ไข้ละอองฟาง (Hay fever)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไข้ละอองฟาง (Hay fever หรือ Allergic rhinitis) เป็นโรคเกิดจากเยื่อเมือกบุภายในโพรงจมูกเกิดการแพ้ (การอักเสบชนิดไม่มีการติดเชื้อ)ต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ละออง จากฟาง หญ้าแห้ง ดอกหญ้า หรือละอองจากต้นหญ้า จึงทำให้ได้ชื่อว่า “ไข้ละอองฟาง” แต่เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบลักษณะนี้มีหลากหลายชนิด ไม่จำกัดเฉพาะจากละอองหญ้าดัง กล่าว โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อตามพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นคือ “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)”

โรคไข้ละอองฟาง เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย พบทุกอายุ ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่มักพบในอายุต่ำกว่า 20 ปี และพบได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ในประเทศไทยพบได้ประมาณ 10-25% ของประชากรทั่วไป ส่วนทั่วโลกพบได้ประมาณ 10-30% ของประชากรผู้ใหญ่ และประมาณ 40%ในประชากรเด็ก

ไข้ละอองฟางเกิดจากอะไร? ใครมีปัจจัยเสี่ยง? อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการรุนแรง?

ไข้ละอองฟาง

สาเหตุของไข้ละอองฟางเกิดจาก เยื่อเมือกบุโพรงจมูกเกิดการแพ้ (การอักเสบชนิดไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ)เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (จากการหายใจเข้าไป) ส่งผลให้เยื่อเมือกเกิดการ บวม แดง และหลั่งน้ำมูกมากขึ้น นอกจากนี้ อวัยวะอื่นที่สัมผ้สสารก่อภูมิแพ้นี้อาจเกิดการแพ้ ไปด้วยเช่น เยื่อบุตา (ตาบวม แดง น้ำตาไหล)

สารก่อภูมิแพ้นี้ อาจมีอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น

  • นอกบ้าน เช่น ละอองหญ้า ละอองดอกไม้ ดอกหญ้า ละอองจากพืชต่างๆ ฝุ่นละอองในอากาศ หรือ
  • ที่มีอยู่ในบ้าน เช่น ฝุ่นละอองจากเครื่องใช้ในบ้าน หรือตัวสัตว์ หรือแมลงที่อาศัยในบ้าน หรือปฏิกูลของมันเช่น ไรฝุ่น แมลงสาป ยุง แมลงวัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไข้ละอองฝาง:

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไข้ละอองฝาง เช่น

  • พันธุกรรม เพราะจะพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือเป็นโรคภูมิแพ้
  • ผู้ที่เป็นโรคหืดหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ ทั้งนี้รวมทั้งสารก่อภูมิแพ้ในบ้านและ/หรือนอกบ้าน
  • มีความผิดปกติทางกายวิภาคของจมูกที่ส่งผลถึงการหายใจ เช่น มีผนังกั้นโพรงจมูกคด

ปัจจัยกระตุ้นให้อาการแพ้รุนแรง:

ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือให้อาการแพ้รุนแรง เช่น

  • กลิ่นต่างๆ
  • ควัน ต่างๆ
  • การออกกำลังกายโดยเฉพาะเมื่อหักโหม
  • อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งหนาวหรือ ร้อน
  • ความเครียด
  • ความวิตกกังวล

ไข้ละอองฟางมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้ในโรคไข้ละอองฟางมีหลายอาการร่วมกัน และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ เช่น

  • อาการทางจมูก: เช่น
    • จาม คัน คัดจมูก/แน่นจมูก
    • มีน้ำมูกใสๆ
    • จมูกอาจได้กลิ่นน้อยลง หรือ ไม่ได้กลิ่น
  • อาการทางตา: เช่น
    • คันตา
    • ตาแดง บวม
    • น้ำตาไหล
  • อาการทางคอ: เช่น
    • มีน้ำมูกไหลลงคอ
    • คันคอ
  • อาการทางหู: เช่น
    • หูอื้อ ปวดหู จากมีน้ำมูกไหลลงคอ จึงส่งผลให้ท่อ Eustachian tube ที่เป็นท่อระบายอากาศจากหูสู่คอเกิดการบวม จึงเกิดอาการทางหูได้
  • อาการทั่วไป: เช่น
    • มีไข้
    • ปวดศีรษะ
    • อ่อนเพลีย
    • ง่วงซึม
    • เหงื่อออกมาก
  • ถ้าอาการรุนแรง: อาจมีอาการคล้าย
    • โรคหืด
    • หายใจลำบาก และ
    • อาจช็อกได้ (แต่พบได้น้อย)
  • นอกจากนั้น ไข้ละอองฟางยังทำให้อาการ โรคหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รุนแรงขึ้น

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรืออาการเกิดบ่อย ควรพบแพทยฺ/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยไข้ละอองฟางได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้ละอองฟางได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ โรคประจำตัว ประวัติโรคในครอบครัว ถิ่นที่อยู่อาศัย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางหูคอจมูก และ
  • อาจมีการตรวจสืบค้นด้วยวิธีเฉพาะอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจทดสอบทางผิวหนังหาชนิดสารก่อภูมิแพ้ (Skin test)
    • การตรวจเลือดดูเม็ดเลือดขาวชนิดที่ตอบสนองต่อการแพ้ (ชนิดที่เรียกว่า Eosinophil)
    • การตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆที่เรียกว่า IgE (Immunoglobulin E)
    • การเอกซเรย์เมื่อแพทย์สงสัยมีความผิดปกติของอวัยวะทางหูคอจมูก เช่น เอกซเรย์ภาพจมูก หรือ
    • อาจมีการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก รวมถึง
    • อาจมีการตัดชิ้นเนื้อที่ตำแหน่งรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคนี้จากโรคโพรงจมูกอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ (เช่น จากการติดเชื้อวัณโรค)

รักษาไข้ละอองฟางอย่างไร?

