลอน) | Asian Pharm |
P-Parol (พี-พารอล) | Osoth Interlab |
Pralol (พราลอล) | Pharmasant Lab |
Prolol (โพรลอล) | Atlantic Lab |
Propanol (โพรพานอล) | Utopian |
Propranolol GPO (โพรพราโนลอล จีพีโอ) | GPO |
Syntonol (ซินโทนอล) | Codal Synto |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2020,Feb15]
2 http://www.medscape.com/viewarticle/421426_3 [2020,Feb15]
3 http://cvpharmacology.com/cardioinhibitory/beta-blockers.htm [2020,Feb15]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=propranolol [2020,Feb15]
5 http://www.medicinenet.com/beta_blockers-oral/page3.htm#Storage [2020,Feb15]
6 http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682043.html#storage-conditions [2020,Feb15]
7 https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22713/ [2020,Feb15]