เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- เฟกโซเฟนาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เฟกโซเฟนาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฟกโซเฟนาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฟกโซเฟนาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เฟกโซเฟนาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฟกโซเฟนาดีนอย่างไร?
- เฟกโซเฟนาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเฟกโซเฟนาดีนอย่างไร?
- เฟกโซเฟนาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมพิษ (Urticaria)
- ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
บทนำ
ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการแพ้ในร่างกายคนเราเช่น ผื่นคัน ลมพิษ มีน้ำมูกมาก/น้ำมูกคั่ง เป็นต้น ข้อเด่นของยานี้คือ ซึมผ่านเข้าหลอดเลือดในสมองได้น้อยจึงไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงนอนมากเท่าไรนัก
ยาเฟกโซเฟนาดีนไม่สามารถรักษาอาการภูมิแพ้ให้หายขาดได้ เพียงแต่เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ต่างๆและทำให้ผู้ป่วยมีอาการทุเลาและรู้สึกดีขึ้น ดังนั้นกรณีที่หมดฤทธิ์ของยา แต่ต้นเหตุของอาการแพ้ยังคงอยู่ ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการแพ้ได้เช่นเดิม
ยาเฟกโซเฟนาดีนจัดเป็นยาที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง สามารถใช้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ในผู้ที่เป็นโรคตับไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานใดๆ สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตควรต้องปรับขนาดรับประทานลดลงมาตามสภาพของไตผู้ป่วย
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยมีการดูดซึมจากระบบทาง เดินอาหารได้ประมาณ 30 - 41% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 60 - 70% จากนั้นตัวยาจะถูกลำเลียงไปที่ตับ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีน้อยกว่า 5% ของตัวยาทั้งหมดในร่างกาย และต้องใช้เวลา 14.4 ชั่วโมงโดยประมาณเพื่อกำจัดยาเฟกโซ เฟนาดีนจำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ต่างๆนั้นควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์และไม่ควรรับประทานร่วมกับน้ำผลไม้เช่น น้ำองุ่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล ด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของเฟกโซเฟนาดีนด้อยประสิทธิภาพลงไป
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้เฟกโซเฟนาดีนเป็นยาอันตราย ผู้ป่วย/ผู้ บริโภคไม่ควรไปซื้อหามารับประทานเอง แต่ต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นๆของยานี้ในต่างประเทศเช่น Allegra, Fexidine, Fastofen, Tilfur, Allerfexo
เฟกโซเฟนาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเฟกโซเฟนาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังนี้คือ บรรเทาอาการแพ้ต่างๆเช่น ผื่นคัน ลมพิษ ไข้ละอองฟาง จาม คัดจมูก คันตาและ/หรือคันในบริเวณคอจากภูมิแพ้
เฟกโซเฟนาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมื่อรับประทานเฟกโซเฟนาดีน ภายใน 1 ชั่วโมงตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ อาการของผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ชั่วโมงที่ 2 - 3 นับจากรับประทานยา เฟกโซเฟนาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์เป็น Selective H1-receptor antagonist โดยจะยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) และรบกวนการทำงานของสารที่กระตุ้นการแพ้ต่างๆ ตัวยาเฟกโซเฟนาดีนยังผ่านหลอดเลือดในสมองได้ค่อน ข้างน้อยมาก ผู้ป่วยจึงไม่ค่อยแสดงอาการง่วงนอนหรือง่วงเพียงเล็กน้อย
เฟกโซเฟนาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฟกโซเฟนาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 60 และ 180 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 6 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
เฟกโซเฟนาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเฟกโซเฟนาดีนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 60 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หรือรับประทานครั้งละ 180 มิลลิกรัมวันละครั้ง กรณีผู้ป่วยมีการทำงานของไตผิดปกติ แนะนำให้รับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็กอายุ 2 - 11 ปี: แนะนำให้รับประทานเป็นยาน้ำแขวนตะกอนเพื่อง่ายต่อการกลืนยา โดยรับประทานครั้งละ 30 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ ขนาดยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติไม่ได้ป่วยด้วยโรคตับ - ไต: สามารถรับประทานยานี้ได้ตามขนาดปกติของผู้ใหญ่
- อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง รับประทานด้วยน้ำเปล่าที่เพียงพอ (1 - 2 แก้ว) และไม่ควรรับประทานพร้อมน้ำผลไม้ต่างๆด้วยจะรบกวนการดูดซึมยาดังได้กล่าวแล้วในบทนำ
*****หมายเหตุ:
- ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฟกโซเฟนาดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟกโซเฟนาดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเฟกโซเฟนาดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เฟกโซเฟนาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเฟกโซเฟนาดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงนอน วิงเวียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
กรณีที่มีอาการแพ้ยานี้จะพบอาการผื่นคันเกิดขึ้นตามตัวหรือมีลักษณะเป็นลมพิษ บวมตาม ร่างกาย แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
กรณีผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดเช่น รับประทานยานี้เกินคำสั่งของแพทย์ อาจพบอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระสับกระ ส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการทางจิตเช่น มีอาการประสาทหลอน บางรายอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายล้มเหลว/หัวใจล้มเหลว เกิดลมชัก มีภาวะโคม่า จนถึงขั้นหยุดหายใจ
หากพบอาการแพ้ยาหรือได้รับยาเกินขนาดต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามอาการด้วยหัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสม
มีข้อควรระวังการใช้เฟกโซเฟนาดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนอย่างเพียงพอ
- แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานสำหรับการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมอาหารรวมถึงเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ต่างๆและเครื่อง ดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- ระหว่างการใช้ยานี้หากมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลต่างๆ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุv
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟกโซเฟนาดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เฟกโซเฟนาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฟกโซเฟนาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นเช่น
- การใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนร่วมกับยา Erythromycin และ Ketoconazole อาจทำให้ระดับของยาเฟกโซเฟนาดีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงติดตามมา หากจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนร่วมกับยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียม (เช่น Aluminium hydroxide) และแมกนีเซียม (เช่น Maxnesium hydroxide) เป็นส่วนประกอบ จะทำให้ระดับยาในกระแสเลือดของเฟกโซเฟนาดีนลดลงไปและส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานเฟกโซเฟนาดีนก่อนยาลดกรดเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- การใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนร่วมกับยา Rifampin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเฟกโซเฟนาดีนด้อยลงไป การใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนร่วมกับยา Quinapril (ยาลดความดันโลหิต) จะเกิดการรวมตัวของยาทั้ง 2 กลุ่มในช่องทางเดินอาหาร จึงสามารถลดการดูดซึมและรบกวนการออกฤทธิ์ของยาเฟกโซเฟนาดีน เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวควรเว้นระยะเวลาของการรับประทานให้ห่างกัน 2 - 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ควรเก็บรักษาเฟกโซเฟนาดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเฟกโซเฟนาดีนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เฟกโซเฟนาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฟกโซเฟนาดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bosnum (บอสนัม) | Unison |
Fenafex (เฟนาเฟกซ์) | Sriprasit Pharma |
Fexofast-180 (เฟกโซฟาส-180) | Eurodrug |
Fexotine (เฟกโซทีน) | Farmaline |
Telfast (เทลฟาส) | sanofi-aventis |
Tofexo (ทูเฟกโซ) | T. O. Chemicals |
Vifas (วีฟาส) | Siam Bheasach |