เรพาริล เจล (Reparil gel) หรือ เอสซิน เจล (Aescin gel)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เอสซิน เจลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เอสซิน เจลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอสซิน เจลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอสซิน เจลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เอสซิน เจลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอสซิน เจลอย่างไร?
- เอสซิน เจลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอสซิน เจลอย่างไร?
- เอสซิน เจลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหลอดเลือด โรคของหลอดเลือด (Vascular disease)
- หลอดเลือดขอด หลอดเลือดขาขอด หลอดเลือดดำขอด (Varicose vein)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
บทนำ: คือยาอะไร?
เรพาริล เจล (Reparil gel) หรือ เอสซิน เจล (Aescin gel) คือ ยาที่ทั่วไป ใช้ช่วยบรรเทาอาการ บวม, ฟกช้ำ, การอักเสบของหลอดเลือด, ก้อนเลือดขัง(Hematoma), โดยประกอบด้วยตัวยาหลักคือ สารเอสซิน(Aescin)
เอสซิน เป็นสารประกอบประเภทสาร Saponins ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้เส้นเลือด/หลอดเลือดหดตัว รวมถึงช่วยปกป้องเส้นเลือด สารเอสซินพบมากในพืชที่มีชื่อว่า The horse chestnut (Aesculus hippocastanum) ในทางคลินิกได้นำสารเอสซินไปผลิตเป็นยาเจลทาแก้อักเสบของเส้นเลือด/หลอดเลือดดำบริเวณผิวหนังที่เกิดจากการกระแทก ฟกช้ำ เป็นต้น ซึ่งยาชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือ “ยาเรพาริลเจล (Reparil gel)”
อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์/เภสัชกรเป็นสำคัญ
เอสซิน เจลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
เอสซิน เจล มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ อาการเลือดคั่งตามผิวหนัง และแผลถลอกหลังได้รับการกระแทก
- บรรเทาอาการหลอดเลือดขอด
เอสซิน เจลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอสซินคือ ตัวยาจะกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์สารไนตริกออก ไซด์ (Nitric oxide) ของเยื่อบุภายในผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดเพิ่มการซึมผ่านของแคลเซียมไอออน (Calcium ion, ประจุแคลเซียม) ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการกระตุ้นให้เซลล์หลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเช่น Prostaglandin F 2 alpha และยังออกฤทธิ์แข่งขันกับสารสื่อประสาทบางตัว เช่น Serotonin และ Histamine จากกลไกต่างๆที่กล่าวมาส่งผลให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ
เอสซิน เจลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอสซิน เจลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเจล/ยาทาที่มีส่วนผสม Aescin 1 กรัม + Diethylamine salicylate 5 กรัมต่อยาเจล 100 กรัม มีขนาดบรรจุ 10, 20 และ 40 กรัม/หลอด
เอสซิน เจลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเอสซิน เจลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น ทายาบางๆในบริเวณที่มีอาการบวม อักเสบ ฟกช้ำ วันละ 2 - 3 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นการ ใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเอสซิน เจล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ทายา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสซิน เจลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเอสซิน เจล สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในเวลาถัดไปให้ทายาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า
เอสซิน เจลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอสซิน เจลอาจก่อผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
- ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ทายา, มีรอยบวมแดงเกิดขึ้น, หรือรู้สึกแสบ คัน หลังทายา
มีข้อควรระวังการใช้เอสซิน เจลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เอสซิน เจล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามทายานี้ในบริเวณแผลที่มีรอยปริแตกหรือแผลฉีกขาด
- ห้ามทายานี้ในพื้นที่ของร่างกายที่ได้รับการฉายรังสีรักษา
- ห้ามทายานี้ในบริเวณตาหรือภายในช่องปาก
- ห้ามทายาในบริเวณเต้านมกับสตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดา
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอสซิน เจลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอสซิน เจลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากเอสซิน เจลเป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานตัวใดๆ
ควรเก็บรักษาเอสซิน เจลอย่างไร?
ควรเก็บยาเอสซิน เจล: เช่น
• เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
• ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
• เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
• เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
• ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เอสซิน เจลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอสซิน เจล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Reparil-Gel N (เรพาริล-เจล เอ็น) | Madaus |
บรรณานุกรม
1 https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=aescin%20gel [2021,Dec25]
2 https://en.wikipedia.org/wiki/Aescin [2021,Dec25]
3 https://www.mims.com/thailand/drug/info/reparil-gel%20n [2021,Dec25]
4 http://info-medi-cal.blogspot.com/2011/12/reparil-gel-n-this-data-sheet-conforms.html [2021,Dec25]