เดเมโคลไซคลีน (Demeclocycline)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เดเมโคลไซคลีน (Demeclocycline หรือ Demeclocycline hydrochloride) คือ ยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ กลุ่มเดียวกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline), ประโยชน์ทางคลินิก คือใช้  รักษาสิว,  หลอดลมอักเสบ, รวมถึง ภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน, และชื่ออื่นของยานี้ คือ Demeclocycline HCl 

ในอดีต ยาเดเมโคลไซคลีน เคยใช้เป็นยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Borrelia ที่ก่อโรคชื่อโรคไลม์ (Lyme disease) แต่เพราะเชื้อแบคทีเรียต่างๆก็มีพัฒนาการดื้อต่อยานี้ได้เช่นกัน จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยาเดเมโคลไซคลีนไม่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ต่อต้านแบคทีเรีย,  แต่กลับนำมาบำบัดอาการขาดเกลือโซเดียม/ภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำจากสาเหตุมีการเพิ่มปริมาณของฮอร์โมนร่างกายที่ทำหน้าที่ดูดน้ำกลับเข้ากระแสเลือดมากเกินไป (Syndrome of inappropriate antidiuretic hormone/SIADH), ซึ่งทางการแพทย์เริ่มศึกษาประโยชน์ทางคลินิกด้านนี้ของยานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518)  จากการเปรียบเทียบผลของการรักษา SIADH โดยใช้ยาเดเมโคลไซคลีนเปรียบเทียบกับยา Lithium carbonate  ผลการศึกษาพบว่า ตัวยาเดเมโคลไซคลีนให้ผลการรักษาภาวะ SIADH ได้ดีกว่า

หลังการรับประทานยาเดเมโคลไซคลีน, ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและเข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือดได้ประมาณ 60 – 80%,  จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 41 – 50%, การทำลายยานี้จะเกิดขึ้นที่ตับ,  ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 – 17 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาเดเมโคลไซคลีนออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ  

ข้อจำกัดของยาเดเมโคลไซคลีน จะคล้ายกับยาเตตราไซคลีน คือ ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์  สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)  ด้วยตัวยาเดเมโคลไซคลีนสามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตของกระดูกในทารก   

อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อื่นๆจากยาเดเมโคลไซคลีนจะแสดงออกมาทางผิวหนัง, โดยทำให้ผิวแพ้แสงแดดง่าย, หรือส่งผลต่อการทำงานของไตโดยทำให้เกิดภาวะ/โรคเบาจืดชนิดที่เรียกว่า Nephrogenic diabetes insipidus 

ยาเดเมโคลไซคลีน ยังสามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาประเภทอื่นๆได้หลายรายการ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด,  ยา Digoxin, Methotrexate, ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยากลุ่ม Penicillin, ยาลดกรด, ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษา, รวมถึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาเดเมโคลไซคลีนได้เพิ่มขึ้น  

 โดยทั่วไป ต้องรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง, หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง, และต้องดื่มน้ำมากๆหลังรับประทานยานี้เพื่อขับไล่ยานี้ให้ออกจากหลอดอาหารและกระเพาะอาหารโดยเร็ว เพื่อลดอาการระคายเคืองต่อหลอดอาหารและต่อกระเพาะอาหาร,  นอกจากนั้น หลังรับประทานยาเดเมโคลไซคลีน ห้ามนอนราบทันที ด้วยจะทำให้เกิดการไหลย้อนกลับของยาเข้าหลอดอาหารได้  

ด้วยตัวยาเดเมโคลไซคลีนเป็นยาปฏิชีวนะ การใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไป จึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆที่ไม่ตอบสนองต่อยานี้ขึ้นมาได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ หรือ โรคเชื้อเชื้อรา,  รวมถึงอาจเกิดภาวะท้องเสียอย่างรุนแรงที่เรียกว่า ลำไส้ใหญ่อักเสบชนิด Pseudomembranous colitis   

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยาเดเมโคลไซคลีน จะต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด (อาจต่ำหรือสูงขึ้นก็ได้), และแพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานของยาเบาหวานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป 

นอกจากนี้ ระหว่างใช้ยาเดเมโคลไซคลีน  ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของตับ และไต,  และ*กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วระยะหนึ่งแล้ว พบว่าอาการโรคไม่ดีขึ้น  ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง ก่อนวันนัด, เพื่อให้แพทย์ประเมินปรับการรักษา

การใช้ยาเดเมโคลไซคลีน ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเพื่อปรับสภาพโซเดียมในร่างกายก็ตาม, จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น,  ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด, และห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง,  และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลของการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

เดเมโคลไซคลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเดเมโคลไซคลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้
  • บำบัดภาวะของร่างกายที่มีเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ

เดเมโคลไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเดเมโคลไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. ต่อต้านแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้ โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมชนิด ที่เรียกว่า ไรโบโซม (Ribosome) และเกิดการยับยั้งการสังเคราะห์สารโปรตีนในแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต จึงหมดความสามารถในการกระจายพันธุ์
  2. ยาเดเมโคลไซคลีน ยังสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ 'แอนติไดยูเรติกฮอร์โมน (Antidiuretic hormone/ADH/Vasopressin)' ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ต้านการขับปัสสาวะ/การขับน้ำออกจากร่างกาย,  การมีฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายดูดน้ำจากปัสสาวะกลับเข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนทำให้ความเข้มข้นของเกลือโซเดียมและสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) อื่นๆเจือจางลง, จนเป็นเหตุให้ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำติดตามมา,  จากกลไกของยาเดเมโคลไซคลีนดังกล่าว จึงทำให้การขับน้ำออกจากร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และสร้างระดับความเข้มข้นของเกลือโซเดียมในเลือดให้กลับคืนสมดุลดังเดิม

เดเมโคลไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเดเมโคลไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด

เดเมโคลไซคลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเดเมโคลไซคลีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 900 – 1,200 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3-4 ครั้ง (ทุก 6-8 ชั่วโมง ตามคำสั่งของแพทย์), ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 600 – 900 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาเดเมโคลไซคลีน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 600 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 – 4 ครั้ง (ทุก 6-12 ชั่วโมงตามแพทย์สั่ง)
  • เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: ขนาดการใช้ยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การรับประทานยานี้เพื่อต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย ถึงแม้อาการจะดีขึ้นในระยะที่เริ่มรับประทานยาก็ตาม, จะต้องรับประทานจนครบคอร์ส (Course) ของการรักษาตามแพทย์สั่ง
  • ขนาดรับประทานสูงสุดสำหรับผู้ป่วยโรคตับไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • ควรรับประทานยานี้ ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง ร่วมกับน้ำดื่มในปริมาณที่เพียงพอ, หรือรับประทานหลังอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง, การรับประทานยานี้พร้อมอาหาร จะลดการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยานี้ลง
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจต้องนัดตรวจเลือดเพื่อดู ระดับเม็ดเลือด (ตรวจซีบีซี/CBC), ระดับครีอะตินีน (Creatinine),  การทำงานของไตและของตับเป็นระยะๆ,  ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล และรับการตรวจ ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง 

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเดเมโคลไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น             

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย                                                                                   
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต  โรคเบาหวาน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดเมโคลไซคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                                        
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเดเมโคลไซคลีน  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป  ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเดเมโคลไซคลีน ตรงเวลา

เดเมโคลไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเดเมโคลไซคลีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ทำให้ผิวหนังไว/ผิวแพ้แสงแดดง่าย, มีภาวะ Steven-Johnson syndrome, เกิดผื่นคัน, ผื่นผิวหนังอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น  เกิดโรคเบาจืด ชนิด Nephrogenic diabetes insipidus, ระดับครีอะตินีนในเลือดสูงขึ้น  ปัสสาวะมาก  ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร:  เช่น  คลื่นไส้  เบื่ออาหาร  ท้องเสีย  เป็นแผลที่หลอดอาหาร              
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น  วิงเวียน  ปวดหัว  ตาพร่า 
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น  โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, เม็ดเลือดขาวในเลือดชนิด Neutropenia ต่ำ, เม็ดเลือดขาวในเลือดชนิด Eosinophil สูง  
  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ  ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น (เช่น เอนไซม์ Transaminase) ตับวาย                            
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • อื่นๆ: การใช้ยานี้กับเด็ก จะทำให้สีของฟันเด็ก ซีดจาง

มีข้อควรระวังการใช้เดเมโคลไซคลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเดเมโคลไซคลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Acitretin, Isotretinoin, ยากลุ่ม Penicillin, ยาลดกรด,
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้ หรือใช้ยาต่อเนื่องโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน
  • ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะทำให้การดูดซึมยานี้ลดลง
  • ระหว่างใช้ยานี้แล้วมีอาการ วิงเวียน ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถต่อต้านเชื้อรา หรือเชื้อไวรัส
  • การใช้ยานี้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลงไป จึงควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย
  • ผู้ที่ใช้ยานี้อาจพบอาการท้องเสียได้บ้าง กรณีที่เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ก่อนนัด
  • หลีกเลี่ยงการออกแสงแดดขณะที่ใช้ยานี้
  • กรณีที่เกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น ตัวบวม มีผื่นคันเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้ไปแล้วตามระยะเวลาที่เหมาะสม/ที่แพทย์แนะนำ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการโรคกลับเลวลง ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเดเมโคลไซคลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เดเมโคลไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเดเมโคลไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ห้ามใช้ยาเดเมโคลไซคลีน ร่วมกับยา Acitretin, Isotretinoin,  Tretinoin,  Vitamin A,  Etretinate, ด้วยอาจทำให้เกิดความดันในสมองเพิ่มสูงขึ้น (ความดันในกะโหลกศีรษะสูง) จนอาจเป็นเหตุให้เกิดตาบอดถาวรได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดเมโคลไซคลีน ร่วมกับ ยาลดไขมัน Lomitapide และ Mipomersen,  ด้วยอาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • การใช้ยาเดเมโคลไซคลีน ร่วมกับยา Methoxyflurane (ยาสลบ), อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อไตของผู้ป่วย, หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน   แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาเดเมโคลไซคลีน ร่วมกับยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของเกลือแคลเซียม (เช่น Calcium carbonate) หรือ แมกนีเซียม(เช่น Magnesium hydroxide), เพราะสามารถทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาเดเมโคลไซคลีนต่ำลง
  • การใช้เดเมโคลไซคลีน ร่วมกับยา Penicillin V potassium จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Penicillin V potassium ด้อยลงไป,  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเดเมโคลไซคลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเดเมโคลไซคลีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น 
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เดเมโคลไซคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเดเมโคลไซคลีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Declomycin (เดโคลมายซิน) Lederle Laboratories
Deganol (เดกานอล) BCM

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่นยา  Declostatin,  Ledermycin, Bioterciclin, Deganol, Deteclo,  Detravis, Meciclin, Mexocine, Clortetrin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Demeclocycline   [2022,Oct22 ]
  2. https://www.drugs.com/mtm/demeclocycline.html  [2022,Oct22]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/demeclocycline/?type=brief&mtype=generic [2022,Oct22]