เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เทอร์บินาฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เทอร์บินาฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทอร์บินาฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทอร์บินาฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาเทอร์บินาฟีนควรทำอย่างไร?
- เทอร์บินาฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทอร์บินาฟีนอย่างไร?
- เทอร์บินาฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทอร์บินาฟีนอย่างไร?
- เทอร์บินาฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- โรคโกเชร์ หรือ โรคเกาเชอร์ (Gaucher disease)
- ผิวแพ้แสงแดด แพ้แสงแดด (Sun allergy)
บทนำ: คือยาอะไร?
เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) คือ ยาต้านเชื้อรา ทางคลินิกนำมารักษาโรคเชื้อราตามร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ผิวหนังตามร่างกาย ที่ขาหนีบ เท้า นิ้ว เล็บมือ เล็บเท้า ผู้ที่จะสั่งจ่ายยานี้ควรต้องเป็นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น, โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเทอร์บินาฟีนจะเป็นยาชนิดรับประทาน และยาทาเฉพาะที่
เมื่อรับประทานยาเทอร์บินาฟีน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 40% แต่จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99%, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 - 36 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ด้วยมีข้อพึงระวังก่อนการใช้ยาเทอร์บินาฟีนบางประการที่แพทย์มักจะนำมาพิจารณาประกอบก่อนการจ่ายยานี้ เช่น
- ผู้ป่วยมีอาการและการทำงานของตับเป็นปกติหรือไม่ โดยสังเกตอาการที่เกิดกับผู้ป่วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะสีคล้ำ ปวดท้อง อุจจาระสีซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง
- เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ หรือป่วยเป็นโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หรือไม่
- ผู้ป่วยแพ้ยานี้หรือไม่
- ผู้ป่วยติดสุราหรือไม่ ด้วยแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยานี้
- ยานี้สามารถทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดต่ำลง
- แพทย์มักจะไม่จ่ายยานี้ให้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อต่างๆอยู่ก่อนแล้ว
- การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดผิวแพ้แสงแดดได้ง่ายขึ้น
- อาจทำให้อารมณ์และพฤติกรรมผู้ป่วยเปลี่ยนไป
- รวมถึงความรู้สึกในการรับรสชาติของอาหาร และการดมกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม
- นอกจากนี้ ยังมีเรื่องยาอื่นๆที่ผู้ป่วยรับประทานประจำตัว ที่อาจทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเทอร์บินาฟีนก็ได้
- ยังมีเรื่องอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่สามารถเกิดขึ้นขณะใช้ยานี้ โดยแพทย์ต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วย อีกทั้งอาการแพ้ยาที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย
- กรณีสตรีตั้งครรภ์กับการใช้ยาเทอร์บินาฟีนชนิดรับประทาน: จากการศึกษาวิจัยโดยใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งท้องพบว่า ตัวยามิได้ทำให้ตัวอ่อนของสัตว์ทดลองพิการหรือผิดปกติแต่ประการใด แต่ยังไม่มีข้อสนับสนุนกับการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์, ทางคลินิกยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษกรณีที่จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
- อายุของผู้ป่วยถูกนำมาพิจารณาเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ด้วยเด็กเล็กกับผู้สูงอายุ สภาพร่างกายโดยเฉพาะตับจะมีความแข็งแรงไม่เท่ากับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยกลางคน
ด้วยข้อควรระวังที่มีมากมายดังกล่าว การเลือกใช้ยาเทอร์บินาฟีนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบยารับ ประทาน หรือยาทาผิวหนังชั้นนอก ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
เทอร์บินาฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเทอร์บินาฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคเชื้อรา/ยีสต์ (Yeast) บริเวณ ผิวหนัง โคนผม หนังศีรษะ เล็บมือ เล็บเท้า
เทอร์บินาฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเทอร์บินาฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อราที่มีชื่อว่า ‘Squalene epoxidase’ ซึ่งมีหน้าที่ในกระบวนการสังเคราะห์สารที่มีชื่อว่า ‘Sterol’ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนสาร ‘Ergosterol’ ติดตามมา ซึ่งสาร Ergosterol เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในเชื้อรา, ทำให้เชื้อราไม่สามารถสร้างผนังเซลล์ขึ้นมาได้ ส่งผลให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุ
เทอร์บินาฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทอร์บินาฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาครีมทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 1%
- ยาเจลทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 1%
เทอร์บินาฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การเลือกรูปแบบการใช้ยาเทอร์บินาฟีนเป็นยารับประทานหรือยาทาภายนอก ต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษา เช่น กรณีติดเชื้อราเพียงเล็กน้อยที่ผิวหนัง แพทย์อาจเลือกใช้เพียงยาทาภายนอกก็น่าจะเพียงพอ, หากมีการติดเชื้อรารุนแรงเป็นบริเวณกว้างของผิวหนัง หรือเป็นที่เล็บ หรือ หนังศีรษะ การใช้ยาทาอาจไม่เพียงพอที่ตัวยาจะออกฤทธิ์ได้ทั่วถึง แพทย์ก็สามารถเลือกเป็นตัวยาชนิดรับประทานแทน หรืออาจใช้ร่วมกับยาทา โดยต้องมีการสืบค้นข้อมูลมาประกอบก่อนการสั่งจ่ายตามที่ระบุใน “บทนำ” ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. ยาชนิดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป : รับประทาน 250 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักระหว่าง 20 - 40 กิโลกรัม: รับประทาน 125 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักน้อยกว่า 20 กิโลกรัม : รับประทาน 62.5 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงจากยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
* อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ โดยทั้งนี้ระยะเวลาของการรับประทานยานี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีอาการและความรุนแรงของโรคมาประกอบกัน
ข. ยาชนิดทา: เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาในบริเวณที่มีการติดเชื้อราวันละ 1 - 2 ครั้ง, เป็นเวลา 1 สัปดาห์, หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเทอร์บินาฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลnและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทอร์บินาฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ใน ภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาเทอร์บินาฟีนควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาเทอร์บินาฟีนสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาเทอร์บินาฟีนตรงเวลา
เทอร์บินาฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทอร์บินาฟีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. ยาชนิดทา: อาจทำให้เกิดอาการ แดง แสบ คัน ในบริเวณที่ทายา
ข. ยาชนิดรับประทาน: เช่น
- อาจเกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น
- รู้สึกไม่สบายในท้อง
- ท้องเสีย
- ท้องอืด
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- การรับรู้รสชาติเปลี่ยนไป
- ตรวจเลือด: อาจพบ
- การทำงานของตับผิดปกติ
- มีความผิดปกติต่อระบบเลือดของผู้ป่วย
*อนึ่ง: *อาการของผู้ที่ได้รับยานี้ เกินขนาด จะพบอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง วิงเวียน ผื่นคัน ปัสสาวะบ่อย และปวดหัว, หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
อาการข้างเคียงบางอย่างของยานี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นมาบำบัดรักษา ร่างกายจะค่อยๆปรับตัว และทำให้อาการข้างเคียงเหล่านั้นทุเลาไปเอง *แต่หากเกิดอาการข้างเคียงที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาเปลี่ยนยาหรือปรับแนวทางการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้เทอร์บินาฟีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทอร์บินาฟีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามกลืนยานี้ที่เป็นชนิดทาโดยเด็ดขาด และต้องระวังหลีกเลี่ยงมิให้ยานี้ทาเข้าตา
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงคนชรา โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพของยาชำรุดและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับ-ไตผิดปกติ
- *หากใช้ยานี้ไปแล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือเกิน 1 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง หรือแม้แต่การสัมผัสกับแสงจากหลอดไฟนานๆ ด้วยอาจทำให้ผิวไหม้ได้
- *กรณีที่ใช้ยานี้แล้ว เกิดอาการแพ้ยา เช่น ตัวบวม ใบหน้า-คอ-ลิ้น-ปากบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีลมพิษหรือผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทอร์บินาฟีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เทอร์บินาฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
สำหรับปฏิกิริยาระหว่างยาเทอร์บินาฟีนกับยาอื่น ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะยาชนิดรับประทานเท่านั้น(ยาเทอร์บินาฟีนในรูปแบบยาทาภายนอกยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานใดๆ) โดยตัวอย่าง เช่น
- การใช้ยาเทอร์บินาฟีน ร่วมกับยารักษามะเร็งเต้านม เช่นยา Tamoxifen จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษามะเร็งของยาTamoxifenด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บินาฟีน ร่วมกับยา Leflunomide, Mipomersen ด้วยจะทำให้เกิดปัญหาการทำงานของตับ และอาจพบอาการไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง บวมตามตัว ผื่นคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลืองและตาเหลือง
- การใช้ยาเทอร์บินาฟีน ร่วมกับยา Vortioxetine (ยาจิตเวช) อาจส่งผลต่อระดับยา Vortioxetine ในเลือดจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่เรียกว่า ‘กลุ่มอาการเซโรโทนิน’ โดย จะพบอาการ ประสาทหลอน รู้สึกสับสน มีอาการของลมชัก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
การใช้ยาเทอร์บินาฟีน ร่วมกับยา Eliglustat ที่ใช้รักษาอาการโรคทางพันธุกรรมอย่าง ‘โรคโกเชร์’ อาจนำมาซึ่งอาการข้างเคียงของยา Eliglustat ต่อหัวใจของผู้ป่วยโดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น โดยจะมีอาการนำเป็นสัญญาณเตือน เช่น เริ่มจากวิงเวียน เป็นลม หายใจขัด ชีพจรอ่อน เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่รุนแรงดังกล่าวข้างต้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเทอร์บินาฟีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเทอร์บินาฟีนทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาภายนอก: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เทอร์บินาฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทอร์บินาฟีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
EU 2000 (อียู 2000) | Union Drug |
Lamisil (ลามิซิล) | Novartis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Terbinafine [2022, Dec31]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/terbinafine-oral-route/description/drg-20066265 [2022, Dec31]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/terbinafine-topical-route/description/drg-20066273 [2022, Dec31]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/hydroxypropyl-chitosan-terbinafine-topical.html [2022, Dec31]
- https://www.mims.com/India/drug/info/terbinafine/ [2022, Dec31]
- https://www.drugs.com/pro/lamisil.html [2022, Dec31]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/EU%202000/?type=brief [2022, Dec31]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lamisil/?type=brief [2022, Dec31]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/lamisil [2022, Dec31]