เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ (Bendroflumethiazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
- เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ไทอะไซด์ (Thiazide)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคไต โรคทางไต (Kidney disease)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ (Bendroflumethiazide เดิมใช้ชื่อว่า Bendrofluazide) คือ ยาขับปัสสาวะตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) ทางคลินิกนำมารักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไตโดยจะยับยั้งการดูดกลับของเกลือโซเดียมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังนำไปใช้รักษาอาการป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย แต่ยานี้จะไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยตัวยาอาจถูกส่งผ่านไปถึงทารกได้ หรือการใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มสุราจะทำให้ความดันโลหิตต่ำติดตามมา สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างก็ไม่เหมาะที่จะใช้ยานี้ กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เช่น
- ป่วยเป็น โรคเกาต์ โรคไต โรคตับ โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี โรคเบาหวาน โรคหืด โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตต่ำ
- หรือผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเส้นประสาทแพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
นอกจากนี้ มีข้อมูลบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบในระหว่างที่ต้องใช้ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์เช่น
- ระหว่างที่มีการใช้ยานี้หากมีอาการวิงเวียนควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือ การทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- กรณีที่ต้องทำหัตถการทางทันตกรรมควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่ามีการใช้ยานี้อยู่ด้วย
- ยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ หากพบอาการที่เกิดจากภาวะน้ำ ตาลในเลือดสูงเช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย รู้สึกสับสน ง่วงนอน หน้าแดง หายใจเร็ว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโยเร็วเพื่อการเยียวยาอาการดังกล่าว
- ยานี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการผิวไวต่อแสงแดด (ผิวหนังไหม้หรือเกิดผื่น) แนะนำ ให้ผู้ป่วยงดกิจกรรมกลางแจ้งหรือสวมเสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
- หากใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการความดันโลหิตสูงไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรง พยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
อนึ่ง: สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์จะเป็นยาชนิดรับประทาน และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหารได้สูงถึง 100% เมื่อยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 96% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาจำนวน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
การใช้ยาใดๆก็ตามควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์รวมถึงยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ด้วย หากผู้ป่วย/ผู้บริโภคมีคำถามเกี่ยวกับการใช้ยานี้สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาโดยทั่วไป
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ไตโดยเร่ง การขับเกลือโซเดียมออกนอกร่างกายจึงส่งผลให้ลดความดันโลหิตสูงได้ตามสรรพคุณ
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Bendroflumethiazide 5 มิลลิกรัม + Nadolol 40 มิลลิกรัม/เม็ด
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- สำหรับโรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 5 - 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานเริ่มต้น 5 - 10 มิลลิกรัมวันละครั้งหรือวันเว้นวัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 2.5 - 10 มิลลิกรัมสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง
*อนึ่ง:
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ให้ตรงเวลา
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ความดันโลหิตต่ำ
- ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ระดับเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
- อาจพบภาวะเกาต์คุกคาม/กำเริบ
- มีน้ำตาลในเลือดสูง
- อ่อนเพลีย
- ไตทำงานหนัก
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการท้องเสีย มีภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปัสสาวะมาก กระหายน้ำ ปริมาตรของเลือดลดลงที่ส่งผลเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ มีภาวะกดการทำงานของสมอง หากพบภาวะดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ โดยที่ ไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต โรคตับ ที่อยู่ในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับเกลือ แคลเซียมในเลือดต่ำ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ และรวมถึงผู้ที่มีระดับเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยอาการจากโรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- หากมีอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที /ฉุกเฉิน
- กรณีที่ใช้ยาไปสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- การใช้ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยา Amiodarone จะส่งผลกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยา Lithium อาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงของยา Lithium ติดตามมาเช่น มีอาการท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยาที่ใช้ทำความสะอาดลำไส้ เช่นยา Sodium biphosphate ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายเกิดขึ้นได้
ควรเก็บรักษาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
ควรเก็บยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนโดรฟลูเมตไทอะไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aprinox (แอพริน็อกซ์) | Sovereign |
Corzide (คอร์ไซด์) | King Pharmaceuticals, Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bendroflumethiazide [2022,April30]
- https://www.drugs.com/cdi/bendroflumethiazide.html [2022,April30]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/bendroflumethiazide?mtype=generic [2022,April30]
- https://www.drugs.com/food-interactions/bendroflumethiazide.html [2022,April30]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/bendroflumethiazide-index.html?filter=3&generic_only= [2022,April30]
- https://www.drugs.com/imprints/corzide-40-5-kpi-283-18118.html [2022,April30]