เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนซาลโคเนียมคลอไรด์อย่างไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์อย่างไร?
- เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
บทนำ: คือยาอะไร?
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) อาจเรียกชื่ออื่นว่า Alkyldimethyl benzylammonium chloride, BZK, BAC หรือ ADBAC คือ สารลดแรงตึงผิว (Surface tension, แรงที่ผิวเซลล์ดึงดูดซึ่งกันช่วยในการคงรูปร่างของเซลล์) ที่สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านและป้องกันการติดเชื้อ และใช้เป็นส่วนผสมในบางเภสัชผลิตภัณฑ์ เช่น ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาหยอดจมูก หรือยาพ่นจมูก นอกจากนี้ยังนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มือ แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นตัว รวมถึงสบู่เหลวที่ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่าง Dettol บางสูตรตำรับใช้เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ในการกำจัดเชื้อโดยไม่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (Ethanol) หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogenperoxide) จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผิวหนังเมื่อมีการสัมผัสกับยานี้
สำหรับในบทความนี้จะกล่าวถึงยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ในลักษณะยาเดี่ยวที่ใช้ทาป้องกันการติดเชื้อบนผิวหนังหรือเป็นยาใช้เฉพาะที่เท่านั้น
ข้อจำกัดของยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ที่ต้องคำนึงเป็นประการแรกคือ สามารถใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ได้แพ้ยานี้ และต้องไม่ใช้กับบาดแผลฉีกขาดหรือจากการถูกกัดของสัตว์ในลักษณะที่เป็นแผลลึก และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากต้องการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ก่อนการนำผลิตภัณฑ์ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์มาใช้ ผู้บริโภคควรทราบข้อมูลพื้นฐานบางประการของยานี้ เช่น
- ต้องระวังมิให้ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์เข้มข้นเข้าตา หากพบเหตุการณ์ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์กระเด็นเข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำเย็นที่สะอาดจนหมด
- การใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทาฆ่าเชื้อบ่อยๆอาจทำให้บาดแผลมีสภาพแย่ลง ผู้ป่วยจึงควรต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระยะเวลาของการใช้ผลิตภัณฑ์ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์
- ไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายหลังจากใช้ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ทาที่บาดแผล อาจรู้สึกถึงความระคายเคืองบนผิวหนังที่สัมผัสกับยาได้บ้างเล็กน้อย ร่างกายจะคอยปรับสภาพจนอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ดังกล่าวหมดไป การใช้ยานี้ได้ถูกต้องปลอดภัยเหมาะสมนั้นควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่งผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วไป
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- เป็นยาทาป้องกันการติดเชื้อของบาดแผลภายนอก
- เป็นส่วนประกอบในเภสัชผลิตภัณฑ์และเครื่องสำอาง
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีฤทธิ์ในการป้องกันการติดเชื้อโรคที่ผิวหนังและเหมาะที่จะใช้เป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอกโดยใช้ในความเข้มข้นที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ยังใช้เป็นส่วนประกอบของเภสัชผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อป้องกันและยับยั้งไม่ให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคได้
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาน้ำสารละลาย ขนาดความเข้ม ข้น 3% และ 4.5%
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อของบาด แผลที่ผิวหนัง เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ก่อนและหลังใช้ยาสารละลายเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ ต้องล้างมือ ต้องทำความสะอาดบาดแผลก่อนใช้ยานี้ (เช่น คราบสกปรก ฝุ่นต่างๆ เป็นต้น) ด้วยน้ำสะอาด และไม่ควรใช้ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์กับแผลพุพองหรือแผลเปิดที่เป็นร่องลึก
หลังจากทำความสะอาดแผล ทายานี้บริเวณที่เกิดบาดแผลเพียงบางๆวันละ 3 ครั้งหรือใช้ ตามคำสั่งแพทย์ หลังจากนั้นทิ้งให้แผลแห้งหลังจากการทายานี้ จากนั้นใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดปิดทับอีกชั้นหนึ่ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่ได้มีการศึกษาทางคลินิกด้านการใช้ยากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจรู้สึกแสบคันในบริเวณผิวหนังที่มีการใช้ยานี้
- *กรณีที่เกิดอาการแพ้ยานี้จะพบ อาการผื่นคันขึ้นตามร่างกาย, มีอาการอึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, ริมฝีปาก-ลิ้น-ใบหน้า มีอาการบวม, *ซึ่งเมื่อพบอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เบนซาลโคเนียมคลอไรด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานและห้ามยาเข้าตา
- ห้ามใช้ยานี้นานหรือใช้เป็นปริมาณมากๆเกินคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- หากอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยานี้ไปสักระยะควรต้องปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ ร่วมกับยา Sodium hyaluronate (ยารักษาอาการข้อเสื่อม) ด้วยจะส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) มากขึ้นติดตามมาจากยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์
ควรเก็บรักษาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์อย่างไร?
ควรเก็บยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ควรเก็บรักษาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์อย่างไร?
ยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
BENZYL-SEPTOL (เบนซิล-เซพทอล) | Meridiant Ent |
ITEOL-H (ไอทีโอล-เฮช) | AstraZeneca |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/antimicrobial-cleanser.html [2022,April30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzalkonium_chloride [2022,April30]
- https://www.mims.com/India/drug/info/BENZYL-SEPTOL/BENZYL-SEPTOL%20topical%20liqd [2022,April30]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/benzalkonium-chloride-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2022,April30]