แนวทางการรักษาไข้ละอองฟางมี 4 วิธีการหลัก ซึ่งมักต้องใช้หลายวิธีการร่วมกัน ได้แก่

ก. การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน: ซึ่ง

  • ในบ้าน :เช่น การรักษาความสะอาดเครื่องใช้ต่างๆ การกำจัดฝุ่นละอองและสัตว์/แมลงต่างๆ
  • ส่วนนอกบ้าน: เช่น การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ สถานที่แออัด มีฝุ่น มีควัน การหลีก เลี่ยงดอกไม้ และรู้จักการใช้หน้ากากอนามัย เป็นต้น
  • นอกจากนั้นคือ หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอื่น เช่น
    • ความเครียด
    • การออกกำลังกายที่หักโหม
    • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

ข. การใช้ยาช่วยควบคุมและป้องกันการเกิดอาการ: ซึ่งมีทั้ง ยากิน ยาพ่น และยาฉีด ที่แพทย์จะเลือกเลือกใช้ตามความรุนแรงของอาการ เช่น

  • ยาในกลุ่ม Antihistamine
  • ยาในกลุ่ม Corticosteroids เป็นต้น

ค. การฉีดสารที่เตรียมจากสารก่ออาการแพ้/สารก่อภูมิแพ้ที่มักเรียกว่าวัคซีน (Allergen Immunotherapy): ซึ่งมักใช้กรณีมีอาการรุนแรง หรืออาการดื้อต่อยาต่างๆ โดยวัคชีนจะเฉพาะแต่ละบุคคลซึ่งแพทย์ผลิตเฉพาะกรณีจากสารก่อภูมิแพ้ของแต่ละบุคคล

จ. การผ่าตัดที่รวมถึงการใช้เลเซอร์: ใช้เฉพาะเมื่อพบว่า มีความผิดปกติทาง กายวิภาคของจมูก เช่น

  • กรณีผนังกั้นจมูกคด หรือ
  • การใช้เลเซอร์เพื่อลดการบวมหนาของเยื่อเมือกในโพรงจมูก กรณีที่เป็นมากเรื้อรัง จนเยื่อเมือกบวมหนาจนปิดกั้นทางเดินหายใจ

*อนึ่ง ทุกวิธีการรักษาต้องใช้ร่วมกับวิธีการ ‘ข้อ ก.’ เสมอ ส่วนการจะเลือกใช้ยาตัวใดหรือวิธีอื่นๆเพิ่มเติมจะขึ้นกับ

  • อาการผู้ป่วย
  • การดื้อยา
  • พยาธิสภาพของโพรงจมูก
  • ความประสงค์ของผู้ป่วย และ
  • ดุลพินิจของแพทย์

ไข้ละอองฟางมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากไข้ละอองฟาง เช่น

  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
  • การหายใจทางปาก ส่งผลให้ปากแห้ง
  • โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ จากการอุดกั้นทางเดินหายใจจากการบวมของเยื่อเมือกบุโพรงจมูก และจากน้ำมูกแห้งอุดตัน หรือจากมีความผิดปกติทางกายวิภาคของจมูก

ไข้ละอองฟางมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป ไข้ละอองฟางมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาควบคุมโรคได้ดีเสมอ เมื่อปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ยกเว้น ส่วนน้อยมากในบางคนที่มีอาการรุนแรง ที่อาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้

ดูแลตนเองและป้องกันไข้ละอองฟางอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไข้ละอองฟาง จะเช่นเดียวกับการป้องกันการเกิดอาการจากไข้ละอองฟาง ซึ่งที่สำคัญคือ

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
  • รักษาความสะอาด บ้านเรือน เสื้อผ้า เครื่องใช้
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย
  • การเดินทางไปต่างถิ่น ควรต้องศึกษาก่อนล่วงหน้าถึงโอกาสมีสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเตรียมป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ไป
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • ปฏิบัติตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
  • กินยา ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการเลวลง เป็นบ่อยขึ้น ใช้ยาไม่ได้ผล
    • มีอาการผิดไปจากเดิม/มีอาการใหม่ๆเกิดขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ ต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. ปารยะ อาศนะเสน.http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/471_1.pdf [2019,March30]
  2. Quillen, D., and Feller,D. (2006). Am Fam Physician. 75, 1583-1590
  3. Sur, D., and Scandale, S. (2010). Am fam Physician. 81, 1440-1446
  4. https://emedicine.medscape.com/article/134825-overview#showall [2019,March30]
  5. https://acaai.org/news/facts-statistics/allergies [2019,March30]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Allergic_rhinitis [2019,March30]